วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

กติกาวิปลาส

On December 18, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 18 ธ.ค. 61)

การเมืองที่ยังไม่รู้กำหนดวันเลือกตั้ง แต่รู้ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล รู้แม้กระทั่งว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นความย้อนแย้งถึงขั้นวิปลาสของกติกาการเมือง การที่คนในบัญชีชื่อพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีย่อมไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน การที่ 4-5 พรรคจับมือกันแม้จะมี ส.ส. เกินครึ่งของสภา แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนที่ลงคะแนนให้พรรคอันดับ 3, 4, 5 ต้องการสนับสนุนให้คนจากพรรคอันดับ 2 เป็นนายกฯ ในเมื่อแต่ละพรรคแบชื่อให้ประชาชนรับรู้ก่อนเลือกตั้งแล้วว่าเสนอใครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การเมืองแม้ยังไม่รู้กำหนดวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ดูเหมือนทุกฝ่ายจะยอมรับกันกลายๆแล้วว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้เคารพการตัดสินใจของประชาชนที่ควรให้สิทธิพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้สิทธิรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลก่อน

แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้เคารพการตัดสินใจของประชาชน เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ประชาชนจะได้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากบัญชีชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ

เมื่อเสียงข้างมากเลือกพรรคการเมืองใด ย่อมหมายถึงว่าเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนทั้งประเทศต้องการให้ผู้ที่พรรคการเมืองนั้นเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีนำการบริหารประเทศ

แต่สิ่งที่ควรจะเป็นความชอบธรรมทางการเมืองนี้กำลังถูกหักล้างด้วยคำว่า “คณิตศาสตร์การเมือง”

โดยอ้างว่าการเมืองในระบบรัฐสภายึดเสียงข้างมากเป็นสำคัญ

แน่นอนว่าพรรคที่ชนะเลือกตั้ง หากได้เสียงไม่เกินครึ่งหนึ่งของสภาไม่ถือว่าเป็นเสียงข้างมาก

1 พรรคมี 200 เสียง แต่อีก 4-5 พรรครวมกันแล้วได้ 300 เสียง ฝ่ายที่รวมเสียงได้มากกว่าคือผู้ชนะได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาลและเสนอชื่อคนเป็นนายกรัฐมนตรีให้ที่ประชุมสภาเลือก

ชนะเลือกตั้งแต่ไม่ใช่เสียงข้างมาก คือตรรกะการเมืองในระบบรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าคิดอยู่เหมือนกันว่าการที่ประชาชนเทเสียงให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งชนะเลือกตั้งนั่นหมายความว่าประชาชนต้องการให้คนจากบัญชีชื่อที่พรรคการเมืองนั้นเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่

แม้ 4-5 พรรครวมกันแล้วจะได้เสียงมากกว่า แต่ 4-5 พรรคที่ว่านั้นไม่ชนะเลือกตั้ง ย่อมหมายความว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้คนจากบัญชีชื่อที่พรรคการเมืองเหล่านั้นเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่

ถ้าถือตามตรรกะนี้ย่อมหมายความว่าถ้าประชาชนต้องการสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรีต้องเลือกพรรคการเมืองที่เสนอชื่อบุคคลที่ต้องการให้เป็นผู้นำ

จะหาเหตุผลใดมาอธิบายความชอบธรรมหากคนที่อยู่ในบัญชีชื่อที่พรรคการเมืองชนะเลือกตั้งไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

แม้ 4-5 พรรครวมกันแล้วจะได้เสียงข้างมากในสภา แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนต้องการให้คนในบัญชีชื่อที่พรรคการเมืองเหล่านี้เสนอเป็นนายกรัฐมนตรี

ยกตัวอย่างเช่น พรรค ก. ชนะเลือกตั้งได้ 200 เสียง พรรค ข. มาเป็นอันดับสองได้ 100 เสียง พรรค ค. มาเป็นอันดับสามได้ 100 เสียง พรรค ง. พรรค จ. ได้พรรคละ 50 เสียง

ถึงพรรค ข. พรรค ค. พรรค ง. พรรค จ. รวมเสียงกันได้เกินครึ่งของสภา แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนที่เลือกพรรค ค. พรรค ง. พรรค จ. ต้องการให้คนจากบัญชีรายชื่อพรรค ข. เป็นนายกรัฐมนตรี

ใครลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองใดย่อมต้องการสนับสนุนคนจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี

ไม่ใช่เลือกพรรค จ. เพื่อต้องการให้คนในบัญชีรายชื่อพรรค ข. เป็นนายกฯ

นี่คือความย้อนแย้ง จนถึงอาจพูดได้ว่าเป็นความวิปลาสอย่างหนึ่งของกติกาการเมืองไทย

ความย้อนแย้ง ความวิปลาสที่ว่านี้ มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหลังการเลือกตั้งต้นปีหน้า


You must be logged in to post a comment Login