วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และเป็นกลาง

On December 13, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 14-21 ธันวาคม 2561)

“ผมไม่ได้เป็นคนสั่ง เป็นเรื่องของ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ในที่ประชุมวันนั้นเป็นการพูดคุยตั้งข้อสังเกตที่มีคนถามผมขึ้นมา ผมไม่ได้ไปสั่ง กกต. เสียเมื่อไร ลองไปฟังคำพูดของเขาสิ เขาถามผมก็ตอบเท่านั้นเอง บัตรเลือกตั้งจะมีชื่อพรรคหรือโลโก้พรรคหรือไม่เป็นเรื่องของ กกต. ไม่ใช่เรื่องของผม ผมไม่เกี่ยวกับเรื่องกลไกการเลือกตั้งอะไรสักอย่าง เพียงแต่ผมดูแลไปร่วมประชุมในฐานะหัวหน้า คสช. ซึ่งต้องไปรักษาเสถียรภาพของประเทศให้สงบเรียบร้อย แล้วผมจะพูดอะไรไม่ได้เลยหรือ”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวหลังประชุม ครม. (11 ธันวาคม) กรณีมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนเสนอให้ตัดโลโก้และชื่อพรรคการเมืองออกจากบัตรเลือกตั้งในการหารือร่วมกับพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา และยืนยันว่าไม่ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาบัตรเลือกตั้ง เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต.

กรณีนายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ ที่ตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็น “สัมปทานคะแนนเสียง” เพื่อเป็นรัฐบาลไม่ต่างจาก “ระบอบทักษิณ” นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของนายธีรยุทธ ซึ่งเห็นพูดมาตลอด 40 ปีแล้ว “โธ่เอ๊ย ไปดูวิธีการว่ามันต่างกันตรงไหน วันนี้บริหารประเทศต่างกันหรือไม่ ไปดูไป ถ้าจะพูดตรงนี้คุณก็เอาความคิดเดิมๆที่ฝังหัวอยู่มาพูดอยู่ทุกวันๆ ซึ่งผมไม่ให้ความสนใจหรอก ถ้าดีจริงทำได้จริงทำจบมานานแล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีปัญหาอย่างวันนี้หรอก”

ส่วนที่นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ หรือ “โหร คมช.” ทำนายว่าการเลือกตั้งจะเลื่อนออกไป แต่นายกรัฐมนตรียังเป็นคนเดิม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “นั่นก็เป็นเรื่องของโหรวารินทร์ แล้วอย่างไร บอกแล้วก็ต้องเป็นอย่างนั้นหรืออย่างไร แล้วแต่ประชาชนที่เป็นคนเลือกตั้ง ไม่ใช่โหรวารินทร์เป็นคนเลือก”

ประกาศ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ยกเลิกคำสั่งคสช.ปลดล็อกการเมือง

ประเด็นร้อนเรื่องบัตรเลือกตั้งไม่มีโลโก้และชื่อพรรคการเมืองที่ กกต. อ้างมีปัญหาเรื่องการขนส่ง กลายเป็น “เผือกร้อน” กลับไปที่ กกต. ซึ่งแทบทุกพรรคไม่เห็นด้วย ทำให้ กกต. เริ่มลังเลหลังถูกรุมถล่มอย่างหนักว่าเป็นการเลือกตั้งที่โกงที่สุด อัปลักษณ์และอัปยศที่จะประจานต่อชาวโลก โดย กกต. จะประชุมหารือกับพรรคการเมืองอีกครั้งวันที่ 19 ธันวาคม โดยก่อนหน้านี้ กกต. ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่อง “แบ่งเขตพิสดาร” เพราะหลายพื้นที่ผ่าอำเภอ ผ่าตำบล และผ่าถนน ให้อยู่คนละเขตเลือกตั้ง ทั้งที่มีพื้นที่ติดกัน

อย่างไรก็ตาม หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม ถือว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว ก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง แต่จะเริ่มหาเสียงได้หลังจากประกาศ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งวันที่ 2 มกราคม 2562

ในวันเดียวกัน (11 ธันวาคม) มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 เรื่องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยคำสั่ง คสช. 9 ฉบับ ได้แก่

1.คำสั่ง คสช. ที่ 10/2557 เรื่องห้ามกระทำการใดๆหรือสั่งให้กระทำการใดๆเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินหรือการดำเนินการทางการเงินเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคล เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 เฉพาะข้อ 2 ในข้อ 1 คือ ยกเลิกการห้ามทำธุรกรรมทางการเงินของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคไทยรักษาชาติ

2.คำสั่ง คสช. ที่ 26/2557 เรื่องห้ามกระทำการใดๆหรือสั่งให้กระทำการใดๆเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินหรือการดำเนินการทางการเงินเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคล เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 คือ ยกเลิกการห้ามทำธุรกรรมทางการเงินของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ “บก.ลายจุด” หัวหน้าพรรคเกียน และ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ

3.คำสั่ง คสช. ที่ 39/2557 เรื่องการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่มารายงานตัวกับ คสช. ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 คือ ยกเลิกคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ คสช. กักตัว และได้รับการปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขต้องมารายงานตัว ถ้าไม่มาก็จะมีความผิดจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4.ประกาศ คสช. ที่ 40/2557 เรื่องการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 15 ทวิ ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 คือ ยกเลิกกรณีบุคคลที่ คสช. ปล่อยตัวหลังกักตัวไว้ครบ 7 วันตามกฎอัยการศึกแล้ว ต้องไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ห้ามร่วมชุมนุมและสนับสนุนการทำกิจกรรมทางการเมือง หากผิดเงื่อนไขก็พร้อมจะถูกระงับการทำธุรกรรม และอาจถูกจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5.ประกาศ คสช. ที่ 57/2557 เรื่อง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2557 เฉพาะในข้อ 2 คือ ยกเลิกการห้ามไม่ให้พรรคการเมืองจัดประชุม ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใด รวมถึงการจัดตั้ง จดทะเบียนพรรค และระงับการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองด้วย

6.คำสั่ง คสช. ที่ 80/2557 เรื่องให้บุคคลปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2557 คือ ยกเลิกการห้ามนักการเมือง 18 คนคือ 1.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 2.พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ 3.นายชูศักดิ์ ศิรินิล 4.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา 5.นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ 6.นายจตุพร พรหมพันธุ์ 7.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 8.นางธิดา โตจิราการ 9.นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ 10.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 11.นายจุติ ไกรฤกษ์ 12.นายศิริโชค โสภา 13.นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ 14.นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ 15.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 16.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย 17.นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และ 18.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข เดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ห้ามเคลื่อนไหวหรือประชุมทางการเมือง หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

7.คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เมษายน 2558 เฉพาะในข้อ 12 คือ ยกเลิกการห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

8.คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2560 เฉพาะในข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 7 คือ ยกเลิกการห้ามพรรคจัดประชุมใหญ่ จัดตั้งสาขาพรรค ประชุมสมาชิกพรรค หรือพรรคที่จะตั้งขึ้นใหม่ การจัดประชุมก่อตั้งพรรคไม่ต้องขออนุญาต คสช.

9.คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ 14 กันยายน 2561 เฉพาะในข้อ 6 คือ ยกเลิกการห้ามพรรคหาเสียง หรือประชาสัมพันธ์ ติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งภายในพรรคและสมาชิกพรรค

การยกเลิกตามคำสั่งที่ 3, 4 และ 6 ให้ยกเลิกเฉพาะในส่วนที่กำหนดห้ามบุคคลหรือให้บุคคลใดละเว้นการเคลื่อนไหว หรือประชุมทางการเมือง หรือห้ามการดำเนินการช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงเงื่อนไขการปล่อยตัวบุคคลใดตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวที่ห้ามหรือให้ละเว้นในเรื่องดังกล่าวด้วย ในคำสั่งยังระบุด้วยว่าการยกเลิกประกาศและคำสั่งทั้ง 9 ฉบับ ไม่กระทบถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้

โซ่ตรวนประชาชนยังอยู่?

ขณะที่ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คสช. “ปลดล็อกการเมือง” แต่ยังคงควบคุมและจำกัดเสรีภาพประชาชนในหลายประเด็น

1.ยังมีอำนาจมาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และมาตรา 265 รัฐธรรมนูญ 2560 คือมีอำนาจจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ หัวหน้า คสช. ยังมีอำนาจอย่างเด็ดขาดที่จะออกคำสั่งใดๆเพื่อควบคุมเเละบริหารประเทศ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง โดยปราศจากการตรวจสอบจากศาล ทั้งชอบด้วยกฎหมายเเละรัฐธรรมนูญ

2.ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 เจ้าหน้าที่ทหาร ถือเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ยังมีอำนาจจับกุม เข้าไปในเคหสถาน ยึด ควบคุมตัวบุคคลไม่เกิน 7 วัน หรือ “ปรับทัศนคติ”

3.คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ยกเลิกความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่มีเงื่อนไขไม่ให้กระทบกระเทือนคดีที่ยังขาดความชัดเจน ทำให้บุคคลที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาดังกล่าวยังต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ ทั้งประกาศ คสช. ที่ 7/2557 ซึ่งกำหนดความผิดแบบเดียวกันยังไม่ถูกยกเลิกแต่อย่างใด

4.ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้มารายงานตัวตามประกาศ คสช. ที่ 41/2557 ยังคงอยู่ เช่นเดียวกับการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร คดีที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม 2557-11 กันยายน 2559 ยังไม่ได้ถูกยกเลิก ทำให้ไม่อาจใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างเต็มที่

5.คสช. ยังมีเครื่องมือในการควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกผ่านการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

ไม่ปลดล็อกสื่อ

เช่นเดียวกับคำสั่งและประกาศหลายฉบับที่ปิดปากสื่อก็ยังคงอยู่ ได้แก่

1.ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ห้ามสื่อนำเสนอข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความสับสนหรือความขัดแย้ง ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ห้ามวิจารณ์ คสช. โดยไม่สุจริตด้วยข้อมูลเท็จ ฯลฯ และยังกำหนดให้สื่อทุกแห่งมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลตามที่ได้รับแจ้งจาก คสช.

2.คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจ “มาตรา 44” กำหนดให้ กสทช. เป็นองค์กรที่มีอำนาจตีความและบังคับใช้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 หากสื่อใดฝ่าฝืนจะมีโทษปรับตั้งแต่ 50,000-500,000 บาท ถูกพักใช้ใบอนุญาต หรือถูกสั่งปิดสถานีได้ โดยเจ้าหน้าที่ กสทช. ที่ใช้อำนาจตามคำสั่งนี้ได้รับความคุ้มครองยกเว้นความผิดเป็นกรณีพิเศษ

3.คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจ “มาตรา 44” เพื่อใช้แทนกฎอัยการศึก ข้อ 5.กำหนดว่า ในกรณีจําเป็นให้ทหารยศร้อยตรีขึ้นไปที่ได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากหัวหน้า คสช. ให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ มีอํานาจออกคําสั่งห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนได้ โดยการใช้อำนาจตามคำสั่งนี้ไม่มีหน่วยงานใดที่สามารถเข้ามาตรวจสอบหรือถ่วงดุลการใช้อำนาจของทหารได้ และผู้ใช้อำนาจตามคำสั่งนี้ก็ได้รับความคุ้มครองยกเว้นความผิดเป็นกรณีพิเศษเช่นกัน

จำต้องปลดล็อก ไม่ใช่ความกรุณา

อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร โพสต์ภาพตัวเองชู 3 นิ้ว พร้อมข้อความระบุว่า วันนี้การที่ คสช. จำต้องปลดล็อก ไม่ใช่เขามีความกรุณาต่อเรา แต่เป็นการเอาสิทธิขั้นพื้นฐานของเราที่เขาช่วงชิงจากเราไปเป็นเวลาเกือบ 5 ปี คืนกลับมาให้บางส่วนต่างหาก

ต้องขอแสดงความยินดีกับพี่น้องชาวไทยด้วยที่วันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความหวังที่เราจะได้รับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคกลับคืนมา ถึงแม้อาจไม่เหมือนเดิมเหมือนเมื่อครั้งได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 เพราะรัฐธรรมนูญนี้ตั้งใจควบคุมและจำกัดสิทธิของประชาชนตามมาตรฐานสากล

การออกแบบการเลือกตั้งใหม่ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่สร้างเงื่อนไขซับซ้อนในการคิดคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังมีแนวคิดออก “บัตรเลือกตั้งแบบใหม่” ที่มีเพียงหมายเลขผู้สมัคร จนทำให้เกิดกระแสต่อต้าน เพราะต่างเห็นว่าจะสร้างความสับสนจนนำไปสู่โอกาสในการทุจริตการเลือกตั้งได้

“ดังนั้น เราต้องร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญฉบับถ่วงความเจริญของประเทศฉบับนี้ โดยเริ่มต้นก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ด้วยความรัก ความสามัคคีของคนไทยที่หัวใจเป็นไทอย่างแท้จริง และจุดมุ่งหมายที่วางไว้คงไม่ไกลเกินมือของพวกเรา ขอเป็นกำลังใจให้คนไทยทุกคน และผมจะขอทำหน้าที่ในฐานะที่เคยรับใช้ประเทศไทยมา และใจก็ยังไม่ได้จากไปไหนครับ”

ทหารยังมีอำนาจ

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การปลดล็อกการเมืองทำให้พรรคการเมืองสามารถประชุมและพบปะสมาชิกได้ สามารถชุมนุมทางการเมือง 5 คนได้ หรือการชุมนุมของนักศึกษา รวมถึงยกเลิกธุรกรรมทางการเงินบางคนที่ถูกแช่แข็งไว้ แต่ไม่ได้ยกเลิกอำนาจของฝ่ายทหารที่มีอยู่ เช่น การเรียกบุคคลมารายงานตัวปรับทัศนคติ และยังมีการดำเนินคดีก่อนหน้านี้ เช่น การแถลงข่าวของพรรคเพื่อไทย สำหรับพรรคเพื่อไทยจะเริ่มต้นการทำกิจกรรมทางการเมืองทันที โดยมีการเตรียมการประชุมหลายเรื่อง เช่น ทีมเศรษฐกิจจะหารือเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องกฎหมายที่เป็นอุปสรรคกับการทำธุรกิจ หรือการแก้ปัญหายาเสพติด

ไทม์ไลน์การเลือกตั้ง

นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. แถลงหลัง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ว่า ปฏิทินจัดการเลือกตั้งที่ผ่านความเห็นชอบของ กกต. และ ครม. หลัง พ.ร.ฎ. ประกาศวันที่ 2 มกราคม 2562 วันที่ 4 มกราคม กกต. จะประกาศกำหนดให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์เป็นวันเลือกตั้ง วันที่ 14-18 มกราคม เป็นวันสมัครรับเลือกตั้ง วันลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในและนอกราชอาณาจักรพร้อมกันคือตั้งแต่วันที่ 10-24 มกราคม การใช้สิทธินอกราชอาณาจักรให้สถานทูตและสถานกงสุลเป็นผู้กำหนด แต่วันสุดท้ายจะเป็นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เนื่องจากต้องนำบัตรกลับมานับพร้อมกับบัตรลงคะแนนล่วงหน้าในประเทศในหน่วยเลือกตั้งที่กำหนดขึ้น โดยจะนับหลังปิดการลงคะแนนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์

ส่วนการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งได้เตรียมไว้ 2 รูปแบบคือ บัตรที่มีความพร้อมสมบูรณ์ ทั้งหมายเลข ชื่อพรรค และโลโก้พรรค กับบัตรที่มีเพียงหมายเลขผู้สมัครอย่างเดียว ซึ่งจะรวบรวมข้อดีข้อเสียเสนอต่อ กกต. ภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นจะนำรูปแบบที่ กกต. เลือกและการกำหนดระบบรักษาความปลอดภัยของบัตรใส่ในทีโออาร์เพื่อหาผู้รับจ้างจัดพิมพ์ หาก กกต. เลือกรูปแบบบัตรสมบูรณ์ หลังปิดรับสมัครสำนักงาน กกต. จะสรุปข้อมูลผู้สมัครทั้ง 350 เขตส่งไปยังผู้จัดพิมพ์

บัตรแต่ละเขตจะมีจำนวนผู้สมัครแตกต่างกัน ซึ่งในจังหวัดที่มีผู้สมัครมากที่สุดอาจมีถึง 60 หมายเลข และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาปลอมแปลงจะพิมพ์ที่ส่วนกลางทั้งหมดโดยโรงพิมพ์ที่มีศักยภาพพิมพ์บัตร 52 ล้านฉบับ ผู้จัดพิมพ์จะเริ่มพิมพ์ในวันที่ 20 มกราคม คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 2 วันจะส่งบัตรล็อตแรกไปยังสถานทูตและสถานกงสุล ซึ่งจะรอการปิดยอดลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในวันที่ 24 มกราคม การส่งบัตรจะเสร็จไม่เกินวันที่ 26 มกราคม

การจัดส่งบัตร 350 เขตจะมีระบบจีพีเอสติดตามแสดงสถานะว่าอยู่ที่ใด และมีเลขที่ลำดับกล่องบัตรคอยควบคุม จึงไม่ต้องห่วงเรื่องบัตรมีปัญหาทุกรูปแบบ ไม่ว่าแบบสองขาหรือแถวเดียว รวมถึงช่องกาบัตรของพรรคกับช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนเพื่อไม่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ซึ่งจริงๆแล้วประชาชนรู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะเลือกใคร โดยผลสำรวจพบว่าประชาชนในชนบทตื่นตัวมากกว่าคนในชุมชนเมือง ส่วนการรายงานผลจะมีการจัดทำแอพฯรายงานผล ซึ่งประธานกรรมการประจำหน่วยจะรายงานผลคะแนน 95 เปอร์เซ็นต์หลังปิดลงคะแนนในเวลา 17.00 น. และคาดว่าไม่เกิน 22.00 น. จะสรุปผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการได้ หากคำนวณเป็นก็จะรู้ทันทีว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

นายณัฏฐ์ยังกล่าวถึงผู้สมัครแต่ละพรรคในแต่ละเขตที่ไม่ได้เบอร์เดียวกันว่า กกต. ไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่ถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.ป.เลือกตั้ง ซึ่งในทางปฏิบัติหากพรรคอยากให้ผู้สมัครใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ เพราะกฎหมายเปิดช่องให้ตกลงกันได้และทำได้ไม่ยาก แต่ปัญหาจะอยู่ที่พรรคซึ่งไม่ได้ส่งครบทั้ง 350 เขต หมายเลขบนบัตรจะเป็นฟันหลอทันที โดย กกต. จะประชุมวันที่ 19 ธันวาคมนี้ รวมทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมถึงโรดแม็พการเลือกตั้งว่า วันที่ 25 เมษายนเป็นวันสุดท้ายการประกาศผลการเลือกตั้ง วันที่ 28 เมษายนเป็นวันสุดท้ายที่ คสช. จะคัดเลือก ส.ว. ครบ 250 คน นำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย จากนั้นจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายใน 15 วันนับจากประกาศผลการเลือกตั้ง วันที่ 9 พฤษภาคมจะเป็นวันสุดท้ายของการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก จากนั้นจะมีการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา เลือกนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ ครม. ถวายสัตย์ฯ จะมีผลให้ ครม.ชุดเก่าและ คสช. พ้นจากตำแหน่ง หลังจากนั้น ครม.ชุดใหม่จะแถลงนโยบายภายในเวลา 15 วันนับแต่วันถวายสัตย์ฯ

ไม่มีใครแทรกแซง กกต.

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงกรณีบัตรเลือกตั้งว่า จะพิจารณาให้ได้ข้อยุติในเร็ววันนี้ โดยหลักจะนำแนวปฏิบัติที่เคยดำเนินการมาและคำนึงถึงความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆด้วย โดยส่วนตัวเห็นบัตรเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตมีเพียงหมายเลขและช่องลงคะแนนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ส่วนบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจะมีชื่อพรรคและโลโก้ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2544 ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่นำผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตมานับเป็นคะแนนเพื่อคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ยืนยันว่าการพิจารณาของ กกต. ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรจะต้องมีเหตุผลชี้แจงว่าเลือกแบบนี้เพราะอะไร รวมถึงปัจจัยเรื่องกรอบเวลาเรื่องการเลือกตั้งล่วงหน้า เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร โดยยืนยันว่าการพิจารณาเลือกรูปแบบบัตรเลือกตั้งไม่มีการแทรกแซงจากฝ่ายใดอย่างแน่นอน

นายอิทธิพรกล่าวว่า ไม่กังวลที่ กกต. ถูกวิจารณ์ทั้งเรื่องการแบ่งเขตและบัตรเลือกตั้ง เพราะทำตามหน้าที่ และเคารพในข้อวิจารณ์ การให้ความเห็นของประชาชนเท่ากับว่าประชาชนสนใจและอยากมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ไม่ถือเป็นข้อกังวล แต่มองว่าจะแก้ไขให้ความกังวลหมดไปอย่างไร ซึ่ง กกต. ได้เปิดฮอตไลน์ 1444 เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

กระแสสังคมต่อต้านหนัก

เมื่อรูปแบบบัตรเลือกตั้งยังไม่ได้ข้อสรุป กกต. และ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังเป็นเป้าถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาชน โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และอดีต กกต. โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค (10 ธันวาคม) ว่า เตือน กกต. พิมพ์บัตรเลือกตั้งในลักษณะที่มีเลขผู้สมัครอย่างเดียวสุ่มเสี่ยงการถูกฟ้องว่าเป็นการออกแบบบัตรเลือกตั้งที่ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายณัฏฐ์ชี้แจงว่า ขณะนี้ กกต. ออกแบบบัตรเลือกตั้งไว้ 2 รูปแบบ ทั้งบัตรที่มีข้อมูลครบถ้วนทั้งเบอร์ ชื่อ และโลโก้พรรคการเมือง กับบัตรที่มีเพียงหมายเลขผู้สมัคร ซึ่งจะประชุมเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด โดยรูปแบบบัตรเลือกตั้งไม่คิดว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะทั้งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเลือกตั้งไม่ได้เขียนไว้ ระบุเพียงลักษณะรูปแบบของบัตรให้เป็นไปตามที่ กกต. กำหนด แม้บัตรเลือกตั้งมีหมายเลขอย่างเดียวก็ไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะ กกต. พยายามนำเสนอข้อมูลผู้สมัครและพรรคการเมืองให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทุกช่องทาง รวมถึงที่หน้าหน่วยเลือกตั้งครบถ้วนอยู่แล้ว

ผิดกฎหมายชดใช้ 5,000 ล้าน

ก่อนหน้านี้นายสมชัยโพสต์เฟซบุ๊คว่า ให้บัตรเลือกตั้งมีแค่เบอร์และชื่อผู้สมัคร ไม่มีโลโก้พรรค นับว่าแย่แล้ว ข้อเสนอที่เอาแต่ง่าย (หากเป็นจริง) ของ สนง.กกต. ที่จะพิมพ์บัตรโหลแบบเดียวใช้ทั้งประเทศที่มีแต่เบอร์ผู้สมัครกลับแย่กว่าอีก ทั้งขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวแทนบัตรสองใบในอดีต ทั้งสร้างภาระความสับสนให้แก่ประชาชน เนื่องจากเบอร์พรรคที่ต่างกันไปในแต่ละเขต ทั้งเอื้อต่อการทุจริตที่ตรวจสอบยากว่าบัตรโกงเป็นของเขตใด

ความเป็น กกต. คือ ต้องจัดการเลือกตั้งให้ดี เป็นการเลือกตั้งที่มีคุณภาพ และผลการเลือกตั้งสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน มิใช่จัดเอาแค่ง่ายๆ สะดวกแค่เจ้าหน้าที่

มุกตื้น-มุกมักง่าย-มุกแป้ก

นายสมชัยยังโพสต์ “มุกตื้นเจอมุกมักง่ายกลายเป็นมุกแป้ก” ว่า มุกตื้นๆของการมีบัตรเลือกตั้งที่ใส่แค่เบอร์และชื่อของผู้สมัครคือให้นักการเมืองที่มีชื่อคุ้นเคยของประชาชนได้เปรียบ เพราะชื่อเหล่านี้วันนี้ย้ายพรรคไปแล้ว เผื่อชาวบ้านจะยังนึกว่าอยู่พรรคเดิม กาลงคะแนนให้ คนได้ประโยชน์คือพรรคที่ดูดเอานักการเมืองเก่าๆไปสังกัดเยอะๆ พรรคไหนไปตามข่าวกันเอง

มุกมักง่ายของการจะพิมพ์บัตรเลือกตั้งโหลคือ มีแค่เบอร์ ไม่ต้องมีรายละเอียดอื่น ไม่ว่าจะเป็นชื่อผู้สมัคร ชื่อพรรค หรือโลโก้พรรค คือพิมพ์ง่าย พิมพ์แค่โรงพิมพ์เดียวส่งทั่วประเทศ ไม่ต้องไปออกแบบบัตรต่างกัน 350 แบบ ซึ่งต้องใช้เวลาและมีรายละเอียดของงานมาก การพิมพ์บัตรโหลเป็นเรื่องทำได้ง่ายๆ สะดวกสบายแก่เจ้าหน้าที่

มุกแป้กที่เกิดขึ้นจากการเสนอมุกตื้นๆและมุกมักง่ายคือ คนด่าทั้งประเทศ และหากจะดันทุรังเดินหน้าพิมพ์บัตรโหลกันต่อจะนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เนื่องจากบัตรเลือกตั้งไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญให้ประชาชนเลือกทั้ง ส.ส.เขต และนำทุกคะแนนไปรวมเป็นคะแนนของพรรคเพื่อคำนวณ ส.ส. ที่พึงจะมีของพรรคการเมืองนั้น

ถึงวันนั้นหากศาลตัดสินว่าการเลือกตั้งขัดเจตนารมณ์เป็นโมฆะ ใครต้องชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งเกือบ 5,000 ล้านบาท ใครจะโดนข้อหากระทำการโดยประมาททำให้ราชการเกิดความเสียหาย น่าจะเดาได้ไม่ยากว่ามี 7 คน

กกต. ถอยเถอะครับ

บีบีซีไทยได้สำรวจบัตรเลือกตั้งในต่างประเทศพบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เยอรมนี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แม้แต่กัมพูชา มีทั้งหมายเลขผู้สมัคร ชื่อพรรคการเมือง และโลโก้พรรค เพื่อทำให้ผู้ใช้สิทธิสามารถเลือกได้อย่างถูกต้อง ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งของอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) มีรายละเอียดสำคัญสำหรับผู้ลงคะแนน เช่น ชื่อผู้สมัคร ชื่อพรรคการเมืองที่สังกัด โลโก้พรรค และที่อยู่ของสำนักงานของพรรคการเมือง รวมถึงวิธีการลงคะแนนอีกด้วย

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊คเรื่องบัตรเลือกตั้งว่า การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงแค่การเลือกผู้แทนหรือเลือกตัวคน แต่ประชาชนจะต้องมีส่วนในการกำหนดนโยบายของประเทศด้วย เพราะเมื่อพรรคการเมืองใดได้เป็นรัฐบาล พรรคการเมืองนั้นก็มีหน้าที่ต้องนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปเป็นนโยบายประเทศ ประชาชนจึงกำหนดนโยบายประเทศได้โดยการเลือกพรรคการเมืองในวันเลือกตั้ง

ดังนั้น ในบัตรเลือกตั้งนอกจากจะต้องมีชื่อผู้สมัครและหมายเลขของผู้สมัครแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือชื่อพรรคการเมืองที่ผู้สมัครนั้นสังกัด เพื่อให้ประชาชนที่จะเลือกเป็นพรรคหรือเลือกจากนโยบายพรรคจะได้ทราบว่าพรรคที่อยากจะเลือกนั้นมีหมายเลขใด เพื่อที่จะไม่สับสนสงสัยตอนอยู่ในคูหา และสามารถกากบาทได้ถูก ประเทศไหนๆจึงล้วนแต่ให้ในบัตรเลือกตั้งมีชื่อพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัดทั้งนั้น เว้นแต่จะเป็นผู้สมัครอิสระ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง ไม่ให้มีการสมัครอิสระ ด้วยเหตุผลที่ให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง ดังนั้น ประเทศไทยจึงยิ่งต้องให้มีชื่อพรรคการเมืองของผู้สมัครในบัตรเลือกตั้ง การที่ กกต. จะกำหนดให้บัตรเลือกตั้งไม่มีชื่อพรรคการเมืองจึงเป็นเรื่องประหลาดและขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองเป็นอย่างยิ่ง เหตุผลเรื่องจะแก้ปัญหาผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศ มีวิธีจะแก้ปัญหาได้ตั้งมากมายหลายวิธีที่ไม่ใช่การเอาชื่อพรรคการเมืองออกไปอย่างนี้

ผลที่จะเกิดขึ้นจากการเอาชื่อพรรคการเมืองออกไปคือ ความได้เปรียบของพรรคการเมืองเก่า และพรรคการเมืองที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเลือกเป็นพรรคจะหมดไป แค่ถึงตอนนี้ที่ประชาชนเหลือแค่เลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตแบบเดียวในการเลือกตั้ง แล้วเอามาคิดที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ประชาชนก็ตัดสินใจยากอยู่แล้วในกรณีจะเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตกับผู้สมัครเป็นคนละพรรค แล้วในเขตต่างๆผู้สมัครพรรคเดียวกันยังเป็นคนละเบอร์กันอีก ซึ่งก็ลดทอนความสำคัญของพรรคการเมือง และสร้างความยุ่งยากให้แก่ประชาชนมากพออยู่แล้ว

แล้วถ้าบัตรเลือกตั้งจะไม่มีชื่อพรรคการเมืองของผู้สมัครอีกจะยิ่งไปกันใหญ่ ไปกันใหญ่ทั้งสร้างความยุ่งยากให้กับประชาชนที่จะเลือกเป็นพรรค แล้วก็จะไปกันใหญ่ในเรื่องความสงสัยที่ผู้คนเริ่มตั้งคำถามหรือสงสัยเรื่องความเป็นตัวของตัวเองของ กกต.

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนในรัฐบาล คสช. ลงมาตั้งพรรคแล้วเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเช่นนี้ เรื่องนี้ถ้า กกต. ไม่ถอยก็จะลามเป็นความสงสัยไปถึงการเลือกตั้งทั้งหมดได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีแต่ประการใด

ถอยเถอะครับ โลโก้ไม่มีอาจจะพอได้ คนก็อาจจะสงสัยว่าแล้วจะขอโลโก้ตอนตั้งพรรคไปทำไม แต่ชื่อพรรคการเมืองนี่ยังไงก็ต้องมีครับ ถ้า กกต. จะเดินหน้าทำบัตรเลือกตั้งแบบไม่มีชื่อพรรคการเมืองต่อไปนี่ ผมเกรงว่าจะไปกันต่อไม่ได้ครับ

ถามจิตสำนึก “ทั่นผู้นำ”

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กกต. ที่เหมือนคณะกรรมการกลาง แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าลงมาเป็นผู้เล่นเอง ซึ่งวันนี้ต้องถามความชัดเจนกับ พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะเลือกบทบาทไหน ระหว่างการเป็นกรรมการกลางที่กล่าวอ้างอยู่ก็ต้องไม่ลงมาสมัครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง แต่ถ้าจะลงสมัครเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคการเมืองก็ไม่ผิด สามารถทำได้ แต่ก็ไม่ควรที่จะสวมหมวกเป็นกรรมการกลาง แล้วใช้อำนาจทางการเป็นหัวหน้า คสช. อำนาจนายกฯ ซึ่งจะทำให้เกิดข้อกังวลได้ว่าการใช้อำนาจทั้งสองอย่างแทรกแซงองค์กรอิสระได้ ซึ่งเห็นตัวอย่างจากการออกประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. แบ่งเขตเลือกตั้งที่ผิดกฎหมายเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายมาแล้ว

ส่วนบัตรเลือกตั้งต้องเข้าใจหลักการประชาธิปไตยว่าพรรคการเมืองต้องเฟ้นหาผู้สมัคร หาคนที่จะมาเสนอตัวให้ประชาชน รวมถึงมีคุณสมบัติดีพอที่จะให้ประชาชนเลือกและดีพอที่จะทำงานในนามพรรค แล้วประชาชนจะเลือกพรรค ซึ่งเป็นหลักการทั่วไป แต่ขณะนี้ถูกทำบิดเบือน บิดพลิ้วไปหมด บัตรเดียวเลือกทั้งคนทั้งพรรคและทั้งนายกฯ สับสนกันไปหมด แล้วจะยังไม่ใส่ชื่อโลโก้พรรคลงไปในบัตรอีก ทั้งที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดว่า ส.ส. จะลงสมัครได้ผู้สมัครจะต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งแปลว่ายังให้ความสำคัญกับระบบพรรคการเมืองอยู่ ซึ่งเป็นหลักการประชาธิปไตยทั่วไปคือ พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ไม่ทราบว่าการทำมาทั้งหมดคือการปฏิรูปการเมืองตรงไหนบ้างที่ทำแล้วดีขึ้น ทั้งถามถึงจิตสำนึก จริยธรรม วิจารณญาณของ พล.อ.ประยุทธ์ในการสวมหมวกหลายใบ หากเป็นกรรมการแล้วลงมาเป็นผู้เล่นเสียเอง แล้วการเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ยุติธรรมได้อย่างไร พรรคเพื่อไทยเพียงขอให้การเลือกตั้งครั้งนี้ปราศจากการซื้อเสียง การใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้ผลการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับของนานาชาติและทำตามกฎหมาย อย่าได้ทำอย่างที่ผ่านมา

“เราไม่มีความมั่นใจใดๆ ในเมื่อกรรมการกลางที่อ้างว่ารัฐประหารมาเพื่อจะมาเป็นกรรมการก็มาเป็นผู้เล่นเต็มตัว แล้วคนที่จะมาทำหน้าที่เป็นกรรมการกลางเราก็ยังไม่เห็นว่าจะสามารถทำหน้าที่เพื่อสร้างความอุ่นใจมั่นใจได้อย่างไร แต่ก็ขอให้กำลังใจ กกต. ซึ่งเราหวังกับท่านมาก รวมถึงประชาชนก็หวังเช่นเดียวกันว่าจะจัดการเลือกตั้งได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ปราศจากการซื้อเสียงและการใช้อำนาจรัฐ”

สงครามครั้งสุดท้าย

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปรกติการเลือกตั้งทั่วโลกจะต้องทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิด้วยความง่าย รวมถึงการอำนวยความสะดวกเพื่อให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก บัตรเลือกตั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประชาชนตัดสินใจได้ง่ายว่าจะเลือกใครและเลือกพรรคอะไร โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ถูกส่งเสริมให้เป็นสถาบันต้องเป็น “คนเลือกพรรค พรรคเลือกคนและหลักการ” ซึ่งโลโก้พรรคเป็นเรื่องใหญ่ ภายใต้สโลแกนว่า พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค เพราะฉะนั้นคนที่มาเลือกพรรคจะเลือกตามโลโก้ จะมีเหตุผลอะไรลบโลโก้ออกนอกจากคุณจะทำให้ประชาชนสับสน

การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนต้องออกมาปกป้องสิทธิของตัวเอง เนื่องจากพรรคการเมืองทำทุกทางแล้วในการสกัดการโกง สื่อมวลชนเองก็ได้ออกมาตีแผ่ทุกเรื่อง ทั้งการแบ่งเขตที่พิสดาร และการตั้งกฎกติกาที่เอาเปรียบ เหลือเพียงอย่างเดียวคือประชาชนต้องออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง สงครามครั้งนี้เป็นสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างประชาชนกับพวกอำนาจนิยมที่จะทำทุกอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจ จึงฝากไว้ว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ให้ประชาชนช่วยกันพิจารณา

ทำลายสถิติเลือกตั้งสกปรก

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง โดยผู้นำรัฐบาลขณะนั้นซึ่งสืบทอดอำนาจจากการรัฐประหารปี 2490 ต้องการอยู่ต่อ จึงตั้งพรรคการเมืองแล้วเป็นหัวหน้าพรรคเอง ทำทุกอย่าง ทั้งให้นักเลงออกข่มขู่ประชาชน ส่งคนเวียนเทียนลงคะแนนเรียกว่าพลร่ม ยัดบัตรเถื่อนลงหีบเลือกตั้งเรียกว่าไพ่ไฟ หลังผลการเลือกตั้งออกมา สื่อมวลชนพากันขนานนามว่าการเลือกตั้งสกปรก ไม่น่าเชื่อว่าผ่านไป 62 ปี การเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์กำลังจะทำลายสถิติเป็นการเลือกตั้งสกปรกตั้งแต่ก่อนถึงวันรับสมัครหรือไม่ ดีกรีความสกปรกทำท่าว่าจะไร้ขีดจำกัด เมื่อจัดการมัดแขนขาพรรคการเมืองทุกด้านแล้วก็ขยายผลไปถึงประชาชน เช่น สร้างความสับสนไม่ให้มีชื่อและโลโก้พรรคบนบัตรเลือกตั้ง

ถ้าเอาแบบนี้ไม่มีใครเดาได้ว่าจนถึงวันลงคะแนนจะมีอะไรออกมาอีก รู้ว่าอยากมาก แต่ไม่นึกว่าความอยากจะข้ามพ้นความละอายมาได้ขนาดนี้ เชื่อว่าไม่มีใครรับฟังคำอธิบายของ กกต. ว่ากังวลเรื่องการขนส่งบัตรไปต่างประเทศจึงต้องพิมพ์บัตรไม่มีโลโก้ เพราะยุคนี้พัฒนาการเรื่องการขนส่งไปไกลมาก และถ้าจะป้องกันการผิดพลาดต้องมีวิธีการที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่ไปทำให้การลงคะแนนของคนทั้งประเทศเสียหาย

เปลี่ยนนามสกุลเป็นชื่อพรรค

นายพานทองแท้ ชินวัตร สมาชิกพรรคเพื่อไทย โพสต์ว่า แบร่…แบร่…แบร่…กะอีแค่โลโก้พรรคเพื่อไทย ลุง..จะกลัวอะไรปานนั้นครับ?? คนไทยเขาจะไปเลือกผู้แทนราษฎรตามระบอบประชาธิปไตยกันนะครับคุณลุง… ไม่ได้จะไปซื้อหวยเถื่อนหน้าปากซอย จะได้ท่องเบอร์กันตั้งแต่ก่อนออกจากบ้าน..!!

เกิดใครจำเบอร์ไม่แม่น สะดุดฟุตปาธตกใจลืมเบอร์ เล่นไม่ใส่โลโก้ แล้วจะกาบัตรคนที่รัก-พรรคที่ชอบกันได้อย่างไร..?? ผมเตือนลุงแล้วนะครับ คนไทยขี้สงสารและมีจิตใจรักความเป็นธรรม พร้อมที่จะยืนอยู่ข้างผู้ที่โดนกลั่นแกล้ง โดนรังแกเสมอ

เขียนรัฐธรรมนูญจนพรรคใหญ่แตกกระจาย ไม่มีที่นั่งเหลือให้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จนผู้สมัครตบเท้าออกจากพรรคไปหาพรรคใหม่ลงกันวุ่นวาย แถมด้วยให้แต่ละเขตจับสลากเบอร์กันเอง เอาให้มันสับสนอลหม่านกันทั้ง 350 เขต กวนน้ำให้ขุ่นเสร็จเรียบร้อย ก็ทั้งดูด ทั้งซื้อ ทั้งขู่คดี ขู่ใบแดงใบส้ม แบ่งเขตเลือกตั้งตามคะแนนนิยมฝ่ายตน เอาเงินภาษีชาวบ้านมาถลุงแจกกันเป็นแสนๆล้าน แถมด้วยตั้งพรรคชื่อเดียวกับชื่อโครงการของรัฐมาแข่งกับพรรคการเมืองอื่นอีก

ประจานโลกปู้ยี่ปู้ยำการเลือกตั้ง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า วางแนวทางไม่ให้คนให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง เพราะรู้ว่าพรรคพลังประชารัฐที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯไม่เป็นที่นิยม และไม่มีทางแข่งกับพรรคการเมืองอื่นๆได้ในความเป็นพรรค โดยเฉพาะเมื่อโยงเข้ากับรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ คนจะรู้สึกว่าพรรคที่สืบทอดอำนาจ ถ้าคนเบื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เบื่อสภาพการบริหาร ทนไม่ไหวแล้วกับสภาพเศรษฐกิจ ก็จะไม่เลือกพรรคพลังประชารัฐ

“สุดท้ายมาแบไต๋แล้ว ไม่ให้คนคิดถึงพรรคการเมืองเลยด้วยซ้ำ ถึงให้มีการทำบัตรเลือกตั้งที่ไม่มีโลโก้และชื่อพรรค และคนก็จะสับสน คนเบอร์อะไร สำหรับคนที่เลือกพรรคที่เขาสนใจ เขาอาจให้ความสำคัญผู้สมัครน้อย เขาอยากเลือกตั้งเขาก็อยากดูชื่อพรรคอะไรก็อาจไม่มีให้ดู ทำให้เป็นเรื่องน่าคิดว่าจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้ผู้สมัครต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญและกฎหมายยังกำหนดให้พรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายในหลายๆเรื่องให้ กกต. พิจารณาเสียก่อน ซึ่งหมายความว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันให้ความสำคัญพรรคการเมือง และตามกฎหมาย กกต. ต้องให้ข้อมูลผู้สมัครและพรรคการเมืองที่ผู้สมัครนั้นสังกัดต่อผู้ออกเสียงลงคะแนน ต้องให้อย่างเพียงพอก่อนถึงวันเลือกตั้งและในวันเลือกตั้ง”

นายจาตุรนต์ยังกล่าวว่า การปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. ปู้ยี่ปู้ยำต่อการเลือกตั้งของประเทศนี้มาโดยตลอด สร้างความเอาเปรียบให้กับพรรคพวกของตนเอง ทำให้พรรคการเมืองต่างๆไม่สามารถทำอะไรตามกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองได้ รวมถึงประชาชนและสื่อมวลชนไม่มีสิทธิไม่มีเสียงในการที่จะแสดงความคิดเห็น หรือแม้แต่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนและนโยบาย มันก็เสียหายไปมากแล้ว ถ้าเรายอมให้ทำเรื่องนี้ได้อีกก็ไม่รู้จากนี้ไปหัวหน้า คสช. จะทำอะไรที่ไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมอีกมากมายแค่ไหน การเลือกตั้งในสายตาชาวโลกจะเป็นเรื่องที่ไม่มีความหมาย ไม่มีสาระ และประเทศไทยจะเป็นประเทศที่เพียงแต่อ้างได้ว่ามีการเลือกตั้ง แต่คนทั่วโลกรู้ว่าเป็นการเลือกตั้งหลอกๆ เพราะแค่เนื้อหาก็แปลกประหลาดอยู่แล้วที่คณะรัฐประหารร่างรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งที่จะทำให้คณะรัฐประหารปกครองประเทศต่อไป

ดูได้จากการมีเสียง 250 เสียง ส.ว. อยู่ในมือ และระดมนักการเมือง บีบนักการเมืองบางพรรคไปร่วม ก็มีโอกาสที่จะมีสิทธิได้เสียงครึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน แต่จะได้เสียงถึงครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรก็ยากหรือยากมาก โอกาสที่จะเกิดเดดล็อกจึงมีสูง หากประชาชนไม่เทคะแนนให้ฝ่ายประชาธิปไตยอย่างจริงจัง อย่างท่วมท้น หัวหน้า คสช. จะเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะมีอำนาจอยู่ จะทำอะไรกับการเลือกตั้งให้โมฆะ หรือยืดเยื้อไม่รู้จักจบ เกิดใบเหลืองใบแดงมากๆเพื่อให้เปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งก็อาจเกิดขึ้นได้ คือสามารถมีวิธีการสารพัดให้สืบทอดอำนาจสำเร็จ จึงต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเป็นธรรมมากที่สุด ป้องกันการโกงการเอาเปรียบกันอย่างที่ทำอยู่ หากสุดท้ายประชาชนจะตัดสินใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ปกครองประเทศก็จะเดือดร้อนไปอีก 8-10 ปีหรือไม่ ถ้าไม่ยอมก็ต้องไม่เห็นแก่อะไรทั้งสิ้น คือต้องไม่เทคะแนนที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

สืบทอดอำนาจทุกวิถีทาง

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า รัฐบาลและ คสช. พยายามออกแบบกติกาการเลือกตั้งให้เอื้อประโยชน์กับการสืบทอดอำนาจทุกวิถีทาง การออกแบบบัตรเลือกตั้งไม่มีชื่อพรรค ไม่มีโลโก้ ก็ยิ่งทำให้ประชาชนสับสน จนทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ตรงตามเจตจำนงของประชาชน ไม่นับเรื่องหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. แต่ละพรรคไม่ใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ แค่ในจังหวัดเดียวกันแต่คนละเขตเลือกตั้งก็คนละหมายเลขแล้ว ยิ่งไม่มีชื่อพรรค ไม่มีโลโก้พรรคอีก ยิ่งสร้างความยากลำบากในการหาเสียงและการลงคะแนนแน่นอน ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์มีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ถ้าแม้แต่บนบัตรเลือกตั้งยังพยายามทำให้เกิดความยุ่งยากสับสน แล้วการเลือกตั้งที่จะมาถึงจะโปร่งใส เป็นธรรมได้อย่างไร

ตลกมากแต่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า บัตรเลือกตั้งไม่มีโลโก้หรือสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองอย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ เพราะสิทธิในการเลือกตั้งเป็นสิทธิพลเมือง ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน ไม่สามารถติดป้ายไวนิลขนาดใหญ่ ติดได้แค่ขนาดเอ 3 เฉพาะพื้นที่ที่ กกต. กำหนด มีพื้นที่ประชาสัมพันธ์น้อยมาก แถมเบอร์ผู้สมัครยังเป็นแบบต่างเขตต่างเบอร์ แต่ละจังหวัดผู้สมัครพรรคเดียวกันอาจได้คนละเบอร์นั้นยากต่อการจดจำทั้งเบอร์ โลโก้พรรค ชื่อนามสกุลผู้สมัครต้องชัดเจน

เเนวคิดให้มีแต่เลขของผู้สมัครอย่างเดียวจึงเป็นเรื่องที่ตลกมาก ไม่ควรจะเกิดขึ้นในการเมืองไทยในปี 2562 กกต. จะอ้างว่าพิมพ์ไม่ทันคงไม่ได้ รู้ล่วงหน้าแล้วตั้งเเต่ต้นตอนกฎหมายประกาศ หากมีการพิมพ์บัตรเลือกตั้งแบบโหลจะเกิดการทุจริตการเลือกตั้งที่ร้ายแรง และเกิดการไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง จะเกิดโกลาหลในบ้านเมือง ขอวิงวอนทุกฝ่ายตระหนักเพื่อการจดจำของพี่น้องประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศขณะเข้าคูหา หากชาวบ้านตั้งใจจะเลือกพรรคหนึ่งแต่ไปกาบัตรโดยความสำคัญผิด เข้าใจผิด หรือจำผิด จะน่าเสียดาย

กกต. หมดความน่าเชื่อถือ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การไม่ใส่โลโก้พรรคและชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้งเสมือนจงใจปกปิดข้อมูลที่ผู้ไปลงคะแนนควรรู้ก่อนลงคะแนน และเสมือนจงใจปิดตาผู้เข้าคูหาไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ให้รู้ว่าผู้สมัครหมายเลขนั้นสังกัดพรรคการเมืองไหน เหมือนกลัวว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้คะแนน เพราะคนจำนวนมากจำชื่อพรรคการเมืองและจำโลโก้ของแต่ละพรรคการเมืองได้มากกว่าหมายเลขชั่วคราวของผู้สมัคร หากมองลึกลงไปทำให้เห็นเจตนาทำลายความสำคัญของพรรคการเมือง ทั้งที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองพรรคการเมืองว่าเป็นกลไกสำคัญในระบอบประชาธิปไตย และให้การรับรองทุกคะแนนว่าเป็นคะแนนของพรรคการเมืองที่จะต้องนำมาคำนวณจำนวน ส.ส. รวมของแต่ละพรรคที่ได้รับทั้งหมดในการเลือกตั้ง

การมุ่งหวังตัดคะแนนของพรรคการเมืองต่างๆเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองบางพรรคที่ถืออำนาจรัฐเป็นการเอาเปรียบตั้งแต่กติกาที่ไม่เป็นธรรม กำหนดให้ผู้สมัครพรรคเดียวกันทั่วประเทศได้หมายเลขต่างกัน แทนที่จะเป็นหมายเลขเดียวกันเหมือนทุกครั้ง เจตนาต้องการทำลายฐานคะแนนของพรรคการเมือง รวมถึงการเปลี่ยนบทบาทจากกรรมการคุมเกมมาเป็นผู้เล่นเสียเอง จนถึงการหาเสียงฝ่ายเดียวมาโดยลำดับ หาก กกต. ยอมตามก็จะหมดความน่าเชื่อถือในฐานะองค์กรอิสระ และอาจนำไปสู่การเลือกตั้งสกปรก

นายธนา ชีรวินิจ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า หากบัตรเลือกตั้งมีแต่หมายเลขและช่องกาบัตรจะถือเป็นบัตรเดียวในโลก และไม่เคยมีในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทั้งที่ กกต. มีหน้าที่ต้องทำการเลือกตั้งให้ง่ายและสร้างความสับสนน้อยที่สุด มีผู้สมัครเกือบร้อยพรรคการเมือง ป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆยังถูกจำกัดตามข้อกฎหมาย และวันเลือกตั้งจะไม่มีแม้แต่หน้าพรรคและชื่อผู้สมัคร บัตรเลือกตั้งก็ใช้ใบเดียวอีก แต่จะเอาคะแนนรวมทั้งประเทศไปคำนวณบัญชีรายชื่อ จึงเป็นประเด็นท้าทายกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างมาก เพราะคนที่สมัครบัญชีรายชื่อแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้เลย

“อนุทิน”เสนอพรรคเดียวเบอร์เดียว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า บัตรเลือกตั้งไม่มีโลโก้และชื่อพรรคทำให้เกิดความสับสน และยังถูกครหาว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบหรือไม่ ส่วนการที่มีพรรคการเมืองให้แก้ไขมาตรา 48 ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อกำหนดให้แต่ละพรรคได้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ เพราะเห็นว่าแต่ละพรรคควรใช้เบอร์เดียวจะช่วยประหยัดเรื่องค่าใช้จ่าย และที่ผ่านมาก็ทำมาโดยตลอด แต่ไม่เห็นด้วยที่จะนำเรื่องนี้ไปฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะอาจกระทบกับการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์

ถามสปิริตทางการเมือง 4 รัฐมนตรี

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอการตัดชื่อและโลโก้พรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้งจะทำให้พรรคพลังประชารัฐได้เปรียบในการเลือกตั้งว่า ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ซึ่งพรรคพลังประชารัฐก็ติดตามเรื่องนี้อยู่ แต่เชื่อมั่นใน กกต. ว่าจะดำเนินการได้อย่างเป็นธรรม ไม่ว่าผลสรุปจะออกมาอย่างไรก็ต้องเกิดความเป็นธรรมกับทุกพรรคการเมือง เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่เป็นธรรม ไม่ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐนั้นมีความพร้อมอยู่แล้วไม่ว่ารูปแบบจะออกมาหน้าตาอย่างไร

ขณะที่กระแสความชอบธรรมและถามหาสปิริตทางการเมืองต่อ 4 รัฐมนตรีที่สังกัดพรรคพลังประชารัฐให้ลาออกตามที่ประกาศไว้ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆคือ นายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค

นายอุตตมกล่าว (11 ธันวาคม) ว่า วันนี้อย่าเพิ่งพูด เพราะยังเร็วไป ตนไม่ได้เปลี่ยนใจ พูดไว้อย่างไรก็ยังเหมือนเดิม ซึ่งภารกิจที่ตนกำลังทำให้ประเทศมีความคืบหน้าไปได้พอสมควร เช่น อีอีซีภาคตะวันออก เป็นต้น เรามีเวลาทำงานตามโรดแม็พอยู่แล้ว เมื่อเราทราบโรดแม็พและภารกิจแล้วเราต้องทำให้ทันตามเวลา และเมื่อถึงจุดที่เหมาะสมเชื่อได้ว่าเรารู้ตัวว่าเมื่อไรควรออก และสังคมจะเห็นเองว่าเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ หากตนลาออกในตอนนี้จะสร้างความเสียหาย

ส่วนที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสานพลังประชารัฐ สนับสนุนให้ 4 รัฐมนตรียังคงอยู่ในตำแหน่งนั้น ก็เป็นความเห็นของนายสุริยะ ซึ่งตนไม่เปลี่ยนใจ ยืนยันว่าจะทำภารกิจและงานที่รับผิดชอบให้สำเร็จ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ในฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่า ทั้ง 4 คนจะออกจากตำแหน่งเมื่อพร้อมและถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่วนที่มองว่าได้เปรียบพรรคอื่นนั้น ตอนนี้เราเหมือนกับแม่ทัพที่ลงไปสู้ในสงครามได้เฉพาะในเวลานอกราชการเท่านั้น ขณะที่อีกข้างแม่ทัพอยู่สู้กันเต็มเวลา

“ผมเก็บงานมาอย่างต่อเนื่องและเก็บไปได้เกือบหมดแล้ว ตอนนี้งานที่รับผิดชอบก็หายไปเกินครึ่งและเกือบจะหมดแล้ว จะได้ไม่มีอะไรที่ค้างคาใจ แค่รอจังหวะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งตรงนี้ขอบอกว่ามันไม่ได้ง่าย เพราะมีอุปสรรคเยอะ ส่วนตัวผมก็พร้อมอยู่แล้ว จะให้ออกเมื่อไรก็เมื่อนั้น ซึ่งต้องปรึกษาอีกทั้ง 3 ท่านด้วย”

“ประยุทธ์” อุ้ม 4 รัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงข่าว 4 รัฐมนตรีที่สังกัดพรรคพลังประชารัฐจะไม่ลาออก ทั้งที่เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะลาออกเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมว่า กฎหมายว่าไว้อย่างไร ถ้าไม่ได้กำหนด ไม่ได้บังคับก็จบ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และเป็นเรื่องของ 4 รัฐมนตรี

ส่วนพรรคการเมืองจะเสนอชื่อตนเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ล่าสุดก็ยังไม่มีใครมาขอ แล้วเมื่อไรควรจะขอ เขาก็มีวันเวลากำหนดอยู่ว่าจะเสนอชื่อนายกฯเมื่อไร เขาก็คงมาขอตอนนั้นมั้ง แล้วจะขอตนหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เลย แล้วตนจะตอบรับหรือไม่ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน

เมื่อถามย้ำว่าถ้าไม่มาขอจะทำอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “อ้าว ก็เหมือนลูกสาว ถ้าเขาไม่มาขอแล้วจะแต่งงานได้ไหมเล่า ถามประหลาด ถามคำถามอะไรที่มันง่ายๆและก็มีคำตอบอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่อยากจะได้ยินจากปากใช่ไหมพวกเธอ”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีกฎหมายอะไรกำหนดให้ 4 รัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐต้องลาออก แต่ต้องระวังตัว หากถามข้อกฎหมายว่าไม่จำเป็นต้องลาออกจนกว่าจะมีรัฐบาลใช่หรือไม่ ก็บอกว่าใช่ แต่ในความเป็นจริงมนุษย์เราไม่ได้อยู่ได้ด้วยข้อกฎหมายอย่างเดียว แต่อยู่ด้วยอะไรอีกหลายอย่าง ยังมีเรื่องสังคม ความเหมาะสมที่ต้องหาทางเอาตัวรอดกันเอง ถ้าถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ไม่ผิด แต่เหมาะสมหรือไม่ ก็แล้วแต่ เพราะเมื่อจับเรื่องนี้มาพูดแล้วก็ต้องดูวัน ดูเวลา หรือที่เรียกว่ากาลเทศะ

ไม่มีทั้งสปิริตและจริยธรรม

ประเด็นสปิริตทางการเมืองไม่ได้มีเฉพาะ 4 รัฐมนตรี แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์มีการถามมาตลอด ยิ่งพรรคพลังประชารัฐประกาศชัดเจนว่าจะทาบทามให้อยู่ในบัญชีรายชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยิ่งมีคำถามว่าการอุ้ม 4 รัฐมนตรีเพื่อเป็นกันชนและลดแรงเสียดทานการโจมตี พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ เพราะหลังจากประกาศบัญชีเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีเดือนมกราคม 2562 ก็ต้องมีกระแสเรียกร้องให้ทั้ง 4 รัฐมนตรีและ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกอย่างหนักแน่นอน แม้กฎหมายจะไม่บังคับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะส่งผลต่อคะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐไม่มากก็น้อย

วงการเมืองเชื่อว่า 4 รัฐมนตรีจะลาออก แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ลาออกแน่นอน ไม่ต้องถามถึงเรื่องสปิริตและจริยธรรมทางการเมือง เหมือนวาทกรรมประกาศ “ปราบโกง” ซึ่งเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พล.อ.ประยุทธ์ร่วมงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด “Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” และ “4.0 จุดจบคอร์รัปชัน” โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมทั้งผู้แทนสหประชาชาติ ทูตานุทูต ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมนับพันคน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องการรณรงค์ให้ประชาคมโลกไม่ทนต่อการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ สังคมไทยมีปัญหาคอร์รัปชันสะสมมายาวนาน กระทบต่อภาพลักษณ์ ทั้งจากการแต่งตั้งโยกย้าย การจัดซื้อจัดจ้าง การใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย มีหลายคนถูกลงโทษไปแล้ว การต่อต้านการทุจริตถือเป็นวาระแห่งชาติ ต้องสร้างวัฒนธรรมชิงชังต่อต้านการทุจริต

.44 แก้ไม่ต้องยื่นทรัพย์สิน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน แต่วันเดียวกันกลับมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งแก้ประกาศให้ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของ ป.ป.ช. เปิดช่องให้แก้ไข “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” ในบางองค์กรไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประกาศ ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 102 กำหนดให้กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานรัฐทุกแห่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยนิยาม “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” คือกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานอื่นของรัฐทุกแห่งต้องยื่นทั้งหมด ส่งผลให้กรรมการและผู้บริหารในมหาวิทยาลัยหลายแห่งลาออก แม้แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงเอง

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่แก้ไขฉบับนี้ได้ยกเลิกบทนิยาม “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” เดิม โดยกำหนดเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สำหรับข้าราชการพลเรือน ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ สำหรับข้าราชการทหาร และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และให้หมายความรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัด กทม. กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่รวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่กฎหมายกำหนด

การแก้นิยามใหม่ใช้เทคนิคกฎหมายเพียงเพื่อพวกตนไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งที่เข้ามาทำงานด้วยการเป็นคนดีเหนือใครแต่ไม่ยอมถูกตรวจสอบ จึงถูกตั้งคำถามว่าเลือกปฏิบัติหรือไม่ ยิ่งเมื่อนึกถึงคำขวัญที่ชนะการประกวด “ปราบโกง” ของ ป.ป.ช. ทั้งชนะเลิศและรองชนะเลิศที่ว่า “ทุจริตคิดโกงชาติ จะพินาศทั้งราษฎร์รัฐ” และ “เชิดชูคนซื่อสัตย์ ร่วมกำจัดคนโกงกิน” ก็ยิ่งสะท้อนภาพที่เด่นชัดว่าสังคมที่อวดอ้างตนว่าเป็นคนดีที่แท้ก็เป็นเพียงคนดีศรีธนญชัยเท่านั้น

สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และเป็นกลาง

เมื่อเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันยังเลือกปฏิบัติได้ จึงไม่ต้องถามหาเรื่องสปิริตและจริยธรรมทางการเมือง ขณะที่ กกต. ก็ถูกตั้งคำถามจริยธรรมขององค์กรที่ว่า “สุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม” ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ว่าทั้งอัปลักษณ์และอัปยศต่างๆนานา

ขนาดคนที่เคยเป็นพวกเดียวกันเองและสนับสนุนรัฐประหารอย่าง ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานรัฐสภาและอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ยังออกมาเตือนสังคมไทยผ่านเฟซบุ๊ค Arthit Ourairat ว่า “เชื่อเถอะ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นภายใต้ระบบ กฎเกณฑ์กติกา และบรรยากาศที่รัฐบาลเผด็จการกำหนดขึ้นมาเพื่อให้ตนเองลงสมัครชนะการเลือกตั้งเช่นนี้ อีกทั้งองค์กรอิสระทั้งหลาย รวมทั้ง กกต. ไม่ได้มีความเป็นกลางและอิสระจริง ไม่มีทางที่จะเป็นประชาธิปไตยและได้รับการยอมรับจากประชาชนหรอก จะยิ่งนำประเทศชาติบ้านเมืองไปสู่ความขัดแย้ง จลาจลวุ่นวายยิ่งกว่าเดิม และจะเกิดการปฏิวัติรัฐประหารอีก ทำไมถึงมองไม่เห็นกันเลย หรือไม่เคยมีประสบการณ์กันมาก่อน อย่าดันทุรังกันนักเลย”

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงถูกจับตาอย่างมากว่าจะมีการใช้กลไกและอำนาจรัฐทุกรูปแบบเพื่อสืบทอดอำนาจ “ระบอบพิสดาร” และเชื่อว่าจะเกิดการโกงกันอย่างหน้าด้านๆโดยไม่ต้องปิดหน้าปิดตากันอีก

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆว่าส่อเจตนาไม่บริสุทธิ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เรียกได้ว่าแม่น้ำทุกสายแทบจะไม่มีความสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรมเอาเสียเลย

จะเหลือก็แค่ความเป็นกลางอย่างเดียว แต่ก็คงไม่น่าใช่ความเป็นกลางแบบทั่วไป ความเป็นกลางที่เหลือน่าจะเป็นกลางแบบสัญลักษณ์นิ้วกลางเสียมากกว่า!!??

 


You must be logged in to post a comment Login