วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

‘ไซนัส’รักษาได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง

On February 15, 2019

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : รศ.นพ.ทรงกลด เอี่ยมจตุรภัทร ศัลยแพทย์ด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลกรุงเทพ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  15-22 กุมภาพันธ์  2562)

ไซนัสอักเสบอาจเป็นปัญหากวนใจใครหลายคน เพราะเป็นโรคที่สามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ การรักษาไซนัสอักเสบต้องอาศัยระยะเวลา บางชนิดอาจหาย แต่โอกาสกลับมาเป็นใหม่ก็มีสูงเช่นกัน ทางที่ดีคือการรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี

การรักษาไซนัสในปัจจุบันจะใช้กล้องผ่านทางช่องจมูกช่วยในการผ่าตัดเกือบทั้งหมด การใช้กล้องช่วยทำผ่าตัดไซนัสนั้นมีการใช้อย่างแพร่หลายไม่น้อยกว่า 30 ปี มีการพัฒนาทั้งอุปกรณ์และเทคนิคในการผ่าตัดมาตลอด ปัจจุบันนอกเหนือจากใช้ในการผ่าตัดไซนัสแล้ว ยังใช้กล้องช่วยในการผ่าตัดโรคของอวัยวะข้างเคียงต่างๆอีกมาก เช่น ผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาส่วนล่างอุดตัน ผ่าตัดแก้ไขตาโปน ผ่าตัดลดแรงกดต่อเส้นประสาทตา ผ่าตัดซ่อมน้ำสมองรั่วเข้าโพรงจมูก-ไซนัส ผ่าตัดเนื้องอกของต่อมใต้สมอง และผ่าตัดเนื้องอกที่ฐานกะโหลกส่วนหน้า เป็นต้น

การจะเข้ารับการผ่าตัดไซนัสแบ่งเป็น 2 กรณีคือ 1.กรณีที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด เช่น เป็นไซนัสอักเสบและมีโรคแทรกซ้อน มี 2 แบบคือ อักเสบติดเชื้อลามเข้าไปในตา และอักเสบติดเชื้อลามเข้าไปในสมอง สงสัยว่าเป็นเนื้องอก ไซนัสอักเสบจากเชื้อรา ช่องเปิดไซนัสตันแล้วมีมูกคั่งในไซนัสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 2.กรณีที่จะผ่าตัด หมายถึงว่า ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ก็น่าจะผ่าตัด โดยการผ่าตัดเป็นทางเลือกและได้ประโยชน์มากกว่าการไม่ผ่าตัด ในกรณีนี้ ได้แก่ ผู้ที่มีอาการของไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือแบบเฉียบพลันที่เป็นๆหายๆ หรือมีริดสีดวงจมูกที่ใช้ยาที่เหมาะสมแล้วไม่ได้ผล (ระยะเวลาการใช้ยาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปประมาณ 1-3 เดือน)

วิธีการผ่าตัด โดยทั่วไปจะใช้วิธีดมยาสลบในการผ่าตัด และใช้กล้องสอดผ่านช่องจมูกเข้าไปในบริเวณที่จะผ่าตัด แล้วมีเครื่องมือสอดตามเข้าไปทำการผ่าตัด ในปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องมือมากขึ้นเพื่อให้มีความสะดวกในการผ่าตัด สามารถตัดเนื้อเยื่อที่เป็นโรคที่ต้องการตัดได้ดี ลดการรบกวนเนื้อเยื่อส่วนดีที่ไม่ต้องการตัดได้ ทำให้มีเลือดออกน้อย ผ่าตัดเสร็จแล้วไม่ต้องใส่วัสดุห้ามเลือดในจมูกมาก หลังผ่าตัดคนไข้จึงเจ็บแผลน้อย สามารถหายใจทางจมูกได้ดี

การทำผ่าตัดมีหลายแบบคือ 1.Balloon Sinuplasty 2.Minimally Invasive Sinus Technique 3.Functional Endoscopic Sinus Surgery (FESS) และ 4.Full-House FESS ซึ่งการผ่าตัดไซนัสจะเลือกวิธีการแบบไหนและส่วนไหนบ้างขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีข้อมูลเบื้องต้นเป็นความรู้คือ 1.ไซนัสเป็นอวัยวะที่มีประโยชน์ และธรรมชาติสร้างให้มีโครงสร้างในจมูกที่ป้องกันไม่ให้โพรงไซนัสสัมผัสกับช่องจมูกโดยตรง 2.การผ่าตัดไซนัสเป็นการทำให้ช่องเปิดของไซนัสกว้างขึ้น และเปิดช่องทางเดินของมูกของไซนัสให้เชื่อมเข้ากับช่องจมูกโดยตรง มูกในไซนัสจึงขับออกทางจมูกได้ง่ายขึ้น หรือเวลาล้างจมูกน้ำเกลือก็เข้าไปล้างในไซนัสได้ ถ้าใช้ยาผสมในน้ำเกลือ ยาก็สามารถเข้าไปถึงเยื่อบุผิวได้ดี แต่ในทางกลับกัน เมื่อมีอะไรในจมูก สิ่งนั้นๆก็จะเข้าไปในไซนัสได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน เช่น เวลาเป็นไข้หวัด (โรคจมูกอักเสบจากไวรัส) ก็จะมีไซนัสอักเสบจากไวรัสได้มากขึ้น ถ้าผ่าตัดแบบเปิดกว้างมาก เช่น Full-House FESS ไซนัสทั้ง 5 ไซนัสก็จะต่อเป็นโพรงเดียวกับช่องจมูก การจะผ่าตัดจึงต้องมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน การมีข้อบ่งชี้ในการทำผ่าตัดหมายความว่ามีการศึกษาในวงกว้างมาแล้วว่าการผ่าตัดมีความจำเป็นหรือได้ประโยชน์มากกว่าการไม่ผ่าตัด

การผ่าตัดไซนัสจะพิจารณาผ่าตัดเฉพาะในส่วนที่ควรผ่า และไม่ผ่าตัดในส่วนที่ไม่จำเป็น ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีสาเหตุของโรคและวัตถุประสงค์ในการผ่าตัดที่ไม่เหมือนกัน วิธีการผ่าตัดจึงอาจไม่เหมือนกันทั้งหมดในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์จะให้คำแนะนำเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสม ดูว่าไซนัสอักเสบแบบไหนจะเลือกใช้การผ่าตัดแบบไหนจึงจะได้ผลดีที่สุด และมีผลกระทบต่อไซนัสส่วนที่เหลือน้อยที่สุด เนื่องจากไซนัสอยู่ติดกับดวงตา สมอง เส้นประสาทตา และเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงสมอง การผ่าตัดจึงมีความเสี่ยง แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือที่เรียกว่าเครื่องนำวิถีในการผ่าตัด (Navigator) ช่วยให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ อวัยวะบริเวณหู คอ จมูก ศีรษะและลำคอ เป็นอวัยวะที่ซับซ้อน การตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆจึงจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด บวกกับการใช้เทคโนโลยีในการตรวจอย่างเหมาะสม

 


You must be logged in to post a comment Login