วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

สถานะพระบรมราชโองการ

On February 12, 2019

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 12 ก.พ. 62)

iLaw ชี้แจงสถานะของ “พระบรมราชโองการ” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 และกฎหมายอื่นๆไม่ได้นิยามไว้และไม่ได้จัดลำดับศักดิ์ไว้ว่ามีสถานะอย่างไร อยู่สูงกว่าหรือต่ำกว่ากฎหมายและรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ รวมทั้งไม่ได้กำหนดเงื่อนไขในการออกแต่ละครั้งอย่างไร

หลังจากเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ มีพระราชโองการว่า การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควร ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนคำว่า “พระบรมราชโองการ” ไว้ 20 ครั้งที่จะต้องออกพระบรมราชโองการดังนี้ 1.การแต่งตั้งองคมนตรีและให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง 2.การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 3.การแก้ไขกฎมณเฑียรบาล 4.พิธีการของรัฐสภา รวมทั้งการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้าน การเรียกเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ การเรียกเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ 5.การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี และให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี 6.การแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7.การแต่งตั้งวุฒิสภาชุดแรกที่ คสช. คัดเลือก

ปัญหาที่สังคมสงสัยคือ พระบรมราชโองการต้องมีผู้รับสนองและมีผู้ลงนามเสมอไปหรือไม่ เพราะฉบับที่ออกคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ไม่มีผู้ใดลงนามข้างท้าย ทั้งที่พระบรมราชโองการทุกประเภทที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมีกำหนดไว้หมดแล้วว่าให้ผู้ใดรับสนอง เช่น ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา องคมนตรี ฯลฯ

รัฐธรรมนูญมาตรา 182 เขียนว่า “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ”

แต่เป็นกรณีพระบรมราชโองการ “อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน” เท่านั้น สาเหตุที่ต้องมีรัฐมนตรีรับสนอง เพราะหลักการ “The King can do no wrong” คือพระมหากษัตริย์ไม่ต้องลงมือทำอะไรเอง จะต้องมีผู้อื่นที่มีหน้าที่นำไปดำเนินงานต่อตามพระบรมราชโองการนั้นเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง

ฉบับที่ออกคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ไม่ใช่เป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน และไม่ต้องดำเนินการอย่างไรต่อ จึงไม่อาจอ้างมาตรา 182 ว่าต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองได้ ซึ่งในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์การออกพระบรมราชโองการพระมหากษัตริย์ไม่ต้องลงพระปรมาภิไธยและไม่ต้องมีผู้รับสนอง

หลังประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พบว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยที่ท้ายกฎหมายทุกฉบับ รวมถึงพระบรมราชโองการ เช่น ประกาศตั้งอุปนายกสมาคมสยามที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งตำแหน่ง และในพระบรมราชโองการประกาศจัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการประเทศ มีการลงพระปรมาภิไธยและชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการด้วย ถือเป็นวิธีปฏิบัติในประเทศไทยเรื่อยมา

แต่พระราชโองการฉบับที่ออกคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์กลับไม่มีผู้รับสนอง ขณะที่ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 37 ง ที่ตีพิมพ์ประกาศฉบับคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ใช้คำเรียกประกาศว่า “ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”

ข้อมูลในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาไม่เคยมีประกาศลักษณะนี้มาก่อน และไม่มีกฎหมายใดกำหนดเงื่อนไขในการประกาศหรือกำหนดสถานะของประกาศเช่นนี้ไว้


You must be logged in to post a comment Login