วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ

On March 7, 2019

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) จากกรณีพรรคไทยรักษาชาติที่เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเข้าข่ายการกระทำผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยนายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นแถลงว่า..

วันนี้ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือและลงมติ ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาประชุมครบทุกคน เนื่องจากว่าคำวินิจฉัยอาจจะยาว อนุญาตให้คู่ความนั่งฟังได้ไม่ต้องยืน ส่วนคำร้องทั้งหลายที่ยื่นมาต่อศาล ศาลได้แยกกลุ่มคำร้องแล้ว ได้มีคำสั่งดังนี้

1 คำร้องของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นายทนายเสือธนพล สุขปาน นายธนพล บุญมาลี นายพงษ์พิสุทธิ์ จินตโสภณ กับพวก นายมิ่งขวัญ พุกเปี่ยม นายปุณยวัจน์ เหลืองวิจิตร และนายวัฒนชัย สืบศิริบุษย์ ที่ขอเป็นผู้ร้องสอด หรือผู้ถูกร้องร่วม หรือเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ยื่นคำร้องทุกรายไม่ใช่คู่กรณี ในคดีนี้คู่กรณีได้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง และพรรคไทยรักษาชาติ ผู้ถูกร้อง ให้ถือว่า ผู้ยื่นคำร้องทุกรายเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องในคดี ซึ่งเมื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ยังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาต ให้ผู้ยื่นคำร้องทุกรายเข้ามาเป็นคู่กรณี จึงให้ยกคำร้อง

2 กรณีคำร้องของ นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ กรรมการบริหารพรรค ผู้ถูกร้อง ที่ขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวนคดี เพื่อประกอบการจัดทำคำชี้แจง ต่อมานายวุฒิชัย ยื่นคำชี้แจงต่อศาลแล้ว จึงให้ยกคำร้อง

3 กรณีคำร้องของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่คัดค้านศาลรัฐธรรมนูญ มีท่านชัช ชลวร ขอให้ส่งองค์กรวินิจฉัย การพ้นตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และขอให้ระงับกระบวนการพิจารณาเอาไว้ก่อน และจำหน่ายคดีนี้ไว้ชั่วคราว ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจาก นายเรืองไกร ไม่เป็นคู่กรณี จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 35 จึงให้ยกคำร้อง

4 กรณีคำร้องของ นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสาร และขอเพิ่มเติมเอกสารประกอบคำชี้แจง และคำชี้แจงเพิ่มเติม จากที่พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ คู่กรณีได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง และพรรคไทยรักษาชาติ ผู้ถูกร้อง ให้ถือว่าเป็นผู้ที่่เกี่ยวข้องในคดี เมื่อศาลสั่งไม่อนุญาตให้เป็นคู่กรณี จึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 60 ให้ยกคำร้อง

5 คำร้องของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยความชอบของมติของผู้ถูกร้อง เมื่อศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้สอดเข้ามาเป็นคู่กรณีในคดีนี้แล้ว การยื่นคำร้องทั่วๆ ไป กรณีนี้ จึงไม่อาจกระทำได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้อง

ต่อไปฟังคำวินิจฉัยนะครับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้มอบหมายให้ 2 ท่าน เป็นผู้อ่าน ได้แก่ ท่านนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และท่านทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ต่อไปขอเชิญฟังคำวินิจฉัย

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แุุลงวา..

วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นแห่งคดี ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ร้องขอให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ กำหนดประเด็นคดีวินิจฉัยไว้ 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 มีเหตุให้สั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 1(2) หรือไม่
ประเด็นที่ 2 คณะกรรมการบริหารพรรค ผู้ถูกร้อง และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 2 หรือไม่
ประเด็นที่ 3 ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ผู้ถูกร้อง และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกหรือไม่ ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรค 2 หรือไม่

ประเด็นที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญในราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 และหมวด 1 พระมหากษัตริย์ มาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้บัญญัติว่า พระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิด หรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ในฐานะเหนือการเมือง อันเป็นไปตามพระราชสงค์ของพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชหัตถเลขาที่ 1/60 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2475 ถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ผ่านกรรมการราษฎร ระหว่างที่กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีความเห็นชอบด้วยทุกประการ

สาระสำคัญซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยของไทย ระบุไว้ในความของ พระราชหัตถเลขา ที่ระบุว่า ด้วยหลักการพระบรมวงศานุวงศ์ย่อมดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพเหนือความที่จะถูกติเตียน ไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นการงานที่จะนำมา ทั้งในทางพระเดชและพระคุณ ย่อมอยู่ในวงอันจะถูกติเตียน อีกเหตุหนึ่งจะนำมาซึ่งความขมขื่น ในเมื่อเวลาทำการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง อันเป็นเวลาที่ต่างฝ่ายต่างโจมตีให้ร้ายซึ่งกันและกัน เพื่อความสงบเรียบร้อยอันสมัครสมานอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างเจ้านายกับราษฎร ควรถือเสียว่า พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ย่อมดำรงอยู่เหนือการเมืองทั้งหลาย ส่วนการพิจารณาจะช่วยทำนุบำรุงประเทศบ้านเมืองย่อมมีโอกาสบริบูรณ์ในทางตำแหน่งประจำ และในตำแหน่งอันเกี่ยววิชาชีพเป็นพิเศษอยู่แล้ว

หลักการพื้นฐานดังกล่าว ถือว่า การพิจารณาร่วมของการสถาปนาระบอบการปกครองของไทยไว้ในรัฐธรรมนูญแต่เริ่มแรก อันเป็นฉันทามติ ที่ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรได้ให้การยอมรับ ปฏิบัติสืบต่อมา ว่าพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงควรดำรงอยู่เหนือฐานะการเมือง โดยเฉพาะในแง่การไม่เข้าไปมีบทบาทเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน และกระทบความสงบเรียบร้อยสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับราษฎร ที่เป็นหลักการพื้นฐานและประเพณีการปกครองระบอบของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ถึงแม้ในรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สภาผู้แทนราษฎรได้มีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ทั้งฉบับ อันนำมาสู่การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ซึ่งได้เว้นการบัญญัติจำกัดบทบาทของพระบรมวงศานุวงศ์ในทางการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่กระนั้นก็หาได้ทำให้หลักการพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยฐานะของสมาชิกของพระบรมวงศานุวงศ์อันเป็นที่เคารพเหนือการถูกติเตียน และไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกลบล้าง อันปรากฏเป็นที่ประจักษ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2543 กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาว่า พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อีกทั้งให้เลขาธิการพระราชวังมีหน้าที่แจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแทนพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป

ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มีปัญหาในทางปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีบุคคลใดบ้างที่ไม่อยู่ในข่าย หรือได้รับการยกเว้น มิต้องไปแจ้งเหตุอันควรที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ตามมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ รวมทั้งพุทธศักราช 2540 มีหมวดว่าด้วยพระราชบัญญัติเป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามมติการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมืองและทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดมิได้

อีกทั้งพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจประชาธิปไตย ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง ประกอบกับที่ผ่านมา พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา ไม่เคยทรงใช้สิทธิเลือกตั้งแต่อย่างใด หากกำหนดให้พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อยู่เป็นนิจ ทรงมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งและไม่สอดคล้องกันกับหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 71

ศาลรัฐธรรมนูญ จึงวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ให้ใช้กับพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ ตามมาตรา 22 และมาตรา 23 หลักการพื้นฐานว่าด้วยการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามในของวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญข้างต้น สอดคล้องกับหลักการที่มีอยู่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครองอันเป็นหลักการในรัฐธรรมนูญอันเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่นานาอารยประเทศ ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ กล่าวคือ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นบ่อเกิดแห่งความชอบธรรมของระบบการเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจคนในชาติ และธำรงความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ พระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุขของรัฐ ทรงใช้อำนาจประชาธิปไตย โดยผ่านสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน

การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข ของไทยมีความแตกต่างจากการปกครองของระบอบที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ ลักษณะอื่น ซึ่งมีบทบาททางการเมืองโดยตรง โดยการใช้อำนาจในการเมือง อันปรากฎในระบอบประชาธิปไตย อำนาจสมบูรณ์ หรือการปกครองระบอบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ และควบคุมการใช้อำนาจทางการเมือง โดยผ่านการแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าฝ่ายบริหาร ดังเช่น ระบอบราชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญของบางประเทศ ในปัจจุบัน

ดังนั้น การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ ในการเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในนามของพรรคการเมืองผู้แข่งขันกับพรรคการเมืองอื่นๆ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และในกระบวนการให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็น นายกรัฐมนตรี ตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นได้ว่า จะส่งผลให้ระบอบการเมือง การปกครองของประเทศไทยแปรเปลี่ยนไปสู่สภาพการอันเดียวกับระบอบการเมืองที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐและมีพระบรมวงศานุวงศ์ทำหน้าที่ใช้อำนาจทางการเมืองในการปกครองประเทศ สภาพการเช่นนี้ ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครองต้องถูกเซาะกร่อน ทำลาย บ่อนทำลายให้เสื่อมทรามไปโดยปริยาย

อนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีเจตนารมณ์สำคัญประการหนึ่ง คือมุ่งลดเงื่อนไขความขัดแย้งเพื่อให้ประเทศมีความสงบสุขบนฐานของความรู้รักสามัคคี ปรองดอง ภายใต้กฎเกณฑ์ตามหลักการปกครองในระบอบระชาธิปไตยและประเพณีการปกครองที่เหมาะสมกับสถานการณ์และลักษณะสังคมไทย อีกทั้ง รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรอง ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยอย่างชัดเจนและกว้างขวาง

ความตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญของชนชาวไทยนั้น ปรากฏชัดในข้อเท็จจริงที่ว่าในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ในระหว่างวันที่ 4 – 8 กุมภาพันธ์ 2562 จำนวนมากกว่า 10,000 คน

มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จำนวนทั้งสิ้น 77 พรรคการเมือง และมีพรรคการเมืองที่เสนอรายชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภาพิจารณา แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จำนวนทั้งสิ้น 44 พรรคการเมือง

แต่อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง ที่รัฐธรรมนูญรับรองนั้น ย่อมต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ และกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย และต้องมิใช่เป็นการใช้สิทธิ และเสรีภาพ ที่จะส่งผลเป็นการบั่นทอน ทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และสั่นคลอนคติ รากฐาน การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมโทรมไป

ด้วยเหตุฉะนี้ ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของนานาอารยประเทศจึงบัญญัติให้มีกลไก ปกป้องระบอบการปกครองจากการถูกบั่นทอน บ่อนทำลาย โดยการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่เกินขอบเขตของบุคคล หรือพรรคการเมืองไว้ด้วยเสมอ ดังนั้นแม้พรรคไทยรักษาชาติจะมีสิทธิและเสรีภาพการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย บัญญัติไว้โดยสมบูรณ์

แต่การใช้สิทธิและเสรีภาพในการกระทำการใดๆของพรรคการเมือง ย่อมต้องอยู่บนความตระหนักว่า การกระทำนั้นจะไม่เป็นการอาศัยสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองที่ได้รับมาจากรัฐธรรมนูญ ให้มีผลกระทบย้อนกลับมาทำลายหลักการพื้นฐาน บรรทัดฐาน คุณค่า และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเสียเอง

เพราะประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามนิติราชประเพณีของไทยนั้น มั่นคงสถานะและเอกลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณว่า พระองค์จะทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นประมุข ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกชนชั้น วรรณะ เพศ และวัย

ทรงเคารพรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และโบราณราชประเพณี และทรงอยู่เหนือการเมือง จึงต้องทรงเป็นกลางทางการเมือง ทั้งยังทรงต้องระมัดระวังมิให้สถาบันกษัตริย์ของไทย ต้องถูกนำไปเป็นคู่แข่ง หรือฝักใฝ่ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดอย่างเคร่งครัด เพราะหากถูกทำด้วยวิธีการใดๆให้เกิดผลเป็นไปเช่นนั้น สภาวะความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยย่อมสูญเสียไป

เมื่อเสียความเป็นกลางทางการเมือง ก็ย่อมไม่สามารถดำรงพระองค์และปกป้องสถาบันให้ทรงอยู่เหนือการเมืองได้ ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ต้องจะไม่ทรงอยู่ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมของประชาชนชาวไทยอีกต่อไป นั่นย่อมทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทย จะต้องเสื่อมโทรม หรือลง หรือต้องสูญสิ้นไป ซึ่งหาควรปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้นไม่

นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงต่อว่า..
สำหรับประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งจะต้องนำมาใช้บังคับแก่การกระทำหรือพฤติกรรมทางรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 5 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญนั้น ถึงแม้จะไม่มีนิยามไว้เป็นกาลเฉพาะ แต่ก็พออนุมานความหมายเบื้องต้นได้ว่า มีองค์ประกอบ 4 ประการ ตามเนื้อความที่ปรากฏในชื่อเรียกนั่นเอง กล่าวคือ

1.หมายถึงประเพณีการปกครองที่ยึดถือปฏิบัติกันมานานจนเป็นประเพณีที่ดีงามในทางการเมือง การปกครอง มิใช่ประเพณีในกิจการด้านอื่น

2.ต้องเป็นประเพณีการปกครองของประเทศไทยที่เป็นที่ยอมรับนับถือกันว่าดีงามในประเทศไทย อันควรแก่การถนอมรักษา และสืบสานให้มั่นคงต่อไป มิใช่ประเพณีการปกครองของประเทศอื่น ลัทธิอื่น หรืออุดมการณ์อื่น

3.ประเพณีการปกครองประเทศไทยดังกล่าว หมายถึงประเพณีที่ถือปฏิบัติกันในวาระสมัยที่ประเทศมีการปกครองอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

4.ประเพณีการปกครองของไทยในระบอบประชาธิปไตยนั้น หมายถึงระบอบเสรีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่ประชาธิปไตยรูปแบบอื่น ทฤษฎีอื่น หรืออุดมการณ์อื่น

ตัวอย่างที่ชัดแจ้งขององค์รปะกอบข้อนี้ ได้แก่ ประเพณีการปกครองโดยธรรม ที่องค์พระมหากษัตริย์จะต้องทรงใช้พระราชอำนาจโดยธรรม และทรงดำรงพระองค์อยู่ในทศพิธราชธรรม เพื่อให้สำเร็จผลเป็นประโยชน์ส่วนรวมแก่ประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการจำเป็นที่พระมหากษัตริย์ไทยจะต้องทรงอยู่เหนือการเมืองและต้องทรงเป็นกลางทางการเมือง ไม่เปิดช่อง เปิดโอกาสให้สถาบันกษัตริย์ไทยต้องถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยฝักใฝ่ทางการเมือง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ถึงแม้จะไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญถึงสถานะที่ต้องทรงอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมืองไว้เป็นการเฉพาะ ก็ต้องนำประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าวมาใช้บังคับด้วยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5 วรรค 2

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 1 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อไม่ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น

1.กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิธีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

2.กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

3.กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรค 2 มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74

4.มีเหตุอันควรต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบอบการปกครองประเทศ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม เพราะพรรคการเมืองเป็นองค์กรที่มีส่วนกำหนดตัวบุคคล ที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร

ทั้งนี้ โดยมีคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง เป็นเสมือนมันสมองและระบบจิตใจ เป็นผู้ใช้ดุลพินิจตัดสินและกระทำการใดๆแทนพรรคการเมือง ดังนั้นผู้ที่เข้ามาจัดตั้งพรรคเมืองจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อทุกการตัดสินใจ และการกระทำของพรรคการเมืองที่ตนบริหารจัดการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความมั่นคงดำรงอยู่ และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืนของประเทศชาติและระบอบการปกครองของประเทศ

ถ้าพรรคการเมืองใดมีการกระทำที่เป็นการล้มล้างหรือเพียงอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคการเมืองนั้น รวมทั้งคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น ย่อมจะต้องถูกลงโทษทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พุทธศักราช 2560 มาตรา 92 วรรค 1 (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี จะอ้างความไม่รู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความเห็น ความเชื่อของตน มาเป็นข้อแก้ตัวให้หลุดพ้นจากความรับผิดชอบ ต่อการกระทำนั้นไม่ได้

ถึงแม้กฎหมายจะมิได้บัญญัตินิยามศัพท์คำว่า ล้มล้าง และปฏิปักษ์ไว้ แต่ทั้ง 2 คำนั้นก็เป็นคำในภาษาไทยธรรมดาที่มีความหมายตามที่ใช้และรู้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งศาลย่อมรู้ด้วยเองว่า ล้มล้าง หมายถึงการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสิ้นสลายหมดไป ไม่ให้ธำรงอยู่ หรือมีอยู่ต่อไปอีก

ส่วนคำว่าปฏิปักษ์นั้น ไม่จำเป็นต้องรุนแรงถึงขนาดมีเจตนาจะล้มล้างทำลายให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำเป็นต้องถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรูหรือเป็นฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางหรือสกัดกั้นมิให้เจริญก้าวหน้า หรือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผล เป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย จนเกิดความชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทรามหรืออ่อนแอลง ก็เข้าลักษณะของการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว

สำหรับประเด็นเรื่องเจตนานั้น เมื่อมาตรา 92 วรรค 1(2) บัญญัติชัดเจน เพียงแค่อาจเป็นปฏิปักษ์ก็ต้องห้ามแล้ว หาจำต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือต้องรอให้ผลเสียหายร้ายแรงเกิดขึ้นจริงเสียก่อนไม่

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นมาตรการป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันหลักของประเทศไว้ก่อน อันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็น เพื่อดับไฟใหญ่ไว้แต่ต้นลม มิให้ไฟกองเล็กกระพือโหมไหม้ลุกลามขยายไป จนเป็นมหันตภัยที่ไม่อาจต้านทานได้ในวาระต่อไป อนึ่งบทบัญญัติ 92 (2) ที่ว่าอาจเป็นปฏิปักษ์นั้น ในทางกฎหมายเป็นเงืิ่อนไขทางภาวะวิสัย กล่าวคือไม่ขึ้นกับเจตนา หรือความรู้สึกส่วนตัวของผู้กระทำ เพื่อจะเกิดผลเป็นปฏิปักษ์จริงหรือไม่ หากแต่ต้องดูตามพฤติการณ์ และการกระทำนั้นๆ ว่าในความคิดของวิญญูชน หรือคนทั่วไปจะเห็นว่า การกระทำดังกล่าวส่งผลให้เป็นปฏิปักษ์หรือไม่ เทียบได้กับกรณีหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา 326 ที่ว่า น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังนั้น ศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานมั่นคงไว้ว่า การพิจารณาว่าถ้อยคำ หรือข้อความใดจะเป็นการใส่ความผู้อื่น จนทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ ต้องพิจารณาจากการรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึก และความเข้าใจในถ้อยคำ หรือข้อความนั้นของวิญญูชน โดยที่ไม่เป็นเกณฑ์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3167/2545 และข้อความใดจะทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ต้องถือเอาความคิดของบุคคลธรรมดา ผู้อื่นได้ฟัง คือไม่เกี่ยวกับเจตนา หรือความรู้สึกของผู้กระทำเอง

ส่วนผลของการใส่ความผู้อื่น จะทำให้เขาเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชังหรือไม่นั้น ศาลวินิจฉัยได้เอง ไม่จำเป็นต้องอาศัยคำเบิกความของพยาน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2371/2522 เมื่อการกระทำของผู้ถูกร้องมีหลักฐานชัดเจนว่า ได้กระทำไปโดยรู้สำนึก และโดยสมัครใจอย่างแท้จริง ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องย่อมทราบดีว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ทั้งยังเป็นพระเชษฐาภคินี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้ว แต่ยังดำรงในฐานะที่เป็นสมาชิกแห่งพระบรมจักรีวงศ์ การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์เป็นฝักใฝ่ในทางการเมือง ทั้งยังเป็นการกระทำที่วิญญูชนและคนไทยทั่วไปย่อมรู้สึกได้ว่า สามารถทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ที่เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติต้องถูกนำมาใช้ เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยล ให้ปรากฏผลเหมือนเป็นฝักใฝ่ทางการเมือง และมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง และดำรงความเป็นกลางในการเมือง อันเป็นจุดประสงค์เริ่มต้นของการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะของการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 92 วรรค 1 (2) อย่างชัดแจ้งแล้ว

จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้อง ตามมาตรา 92 วรรค 2 ระบบการปกครองในประเทศไทยมีวัฒนาการมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนมาถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ระบบการปกครองที่ว่านี้ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด เป็นที่เคารพสักการะและเทิดทูนไว้ อันสังเกตได้จากภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2445 รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับมีหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ และบทที่เขียนว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะอันละเมิดมิได้

ประเด็นที่ 2 คณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 2 หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 2 บัญญัติว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำการตามวรรค 1 ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น เมื่อผู้ถูกร้องได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 1 (2) และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องแล้ว จึงชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว อยู่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 อันเป็นวันที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 2 มีข้อพิจารณาต่อไปว่า เมื่อวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องแล้ว จะต้องเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งเป็นระยะเวลาเท่าไร เห็นว่าการกำหนดระยะเวลาของการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้อาสาเข้ามาทำประโยชน์แก่บ้านเมือง ในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องพิจารณาให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรระหว่างพฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งการกระทำ ให้ได้สัดส่วนกับโทษที่จะได้รับ ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล เมื่อพิจารณาการกระทำของผู้ถูกร้องดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังไม่ถึงขนาดที่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระบบการปกครองของประเทศชาติ

นอกจากนี้ พิจารณาความสำนึกรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้อง ที่ได้น้อมรับพระบรมราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมทันที ภายหลังที่ได้รับทราบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ยังมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ จึงเห็นสมควรกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้อง มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ซึ่งจะสอดคล้องกับระยะเวลาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรค 2 ที่ห้ามผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องที่จะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ดังนั้น จึงให้เพิกถอนสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำความผิด มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 2

ประเด็นที่ 3 ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ผู้ถูกร้อง และถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง จะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรค 2 หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรค 1 บัญญัติว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ให้นายทะเบียนประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองซ้ำ หรือพ้องกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น และวรรค 2 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุดังกล่าวไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนร่วม หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองอีก

ทั้งนี้ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ บทบัญญัติทางกฎหมายว่าด้วยผลของการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งบริหารพรรคผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งดังกล่าว อยู่ในวันที่ 8 อันเป็นวันที่กระทำยุบพรรค ผู้ถูกร้องก็ไปจดทะเบียนขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่อีกไม่ได้ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94

จากเหตุผลดังกล่าวจึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติผู้ถูกร้อง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 1 (2) และวรรค 2 เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้อง ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 1 (2) และวรรค 2 มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง และห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องดังกล่าว ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่อีกไม่ได้ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรค 2

นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงสรุปว่า ในประเด็นที่ 1 ศาลมีมติยุบพรรคผู้ถูกร้อง โดยมติเอกฉันท์
ส่วนประเด็นข้อที่ 2 เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี โดยมติ 6 : 3 รวมประเด็นข้อที่ 3 ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ ทุกคนยืนขึ้นรับฟังรายงาน นัดฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ผู้แทนผู้ร้องมาศาล และ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องมาศาล ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยที่ 3/2562 ลงวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2562 ให้ผู้แทนผู้ร้อง และผู้ถูกร้องฟังแล้ว ให้คู่กรณีคัดถ่ายสำเนาคำวินิจฉัยได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำวินิจฉัย เดี๋ยวคู่ความลงชื่อกันไว้นะครับ


You must be logged in to post a comment Login