วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

เจ้าหน้าที่รัฐ

On March 18, 2019

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 1มี.ค. 62)

“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ยืนยันว่าตำแหน่ง “หัวหน้า คสช.” ไม่ได้เป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” โดยยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 5/2543 ว่าเป็นตำแหน่งที่ใช้ “อำนาจรัฏฐาธิปัตย์” เพื่อเปลี่ยนผ่านสถานการณ์รุนแรงให้กลับสู่ปรกติ เป็นการควบคุมประเทศระยะหนึ่ง โดยบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญรับรองอำนาจ

ศาลรัฐธรรมนูญ (ขณะนั้น) วินิจฉัยคำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 109 (11) ว่าเป็นการตีความบทบัญญัติจำกัดสิทธิบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และ ส.ว. จึงต้องตีความอย่างแคบ การตีความถ้อยคำในลักษณะเช่นนี้ควรถือว่า “คำทั่วไป” มีความหมายในแนวทางเดียวกันกับ “คำเฉพาะ” ที่มาก่อน

คำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” จึงต้องตีความโดยให้มีความหมายคล้ายคลึงกันหรือในแนวทางเดียวกับคำว่า “พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น” คือ 1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ

3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ และ 4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย

ขณะที่ “จาตุรนต์ ฉายแสง” โพสต์แสดงความเห็นว่า ดูกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ “หน่วยงานของรัฐ” และ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” แล้ว ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากสรุปได้ว่า “คสช.” เป็น “หน่วยงานของรัฐ” และ “หัวหน้า คสช.” เป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” อย่างแน่นอน

“คสช.” ไม่ใช่องค์กรเอกชน แต่เป็นองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐที่มีและใช้อำนาจทั้งทางบริหารและนิติบัญญัติ โดยมีกฎหมายรองรับคือรัฐธรรมนูญชั่วคราวและรัฐธรรมนูญปัจจุบัน คำสั่งของ คสช. และ “หัวหน้า คสช.” มีผลกระทบต่อบุคคล จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง “หัวหน้า คสช.” ที่มีอำนาจออกคำสั่งที่มีผลทางการบริหาร นิติบัญญัติ และมีผลกระทบต่อบุคคล จึงไม่ใช่เอกชนหรือบุคคลธรรมดาทั่วไป แต่ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ที่ว่า “คสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์” คือระบบกฎหมายของไทยยอมรับว่าเมื่อยึดอำนาจได้ก็มีอำนาจสูงสุดและทำอะไรก็ไม่ผิด แต่ไม่ได้หมายความว่า “หัวหน้า คสช.” จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ทั้งๆที่เป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ”

การตีความกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญใน “ประเทศกูมี” ที่มีความแตกต่างกันแบบสุดกู่ โดยเฉพาะ “องค์กรอิสระ” ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหากย้อนดูคำวินิจฉัยพรรคการเมืองและนักการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับ “กลุ่มอำนาจนิยม” จะมีอันเป็นไปต่างๆนานากันถ้วนหน้า!!


You must be logged in to post a comment Login