วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

สมองดีเริ่มที่‘นมแม่’

On February 15, 2019

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : ศ.คลินิก นพ.วีระพงษ์ ฉัตรานนท์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  15-22 กุมภาพันธ์  2562)

หากถามว่าคุณพ่อคุณแม่ปรารถนาอะไรจากลูกน้อย คำตอบที่มักได้ยินคือ อยากให้ลูกเก่งและดี ซึ่งจะเป็นจริงได้ต้องเริ่มต้นจากนมแม่และความรักความห่วงใยที่มีให้อย่างเต็มเปี่ยม

“นมแม่” อาหารที่วิเศษสุด

นมแม่เป็นอาหารที่ธรรมชาติสรรค์สร้างขึ้นมาอย่างมีคุณค่า ครบถ้วน เหมาะสมที่สุดสำหรับลูกน้อย ช่วยให้ลูกแข็งแรง และส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะพัฒนาการด้านสมอง

สมองของคนเรามีพัฒนาการเริ่มตั้งแต่ในครรภ์ ซึ่งจะพัฒนาเร็วกว่าอวัยวะระบบอื่นภายหลังคลอดเกือบ 2 เท่า และที่มหัศจรรย์กว่านั้นไม่มีระยะไหนที่การเติบโตของสมองจะเฉื่อยเหมือนอวัยวะระบบอื่น โดยเฉพาะในขวบปีแรกขนาดของสมองจะเพิ่มมากกว่าระยะใดๆ จากน้ำหนักสมองแรกเกิดประมาณ 400 กรัม (ประมาณ 25% ของสมองผู้ใหญ่) เพิ่มเป็น 1,000 กรัมเมื่ออายุ 1 ขวบ ขณะที่สมองผู้ใหญ่จะหนักประมาณ 1,400 กรัม

แม้เซลล์สมองซึ่งมีอยู่ประมาณหนึ่งแสนล้านเซลล์นั้นจะไม่เพิ่มขึ้นหลังคลอด แต่สิ่งที่เพิ่มคือจำนวนเซลล์พี่เลี้ยง ขนาดของเซลล์ และการขยายเครือข่ายของเซลล์ ได้แก่ แขนงรับ-ส่งข้อมูล และจุดเชื่อมประสาท โดยแต่ละเซลล์จะมีจุดเชื่อมประมาณ 2,500 จุด และเพิ่มขึ้นประมาณ 15,000 จุดต่อหนึ่งเซลล์เมื่ออายุ 2-3 ขวบ ซึ่งจะมากกว่าสมองของผู้ใหญ่ประมาณ 2 เท่า โดยการเกื้อหนุนของการเลี้ยงดูตั้งแต่การได้รับสารอาหารที่เหมาะสมและครบถ้วน ไปจนถึงสารอื่นที่จำเป็นต่อพัฒนาการของสมอง รวมถึงการเกิดโรคติดเชื้อที่ทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก

เป็นที่น่าเสียดายว่าวงจรประสาทที่สำคัญที่ถูกวางไว้นี้ หากส่วนไหนไม่ได้รับการกระตุ้นให้ใช้งานอย่างต่อเนื่องหรือเพียงพอก็อาจถูกขจัดเพิ่มขึ้นอีกจากการตัดแต่งประสาทได้ จึงมีคำที่กล่าวถึงพัฒนาการของสมองว่า “Use it or lose it” คือให้ใช้มันเสีย มิฉะนั้นจะสูญเสียมันไป

แต่สมองคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การที่เด็กได้เรียนรู้ ได้มีประสบการณ์ต่างๆที่เหมาะสมโดยเฉพาะจากแม่ ยังอาจทำให้มีวงจรประสาทใหม่ๆเกิดขึ้นได้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าพัฒนาการของสมองเป็นผลของการประสมประสานการทำงานระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการเลี้ยงดูด้วย ระยะก่อนคลอดพันธุกรรมจะมีบทบาทมากกว่า แต่เมื่อหลังคลอดสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูจะมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะสารอาหารสำคัญและวิเศษสุดที่ลูกได้รับจากนมแม่มีตั้งแต่

1.ความเหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ และการย่อยง่าย

2.มีสารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสมอง นอกจากกรดอะมิโน taurine, carnitine กรดไขมัน arachidonic acid (AA หรือ ARA) และ docosahexaenoic acid (DHA) ซึ่งเพิ่งถูกนำมาเติมในนมผสมแล้ว ยังมีสารสำคัญต่อพัฒนาการของสมองที่ยังไม่มีในนมผสมคือ nerve growth factor ฮอร์โมนและเอนไซม์แทบทุกชนิดที่ร่างกายต้องการนำมาใช้ในการพัฒนาสมองอย่างครบถ้วนด้วย

3.มีสารต่อสู้เชื้อโรค ซึ่งมีอยู่ในนมแม่หลายชนิด สามารถทำงานเสริมฤทธิ์ต่อสู้กับเชื้อได้มากมาย ทำให้การเจริญเติบโตของร่างกายและสมองไม่หยุดชะงักจากการติดเชื้อ

นอกจากนมแม่จะมีคุณประโยชน์มากมายแล้ว ยังสร้างสัมผัสรักจากแม่ส่งผ่านไปยังภาษากายอย่างการโอบอุ้ม การโต้ตอบระหว่างแม่และลูก เป็นพื้นฐานสำคัญของกระบวนการเรียนรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้า ขณะให้นมลูก ลูกจะสบตาแม่ เป็นการสื่อสารที่ถ่ายทอดผ่านการมองเห็น การสัมผัสผิวแม่ผ่านมือเล็กๆ ขณะที่ลิ้นของลูกก็รับรสน้ำนมแม่ ให้ความรู้สึกสบายและผ่อนคลาย ส่วนหูของลูกได้ยินเสียงที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัว ดังนั้น ประสาทสัมผัสทุกส่วนของลูกจะถูกกระตุ้นให้เกิดการทำงานด้วยความรู้สึกดีๆที่แม่ได้ถ่ายทอดสู่ลูก

ฉะนั้นการที่แม่อยู่กับลูกตลอดเวลาจึงมีความสำคัญและจำเป็น เนื่องจากแม่จะเป็นผู้ที่กระตุ้นให้วงจรประสาทในสมองของลูกทำงานได้เต็มที่และต่อเนื่อง ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง ทำให้ลูกมีความฉลาดทางปัญญา (Intelligence Quotient – I.Q.) สูง นอกจากนี้แม่ยังเป็นผู้วางรากฐานสุขภาพจิตที่ดีให้แก่ลูก เพราะแม่และลูกที่ได้สัมผัสและอยู่ด้วยกันตั้งแต่ภายในครึ่งชั่วโมงหลังคลอดตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะทำให้ลูกมีภาวะจิตใจที่มั่นคง อีกทั้งแม่ยังเป็นผู้วางรากฐานให้ลูกมีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient – E.Q.) วุฒิทางคุณธรรม/ศีลธรรม (Moral Quotient – M.Q.) และความสามารถในการแก้ปัญหาและอุปสรรค (Adversity Quotient – A.Q.)

นับว่าแม่เป็นคนแรกที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตที่วางรากฐานให้ลูกเติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์และมีคุณภาพ


You must be logged in to post a comment Login