วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

การแข่งขันปรุงอาหารและแกะสลักระดับนานาชาติ ปี 2562 สะท้อนมุมมองด้านอาหารและอุตสาหกรรมอาหารจากพลังคนรุ่นใหม่

On February 15, 2019

วิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี โดย ดร. วิชุดา ณ สงขลา ศรียาภัย ผู้อำนวยการ จัดกิจกรรม  การแข่งขันปรุงอาหารและแกะสลักระดับนานาชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2562  (Wandee International Culinary Competition) WICC 2019 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี    เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้เยาวชนไทยที่รักการทำอาหาร ได้พัฒนาทักษะการปรุงอาหาร และงานฝีมือให้ก้าวสู่ระดับสากล เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าร่วมแข่งขัน และกรรมการผู้ตัดสินระดับนานาชาติ  อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญในการสร้างทัศนคติที่ดีสู่เยาวชนให้ตระหนักถึงคุณค่าของอาหาร ความสำคัญของมาตรฐานอาหาร เพื่อพัฒนาสู่อุตสาหกรรมอาหารในอนาคตอันใกล้ โดยการแข่งขันแบ่งเป็น 6 ประเภทดังนี้  ได้แก่ 1.อาหารไทยชาววัง  2. อาหารอาเซียนร่วมสมัย  3. อาหารริมทางพร้อมบรรจุภัณฑ์  4. แกะสลักผักผลไม้แบบฟรีสไตล์  5. อาหารตะวันออกผสมผสานอาหารตะวันตกแบบฟรีสไตล์  6. การแข่งขันทำซูชิ

ดร. วิชุดา ณ สงขลา ศรียาภัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี เผยว่า ‘เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของอาชีพด้านอาหาร ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารของโลกโดยรวม ความต้องการบริโภคอาหารของโลกเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรด้านอาหารเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จึงได้จัดกิจกรรมการแข่งขันปรุงอาหารและแกะสลักระดับนานาชาติ ประจำปี 2562 ขึ้น ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยได้รับความร่วมมือจากสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ภายใต้การรับรองของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อตอบสนองนโยบายและแนวปฏิบัติที่ต้องการส่งเสริมและการพัฒนาคนเป็นหลัก   ทั้งนี้การพัฒนาทักษะเพื่อให้นักศึกษาที่เรียนจบ และอยู่ระหว่างเรียน ได้ทีมีงานทำ

โดยครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก สมาคมเชฟแห่งประเทศ สมาคม BLACK HAT CHEF ของโลก สมาคม Australian International Technical Chef และ Executive Chefs จากโรงแรมชั้นนำของประเทศไทย มาร่วมเป็นกรรมการตัดสิน พร้อมนำประสบการณ์มาแชร์ให้กับเยาวชนให้เป็นบุคลากรรุ่นใหม่ ที่มีทักษะอาชีพที่อุตสาหกรรมอาหารต้องการในอนาคต

การแข่งขันได้แบ่งออกเป็นระดับมัธยมศึกษา และประกาศนียบัตรวิชาชีพ อายุ 13-18 ปี และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงและมหาวิทยาลัย อายุ 19-25 ปี ภายใต้กฎเกณฑ์การตัดสินที่มีมาตรฐานสูงระดับโลก  โดยมีนักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ กว่า 20 สถาบัน  การแข่งขันเปรียบเหมือนห้องเรียนปฏิบัติ ทว่าความตื่นเต้น และแรงกดดันจะมีมากเพิ่มขึ้นไปด้วย สมาธิ ประสบการณ์ จึงก่อให้ประโยชน์แก่เด็กๆ สู่การพัฒนาตนเอง อีกทั้งยังเสริมสร้างวินัยการทำงานให้เป็นระเบียบ ตระหนักถึงหลักสุขาภิบาลอาหารและความปลอดภัยในการทำงานด้วย’

สำหรับผู้มากฝีมือ ที่สามารถคว้าถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ไปครอง ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และมหาวิทยาลัย ได้แก่  สิวานันท์ ศรีทัน นักศึกษาคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ‘รู้สึกภาคภูมิใจ ถือเป็นรางวัลใหญ่ครั้งแรกในชีวิต ผลงานที่ส่งเข้าร่วมแข่งประเภทงานแกะสลักผลไม้ ซึ่งผมสนใจมาตั้งแต่เด็ก และได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะมาตลอด ครั้งนี้โจทย์เป็นการแกะสลักผักผลไม้นานาชนิด ทั้งมะละกอ ฟักทอง แตงโม แคนตาลูบ และหัวไชเท้า ส่วนลวดลายที่ใช้มีความหลากหลายลาย โดยได้กลิ่นอายมาจากการศึกษาลวดลายไทยรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลายรักเร่ ลายผีเสื้อ ฯลฯ นำเอามาผสานกับลายเส้นแบบตะวันตก และลายที่ผมคิดค้นขึ้นมาเองด้วย การแกะสลัก ทำให้ได้ฝึกสมาธิ  และยังถือเป็นการอนุรักษ์ความเป็นไทยด้วย’

ส่วนผู้ชนะการประกวดอาหารประเภทอาเซียนร่วมสมัย คว้าถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ระดับมัธยมศึกษาและประกาศนียบัตรวิชาชีพ  ได้แก่ นพวิชญ์ แก้วเกตุ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี กล่าวว่า ‘อาหารอาเซียนร่วมสมัยเป็นอาหารที่มีความน่าสนใจมากในสมัยนี้ เมนูที่เลือกนำมาแข่งขันครั้งนี้ได้แก่ ข้าวหมกอินเดีย กุ้งทอดซอสผัดเปรี้ยวหวาน เนื้อย่างกับแกงเผ็ดลิ้นจี่ และผัดผักรวม สูตรของอาหารเหล่านี้ ได้มาจากการศึกษาจากหลายๆ แหล่งข้อมูล เป็นเมนูอาหารดั้งเดิม จึงต้องคงความรสชาติแบบเดิมไว้ แต่การนำเสนอ การจัดวางอาหารจะเน้นถึงความร่วมสมัย ซึ่งเคล็ดลับที่นำไปสู่ความสำเร็จในครั้งนี้ ก็คือ เรียนรู้เรื่องอาหารให้มากๆ สั่งสมประสบการณ์ให้เยอะๆ และขยันฝึกซ้อมครับ’

5

1

3

4

6


You must be logged in to post a comment Login