วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

แกะรอยพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง

On January 9, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 9 ม.ค. 62)

พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งที่ถูกใช้เป็นตัวต่อรองกำหนดวันเลือกตั้งในตอนนี้ หากย้อนไปดูเส้นทางการออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งตามที่มือกฎหมายรัฐบาลพูดไว้ต่างกรรมต่างวาระ ทำให้มองเห็นภาพชัดเจนว่าขณะนี้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งอยู่ในมือของรัฐบาล แต่ดึงเวลาประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้เอาไว้ เพื่อบีบ กกต. ให้กำหนดวันเลือกตั้งในช่วงเวลาที่ต้องการคือปลายเดือนมีนาคม ทั้งนี้ มีกรอบเวลาที่สามารถยื้อประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้นานสุดถึงวันที่ 10 มีนาคม ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะยื้อไว้นานเท่าไร ยื้อจนสุดกรอบเวลาที่มีเลยหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งยื้อนานแรงเสียดทานจากกระแสเรียกร้องเลือกตั้งก็จะดังมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน

กุญแจดอกสำคัญที่จะเปิดประตูสู่การเลือกตั้งตอนนี้คือพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้ง ที่ตอนนี้ดูเหมือนว่าไม่มีใครอยากให้รายละเอียดกับประชาชนว่าขั้นตอนการออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งซึ่งเป็นอำนาจของรัฐบาลนั้นอยู่ในขั้นตอนไหน อย่างไร

อย่างไรก็ตาม หากไปค้นดูข่าวเก่า เว็บไซต์ไทยโพสต์ https://www.thaipost.net/main/detail/24289 เคยลงคำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2561 ซึ่งการให้สัมภาษณ์ในวันนั้นนายวิษณุเปิดเผยว่า

“คาดว่ามีการนำร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว”

ย้อนไปก่อนหน้านั้นในวันที่ 13 ธันวาคม 2561 เว็บไซต์ https://www.ryt9.com/s/iq02/2928078 ลงบทสัมภาษณ์นายวิษณุระบุว่า

“ขณะนี้รัฐบาลพิจารณาร่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ส่งมาให้รัฐบาลแล้ว และกำลังรอจังหวะเวลาเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะประกาศออกมาเมื่อไร ตามกรอบเวลาต้องออกพระราชกฤษฎีกาไม่ช้ากว่า 90 วัน นับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลใช้บังคับ และเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งแล้ว จากนั้นภายใน 5 วัน กกต. จะกำหนดข้อบังคับ ระเบียบต่างๆ ทั้งวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร และสถานที่รับสมัคร ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ”

ดังนั้น เมื่อพิจารณาเส้นทางการออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งตามที่นายวิษณุให้สัมภาษณ์ไว้ ได้มีการนำร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯไปแล้ว

ขณะเดียวกันการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของรองนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา มีบางช่วงบางตอนพูดถึงพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งตามที่เว็บไซต์สำนักข่าวไทย https://www.tnamcot.com/view/TexeDVBBx เผยแพร่เอาไว้ความว่า

“ส่วนพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศใช้ และไม่ทราบว่าลงมาหรือยัง ในส่วนของพระราชบัญญัติเคยมีบางฉบับที่ต้องถูกเก็บไว้ก่อน ยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันที เป็นสิทธิที่ทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายและธรรมเนียมประเพณี”

ตีความจากคำพูดของนายวิษณุได้ 2 อย่างคือ

หนึ่ง ยังไม่รู้ว่าโปรดเกล้าฯร่างพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งกลับลงมาหรือยัง

สอง แม้จะมีการโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว แต่รัฐบาลสามารถดึงเวลาที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ได้โดยไม่มีอะไรผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนไปดูคำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งต้องออกมาภายใน 90 วัน หลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศใช้ครบทั้ง 4 ฉบับ ในที่นี้คือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นฉบับสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมปีที่ผ่านมา

เท่ากับว่ารัฐบาลสามารถดึงการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาได้เต็มที่ถึงวันที่ 10 มีนาคม

ถ้าดึงยาวไปจนสุดป้ายก็เป็นไปตามความต้องการที่อยากให้การเลือกตั้งอยู่ในช่วงปลายเดือนมีนาคม

แต่ปัญหาคือ กกต. จะมีเวลาสำหรับจัดเลือกตั้งกระชั้นชิดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตีความว่ากรอบเวลาจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันหมายถึงการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้เปิดประชุมสภาได้ด้วย

ถ้าประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งวันที่ 10 มีนาคม จัดเลือกตั้งปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน เท่ากับพรรคการเมืองจะมีเวลาหาเสียงเพียงประมาณ 20 กว่าวัน

นี่คือเส้นทางพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งที่รัฐบาลใช้ต่อรองในตอนนี้ ต้องดูว่าจะกล้าดึงไว้จนถึงเส้นตายวันสุดท้ายที่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 10 มีนาคมเลยหรือไม่

ถ้ากล้าดึงยาวขนาดนั้นก็ต้องมั่นใจว่าจะทนแรงเสียดทานต่อกระแสเรียกร้องการเลือกตั้งที่จะดังมากขึ้นเรื่อยๆได้

ยื้อแล้วได้อะไร เสียอะไร คงต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะหากไม่แก้รัฐธรรมนูญอย่างไรก็ต้องมีเลือกตั้งไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคมแน่นอน


You must be logged in to post a comment Login