วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

วุ่นแต่ไม่ถึงล้มโต๊ะ

On March 18, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 1มี.ค. 62)

การหาเสียงเลือกตั้งที่เข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนประกาศผลที่ดูจะมีความเข้มข้นมากขึ้นยังไม่น่าสนใจเท่าสถานการณ์หลังรู้ผลจากประชาชนแล้วว่าพรรคไหนได้กี่คะแนน หลังเลือกตั้งจะเกิดสถานการณ์แบบ 3 ก๊กกับ 1 กั๊ก คือก๊กที่แข่งกันชิงจัดตั้งรัฐบาล 3 ก๊ก ขณะที่อีก 1 กั๊กรอข้อเสนอมาวางบนโต๊ะเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบ ก๊กไหนยื่นข้อเสนอให้น่าสนใจกว่าก็พร้อมไปร่วมเป็นฐานให้จัดตั้งรัฐบาลได้ กว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นรูปเป็นร่างเชื่อว่าจะวุ่นวายพอดู แต่คงไม่ถึงกับล้มโต๊ะเลือกตั้งใหม่ เพราะมีงานใหญ่ในเดือนพฤษภาคมรออยู่

สัปดาห์นี้เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งแล้ว เท่าที่ประเมินสถานการณ์โดยรวมยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิมเท่าไร

พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งค่อนข้างแน่ อยู่ที่ว่าจะได้ ส.ส. มากกว่า 150 คนหรือไม่เท่านั้น ส่วนอันดับ 2 ยังเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่น่าจะได้ ส.ส. 100 เสียงบวกลบ

พรรคอันดับ 3 คงหนีไม่พ้นพรรคพลังประชารัฐที่น่าจะได้ ส.ส. ประมาณ 60 เสียงบวกลบ ที่จะไปให้ถึง 120 เสียงอย่างที่ตั้งเป้าเพื่อโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลคงเป็นเรื่องยาก

พรรคอื่นๆที่จะตามมาคือ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และอนาคตใหม่

ในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ที่ดูเหมือนว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีกระแสแรงนั้น ถ้าจะได้คะแนนอย่างเป็นกอบเป็นกำน่าจะเป็นคะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่เป็นหลัก ส่วนคนรุ่นเก่าที่เลือกข้างการเมืองไปแล้ว แม้จะนิยมชมชอบพรรคอนาคตใหม่แต่คงไม่กาคะแนนให้

แม่ยก พ่อยกการเมืองเหล่านี้ส่วนมากรักเดียวใจเดียว ถึงเวลาพร้อมกาพรรคเดิมที่เคยเลือก

คะแนนเสียงของพรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย ชาติพัฒนา เพื่อชาติ พรรคประชามติ เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วถือว่าน่าสนใจมาก เพราะหากกลุ่มนี้ไปรวมกับใครในพรรคกลุ่มหัวตารางคะแนน 3 อันดับแรก พรรคนั้นมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรวมกันแล้วมี ส.ส. มากกว่า 100 เสียง

ถ้าประเมินจากท่าทีที่แต่ละพรรคแสดงออกมาช่วงหาเสียงแยกได้ดังนี้

พรรคภูมิใจไทยโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ประกาศชัดเจนว่าจะเคารพการตัดสินใจของประชาชน พร้อมสนับสนุนพรรคที่ชนะเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาล ย้ำชัดว่านายกรัฐมนตรีต้องเลือกโดย ส.ส. ไม่สนับสนุนการเอา ส.ว.ลากตั้งมาร่วมโหวตด้วย ถือว่าเปิดกว้างที่จะร่วมรัฐบาลได้กับทุกพรรคแม้แต่พรรคพลังประชารัฐ

อย่างไรก็ตาม แม้พรรคภูมิใจไทยจะประกาศแนวทางชัดเจน แต่นโยบายกัญชาเสรีที่พรรคผลักดันอย่างจริงจังอาจเป็นอุปสรรคต่อการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอื่นหากไม่ยอมแขวนนโยบายนี้เอาไว้ก่อน เพราะพรรคที่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่มีพรรคไหนสนับสนุนกัญชาเสรี เต็มที่เอาด้วยแค่กัญชาทางการแพทย์

พรรคอนาคตใหม่นั้นแน่นอนว่าไม่สนับสนุน “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ แม้พรรคพลังประชารัฐจะดันคนนอกบัญชีมาเสนอให้โหวตเลือกแทนก็ยังน่าจะเป็นเรื่องยากที่จะร่วมงานกัน

ขณะที่โอกาสในการร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นไปได้น้อย เพราะนโยบายหลายอย่างของพรรคอนาคตใหม่ตึงเกินไป ซึ่งจะว่าไปแล้วด้วยแนวทางการเมืองแบบนี้ แม้แต่จะร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยยังค่อนข้างลำบากหากไม่ยอมปรับลดดีกรีความแรงด้านนโยบายของตัวเองลง เพราะอดีตที่ผ่านมาชี้ให้เห็นชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยหวังแค่อำนาจ ไม่ได้หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย ได้อำนาจมาแล้วก็ใช้อำนาจไปเรื่อยๆ ไม่ได้จริงจังกับการกำจัดผลพวงรัฐประหารอย่างที่พรรคอนาคตใหม่มีความเด่นชัดในเรื่องนี้

ด้านพรรคเสรีรวมไทยโอกาสร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยเป็นไปได้มาก ถ้าพลาดก็ยังน่าจะทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ได้ แต่คงไม่ร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ

สำหรับพรรคตระกูลชาติ อย่างชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา แนวทางเด่นชัดว่าต้องการเป็นรัฐบาลเท่านั้น ไม่ถนัดเป็นฝ่ายค้าน จึงพร้อมจะร่วมงานกับขั้วไหนก็ได้ไม่เลือกข้าง

นี่คือความน่าจะเป็นของสถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้งที่น่าจะวุ่นวายพอดูกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลกันได้ แต่ไม่ว่าจะวุ่นวายอย่างไรก็คงไม่ถึงกับล้มโต๊ะเลือกตั้งใหม่ เพราะมีงานใหญ่ในเดือนพฤษภาคมรออยู่


You must be logged in to post a comment Login