วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

ระวัง “เบาหวานขึ้นจอประสาทตา”

On December 7, 2018

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน :  นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข โรงพยาบาลราชวิถี

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 7-14 ธันวาคม 2561)

จากสถานการณ์ผู้ป่วยโรคเบาหวานของประเทศไทยในปัจจุบันที่มีผู้ป่วยจำนวนถึง 5 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานหากดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอมักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามระบบต่างๆของร่างกาย ซึ่งภัยเงียบที่น่ากลัวของผู้ป่วยเบาหวานคือ ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา โดยพบว่าภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นเป็นอันดับต้นๆของประเทศ แต่โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาสามารถป้องกันได้ถ้าวินิจฉัยได้เร็ว ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องได้รับการคัดกรองตรวจสุขภาพตาเป็นระยะอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาคือ ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สูงผิดปรกติและส่งผลข้างเคียงต่อจอประสาทตา หากตรวจพบช้าหรือรักษาช้าอาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น โดยภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตานั้นสามารถเกิดขึ้นได้ถึงร้อยละ 30-40 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน โดยผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเสี่ยงที่จะมีเบาหวานขึ้นจอประสาทตาคือ

1.การเป็นโรคเบาหวานเป็นระยะเวลานาน และขาดการตรวจหาภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

2.ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง

3.ผู้ป่วยที่มีระดับความดันโลหิตสูง

4.ผู้ป่วยมี่มีไขมันในเลือดสูง

อาการที่บ่งบอกถึงโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ระยะแรกส่วนมากจะไม่แสดงอาการตามัวและไม่เจ็บปวด ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่ามีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา แต่หากปล่อยไว้จนมีโปรตีนรั่วเข้าไปในจอประสาทตาอาจทำให้มองเห็นผิดปรกติ เห็นภาพไม่ชัดเจน และเริ่มมีเลือดออกบดบังการมองเห็น และถ้าหากบดบังการมองเห็นทั้งหมด ผู้ป่วยจะมีภาวะตาบอดในที่สุด จึงแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานหมั่นตรวจคัดกรองหาภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาเป็นประจำทุกปี การตรวจไม่ได้ยุ่งยากและซับซ้อน หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ 1.แพทย์จะหยอดตาขยายม่านตา และรอจนม่านตาขยาย และ 2.แพทย์จะใช้กล้องส่องตรวจไปที่จอตา

หากตรวจพบมีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาในระยะที่ยังไม่รุนแรง แพทย์จะทำการรักษาโดยการคุมเบาหวาน คุมน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงจนเป็นอันตรายต่อดวงตา ซึ่งระยะนี้เป็นระยะที่ทำการรักษาได้ง่ายที่สุด แต่หากมีภาวะที่เสี่ยงต่อตาบอด เช่น โปรตีนรั่วเข้าไปในจอตามากแล้ว หรือมีเส้นเลือดผิดปรกติ มีเลือดออกในตา มีพังผืดบนจอตา จอตาหลุดลอก ก็จะมีการรักษาอยู่ 3 วิธี

1.การรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ คือการใช้แสงเลเซอร์เพื่อปิดเส้นเลือดรอยรั่วที่จอประสาทตา จะทำให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ชัดขึ้น ซึ่งอาการข้างเคียงอาจทำให้ผู้ป่วยมีการมองเห็นที่แคบลง และความสามารถในการมองเห็นในที่มืดลดลง

2.การรักษาด้วยการฉีดยาเข้าในตา ซึ่งเป็นการรักษาที่นับเป็นมาตรฐานในปัจจุบัน ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือ จะทำให้จุดมองภาพชัดที่บวมยุบลงได้เร็ว การมองเห็นกลับมาฟื้นตัวเร็ว แต่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง

3.การรักษาด้วยการผ่าตัด ใช้เมื่อมีเลือดออกในน้ำวุ้นตาเรื้อรัง มีพังผืดบนจอตา จอตาหลุดลอก

ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยวิธีใด หลังการรักษาผู้ป่วยต้องดูแลตัวเอง โดยการควบคุมเบาหวานไม่ให้มีน้ำตาลในเลือดสูง ต้องมาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการหลังการรักษาตามที่แพทย์นัด

การป้องกันภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาของผู้ป่วยเบาหวานที่ดีที่สุดคือ การดูแลสุขภาพ คุมน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูง ดูแลควบคุมอาหารการกิน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ทั้งนี้ ในแต่ละปีศูนย์จักษุ โรงพยาบาลราชวิถี ได้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ป่วยที่ประสบปัญหาสุขภาพทางตามากกว่า 100,000 ราย ซึ่งศูนย์จักษุ โรงพยาบาลราชวิถี เป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยาที่เก่าแก่ที่สุดของกระทรวงสาธารณสุข เปิดดำเนินการมานานกว่า 35 ปี อบรมสร้างจักษุแพทย์ไปช่วยดูแลสุขภาพตาประชาชนทั่วประเทศ และยังเป็นศูนย์รักษาโรคตาที่ทันสมัย โดยมีอาจารย์แพทย์ที่เชี่ยวชาญทางจักษุวิทยาครบทุกสาขา ภายในอาคารศูนย์การแพทย์ที่จะเปิดให้บริการในกลางปี 2562 นี้ จะเปิดศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellent center) ทางจอประสาทตา และเป็นศูนย์รับส่งต่อสำหรับโรคตาที่มีความยากซับซ้อนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยังมีความต้องการงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์การรักษาที่ทันสมัย ครบครัน เพื่อประโยชน์ในการรักษา

 


You must be logged in to post a comment Login