วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

แบบบ้านอนาคตป้องกันวิกฤตฝุ่นPM2.5

On January 23, 2019

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย เผยแนวทางรับวิกฤตฝุ่น PM2.5 ผ่าน 5 แนวทางการออกแบบบ้านเขตเมืองในอนาคต ได้แก่ 1.ลดช่องลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน 2.เพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน โดยเลือกปลูกต้นไม้ที่มีคุณสมบัติช่วยดักจับฝุ่น 3.เลี่ยงวัสดุที่จับฝุ่นง่าย 4.ติดตั้งเครื่องกรองและแผ่นกรองอากาศ หมั่นทำความสะอาดเป็นประจำ และ 5.เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ให้พอดีกับฝ้าเพดาน ลดแหล่งสะสมของฝุ่นละออง พร้อมแนะภาครัฐผลักดันนโยบายพัฒนาการจัดการเมือง ลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ หนุนประชาชนปั่นจักรยาน เดิน หรือใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการเดินทาง เพื่อป้องกันวิกฤตฝุ่นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังร่วมกับสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยจัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ฝุ่น PM2.5 จะผ่านไป แล้วไงต่อ?” เมื่อเร็วๆนี้ ณ สภาสถาปนิก ถนนพระราม 9 กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง www.facebook.com/Activitykmitl หรือ sites.google.com/site/cdastthai โทร.0-2329-8000

ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี ประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า แนวคิดการออกแบบบ้านในเขตเมืองรับมือปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการจัดการเมืองสมัยใหม่ (Urban Management) เนื่องจากบ้านเป็นหน่วยที่พักอาศัยที่ใกล้ชิดกับการดำเนินชีวิตประจำวันมากที่สุด พร้อมแนะ 5 แนวทางการออกแบบเชิงภูมิสถาปัตยกรรมภายนอกตัวบ้านและการตกแต่งภายในบ้านคือ

1.ลดช่องลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน เนื่องจากฝุ่นละอองจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศเย็นปะทะกับอากาศอุ่น ส่งผลให้เกิดภาวะที่สภาพอากาศปิด โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่ลมหนาวจะพัดฝุ่นเข้าบ้านจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น บ้านที่อยู่ในพื้นที่ฝุ่นละอองหนาแน่นจึงควรลดช่องลมหรือเบี่ยงทิศตัวบ้านให้ออกจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองภายนอกพัดเข้าสู่ตัวบ้าน

2.เพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน การออกแบบงานภูมิทัศน์หรือการจัดสวนไม้ประดับควรเลือกต้นไม้ที่มีลักษณะใบคล้ายใบสน มีใบเล็กแหลมและแน่น โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีฝุ่นเป็นจำนวนมาก หากมีพื้นที่บริเวณบ้านควรปลูกหญ้าคลุมพื้นดินแทนการเทปูน และสามารถนำต้นไม้มาประดับตกแต่งผนังแทนการใช้กระเบื้อง การออกแบบงานภูมิทัศน์นอกจากช่วยในการดักจับฝุ่นแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศมากขึ้น

3.เลี่ยงวัสดุที่จับฝุ่นง่าย การเลือกใช้วัสดุตกแต่งบ้านและการออกแบบบางประเภทอาจทำให้เกิดฝุ่น เช่น การใช้เหล็กดัดลวดลาย การออกแบบผนังด้วยการเรียงอิฐไม่ฉาบปูน หรือการใช้อิฐโชว์แนว การออกแบบผนังหรือพื้นเป็นปูนปลาสเตอร์ปั้น และหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดฝุ่น เช่น ผ้าม่าน ผ้าขนสัตว์ ผ้ากำมะหยี่ พรม เป็นต้น

4.ติดตั้งเครื่องกรองและแผ่นกรองอากาศ การติดตั้งเครื่องกรองอากาศเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณฝุ่นภายในบ้านได้ แต่จำเป็นต้องทำความสะอาดเครื่องกรองและแผ่นกรองเป็นประจำ เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นและเชื้อโรค หากมีการใช้พรมเช็ดเท้าและพรมปูในบ้านควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองภายในบ้าน

5.เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ให้พอดีกับฝ้าเพดาน เนื่องจากพื้นที่ว่างบริเวณหลังตู้และเพดานเป็นจุดอับที่ยากต่อการทำความสะอาด และเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละออง ดังนั้น จึงควรเลือกขนาดเฟอร์นิเจอร์ที่มีความสูงให้พอดีหรือติดกับฝ้าเพดาน หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้ผ้าคลุมโต๊ะ ตู้ และวางของบนโต๊ะให้น้อยที่สุด

ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภูมิสถาปนิก กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นค่อนข้างสูง และมีพื้นที่สีเขียวเพียง 10% ต่อพื้นที่ทั้งหมด หากเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ที่มีความหนาแน่นประชากรสูง แต่มีพื้นที่สีเขียวถึง 47% ต่อพื้นที่ทั้งหมด ดังนั้น กรุงเทพฯต้องวางเมืองให้มีพื้นที่สีเขียวเพื่อกรองฝุ่น เพื่อแก้ปัญหาด้านมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ซึ่งภูมิสถาปนิกเสนอว่าในการจัดการพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองควรมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อคน และกระจายในตัวเมืองให้ช่วยเป็นตัวกรองอากาศ ทั้งนี้ ประเด็นพื้นที่สีเขียวได้รับการระบุไว้ในยุทธศาสตร์ 20 ปี จากปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญให้เกิดการตระหนักถึงมลภาวะทางอากาศในเขตเมืองที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของคนเมืองได้

ผศ.ดร.พลเดช เชาวรัตน์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศของเมืองใหญ่ในประเทศเยอรมนีที่เคยเกิดวิกฤตปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 จากการทำอุตสาหกรรมหนักภายในประเทศ จนนำไปสู่การออกแบบปรับผังเมืองครั้งใหญ่เพื่อรับมือกับปัญหาปัญหาดังกล่าว และยกระดับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน อาทิ การใช้แนวคิดการจัดการเมืองต้องเติบโตพร้อมพื้นที่สีเขียว การปรับปรุงระบบบริการขนส่งสาธารณะ การปรับแหล่งอำนวยความสะดวกให้สามารถเดินเข้าถึงได้สะดวกและลดการใช้รถยนต์ การจำกัดการใช้รถยนต์และการห้ามรถยนต์ที่ไม่มีมาตรฐานเข้าเมืองในโซนที่กำหนด รวมถึงสร้างทางจักรยานเพื่อให้ประชาชนเลือกใช้ในการเดินทาง เป็นต้น การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นส่วนสำคัญ เพื่อรับมือปัญหาวิกฤตฝุ่นละออง PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกๆปี อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 คือการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาทิ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล งดการเผาสิ่งปฏิกูล เป็นต้น

 


You must be logged in to post a comment Login