วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

“ณัฐวุฒิ”เตือนความจำปชป.บอกไม่เกี่ยวยึดอำนาจแล้วใครบอยคอตเลือกตั้ง

On January 16, 2019

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคไทยรักษาชาติ ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊คส่วนตัวระบุว่า

เห็นข่าวสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มีวิวาทะกับ ร.ต.อ.เฉลิม ยกต่อไปจะอย่างไรเป็นเรื่องของทั้ง 2 ฝ่าย

แต่ผมมีบางประเด็นอยากร่วมสนทนาเพื่อความชัดเจนอีกครั้ง ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะให้ชัดกว่าที่ผ่านมาได้อย่างไรแล้ว

ประชาธิปัตย์อ้างมาตลอด ล่าสุดโดยนายธนาโฆษกพรรคว่าไม่เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจ เป็นคนละฝ่ายกับ คสช. เหตุแห่งการรัฐประหารเพราะรัฐบาลเพื่อไทยแก้รัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ตัวเองในการเลือกตั้ง และออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม “สุดซอย”

เรื่องนี้ไม่จริง เอาชัดๆเลยนะ

รัฐบาลเพื่อไทยแก้รัฐธรรมนูญให้มี สสร. จากการเลือกตั้งมาทำหน้าที่ยกร่างใหม่ โดยไม่แตะต้องบทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูง เสร็จแล้วทำประชามติก่อนการบังคับใช้ แต่ประชาธิปัตย์แก้รัฐธรรมนูญเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ชัดว่าเพื่อให้พรรครัฐบาลขณะนั้นได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

เพื่อไทยทำไม่ได้ แต่ประชาธิปัตย์ทำได้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม “สุดซอย” หลายฝ่ายคัดค้าน ส่วนตัวผมก็ไม่ได้ลงคะแนนให้ หลังการเคลื่อนไหวต่อต้านขยายวงกว้าง รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบสภา ซึ่งน่าจะจบตรงนี้ แล้วให้ประชาชนตัดสินใจตามวิถีทางประชาธิปไตย

แต่ประชาธิปัตย์บอยคอต อ้างว่ากติกาไม่เป็นธรรม รัฐบาลเพื่อไทยรักษาการ เลือกตั้งให้บริสุทธิ์เป็นไปไม่ได้

เรื่องนี้ถือเป็นสิทธิ์ แต่ที่เป็นปัญหาคือมีกระบวนการขัดขวางการเลือกตั้ง ทำทุกอย่างจนเป็นโมฆะเพื่อให้ถึงทางตัน ประชาธิปัตย์จะอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องก็ได้ ประชาชนจะได้ใช้วิจารณญาณ

เมื่อปรากฏความเคลื่อนไหวล้มเลือกตั้ง ผมและอีกหลายฝ่ายพูดตรงกันว่าสถานการณ์จะเดินไปสู่รัฐประหาร แต่ประชาธิปัตย์ไม่หยุด ทั้งที่การยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 สิ่งที่ทำลงไปก็ไม่ได้ต่างจากนี้ ผลลัพธ์มีให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่แล้ว ไม่เรียกว่าเจตนาเล็งเห็นผลแล้วจะเรียกอะไร

ถ้าเหตุผลในการบอยคอตเลือกตั้งเป็นอย่างที่อ้างทั้ง 2 ครั้งจริง เลือกตั้งที่กำลังรอกำหนดวันอยู่นี้ กติกายิ่งกว่าชัดว่าไม่เป็นธรรม รัฐบาลไม่ใช่รักษาการแต่มีอำนาจเต็ม ปลดกรรมการก็ได้ ถูกพูดถึงว่าเอาเปรียบสารพัด ส่อจะเป็นการเลือกตั้งสกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ทำไมประชาธิปัตย์ไม่บอยคอต

ยึดอำนาจเสร็จ คนพรรคประชาธิปัตย์ทยอยไปมีตำแหน่ง ในรัฐบาลบ้าง แม่น้ำ 5 สายและองค์กรต่างๆบ้าง ตอนนายอลงกรณ์ รองหัวหน้าพรรค ไปสมัครเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายอภิสิทธิ์ทำท่าขึงขัง บอกว่าจะไม่ส่งลงสมัคร ส.ส. คราวหน้า แต่ตอนนี้นายอลงกรณ์กลับมาเป็นรองหัวหน้าพรรคเรียบร้อยแล้ว

ก่อนหน้านี้นายสุเทพอดีตเลขาธิการพรรคเคยให้สัมภาษณ์ว่า คุยกับ พล.อ.ประยุทธ์เรื่องยุทธวิธีล้มระบอบทักษิณ (ซึ่งไม่มีอยู่จริง) ตั้งแต่ปี 2553 ตอนนี้ตั้งพรรคเดินสายคารวะแผ่นดิน ประกาศไม่เสนอชื่อว่าที่นายกฯ แต่คนทั้งประเทศรู้ว่าจะหนุนใคร

ถ้าประชาธิปัตย์จะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจ ก็ต้องทราบว่าประชาชนยังไม่ลืมเรื่องเหล่านี้

จะอ้างว่าออกมาเคลื่อนไหวเพราะรัฐบาลก่อนทุจริต ก็เห็นว่าปฏิกิริยาต่อข่าวไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลนี้ต่างกันมาก เรื่องนาฬิกาก็เห็นยังทนกันได้

หรือพูดว่าต้านรัฐบาลที่แล้วเพราะประชาชนอดอยาก ก็ได้ยินเสียงชาวสวนยางปักษ์ใต้ถามหา ตอนราคา 80 ถึง 90 บาท ทนไม่ได้ เคลื่อนไหวเอาเป็นเอาตาย แต่ยาง 3 กิโลร้อยมาเกือบ 5 ปี ทำได้แค่ยื่นหนังสือปีละฉบับ นโยบายพรรคที่เพิ่งประกาศก็ให้ราคาเพียงกิโลละ 60 บาท หลายคนบอกว่าไม่เข้าใจ

ยุค คมช. ประชาธิปัตย์เป็นเด็กดี ประกาศรับร่างรัฐธรรมนูญตอนทำประชามติ แต่ยุค คสช. เป็นเด็กดื้อ รัฐธรรมนูญก็ไม่รับ เพราะเขาเปิดให้มีนายกฯคนนอกได้และเดินเกมชัดว่าจะอยู่ต่อ คนรอส้มหล่นจึงคอยเก้อ ตอนนี้ยึกยัก แต่วงในเขานับรวมไปแล้วว่าหลังเลือกตั้ง ทั้งลุงตู่ ลุงกำนัน หลานมาร์ค จะมาอยู่ด้วยกัน

สายตาผมมองเห็นความจริงอย่างนี้ อย่าเพิ่งเชื่อ แต่โปรดพิจารณา


You must be logged in to post a comment Login