วันพฤหัสที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567

เลือกตั้ง24มีนาฯ

On January 18, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 18 ม.ค. 62)

มือกฎหมายคนสำคัญของรัฐบาลส่งสัญญาณชัดๆอีกครั้งว่าวันเลือกตั้งที่เหมาะสมที่สุดคือวันที่ 24 มีนาคม โดยคาดว่าจะประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งได้ภายในสัปดาห์หน้า ส่วนที่ กกต. ยังกังวลเรื่องกรอบเวลา 150 วัน เสนอทางออกให้ กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ทันทีหลังจัดเลือกตั้ง ไม่ว่าผลตีความจะออกมาอย่างไรยังมีเวลาเหลือให้ กกต. ได้พิจารณาประกาศรับรองผลโดยไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงว่าจะต้องรับผิดทางกฎหมาย ขณะเดียวกันยังต้องการส่งสัญญาณไปถึงประชาชนโดยรวมให้รู้ว่ามีเลือกตั้งแน่นอน ซึ่งจะกระทบชิ่งไปถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่จะมีน้ำหนักความชอบธรรมลดน้อยลงโดยปริยาย

หลังจากที่เมื่อวานนี้บอกไปว่าให้รอดูความชัดเจนเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งที่น่าจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์หน้า

ล่าสุดมีคำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายคนสำคัญของรัฐบาลทหาร คสช. ค่อนข้างชัดเจน โดยสรุปเนื้อหาสาระสำคัญได้ดังนี้

1.พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งจะถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการภายในสัปดาห์หน้า

2.ในส่วนของรัฐบาลยังยืนยันความต้องการเดิมคือ วันที่ 24 มีนาคม เหมาะสมที่สุดที่จะจัดเลือกตั้ง

3.นักกฎหมายหลายคนที่สนับสนุนรัฐบาล รวมถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตีความคำว่าจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ตรงกันว่าหมายถึงการจัดเลือกตั้งเท่านั้น ไม่นับรวมการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง

4.ถ้าจัดเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม แล้วคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องการเพลย์เซฟเรื่องกรอบเวลา 150 วัน ตามที่ยืนยันว่าจะประกาศรับรองผลให้ทันภายในวันที่ 9 พฤษภาคม สามารถทำได้ ส่วนจะทำได้ทันจริงหรือไม่เป็นเรื่องของ กกต. ที่จะไปบริหารจัดการเวลาเอง ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล

5.หาก กกต. ไม่สามารถประกาศรับรองผลเลือกตั้งได้ทันภายในวันที่ 9 พฤษภาคม สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องกรอบเวลา 150 วัน แต่ยื่นตีความตอนนี้ไม่ได้เพราะเรื่องยังไม่เกิด

เข้าใจว่านายวิษณุต้องการส่งสัญญาณว่า กกต. สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความกรอบเวลา 150 วันได้หลังจากที่จัดเลือกตั้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอให้เลยวันที่ 9 พฤษภาคมไปก่อนค่อยส่งตีความ

จัดเลือกตั้งเสร็จปุ๊บ ไม่มั่นใจเรื่องกรอบเวลาให้ยื่นตีความได้ทันที ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาอย่างไรถือว่า กกต. ยังมีเวลาในการทำงาน

หากตัดสินว่ากรอบเวลา 150 วันนับรวมการประกาศรับรองผลเลือกตั้งด้วย ก็ยังมีเวลาให้ กกต. พิจารณารับรองผลได้ก่อนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม

แต่หากตีความว่ากรอบเวลา 150 วัน นับแค่วันจัดเลือกตั้ง ไม่นับรวมการประกาศรับรองผลที่สามารถนับต่อจากวันเลือกตั้งไปได้อีก 60 วัน กกต. ก็ไม่ต้องรีบร้อนรับรองผลเลือกตั้ง เพราะมีเวลาทำงานได้ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่รัฐบาลต้องการ เพราะหลังประกาศรับรองผลเลือกตั้งแล้วถือเป็นการนับหนึ่งที่จะกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประชุมสภาภายใน 15 วันหลังจากนั้น ซึ่งน่าจะยังอยู่ในช่วงที่มีกิจกรรมหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถ้านับ 15 วันหลังวันที่ 24 พฤษภาคม ถือเป็นช่วงเวลาที่ปลอดโปร่ง เหมาะสม หากนับ 15 วันหลังวันที่ 9 พฤษภาคมก็ถือว่ายังมีความคาบเกี่ยวกับกิจกรรมหลังวันพระราชพิธีฯ

นี่น่าจะเป็นสัญญาณใหม่ เป็นทางเลือกในทางออกที่นายวิษณุต้องการส่งถึง กกต. หลัง กกต. ยังไม่มั่นใจเรื่องกรอบเวลา 150 วัน และเกรงว่าจะมีความผิดหากประกาศรับรองผลไม่ทันวันที่ 9 พฤษภาคม

ถือเป็นความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการจัดเลือกตั้งที่แม้นายวิษณุจะพยายามย้ำว่าเป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ได้พูดในนามรัฐบาล แต่การออกมาพูดชัดเจนอย่างนี้ก็เพราะต้องการส่งสัญญาณไปให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ เพื่อความสบายใจและเพื่อให้เตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็น กกต. ที่ต้องเตรียมสถานที่รับสมัครเลือกตั้ง พิมพ์บัตรเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ต้องเร่งวางตัวผู้สมัครและหาเสียง

รวมทั้งส่งสัญญาณไปถึงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เคลื่อนไหวอยู่ในตอนนี้ โดยหวังว่าเมื่อเห็นความชัดเจนถึงกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว การเคลื่อนไหวที่ทำท่าจะบานปลายจะลดระดับลง ถึงจะไม่ได้เลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์อย่างที่ต้องการ แต่เมื่อมีกำหนดเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมออกมา เหตุผลของการเคลื่อนไหวก็จะน้อยลง และนักการเมืองก็จะหันไปทุ่มกับกิจกรรมของพรรคมากกว่าสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนไหวลดน้ำหนักความน่าสนใจและคงยุติลงไปโดยปริยาย

ถ้าไม่มีอะไรผิดไปจากนี้ วันที่ 24 มีนาคมได้เลือกตั้งแน่นอน


You must be logged in to post a comment Login