วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

สายตาเอียง

On February 1, 2019

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : รศ.พญ.อติพร ตวงทอง ภาควิชาจักษุวิทยา

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  1-8 กุมภาพันธ์  2562)

หลายคนที่มีปัญหาเรื่องสายตาเอียงและมักมองข้ามไป ทำให้ไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อชีวิตประจำวัน สายตาเอียงสาเหตุเกิดได้จากการที่กระจกตามีความโค้งในแต่ละแนวไม่เท่ากัน ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปรกติของรูปร่างของกระจกตาแต่กำเนิด โรคของกระจกตา การบาดเจ็บ หรือแผลบริเวณกระจกตา โดยความผิดปรกติที่ได้กล่าวมานี้จะทำให้แสงที่ผ่านเข้าตาถูกหักเหตกที่บริเวณจอตามากกว่า 1 จุด ทำให้การมองผิดปรกติไป โดยสายตาเอียงมักเกิดร่วมกับสายตาสั้นและสายตายาว

อาการของสายตาเอียงจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสายตาเอียงที่มี ถ้าปริมาณของสายตาเอียงที่ผิดปรกติไม่มาก อาการอาจจะไม่ชัดเจน คนไข้อาจจะมีการหรี่ตาหรือเอียงหน้าเพื่อทำให้มองเห็นได้ชัดขึ้น หรือบางคนใช้สายตานานๆก็อาจจะมีอาการปวดตา ปวดร้าวบริเวณเบ้าตา ปวดศีรษะ แต่ถ้าปริมาณของสายตาเอียงมากขึ้นก็จะทำให้มีการมองเห็นภาพที่ไม่ชัดเจน ผิดปรกติไป ผิดเพี้ยนไป หรือเวลาตอนกลางคืนถ้ามองดวงไฟก็จะให้เห็นแสงดวงไฟแตก

การรักษาสายตาเอียงคือ การทำให้แสงที่เข้าตาตกหักเหเป็นจุดๆเดียว เราอาจจะใช้แว่นสายตา โดยตัวเลนส์ที่ใช้สำหรับแว่นสายตาเอียงเรียกว่า เลนส์กาบกล้วย หรือ cylindrical lens หรือจะใช้คอนแท็คเลนส์ก็ได้ คอนแท็คเลนส์ใช้ได้ทั้งชนิดนิ่มและชนิดแข็งขึ้นอยู่กับชนิดของสายตาเอียง สุดท้ายคือการผ่าตัดแก้ไขสายตาที่บริเวณกระจกตาที่เรียกว่าเลสิก ก็สามารถช่วยแก้ไขเรื่องสายตาเอียงได้เช่นกัน

โดยทั่วไปในเด็กวัยเรียนแนะนำให้ตรวจคัดกรองและวัดสายตาทุก 1-2 ปี เนื่องจากว่าถ้ามีภาวะสายตาเอียงและไม่ได้รับการแก้ไขอาจทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจได้ ส่วนในเด็กที่ได้รับการแก้ไขโดยการใช้แว่นสายตาแล้วควรจะได้รับการตรวจติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของสายตาทุก 1 ปี สำหรับในคนทั่วไปถ้ามีอาการผิดปรกติในการมองเห็นควรรีบพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อหาสาเหตุต่อไป

 


You must be logged in to post a comment Login