วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

มีลูกยาก…ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

On February 22, 2019

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : พญ.อัญชุลี พฤฒิวรนันทน์ โรงพยาบาลวิภาวดี

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  22  กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม  2562)

อยากมีลูกไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป!! ถ้าใช้วิธีธรรมชาติไม่สำเร็จควรจูงมือกันไปพบแพทย์ หรือปรึกษาศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าและทันสมัยช่วยเข้ามาเติมเต็มความสมบูรณ์ของครอบครัวยุคใหม่ที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยากได้ อย่างที่ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลวิภาวดี ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการมานานกว่า 20 ปี โดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ที่มีความชำนาญด้วยเทคนิคที่ทันสมัย นอกจากนี้ยังมีห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อนและห้องผ่าตัด ซึ่งได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการช่วยให้การรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นไปอย่างสมบูรณ์ และมีอัตราความสำเร็จของการรักษาผู้มีบุตรยากอยู่ในระดับสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป

ปัจจุบันเราพบว่าบรรดาคู่สามีภรรยาทั้งหลายจะมีปัญหามีบุตรยากประมาณ 40% คำว่ามีบุตรยากไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอกาสมีบุตรเลย แต่หมายความว่ามีโอกาสมีบุตรน้อยกว่าปรกติหรือช้ากว่าปรกติ เราพบว่าคู่สามีภรรยาที่มีเพศสัมพันธ์กันตามปรกติสัปดาห์ละอย่างน้อย 2-3 วันโดยไม่ได้คุมกำเนิดจะมีการตั้งครรภ์ 50% ภายใน 5 เดือน และการตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นเป็น 80-90% ในเวลา 1 ปี ส่วนที่เหลือจะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยลงและจัดอยู่ในกลุ่มภาวะมีบุตรยาก

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากเกิดจากผู้หญิงร้อยละ 40 ผู้ชายร้อยละ 40 ร้อยละ 10 เจอทั้งคู่ และอีกร้อยละ 10 ไม่ทราบสาเหตุ โดยคนไข้ที่เข้ามาปรึกษาที่พบบ่อยได้แก่ กลุ่มผู้หญิงที่มีอายุเกิน 35 ปี และมีความกังวล นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มผู้หญิงที่เป็นช็อกโกแลตซีสต์ ฮอร์โมนผิดปรกติที่มีภาวะทำให้ไข่ไม่ตก ก็เสี่ยงในการมีบุตรยากเช่นกัน แต่สำหรับผู้ชายไม่ค่อยมีใครรู้มาก่อนและไม่พบปัญหา นอกเสียจากว่าต้องตรวจน้ำเชื้อเพื่อหาความผิดปรกติ

ส่วนขั้นตอนการรักษานั้นจะต้องมีการตรวจเลือดทั้งผู้ชายและผู้หญิงดูเรื่องความเข้มข้นเลือด เม็ดเลือดมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องพันธุกรรม โรคธาลัสซีเมียหรือไม่ ตรวจความเข้มข้นของเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด ตรวจเรื่องซิฟิลิส เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ตรวจกรุ๊ปเลือดว่ามีความเสี่ยงตอนตั้งครรภ์หรือไม่ ตรวจภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน ส่วนผู้ชายนอกจากมีปัญหาเรื่องน้ำเชื้อผิดปรกติก็ต้องไปตรวจฮอร์โมน แต่น้อยมาก ส่วนของผู้หญิงที่ตรวจเพิ่มคือ ตรวจฮอร์โมนการทำงานของรังไข่ ถ้าเจอความผิดปรกติที่สงสัยเรื่องต่อมไร้ท่ออื่นๆที่เกี่ยวข้องกับรังไข่ก็ต้องมีการตรวจฮอร์โมนต่อมไร้ท่อนั้นๆด้วย ของผู้หญิงจะมีตรวจภายในเช็กมะเร็งปากมดลูก ตรวจอัลตราซาวนด์ดูมดลูก รังไข่ หลังตรวจเสร็จก็ประเมินว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แก้ไขตามสาเหตุ ถ้าบางคนเจอโรคก็รักษาโรคก่อน บางคนทำได้เลยก็มี ตั้งแต่นับวันตกไข่ให้ อาจต้องใช้ยากระตุ้นไข่ช่วย บางคนก็อาจจะต้องใช้เทคโนโลยี ซึ่งมีตั้งแต่ฉีดเชื้อผสมเทียม และทำเด็กหลอดแก้ว

ถ้าพบคนไข้คู่ที่มีปัจจัยเสี่ยงเยอะและไม่น่าจะตั้งครรภ์ง่ายก็อาจจะข้ามมาเป็นเด็กหลอดแก้ว ซึ่งปัจจุบันมีคนไข้ที่เลือกการรักษาด้วยวิธีนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ การรักษาเริ่มต้นด้วยการกระตุ้นไข่ตอนเริ่มมีประจำเดือน พอประจำเดือนมาช่วง 3 วันแรกจะให้ยาฉีดกระตุ้นไข่ ฉีดทุกวันประมาณ 8-10 วัน คนไข้สามารถฉีดได้เอง โดยฉีดที่ผนังหน้าท้อง ระหว่างที่ฉีดยา 8-10 วัน จะนัดมาติดตามขนาดไข่เรื่อยๆ ดูว่าไข่โตได้ตามมาตรฐานไหม ต้องปรับขนาดยาอย่างไรบ้าง แล้วพอไข่โตเต็มที่พร้อมที่จะเก็บไข่ก็จะนัดวันการเก็บไข่ โดยทั่วไปเก็บไข่ออกมา รอปอกเปลือกไข่โดยกรรมวิธีในห้องปฏิบัติการ ปอกเปลือกไข่เสร็จก็ยิงอสุจิเข้าไปเพื่อผสมกันภายใน 4-6 ชั่วโมง แบบนี้เรียกว่าวิธีอิกซี่ แล้วเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ 3-5 วัน ขึ้นอยู่กับแต่ละเซ็นเตอร์ว่าจะย้ายตัวอ่อนกลับวันไหน ซึ่งสามารถย้ายตัวอ่อนได้ตั้งแต่วันที่ 2, 3, 4, 5 ถ้าเป็นที่โรงพยาบาลวิภาวดีจะย้ายตัวอ่อนที่ระยะวันที่ 5 เรียกว่าระยะบลาสโตซีสต์ (Blastocyst) เป็นอีกขั้นหนึ่งของเทคโนโลยีที่สามารถเลี้ยงตัวอ่อนได้ในห้องปฏิบัติการจนถึงระยะนี้ พอย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปก็รอเวลาอีก 7 วันถึงจะรู้ผลว่าตั้งครรภ์หรือไม่ด้วยการเจาะเลือด

ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ช่วยให้มีบุตรเป็นที่ต้องการมากขึ้น บางคนมาพบแพทย์บอกว่าอยากมีลูกแฝด คือท้องทีเดียวให้คุ้มไปเลย ตรงนี้แพทย์คงไม่สามารถทำให้ได้ เพราะจริงๆแล้วการท้องลูกแฝดถือเป็นการตั้งครรภ์เสี่ยงในรูปแบบหนึ่ง การใช้เทคโนโลยีช่วยเรื่องการมีบุตรยากหลักๆยังคงเป็นการทำเด็กหลอดแก้ว โดยการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูก ซึ่งมีเพียง 2-3% เท่านั้นที่จะได้ลูกแฝด 2 คน และมีเพียง 1% เท่านั้นที่จะมีแฝดเกินกว่า 2 คน การทำเด็กหลอดแก้วไม่ว่าจะด้วยวิธีใดต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชัดเจนว่ามีภาวะของการมีบุตรยากด้วยปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งจึงจะทำได้ ในยุโรปมีกฎชัดเจนว่าห้ามย้ายตัวอ่อนเกินกว่า 2 ตัวอ่อน ส่วนในเอเชียไม่มีกฎตายตัว ส่วนใหญ่เป็นการย้ายตัวอ่อนในระยะวันที่ 3 ถึงวันที่ 5 ใส่เข้าไปในโพรงมดลูก ซึ่งโอกาสที่จะตั้งครรภ์มีประมาณ 30% หลายคนจึงต้องทำอยู่หลายครั้งจึงจะประสบความสำเร็จ


You must be logged in to post a comment Login