วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ยุบพรรคและข่าวลือ

On February 12, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 12 ก.พ. 62)

สปอตไลท์การเมืองส่องไปที่ กกต. กรณีพิจารณายุบหรือไม่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งล่าสุดมีมติไม่ประกาศรับรองแคนดิเดตนายกฯของพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงว่ากระทำการมิบังควรเข้าข่ายต้องยุบพรรคหรือไม่ ไม่ว่าบทสรุปสุดท้ายจะออกมาอย่างไรล้วนมีผลตามมา อยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจชี้ขาดจะประเมินผลอย่างไร ให้น้ำหนักทางไหนมากกว่ากัน หากมีมติให้ยุบพรรคก่อนหรือหลังเลือกตั้งก็ส่งผลต่างกันด้วย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเมื่อตัดสินแล้วต้องไม่ถูกนำไปเป็นเหตุผลข้ออ้างให้เกิดสถานการณ์อื่นที่ส่งผลต่อชาติตามมาอย่างที่มีกระแสข่าวลือในช่วงนี้

การเมืองที่มะรุมมะตุ้มกันมาตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้บรรยากาศที่มุ่งไปสู่การเลือกตั้งเกิดฝุ่นตลบ เพราะมีเหตุการณ์พลิกผันเกิดขึ้นชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อฝ่ายที่คิดว่าเดินเกมแล้วจะได้เปรียบกลับพลิกมาเป็นเสียเปรียบ และยังไม่รู้ว่าจะเสียหายมากขนาดไหน

บรรยากาศจากนี้จะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นผู้กำหนด ซึ่งในเบื้องต้นมีมติรับรองรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่ยื่นไปแล้ว ยกเว้นเพียงพรรคไทยรักษาชาติที่ไม่ประกาศรับรอง พร้อมตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงว่าพรรคไทยรักษาชาติกระทำการมิบังควรเข้าข่ายต้องยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่

อย่างไรก็ตาม การจะยุบพรรคไทยรักษาชาติจากการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ กกต. ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะจะเป็นการตัดสินที่ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองตามมาไม่ว่าจะตัดสินอย่างไรก็ตาม

ทั้งนี้ การจะยุบหรือไม่ยุบพรรคไทยรักษาชาติไม่ใช่เรื่องที่สามารถตัดสินใจกันได้ง่ายๆ เพราะมีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณา

ที่สำคัญคือประเด็นข้อกฎหมายมีความย้อนแย้งกันอยู่ในตัวพอสมควร

ลำพังพิจารณากันเฉพาะข้อกฎหมายก็ปวดหัวหนักอยู่แล้ว หากนำประเพณีการปกครองมาร่วมพิจารณาด้วยก็ยิ่งเพิ่มความปวดหัวให้ กกต. อีกหลายเท่า เพราะมีทั้งประเด็นที่มีกฎหมายรองรับและไม่มีกฎหมายรองรับ

การตัดสินอะไรที่ไม่มีกฎหมายรองรับ กกต. ก็ต้องแบกรับความเสี่ยง ซึ่งดูแล้ว กกต. ชุดนี้ไม่ค่อยอยากแบกรับความเสี่ยงสักเท่าไร สังเกตได้จากกรณีการนับ 150 วันต้องจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จที่แม้ผู้มีอำนาจจะยืนยันว่าไม่นับรวมการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง แต่ กกต. ก็ต้องการเพลย์เซฟจัดเลือกตั้งและประกาศรับรองผลเลือกตั้งภายในกรอบเวลา 150 วัน

เมื่อดูใจของ กกต. ชุดนี้แล้ว เชื่อว่ากรณีพรรคไทยรักษาชาติ กกต. ก็คงจะเลือกแนวทางเพลย์เซฟอีกเช่นกัน

ถ้าก่อนการตัดสินไม่มีแรงกดดันมาที่ กกต. มากจนทนไม่ได้ มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากว่า กกต. อาจเลือกแนวทางเลิกแล้วต่อกัน ปล่อยให้พรรคไทยรักษาชาติเดินเข้าสู่การแข่งขันในสนามเลือกตั้งต่อไปอย่างบอบช้ำ โดยปราศจากแคนดิเดตนายกฯใช้หาเสียงแข่งกับพรรคอื่น

แต่หากมีแรงกดดันมาก กกต. ก็สามารถเลือกเพลย์เซฟตัวเองได้ด้วยการโยนเผือกร้อนให้ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องนี้ไปชี้ขาดแทน

ประเด็นคือหากไต่สวนแล้วส่งเรื่องขึ้นสู่ศาล ตามกระบวนการก็ต้องมีการเบิกความพยาน ซึ่งแน่นอนว่าพยานที่สำคัญที่สุดก็คือบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็จะมีคำถามเรื่องความเหมาะสมไม่เหมาะสมตามมา

ที่สำคัญนอกจากเรื่องความเหมาะสมไม่เหมาะสมแล้ว ยังจะมีข้อเท็จจริงจากการเบิกความที่จะถูกเอาไปขยายความวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชนที่แบ่งสีเสื้อกันอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการขยายความแตกแยกในสังคมให้มากขึ้น บรรยากาศจะกลับไปเป็นเหมือนวันที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯที่ประชาชนแบ่งข้างซัดกันเละ

การยุบหรือไม่ยุบพรรคไทยรักษาชาติจะมีผลตามมาแน่นอน อยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจชี้ขาดเรื่องนี้ซึ่งในเบื้องต้นคือ กกต. จะประเมินผลที่จะตามมาอย่างไร และให้น้ำหนักทางไหนมากกว่ากัน ทั้งนี้ ระยะเวลาการยุบพรรค ยุบก่อนหรือหลังเลือกตั้งก็ส่งผลแตกต่างกัน

แม้ใครก็รู้ว่าทางออกที่ดีที่สุดสำหรับกรณีนี้คือตัดสินแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น แต่ความจริงคงเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ว่าเลือกทางไหนก็ล้วนแต่ทำให้บัวช้ำน้ำขุ่นด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่จะช้ำมากช้ำน้อย ขุ่นมากขุ่นน้อยเท่านั้นเอง

ที่สำคัญคือเมื่อตัดสินแล้วต้องไม่ถูกนำไปเป็นเหตุผลข้ออ้างให้เกิดสถานการณ์อื่นที่ส่งผลต่อชาติตามมาอย่างที่มีกระแสข่าวลือในช่วงนี้


You must be logged in to post a comment Login