วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

อย่าเผาทรัพย์ทิ้ง

On January 29, 2019

คอลัมน์ : สำนักข่าวพระพยอม

ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 29 ม.ค. 62)

ความดีของ “หลวงพ่อคูณ” ที่ผู้คนยกย่องมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ท่านได้ทำให้กับสังคม เช่น การบริจาคเงินหลายพันล้านบาท หรืออาจมากถึงหมื่นล้านก็ได้ คนไปถวาย 500 บาท ท่านก็หยิบแค่ 200-300 บาท นอกนั้นคืน ถ้าไม่คืนอาจเป็นหมื่นล้าน เหมือน “หลวงตามหาบัว” ที่นำทองคำเข้าคลังหลวงให้ประเทศชาติ เพื่อช่วยเศรษฐกิจ โรงพยาบาล โรงเรียน ฯลฯ

หลวงพ่อพุทธทาสเคยบอกว่า “ไม่ทำตามที่สอน อย่ามาอ้อนเรียกอาจารย์” อย่างงานศพท่าน ท่านสั่งให้ทำอย่างประหยัดหมดแค่หลักพันบาท ไม่ใช่หมดไป 60-70 ล้านบาท ทำให้นึกถึงตัวเองที่ว่าก่อนจะตายก็จะสั่งไม่ให้เอาเงินมาเผาไปกับศพ เผาศพ เผาทรัพย์ อย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสสั่งเสีย

ก็อยากจะฝากคนไทยว่า เคารพรักได้ นับถือได้ แต่ต้องมีเหตุผล ต้องไตร่ตรองใคร่ครวญ เราสูญเสียทรัพย์ แต่ไม่ได้ทำให้เห็นคุณงามความดี ทั้งที่ท่านทำความดีของท่านอยู่แล้ว ทำไมเราต้องเอาทรัพย์เผาไปกับสรีรสังขารที่ดับขันธ์ทั้งที่ท่านสั่งไว้แล้ว ควรจะรู้จักประมาณในทางสายกลางตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินไปและไม่ตระหนี่ถี่เหนียวเกินไป ไม่ทั้งส่วนเกินและไม่ขาดจนเกินไป จะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไป

สมเด็จหรือหลวงพ่อเกจิอาจารย์ดังท่านใดล่วงลับดับขันธ์ก็ไม่ต้องสร้างโน่นสร้างนี่หมดไปเป็นร้อยล้าน ถ้าจะทำอะไรก็นึกถึงพระพุทธเจ้าว่าท่านจะตำหนิหรือชมที่ทำอะไรใหญ่โตมโหฬาร แม้แต่พระพุทธเจ้าตอนที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระก็เชื่อว่าไม่ได้ทำอะไรมากมาย ทำแค่เชิงตะกอนถวายพระเพลิงเท่านั้น

ดังนั้น เราทุกคนต้องนึกถึงพระพุทธเจ้า อย่าเสียทรัพย์ไปกับการสลายสรีรสังขาร เสียทรัพย์ไปอย่างไม่ควร เอาทรัพย์สินเงินทองไปสร้างประโยชน์ ซื้อที่ดินให้คนจนมีอาชีพ เพาะปลูกโน่นนี่ หรือตั้งกองทุนสัมมาชีพชุบชีวิตยามตกอับ หรือตั้งธนาคารน้ำเพื่อต่อยอดให้มีน้ำดื่มน้ำใช้

เรื่องของหลวงพ่อคูณจึงควรรู้ว่าท่านสั่งไว้อย่างไร ท่านต้องการให้ทำอย่างเรียบง่าย ไม่ใช่ทำพิธีกันใหญ่โต สร้างโน่นสร้างนี่ อย่างเมรุสร้างเสร็จก็ต้องรื้อทิ้ง เสียดายเงินหลายสิบล้าน ขอบอกไว้ ณ ที่นี้เลยว่า ถ้าพระพยอมตายจะไม่เอาเงินไปทำอะไรแบบนี้ แต่จะให้ไปต่อยอดกองทุนสัมมาชีพ ธนาคารน้ำ หรือกองทุนเพื่อดูแลผู้สูงวัย ไม่เอาไปสูญเสียกับร่างกายสังขาร

อย่าทำอะไรสวนทางกับคำสั่ง กับพินัยกรรม สิ้นเปลืองเงินทองทรัพย์สินมากมาย แทนที่จะนำไปต่อยอดทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือเป็นที่พึ่งของผู้ยากไร้ยังดีกว่า

เจริญพร


You must be logged in to post a comment Login