วันพฤหัสที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567

รากเหง้าไฟใต้?

On March 12, 2019

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 12 มี.ค. 62)

เหตุระเบิดหลายแห่งในอำเภอเมืองสตูลและพัทลุงเมื่อคืนวันเสาร์ที่ 9 มีนาคม ส่วนใหญ่เป็น “ระเบิดเสียง” ไม่ใช่ “ระเบิดสังหาร” เป็นระเบิดแบบ “ไปป์บอมบ์” ใช้ท่อเหล็กเป็นภาชนะห่อหุ้มระเบิด และใช้นาฬิกาข้อมือแบบดิจิทัลตั้งเวลาจุดระเบิด

แม้ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ก็สร้างความวิตกให้คนในพื้นที่ได้ไม่น้อย เพราะเป็นปฏิบัติการกลางเมืองและกระทบถึงความมั่นคงของภาครัฐ สะท้อนว่าผู้ก่อความไม่สงบที่มีศักยภาพปฏิบัติการนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่ “โจรห้าร้อย” หรือ “โจรกระจอก” ซึ่งก่อนหน้านี้มีระเบิดนางเงือกที่หาดสมิหลา อำเภอเมืองสงขลา

สำนักข่าวอิศรารายงานว่า หน่วยงานความมั่นคงมองว่าอาจต้องการสร้างสถานการณ์ช่วงใกล้เลือกตั้งและเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เพื่อให้เปลี่ยน “คณะพูดคุยเจรจา” ใหม่ ซึ่งขณะนี้ไม่มีความคืบหน้า ท่ามกลางความเห็นต่างทั้งฝ่ายรัฐไทยและกลุ่มก่อความไม่สงบที่มีหลายกลุ่ม

อีกประเด็นคือการสร้างสถานการณ์ในวันครบรอบ 110 ปีสนธิสัญญาแองโกล-สยาม พ.ศ. 2452 (ค.ศ. 1909)  ตรงกับวันที่ 10 มีนาคม รับรองให้ “ปาตานี” หรือ “นครปัตตานี” ที่เดิมอยู่ในฐานะรัฐอิสระและตกเป็นประเทศราชของสยาม ซึ่งตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์มีการพ่นสีคำว่า “PATANI 110” ตามราวสะพานและพื้นถนนหลายจุด

ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกมายาวนาน เกี่ยวข้องทั้งศาสนา วัฒนธรรม และการเมือง กองทัพและหน่วยงานความมั่นคงถูกตั้งคำถามถึงยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาเดิมๆ โดยเฉพาะการใช้กฎอัยการศึกและปฏิเสธข้อเสนอรูปแบบการปกครองตนเอง

เมื่อรากเหง้าของปัญหาไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูดคุย ความเห็นต่างระหว่างกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงกับคนในพื้นที่จึงเป็นปัญหาใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ประชาชน และนักวิชาการ!!


You must be logged in to post a comment Login