วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

บีบกกต.หน้าเขียว

On January 23, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 23 ม.ค. 62)

ถามกี่ครั้งว่าพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งจะประกาศใช้เมื่อไร คำตอบที่ได้จากฝ่ายคุมอำนาจคือ “เร็วๆนี้” แต่ไม่บอกวันที่ชัดเจน ที่เป็นเช่นนี้เพราะ กกต. ไม่ยอมคล้อยตามเรื่องกรอบเวลา 150 วัน ที่ฝ่ายรัฐบาลทหาร คสช. ยืนยันว่าไม่นับรวมการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง เกมนี้ กกต. จึงถูกเงื่อนเวลาบีบจนหน้าเขียว เพราะหากพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งไม่ประกาศในสัปดาห์นี้อาจไม่มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมอย่างที่พูดกัน

การเลือกตั้งที่เชื่อกันว่ามีแน่แต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อไร จนถึงวันนี้ก็ยังไร้วี่แววความชัดเจน ทั้งที่เป็นสัปดาห์สุดท้ายที่จะต้องประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งหากจะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม อย่างที่ฝ่ายคุมอำนาจส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้

เช็กจากน้ำเสียงล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลวานนี้ (22 ม.ค.) ก็พูดแต่เพียงว่าพระราชกฤษฎีกาจะประกาศใช้เร็วๆนี้ แต่ไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะเป็นเมื่อไร

ส่วนเรื่องอนาคตทางการเมืองก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร และพรรคพลังประชารัฐก็ยังไม่ได้ติดต่อทาบทามเรื่องที่จะเอาชื่อไปใส่ในบัญชีผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทำให้น่าสนใจว่าพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งจะประกาศใช้ภายในสัปดาห์นี้หรือไม่

หากไม่ประกาศการเลือกตั้งก็คงจะไม่ใช่วันที่ 24 มีนาคมอย่างที่พูดกัน ซึ่งคนที่เดือดร้อนที่สุดคงหนีไม่พ้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องแบกรับความเสี่ยงทางกฎหมายเรื่องจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีผลบังคับใช้ หาก กกต. ยังยืนหลักการเดิมว่าต้องการจัดเลือกตั้งและประกาศรับรองผลให้ได้ในกรอบเวลา 150 วัน

อย่างไรก็ตาม หากพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งไม่ประกาศใช้ในสัปดาห์นี้ แต่ กกต. ยืนยันจะจัดเลือกตั้งและรับรองผลให้ได้ภายในกรอบเวลา 150 วัน คือไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม ก็ยังพอมีทางออกอยู่บ้าง

ทางออกที่ว่าคือ หากพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งถูกเลื่อนการประกาศใช้ออกไปเป็นสัปดาห์หน้า ยังพอที่จะจัดเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมได้

แม้จะทำให้มีเวลาหาเสียงน้อยลง แต่เชื่อว่าพรรคการเมืองน่าจะพอรับได้ เพราะก่อนหน้านี้พรรคใหญ่และพรรคใหม่ที่มีลุ้นแย่งเก้าอี้ ส.ส. ในสภาก็ได้ออกตัวหาเสียงล่วงหน้ากันมาแล้ว

หาก กกต. เห็นใจพรรคการเมืองว่าจะมีเวลาหาเสียงน้อยเกินไปก็สามารถขยับการเลือกตั้งไปเป็นวันที่ 31 มีนาคมได้ แต่ กกต. จะมีเวลาพิจารณารับรองผลการเลือกตั้งน้อยลงคือ 39 วัน

ส่วนเหตุปัจจัยที่รัฐบาลทหาร คสช. ยังดึงเวลาไม่ยอมประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งก็เพราะ กกต. ไม่ยอมเออออห่อหมกเรื่องกรอบเวลา 150 วัน ที่ฝ่ายรัฐบาลทหาร คสช. ยืนยันว่าไม่นับรวมการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ถ้า กกต. เห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร คสช. เชื่อว่าคงมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งไปแล้ว

เกมนี้ กกต. ถูกบีบจนหน้าเขียว ถือว่าน่าเห็นใจ

แต่ความน่าเห็นใจกับความรับผิดชอบเป็นคนละเรื่องกัน หากที่สุดแล้ว กกต. ไม่สามารถจัดเลือกตั้งและรับรองผลเลือกตั้งภายในกรอบเวลา 150 วัน แล้วถูกนำไปฟ้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ถ้าจะให้ กกต. รับผิดทั้งทางแพ่งและอาญาแต่ฝ่ายเดียวคงไม่ถูกต้อง

รัฐบาลทหาร คสช. จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วยในฐานะดึงเวลาประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง

ถ้าจะให้ กกต. สบายใจในการทำหน้าที่ และยืดเวลารับรองผลการเลือกตั้งเลยวันที่ 9 พฤษภาคมอย่างที่รัฐบาลทหาร คสช. ต้องการ นายกฯและมือกฎหมายรัฐบาล รวมถึงคนในรัฐบาลทั้งหมด ควรประกาศให้ชัดเจนว่าจะรับผิดชอบกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการดึงเวลาประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งนี้อย่างไร ไม่ควรโยนภาระความรับผิดชอบทั้งหมดไปให้ กกต. แต่ฝ่ายเดียว


You must be logged in to post a comment Login