วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

จอมโจรปิกัสโซ

On February 1, 2019

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  1-8 กุมภาพันธ์  2562)

โมนาลิซา ภาพวาดที่มีชื่อเสียงที่สุดของเลโอนาร์โด ดา วินชี ถูกโจรกรรมไปจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ใจกลางกรุงปารีส ผู้ต้องสงสัยคนสำคัญไม่ใช่ใครอื่นนอกเสียจากจะเป็น “ปิกัสโซ” หนึ่งในจิตรกรเอกของโลกปัจจุบัน

เวลา 07.20 น. วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 1911 ฟรังซัว ปิเก ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ เดินผ่านภาพวาดโมนาลิซา เขาชี้ให้เพื่อนร่วมงานดูพร้อมกับพูดว่า “มีคนบอกว่าภาพนี้มีมูลค่าล้านห้า” ปิเกยกข้อมือขึ้นมองนาฬิกา ก่อนที่ทั้งคู่จะเดินตรวจห้องแสดงภาพห้องอื่นๆ

เวลา 08.35 น. ปิเกเดินกลับมาที่ห้องแสดงภาพโมนาลิซาอีกครั้ง เขาพบว่าภาพวาดโมนาลิซาหายไปแล้ว ปิเกเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ปลดภาพโมนาลิซาเพื่อนำไปถ่ายรูปทำโบรชัวร์หรือแผ่นพับอะไรทำนองนั้น ซึ่งเป็นเรื่องปรกติ เพราะในช่วงเวลานั้นพิพิธภัณฑ์ปิดทำการวันจันทร์ หากจะมีเจ้าหน้าที่มาปลดภาพลงในวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

วันอังคารที่ 22 สิงหาคม พิพิธภัณฑ์ลูฟร์เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอีกครั้ง แต่จุดที่เคยแขวนภาพโมนาลิซายังคงว่างเปล่า เจ้าหน้าที่ดูแลห้องแสดงภาพสอบถามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ได้รับคำตอบว่า “สงสัยช่างภาพนำไปถ่ายรูป”

เจ้าหน้าที่ดูแลห้องแสดงภาพบอกให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปบอกช่างภาพให้นำภาพโมนาลิซามาแขวนตามเดิม เพราะพิพิธภัณฑ์กำลังจะเปิด นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาพิพิธภัณฑ์ลูฟร์เพื่อชมภาพโมนาลิซาโดยเฉพาะ

ช่างภาพปฏิเสธว่าไม่ได้นำภาพโมนาลิซาไป เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสอบถามเจ้าหน้าที่แผนกอื่นๆ แต่ก็ไม่มีใครรู้เรื่อง โมนาลิซา ภาพวาดที่สำคัญที่สุดของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์อันตรธานหายไปอย่างไร้ร่องรอย

ความปลอดภัยหละหลวม

การโจรกรรมภาพโมนาลิซาไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าในสมัยนั้นพิพิธภัณฑ์ลูฟร์จะแขวนภาพบนผนังห้องโดยใช้เพียงแค่ตะขอ 4 ตัว ยึดบนผนังด้านหลังกรอบภาพเท่านั้น นอกจากนี้แล้วไม่มีเครื่องป้องกันใดๆเลย เนื่องจากไม่ใช่ภาพวาดบนผืนผ้าใบ หากแต่เป็นภาพสีน้ำมันวาดลงบนแผ่นไม้ขนาด 30×21 นิ้ว ความหนา 1.5 นิ้ว น้ำหนักราว 18 ปอนด์ ไม่สามารถม้วนเก็บได้

เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์กล่าวว่า จงใจออกแบบให้เคลื่อนย้ายภาพได้ง่าย หากมีเหตุเพลิงไหม้จะได้ปลดภาพลงจากผนังห้องเพื่อนำไปเก็บยังที่ปลอดภัยได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งภาพโมนาลิซารวมกับกระจกและกรอบมีน้ำหนักร่วม 200 ปอนด์ หรือเกือบ 100 กิโลกรัม เป็นใครก็คงไม่คาดคิดว่าจะมีขโมยยกภาพออกจากผนังห้องได้โดยไม่มีคนเห็น

ตำรวจตั้งด่านตามพรมแดนทั่วประเทศ ตรวจค้นรถยนต์ทุกคัน เปิดกระเป๋าเดินทางทุกใบบริเวณท่าเรือและสถานีรถไฟ เพื่อป้องกันคนร้ายลักลอบนำภาพโมนาลิซาออกนอกประเทศ เวลาผ่านไปเป็นสัปดาห์ก็ยังไร้วี่แววของโมนาลิซา หนังสือพิมพ์ปารีสเจอร์นัลเสนอเงินรางวัล 50,000 ฟรังก์ ให้กับผู้ที่ให้เบาะแสว่าสามารถนำภาพโมนาลิซากลับมาคืนได้

แก๊งปิกัสโซ

โอโนเร โจเซฟ เจรีย์ เพียเร็ต หัวขโมยชาวเบลเยียม ปรากฏตัวขึ้นที่สำนักพิมพ์ปารีสเจอร์นัล ให้ข้อมูลว่าเมื่อปี 1907 เขาได้ขโมยประติมากรรมไอบีเรียนอายุ 400 ปีก่อนคริสตกาลจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ นำไปขายให้กับปาโบล ปิกัสโซ ในราคาชิ้นละ 50 ฟรังก์ ต่อมาในปี 1911 เขาแอบเข้าไปเข้าไปขโมยอีกครั้ง คราวนี้เขาขายให้กับกีโยม อาปอลีแนร์ นักเขียนและกวีที่มีชื่อเสียง

ตำรวจเพ่งเล็งไปยังปิกัสโซและอาปอลีแนร์โดยทันที หาก 2 คนนี้รับซื้อของโจรที่ขโมยมาจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์จริงก็เป็นไปได้ที่พวกเขาจะครอบครองภาพโมนาลิซาด้วยเช่นกัน อาปอลีแนร์รู้ตัวว่าถูกเปิดโปง เขารีบเดินทางไปที่สำนักพิมพ์ปารีสเจอร์นัลพร้อมกับประติมากรรมไอบีเรียน โดยต่อรองว่าให้สำนักพิมพ์ปารีสเจอร์นัลนำไปคืนพิพิธภัณฑ์แลกเปลี่ยนกับการให้ความคุ้มครองและไม่ติดใจเอาความผิด

แต่ตำรวจไม่เล่นด้วย ตามมารวบตัวอาปอลีแนร์ และออกหมายเรียกปิกัสโซมาสอบปากคำ ตำรวจถามปิกัสโซว่ารู้จักอาปอลีแนร์หรือไม่ ปิกัสโซตอบว่า “ไม่เคยเห็นชายคนนี้มาก่อน” แต่ความเป็นจริงคือ ทั้งเพียเร็ตและอาปอลีแนร์เป็นสมาชิกกลุ่ม La Banda Picasso หรือ “แก๊งปิกัสโซ” กลุ่มศิลปินชาวโบฮีเมียนที่รวมตัวช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ปิกัสโซ ศิลปินชาวสเปน เดินทางมากรุงปารีสครั้งแรกเมื่อปี 1900 เขาเที่ยวชมงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์และเกิดหลงเสน่ห์ความงามของประติมากรรมไอบีเรียนจนเอ่ยปากพูดถึงหลายต่อหลายครั้ง ต่อมาในปี 1907 เพียเร็ตแอบขโมยประติมากรรมไอบีเรียนมามอบให้ปิกัสโซเป็นของขวัญลาจากไปแสวงโชคที่อเมริกา ปิกัสโซตอบแทนน้ำใจมอบเงินให้กับเพียเร็ตเป็นจำนวน 50 ฟรังก์ต่อประติมากรรม 1 ชิ้น

เกือบติดคุก

ปิกัสโซใช้ประติมากรรมไอบีเรียนเป็นแบบสร้างภาพวาดใบหน้าบิดเบี้ยวที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของเขาในเวลาต่อมา เช่น ภาพ Les Demoiselles d’Avignon เพียเร็ตเดินทางกลับมากรุงปารีสอีกครั้งในปี 1911 กระเป๋าแห้งไม่มีเงินติดมือ ขออาศัยอยู่กับอาปอลีแนร์ พร้อมกับบอกว่าจะขโมยงานศิลปะจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์มาขายหาเงินใช้ แล้วเขาก็ทำจริง โดยขโมยประติมากรรมไอบีเรียนมามอบให้กับอาปอลีแนร์

หลังจากภาพโมนาลิซาถูกโจรกรรม และหนังสือพิมพ์ปารีสเจอร์นัลตั้งเงินรางวัล 50,000 ฟรังก์ เพียเร็ตก็เห็นลู่ทางที่จะได้เงินก้อนใหญ่ ตัดสินใจขายเพื่อน นำความมาแจ้งยังหนังสือพิมพ์ปารีสเจอร์นัล ศาลพิพากษาว่าคดีโจรกรรมประติมากรรมไอบีเรียนเป็นคนละเรื่องกับคดีโจรกรรมโมนาลิซา ไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงกันได้ ส่วนคดีโจรกรรมประติมากรรมไอบีเรียน ปิกัสโซให้การว่าเขาไม่รู้ว่าเป็นของที่ถูกขโมยมา

28 เดือนหลังจากโมนาลิซาถูกโจรกรรม พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ได้รับการติดต่อจากหอศิลป์อุฟฟีซี กรุงฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี แจ้งว่ามีคนนำภาพโมนาลิซามาขายให้กับห้องภาพแห่งหนึ่ง ตำรวจตามรวบตัววินเซนโซ เปรุจจา ชาวอิตาลี คนร้ายตัวจริงที่โจรกรรมภาพโมนาลิซาและเป็นคนนำมาขายให้กับห้องภาพในกรุงฟลอเรนซ์

เปรุจจาเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ดูแลกรอบภาพวาดประจำพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ช่วงปี 1910-1911 ทำให้รู้ทางหนีทีไล่ของพิพิธภัณฑ์ทุกกระเบียดนิ้ว เย็นวันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม 1911 เขาแอบซ่อนตัวอยู่ในพิพิธภัณฑ์ และออกมาขโมยภาพโมนาลิซาตอนเช้าวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม

ภาพโมนาลิซาถูกถอดออกจากกรอบก่อนจะซ่อนไว้ใต้เสื้อคลุม เนื่องจากเป็นวันหยุดทำให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประตูหน้าแค่คนเดียว อาศัยจังหวะที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปตักน้ำมาล้างพื้น เปรุจจาสามารถเดินออกจากพิพิธภัณฑ์พร้อมกับภาพโมนาลิซาได้โดยไม่มีใครเห็น

ภาพโมนาลิซาถูกส่งคืนให้กับพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ในปี 1914 เปรุจจาถูกจำคุกเพียงไม่กี่เดือนก็ได้รับการปล่อยตัวให้ไปรับใช้ชาติ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่โลกเข้าสู่เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ขณะที่ปิกัสโซกล่าวว่าการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจรกรรมภาพโมนาลิซาเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต

1

1.ปาโบล ปิกัสโซ

2

2.ผนังห้องหลังภาพโมนาลิซาถูกขโมย

3

3.พิพิธภัณฑ์ลูฟร์

4

4.กีโยม อาปอลีแนร์

5

5. Les Demoiselles d’Avignon

6

6.ประติมากรรมไอบีเรียนและภาพวาดโดยปิกัสโซ

7

7.วินเซนโซ เปรุจจา

8

8.ขั้นตอนการโจรกรรมภาพโมนาลิซา

9

9.ภาพโมนาลิซาในหอศิลป์อุฟฟีซี

10

10.ส่งมอบภาพโมนาลิซาคืนพิพิธภัณฑ์ลูฟร์


You must be logged in to post a comment Login