วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

ผีไม่เน่ากับโลงแก้ว

On March 1, 2019

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่   1-8 มีนาคม  2562)

คนส่วนใหญ่เศร้าโศกอาลัยกับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของบุคคลที่พวกเขารัก และมีคนจำนวนมากต้องการเก็บรักษาร่างของผู้ที่จากไปให้คงสภาพเหมือนเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิต วิธีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้คือการนำร่างบรรจุใน “โลงแก้ว”

หนังสือพิมพ์โอคลาโฮมาไทม์ ฉบับประจำวันที่ 19 พฤศจิกายน 1916 ลงประกาศโฆษณาเชื้อเชิญลงทุนธุรกิจทางเลือก “อีกหนึ่งโอกาสทองมาเยือนถึงหน้าบ้านท่านแล้ว” รายละเอียดระบุว่าสินค้าตัวใหม่เป็นที่ต้องการของลูกค้าจำนวนมาก และนับวันก็ยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น

มีลูกค้าหน้าใหม่เข้ามาทุกวัน เพราะมันคือสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ “มันกันน้ำและสิ่งสกปรก แถมยังคงทนถาวรตลอดไป อย่าให้คนที่เรารักต้องนอนแช่น้ำดังเช่นโลงศพทั่วไป จงเลือกใช้โลงแก้ว”

โฆษณาชิ้นนี้ขายสินค้าใหม่ 2 ชนิดพร้อมกัน ชิ้นแรกคือโลงแก้ว ส่วนอีกชิ้นคือขายหุ้นบริษัทผลิตโลงแก้ว ผู้ผลิตอ้างว่าโลงแก้วสามารถป้องกันความชื้น สิ่งสกปรก และหนอน อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ศพเน่าเปื่อย เนื่องจากโลงแก้วมีการปิดผนึกอย่างดีจนแม้แต่อากาศและความชื้นก็ไม่สามารถเล็ดลอดเข้ามาได้

คนยุคใหม่คงขบขันที่ผู้ผลิตกล่าวอ้างว่าเพียงนำศพบรรจุลงในโลงแก้วศพก็จะไม่เน่าเปื่อย แต่คนสมัยร้อยกว่าปีก่อนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เหมือนคนสมัยนี้ ทำให้บริษัทผลิตโลงแก้วไม่ได้มีเพียงบริษัทเดียว หากแต่มีผู้กระโดดเข้ามาทำตลาดอยู่หลายเจ้า

เคาะบ้านขาย

ปี 1915 เจมส์ ดีแคมป์ จดทะเบียนลิขสิทธิ์โลงแก้วภายใต้ชื่อบริษัทผลิตโลงแก้วดีแคมป์ โดยมีรายละเอียดว่า ตัวโลงและฝาโลงผลิตจากแก้ว ระหว่าง 2 ส่วนนี้ปิดผนึกด้วยหลอดซิลิโคนป้องกันอากาศและความชื้นไม่ให้เล็ดลอดเข้าไปในโลงแก้ว

พนักงานขายในยุคต้นศตวรรษที่ 20 ใช้วิธีเดินตระเวนขายสินค้าตามบ้าน พวกเขาจะนำสินค้าตัวอย่างขนาดย่อส่วนเพื่อสะดวกต่อการพกพา แต่มีคุณสมบัติเท่ากับสินค้าตัวจริง เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพว่าสินค้าทำงานอย่างไร ด้วยเหตุนี้เองพนักงานขายโลงแก้วจะนำโลงแก้วขนาดเล็กเท่าขนาดใส่ตุ๊กตาบาร์บี้ตระเวนไปสาธิตตามบ้าน แต่สิ่งที่พนักงานเสนอขายนั้นไม่ใช่โลงแก้ว หากแต่เป็นหุ้นบริษัทผลิตโลงแก้ว

ปี 1916 สมาคมผู้ประกอบการพิธีศพทำการสืบสวนคุณสมบัติของโลงแก้วว่าเป็นไปตามคำกล่าวอ้างของผู้ผลิตหรือไม่ เขาพบว่ายังไม่มีใครเคยเห็นโลงแก้วขนาดใหญ่ที่สามารถบรรจุร่างของผู้ใหญ่ได้ เคยเห็นกันก็แค่โลงแก้วจำลองขนาดย่อส่วนที่พนักงานขายนำมาสาธิต จึงเชื่อได้ว่าบริษัทผลิตโลงแก้วก่อตั้งขึ้นมาเพื่อหลอกขายหุ้นบริษัทเท่านั้น แต่ไม่มีการผลิตสินค้าจริง เนื่องจากการใช้แก้วผลิตสินค้าขนาดใหญ่นั้นทำได้ยากมากจนเรียกว่าเป็นไปไม่ได้

ขณะเดียวกันหลายรัฐได้ออกกฎหมายป้องกันการเสนอขายสินค้าที่ไม่มีอยู่จริง รวมถึงการหลอกขายหุ้นและพันธบัตร ต่อมาในปี 1921 บริษัทผลิตโลงแก้วอเมริกันซื้อลิขสิทธิ์จากบริษัทดีแคมป์และอ้างว่าผลิตโลงแก้วใบใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการผลิตสินค้าทำจากแก้วด้วยขนาดความกว้าง 5 ฟุต ยาว 25 ฟุต สูง 13 ฟุต น้ำหนัก 315 ปอนด์ แต่มันไม่ใช่โลงแก้วอย่างที่คนทั่วไปจินตนาการไว้เหมือนกับโลงแก้วที่เห็นในการ์ตูนเรื่องสโนว์ไวท์

มันเป็นโลงที่สร้างโดยใช้แก้วเป็นวัสดุหลัก แต่มีโครงเป็นโลหะ ห่อหุ้มด้วยหนังสัตว์ประดับใบไม้และดอกไม้ บุภายในด้วยผ้า การใช้แก้วเป็นวัสดุหลักไม่ใช่เพื่อให้มองเห็นร่างที่บรรจุอยู่ภายในโลง หากแต่เพื่อป้องกันอากาศและความชื้น บริษัทผลิตโลงแก้วอเมริกันลงโฆษณาตอบโต้ว่า “พูดกันว่าทำไม่ได้ มันอยู่นี่ไง สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ได้ทำสำเร็จแล้ว”

โลงโลหะ

สมาคมผู้ประกอบพิธีฝังศพไม่เห็นด้วยกับความพยายามคงสภาพร่างผู้เสียชีวิตไม่ให้เน่าเปื่อย เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตแทบทุกวัน หากศพไม่เน่าเปื่อย อีกไม่นานก็จะไม่มีที่ฝังศพ ดังนั้น ศพควรจะเน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา

ความพยายามคงสภาพผู้เสียชีวิตเคยมีมาก่อนหน้าการคิดค้นโลงแก้ว ปี 1848 อัลมอนด์ ฟิสก์ จดลิขสิทธิ์โลงโลหะ เขาออกแบบโลงคล้ายโลงหินบรรจุมัมมี่ของอียิปต์ แต่ทำด้วยโลหะ มันสามารถป้องกันอากาศและความชื้นไม่ให้ซึมผ่านเข้าไปในโลง อีกทั้งยังสามารถบรรจุแก๊สหรือน้ำยาคงสภาพศพภายในโลงโลหะได้

คนส่วนใหญ่ไม่ปลื้มกับโลงโลหะเพราะมันดูน่ากลัว อีกทั้งยังมีราคาแพงกว่าหลายเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับโลงไม้ที่ใช้กันอยู่ เพียงปีเดียวหลังจากอัลมอนด์สร้างโลงโลหะ โรงงานของเขาถูกไฟไหม้ ตัวอัลมอนด์ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม มีบริษัทอื่นๆสนใจแนวความคิดของอัลมอนด์ ผลิตโลงทำด้วยโลหะออกวางจำหน่าย เช่น บริษัทเลย์มอนด์แอนด์โค จุดประสงค์เพื่อใช้บรรจุศพที่ต้องเคลื่อนย้ายเป็นระยะทางไกล เพื่อป้องกันไม่ให้ศพเน่าเปื่อยเร็วก่อนถึงจุดหมายปลายทาง

คงสภาพร่าง

วันที่ 24 พฤษภาคม 1861 พันเอกเอลเมอร์ อี. แอลส์เวิร์ธ เพื่อนสนิทของอับราฮัม ลินคอล์น ถูกข้าศึกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สงครามกลางเมืองในเวอร์จิเนียร์ โทมัส โฮล์ม ติดต่อเสนอบริการดองศพเพื่อนำร่างของเอลเมอร์กลับมายังทำเนียบขาว ร่างของเอลเมอร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกเร้าให้แก้แค้นทหารฝ่ายใต้

นับตั้งแต่นั้นมาโทมัสออกเดินสายไปตามสมรภูมิสงครามกลางเมือง ตั้งเต็นท์รับจ้างดองศพให้กับผู้ที่ต้องการคงสภาพบุคคลที่เป็นที่รัก สนนราคาค่าจ้าง 100 ดอลลาร์ สามารถซื้อบริการล่วงหน้าได้ หากทหารคนใดเสียชีวิตโทมัสก็จะรับศพมาดองรอการส่งร่างกลับไปให้ครอบครัว

ดูเหมือนบริการรับดองศพจะทำรายได้ดีโดยเฉพาะในช่วงเวลาสงคราม จึงมีผู้ที่มีความรู้ทางด้านแพทย์ให้บริการดองศพตามมาอีกหลายราย ปี 1865 นายพลยูลิสซิส เอส. แกรนท์ ไม่แฮปปี้กับบริการดองศพในสมรภูมิด้วยเหตุผลทางจริยธรรม ออกคำสั่งห้ามตั้งเต็นท์รับดองศพบริเวณสมรภูมิ ถึงเวลานั้นเฉพาะโทมัสเพียงคนเดียวทำการดองศพไปทั้งสิ้นอย่างน้อย 4,000 ร่าง

หลังจากเห็นไอเดียคงสภาพศพด้วยโลงแก้ว ทำให้โทมัสได้ความคิดใหม่ ใช้ความรู้ด้านการดองศพของเขาผนวกเข้ากับการใช้โลงแก้วทำให้สามารถคงสภาพร่างผู้เสียชีวิตได้ยาวนานยิ่งขึ้นไปอีก แต่ธุรกิจผลิตโลงแก้วไปไม่ถึงดวงดาว ในปี 1923 รัฐบาลยื่นมือเข้ามาแทรกแซง เพราะเห็นว่าธุรกิจนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำรายได้จากการผลิตสินค้า หากแต่เป็นการปั่นราคาหุ้น เนื่องจากไม่มีผู้ถือหุ้นคนใดได้รับเงินปันผล คุณสมบัติคงสภาพร่างด้วยโลงแก้วจึงเป็นแค่เรื่องหลอกลวงเรื่องหนึ่งในสมัยนั้น

1

1.โฆษณาโลงแก้ว

2

2.เจมส์ ดีแคมป์ กับโลงแก้ว

3

3.โลงแก้วออกแบบโดยเจมส์ ดีแคมป์

4

4.ป้ายบนโลงแก้ว

5

5.หนึ่งในบริษัทผลิตโลงแก้ว

6

6.โชว์รูมโลงแก้ว

7

7.โรงงานผลิตโลงแก้ว

8

8.ใบหุ้นบริษัทผลิตโลงแก้ว

9

9.อัลมอนด์ ฟิสก์ จดลิขสิทธิ์โลงโลหะ

10

10.โฆษณาโลงโลหะของอัลมอนด์ ฟิสก์

11

11.เต็นท์รับดองศพในสมรภูมิสงครามกลางเมือง

 


You must be logged in to post a comment Login