วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ศึกนอกหนักใจ ศึกในหนักอก

On January 24, 2019

คอลัมน์ สันติธรรม
ศึกนอกหนักใจ ศึกในหนักอก
โดย บรรจง บินกาซัน
(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 25 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2562)

ยัษริบเป็นเมืองเก่าแก่ในคาบสมุทรอาหรับก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็นมะดีนะฮฺ ยัษริบไม่เพียงแต่เป็นถิ่นฐานของชาวอาหรับทะเลทรายเท่านั้น แต่ยังเป็นถิ่นฐานของชาวยิว 3 เผ่าที่อพยพหลบหนีมาอาศัยอยู่หลังจากเมืองเยรูซาเล็มถูกทำลายโดยกองทัพอาณาจักรไบแซนตินใน ค.ศ. 70

กลุ่มชนที่มีอิทธิพลที่สุดในเมืองยัษริบคือเผ่าเอาส์และเผ่าคอซรอจญ์ คน 2 เผ่านี้อพยพมาจากเยเมนหลังจากเขื่อนมะอ์ริบแตกจนแผ่นดินแห้งแล้ง ไม่สามารถทำการเพาะปลูกอีกต่อไปได้ แต่เมื่อมาอยู่ในยัษริบ 2 เผ่านี้กลับไม่ลงรอยกัน ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมให้คนของอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมาเป็นผู้นำ และต่างฝ่ายต่างมีเผ่ายิวเป็นพันธมิตร

ด้วยความที่ต่างเผ่าต่างเป็นอริกัน ดังนั้น เมื่อเกิดการสู้รบขึ้นทั้ง 2 เผ่าจะไปขอความช่วยเหลือจากเผ่ายิวที่เป็นพันธมิตรของตนมาร่วมรบ ยัษริบจึงไม่มีรัฐบาลกลางมาเป็นเวลานาน

Battle-of-Uhud

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งนี้เองที่ทำให้อับดุลลอฮฺ บินอุบัย บินสะลูล ผู้นำคนหนึ่งในเผ่าคอซรอจญ์ พยายามหาทางสร้างความปรองดองระหว่างเผ่าของเขากับเผ่าเอาส์ที่เป็นคู่อริ ความพยายามของเขาเป็นที่ยอมรับจนคนใน 2 เผ่าเห็นว่าเขาควรเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองยัษริบ

ในช่วงเวลานั้นเองที่มีคนกลุ่มหนึ่งจาก 2 เผ่าเดินทางไปทำฮัจญ์ที่มักก๊ะฮฺและได้พบปะพูดคุยกับนบีมุฮัมมัดจนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในอิสลาม และสมาชิกของทั้ง 2 เผ่าเอ่ยปากชวนนบีมุฮัมมัดไปอยู่ที่เมืองยัษริบ โดยสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือท่านในการเผยแผ่อิสลาม และจะให้ท่านเป็นผู้นำคนนอกที่มาปกครองเมืองยัษริบ

แม้นบีมุฮัมมัดจะถูกกดขี่ข่มเหงในเมืองมักก๊ะฮฺ แต่ท่านมิได้ดีใจต่อข้อเสนอจนเดินทางไปยัษริบทันที ท่านให้ชาวยัษริบกลับไปก่อนเพื่อดูว่าในเทศกาลพิธีฮัจญ์ปีหน้าชาวยัษริบที่สัญญากับท่านไว้จะมีความจริงใจกับท่านเพียงใด

ปีต่อมาชาวยัษริบกลุ่มนั้นได้กลับมาพบกับท่านอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับนำชาวยัษริบที่หันมารับอิสลามอีกหลายคนมาพบท่าน ด้วยเหตุนี้นบีมุฮัมมัดจึงสั่งให้สาวกของท่านทยอยอพยพจากมักก๊ะฮฺไปยังยัษริบก่อน

เมื่อนบีมุฮัมมัดอพยพไปยังเมืองยัษริบ ชาวเมืองได้ให้การต้อนรับท่านอย่างเอิกเกริก ชาวเมืองจำนวนมากได้หันมาเข้ารับอิสลาม รวมทั้งอับดุลลอฮฺ บินอุบัย บินสะลูล หันมารับอิสลามด้วย แต่สาวกหลายคนของนบีมุฮัมมัดสงสัยในความจริงใจของเขา เพราะการอพยพมายังเมืองยัษริบของนบีมุฮัมมัดทำให้ความหวังที่จะได้เป็นกษัตริย์ของเขาต้องพังทลายลง

อับดุลลอฮฺ บินอุบัย ยังคงวางตัวเป็นมุสลิมที่ดีแม้เขาจะถูกสงสัยในความจริงใจ นบีมุฮัมมัดได้สั่งกับบรรดาสาวกของท่านว่าเรื่องภายในจิตใจเป็นเรื่องระหว่างเขากับพระเจ้า แต่ถ้าเขาประกาศตัวเป็นมุสลิมและมิได้ฝ่าฝืนคำสอนของอิสลาม ลิ้นและมือของมุสลิมต้องไม่เป็นอันตรายต่อเขา

เมื่อผู้นำเมืองมักก๊ะฮฺยกกองทัพมายังเมืองยัษริบเพื่อแก้แค้นให้แก่ความพ่ายแพ้ในการรบครั้งแรก นบีมุฮัมมัดได้เรียกสาวกของท่านประชุมปรึกษาเรื่องการรับมือผู้รุกราน ผู้อาวุโสซึ่งมีอับดุลลอฮฺ บินอุบัย รวมอยู่ด้วย เห็นว่าควรตั้งรับในเมือง แต่สาวกส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนหนุ่มเห็นว่าควรออกไปตั้งรับนอกเมือง เพื่อมิให้เด็ก ผู้หญิง คนแก่ได้รับอันตราย และที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย

นบีมุฮัมมัดจึงสวมเสื้อเกราะและทำตามเสียงส่วนใหญ่ แต่เมื่อสาวกคนหนุ่มรู้สึกว่าพวกตนมีมติที่ทำให้นบีมุฮัมมัดรู้สึกเกรงใจผู้อาวุโส พวกเขาจึงตกลงให้ท่านทำตามที่ท่านสบายใจ แต่นบีมุฮัมมัดตอบว่าเมื่อท่านสวมเสื้อเกราะแล้วท่านจะไม่เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจ

กองทัพของนบีมุฮัมมัดประกอบด้วยสมาชิกของเผ่าต่างๆในยัษริบรวมแล้วประมาณ 1,000 คน แต่เมื่อเดินทัพออกไปนอกเมืองได้ไม่นาน อับดุลลอฮฺ บินอุบัย ได้นำคนของเขาจำนวน 300 คนถอนตัวออกจากกองทัพของนบีมุฮัมมัด โดยให้เหตุผลว่าเขาไม่เห็นด้วยกับมติของคนหนุ่ม พฤติกรรมของเขาจึงทำให้กองทัพของนบีมุฮัมมัดเหลือประมาณ 700 คน ผลของสงครามครั้งนั้นฝ่ายของนบีมุฮัมมัดประสบความพ่ายแพ้ และนบีมุฮัมมัดได้รับบาดเจ็บจากสงคราม

นับแต่นั้นมา อับดุลลอฮฺ บินอุบัย กับพวกของเขาจึงถูกเรียกว่า “มุนาฟิก” ซึ่งหมายถึงคนสับปลับ หรือคนปากอย่างใจอย่าง และคนกลุ่มนี้เป็นเหมือนหนามยอกอกของมุสลิมในเมืองยัษริบ


You must be logged in to post a comment Login