วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

เงื่อนไขที่(อาจ)ไม่ใช่เงื่อนไข?

On January 18, 2019

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 18 ม.ค. 62)

กระแสข่าวจาก “องค์กรเลือกตั้ง” ระบุว่า จะประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาช่วงวันที่ 15-23 มกราคมนี้ และจะกำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม และจะรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ซึ่งทันตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด 150 วัน

สรุปคือไม่มีการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน

อย่างไรก็ตาม กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันหลังกฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 คือวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งปรกติการเลือกตั้งต้องจัดในวันอาทิตย์ วันอาทิตย์สุดท้ายที่เป็นไปได้ตามรัฐธรรมนูญคือวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม

กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 90 วัน หลัง พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งบังคับใช้ตามกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 171 ตามกำหนดการเดิม พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งจะประกาศในวันที่ 2 มกราคม ซึ่ง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลได้ทูลเกล้าฯไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561

พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งบังคับใช้ กกต. ต้องกำหนดวันเลือกตั้งอย่างชัดเจนและเป็นทางการภายใน 5 วัน ตามกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 12

กกต. ต้องประกาศผลเลือกตั้ง 95% ของเขตเลือกตั้งทั้งหมดภายใน 60 วันหลังวันเลือกตั้งตามกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 127 คือจะประกาศผลการเลือกตั้งก่อนกำหนดเมื่อใดก็ได้ ไม่ใช่ต้องประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อครบ 60 วันพอดี ซึ่งการเลือกตั้ง 3 ครั้งหลังสุดที่ผ่านมาคือ ปี 2548 ปี 2550 และปี 2554 กกต. ใช้เวลาประกาศผลเลือกตั้งเบื้องต้นเฉลี่ย 8 วัน และประกาศผลเลือกตั้ง 95% เฉลี่ย 23 วัน

หลังประกาศผลเลือกตั้ง พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมเปิดรัฐสภาสามัญประจำปีครั้งแรกภายใน 15 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 121

ถ้านับตั้งแต่วันเลือกตั้งจนกระทั่งเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกจะต้องภายใน 75 วันหลังการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้ง 3 ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ใช้เวลาตั้งแต่วันเลือกตั้งจนถึงเปิดประชุมรัฐสภาและเลือกนายกรัฐมนตรีจนเสร็จสิ้นเฉลี่ย 33 วันเท่านั้น

จึงต้องจับตามองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นไปอย่างราบรื่น หรือมีอะไรพิสดารเกิดขึ้น เพราะ “ประเทศกูมี” อะไรก็เกิดขึ้นได้!!??

 


You must be logged in to post a comment Login