วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

‘ใบส้ม’ตัวแปรอำนาจ

On February 5, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 5 ก.พ. 62)

การเลือกตั้งเริ่มนับถอยหลังรอวันเดินเข้าคูหาลงคะแนน แม้ช่วงก่อนเลือกตั้งไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่หลังเลือกตั้งไม่แน่ เพราะระบบเลือกตั้งใบเดียวและอำนาจให้ใบส้มของ กกต. จะมีผลอย่างมากต่อการรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ที่สำคัญการสร้างเรื่องร้องเรียนให้คู่แข่งได้ใบส้มนั้นสามารถทำได้ง่าย เมื่อใบส้มสามารถลดจำนวน ส.ส. ฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเป็นรูปธรรม หลังการเลือกตั้งคงได้เห็นการร้องเรียนกันไปมาระหว่างผู้สมัครและพรรคการเมืองเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน

ออกสตาร์ตอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562

อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มนับหนึ่งอย่างเป็นทางการแต่จะเห็นว่าบรรยากาศไม่คึกคักเหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนจากบัตร 2 ใบ เลือกได้ทั้งคนที่รัก พรรคที่ชอบ มาเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกได้เฉพาะคนที่รัก ส่วนพรรคจะชอบหรือไม่ชอบเมื่อลงคะแนนให้ผู้สมัครระบบเขตแล้วถือว่าลงคะแนนให้พรรคที่ผู้สมัครสังกัดด้วย

การกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.เขตไม่ได้ใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บรรยากาศการหาเสียงไม่คึกคักเท่าควร เพราะแต่ละคนต้องหาเสียงให้ตัวเอง พรรคต้นสังกัดไม่มีบทบาทช่วยเรียกคะแนนเหมือนที่ผ่านมา เพราะตัวพรรคไม่มีหมายเลข ทำให้การหาเสียงในภาพกว้างทำได้ยาก

การเลือกตั้งครั้งนี้แม้หลายฝ่ายจะมองข้ามช็อตไปที่การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งว่าพรรคไหนจะได้กี่คะแนน พรรคไหนจะรวมกับพรรคไหน หรือใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่สิ่งหนึ่งที่มีแนวโน้มความน่าจะเป็นคือ การตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งนั้นไม่ง่าย ครั้งนี้อาจได้เห็นการใช้เวลาจัดตั้งรัฐบาลนานกว่าปรกติ

ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การเมืองหลังการเลือกตั้งอาจเกิดความวุ่นวายขึ้น เหมือนที่คนในรัฐบาลพูดเสมอว่าก่อนเลือกตั้งไม่ห่วง แต่ห่วงหลังการเลือกตั้งคือ อำนาจการให้ใบส้มของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ในอดีตที่ผ่านมา กกต. มีอำนาจเพียงการให้ใบเหลืองกับใบแดงเท่านั้น ซึ่งไม่มีผลต่อคะแนนเสียงพรรคการเมืองมากนัก แต่ใบส้มอาจทำให้เกิดความโกลาหลหลังเลือกตั้งได้

ทั้งนี้เพราะเราต่างรู้กันดีว่าการเลือกตั้งในประเทศไทยไม่ค่อยตรงไปตรงมา มีการใช้วิชามารกลั่นแกล้งกันมากมาย เมื่อใบส้มจะมีผลต่อการนับคะแนนโดยรวม การร้องเรียนระหว่างผู้สมัครจะมีเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน

หลักการของการให้ใบส้มคือ การให้อำนาจ กกต. ออกคำสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส. ที่ถูกร้องเรียนเรื่องทุจริตระหว่างการเลือกตั้งไว้ชั่วคราวได้นานถึง 1 ปี

หลังเลือกตั้งหากมีผู้สมัครคนใดถูกร้องเรียนแล้ว กกต. แจกใบส้ม คะแนนของผู้สมัครคนนั้นจะไม่ถูกเอามานับรวมเป็นคะแนนนิยมของพรรคเพื่อคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ในระบบการเลือกตั้งใบเดียวที่คะแนนผู้สมัคร ส.ส.เขตคิดเป็นคะแนนของพรรคด้วย แม้ผู้สมัคร ส.ส.เขตจะไม่ชนะเลือกตั้งก็มีความเสี่ยงที่จะถูกร้องเรียนได้มากกว่าในอดีต

เมื่อทั้งผู้ชนะเลือกตั้งและผู้แพ้เลือกตั้งมีความเสี่ยงที่จะถูกร้องเรียนมากพอๆกัน จึงทำให้คะแนนที่จะนำไปคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่นิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคการเมืองใหญ่ที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตจำนวนมาก

ทั้งนี้ เนื่องจากการสร้างเรื่องเพื่อร้องเรียนคู่แข่งขันทำได้ง่าย เมื่อมีเรื่องร้องเรียนแล้ว กกต. เห็นว่ามีมูลก็แจกใบส้มได้ทันที

พรรคใหญ่ที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตครบทั้ง 350 เขต โดนใบส้มไปสัก 40-50 ใบ คะแนนจะหายไปไม่น้อย

การสร้างเรื่องร้องเรียนให้คู่แข่งได้ใบส้มก็ทำได้ง่าย แค่หวังดีประสงค์ร้ายพิมพ์เอกสารหาเสียงให้เหมือนที่คู่แข่งทำแล้วนำไปวางหรือโปรยแจก แล้วถ่ายภาพ ถ่ายคลิปไปร้อง กกต. เพียงเท่านั้นคู่แข่งก็มีโอกาสโดนใบส้มจาก กกต. ได้

ส่วนผลสอบของ กกต. จะออกมาอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แค่ให้โดนใบส้มเพื่อไม่ให้เอาคะแนนมาคิดคำนวณ ส.ส.เขต ลดจำนวน ส.ส. ฝ่ายตรงข้ามที่จะแย่งจัดตั้งรัฐบาล

แม้ที่สุดแล้ว กกต. จะชี้ว่าไม่ผิดก็ไม่มีผลอะไร เพราะการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นไปแล้ว เนื่องจาก กกต. มีเวลาถึง 1 ปีในการสอบเรื่องนี้

ทั้งนี้ แม้ใบส้มจะไม่ทำให้เกิดผลแพ้ชนะ แต่ถ้ามีผลให้จำนวน ส.ส. 2 ฝ่ายที่แย่งกันจัดตั้งรัฐบาลมีพอๆกันก็จะไปเข้าทางให้ดึง ส.ว.ลากตั้ง 250 เสียง มาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้


You must be logged in to post a comment Login