วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

‘ปวดข้อ’ สัญญาณเตือนแรกโรคเอสแอลอี

On January 18, 2019

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : รศ.พญ.สุมาภา ชัยอำนวย อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติซั่ม โรงพยาบาลพระรามเก้า

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 18-25 มกราคม 2562)

โรคเอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus : SLE) เป็นโรคไม่ติดต่อ เกิดจากภูมิต้านทานทำร้ายตนเอง ปรกติภูมิต้านทานของเราจะมีหน้าที่ทำร้ายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เชื้อโรคตายโดยการหลั่งสารอักเสบ แต่ในผู้ป่วยโรคเอสแอลอีภูมิต้านทานไม่สามารถแยกแยะระหว่างสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายกับเซลล์และเนื้อเยื่อของตนเองได้ ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายคิดว่าเซลล์ปรกตินั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมจึงได้ไปทำร้ายเซลล์นั้น ทำให้เกิดการอักเสบจนมีผลกระทบกับอวัยวะต่างๆในร่างกาย โดยเฉพาะผิวหนัง ข้อ ระบบเลือด ไต และระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งถ้าปล่อยให้มีการอักเสบเป็นเวลานานจะทำให้เนื้อเยื่อถูกทำลายจนเนื้อเยื่อของร่างกายไม่สามารถทำงานได้ตามปรกติ ดังนั้น ในการรักษาจึงต้องรีบควบคุมการอักเสบให้ได้ก่อนที่จะไปทำลายอวัยวะต่างๆอย่างถาวร โดยมีสาเหตุจากพันธุกรรม ร่วมกับสิ่งกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของระบบภูมิต้านทานในร่างกาย เช่น ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งมักจะพบในวัยรุ่นเพศหญิง ความเครียด แสงแดด การติดเชื้อ และยาบางชนิด

โรคเอสแอลอีสามารถแสดงอาการได้หลายรูปแบบ แต่ละคนก็จะมีอาการที่ต่างกัน โดยจะมีช่วงกำเริบและสงบสลับกันไป แต่มักจะไม่หายขาด ส่วนใหญ่จะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนน้อยจะมีอาการแบบรุนแรง รวดเร็ว สามารถเกิดอาการได้ทุกระบบ อาการที่พบบ่อยได้แก่ อาการปวดข้อ ผื่นบนใบหน้า เช่น ผื่นผีเสื้อ คือผื่นที่ขึ้นบริเวณจมูกและแก้มทั้ง 2 ข้าง ผื่นแพ้แสงแดด เหนื่อย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว รู้สึกเหมือนมีไข้ต่ำๆ ซึ่งเป็นอาการเริ่มแรกที่พบได้บ่อยที่สุด มีแผลในปากบริเวณเพดานปากและเหงือก ผมร่วง ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อซีด เป็นจ้ำเลือดง่าย หากมีอาการที่สมองจะทำให้มีอาการปวดศีรษะ ชัก หรืออ่อนแรงได้ อาจจะมีอาการเยื่อหุ้มปอดและหัวใจอักเสบ ทำให้มีอาการหายใจแล้วเจ็บหน้าอกได้ หากโรคเอสแอลอีทำให้ไตอักเสบจะทำให้มีอาการบวมทั้งที่เท้า ขา และหนังตา ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะเป็นฟอง หรือมีเลือดในปัสสาวะ โดยมากกว่าร้อยละ 90 ในผู้ป่วยโรคเอสแอลอี พบอาการปวดข้อเป็นอาการนำ ส่วนมากมักมีอาการอักเสบของข้อร่วมด้วย โดยสังเกตจากมีอาการบวม ตึงรอบๆข้อ ผู้ป่วยบางรายอาจจะปวดข้อแต่ไม่มีอาการอักเสบก็ได้ ซึ่งบริเวณที่พบได้บ่อยคือ ข้อเล็กๆในนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก และข้อเข่า อาจจะมีการปวดร่วมกับบวมตึง

อาการมักจะแย่ที่สุดในช่วงเช้า หลังจากตื่นนอน หรือหลังจากที่ไม่ได้ขยับข้อมานานๆ จะทำให้มีการสะสมของสารอักเสบรอบๆข้อมากขึ้น พอได้ขยับเขยื้อนหรืออาบน้ำอุ่นๆจะทำให้อาการดีขึ้น แม้ว่าอาการบวมอักเสบจะไม่มาก แต่ในบางครั้งผู้ป่วยโรคเอสแอลอีจะมีอาการปวดได้มากๆ ไม่สัมพันธ์กับการอักเสบที่เห็น บางคนปวดมากจนแทบลุกจากเตียงไม่ได้ในตอนเช้า อาการปวดข้อในโรคเอสแอลอียังมีอาการปวดแบบย้ายที่ คือปวดจากข้อหนึ่งย้ายไปอีกข้อหนึ่ง วันหนึ่งปวดข้อมือ อีกวันปวดข้อเข่า บางครั้งญาติหรือคนที่บ้านก็ไม่เข้าใจ เพราะไม่เห็นจะอักเสบหรือบวมแดงอะไร อันนี้หมอต้องอธิบายคนในครอบครัวให้เข้าใจ และขอความเข้าใจ เห็นใจให้คนไข้อยู่เสมอๆ นอกจากอาการปวดบริเวณข้อแล้ว ยังมีอาการปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดระบม ตัวรุมๆ ไม่สบายตัวร่วมด้วยได้ อาการปวดข้อช่วงเช้านี้จะแตกต่างจากการปวดข้ออื่นๆ เช่น อาการปวดข้อจากโรคข้อเสื่อม ซึ่งมักจะปวดเมื่อมีการใช้งาน อาการจะดีขึ้นเมื่อได้พักหรืออยู่นิ่ง ส่วนอาการปวดข้อในโรคเอสแอลอีจะเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง มักเป็นทั้งสองข้างแบบสมมาตรกัน คือเป็นทั้งด้านซ้ายและขวา

หากมีอาการดังข้างต้นและสงสัยว่าตัวเองอาจจะเป็นโรคเอสแอลอี สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ไม่เครียด เพราะความเครียดอาจจะทำให้โรคกำเริบเพิ่มได้ ไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม ซึ่งแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อหาโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อทำลายตนเองที่เรียกว่าแอนติบอดี ซึ่งหากให้ผลบวกจะเป็นข้อมูลในการช่วยวินิจฉัยโรคเอสแอลอีและให้คำแนะนำในการดูแลตนเองที่ถูกต้อง เพราะโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังและซับซ้อน ในหลายๆครั้งผู้ป่วยจึงอาจจะท้อแท้และหมดกำลังใจ ดังนั้น ครอบครัวมีความสำคัญอย่างมากที่จะสนับสนุนในเรื่องจิตใจ ให้ความเข้าใจถึงตัวโรคที่เกิดขึ้น และให้กำลังใจกับผู้ป่วยเพื่อจะได้ต่อสู้กับโรคต่อไป

 


You must be logged in to post a comment Login