วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

“ไอโอซี” ชี้ อี-สปอร์ต น่าสนใจ แต่ยังต้องถกอีกยาว

On December 11, 2018

 

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์ชาวไทย เผยผลการประชุมด้านผู้นำกีฬาโลก เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการโอลิมปิก ระบุ ไอโอซี ไม่ละเลยต่อการเติบโตของอีสปอร์ตในกลุ่มเยาวชน ชี้บางเกมมีการขยับตัวเหมือนเล่นกีฬา แต่ไม่ใช่ทุกเกมที่เป็นแบบนั้น ดั้งนั้นการให้คำจำกัดความของอีสปอร์ต/อีเกมส์ (esports/egames) ยังต้องพูดคุยและทำการศึกษากันอีกมาก ที่ประชุมตกลงกันว่า กระบวนการโอลิมปิก ควรจะมีปฏิสัมพันธ์กับวงการนี้ อย่างต่อเนื่อง
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือไอโอซีเมมเบอร์ชาวไทย เปิดเผยว่า การประชุมผู้นำด้านกีฬาโลก เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการโอลิมปิก ครั้งที่ 7 ที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ โธมัส บาค ประธานไอโอซี ได้หารือร่วมกับผู้แทนระดับบริหาร ที่อยู่ในกระบวนการโอลิมปิก ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจหลายเรื่อง
เรื่องแรก ในส่วนของสิทธิของนักกีฬา ซึ่งผ่านความเห็นชอบมาจากการประชุมใหญ่ไอโอซี ที่ประเทศอาร์เจนตินา มาแล้ว ตัวแทนในที่ประชุมตกลงกันว่า องค์กรของตนจะนำไปใช้ และจะสนับสนุนให้ผู้เกี่ยวข้อง นำไปใช้เช่นกัน
ส่วนความคืบหน้า ในการตั้งระบบป้องกันการใช้สารต้องห้ามที่เป็นอิสระจากองค์กรกีฬาและประเทศต่าง ๆ และความคืบหน้าของหน่วยงานอิสระตรวจสารต้องห้าม (International Testing Agency-ITA) ตอนนี้มี 38 สหพันธ์กีฬานานาชาติ ที่เริ่มใช้บริการตรวจหาการใช้สารกระตุ้นกับหน่วยงานอิสระตรวจสารต้องห้าม ซึ่งการใช้หน่วยงานดังกล่าว มีความน่าเชื่อถือเพราะจะไม่มีเรื่องของผลประโยชน์ใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
และที่ประชุมระบุว่า การพิพากษาและการลงโทษที่ส่งไปที่แผนกต่อต้านสารกระตุ้น (Anti-doping division) ของศาลอนุญาโตตุลาการทางการกีฬา (CAS ADD) เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจ และทำให้กระบวนการพิพากษาเสร็จเร็วขึ้นด้วย สหพันธ์กีฬานานาชาติใด ที่ต้องการให้เรื่องที่เกิดขึ้นต่าง ๆ พิจารณาได้เร็วขึ้น ก็สามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานอิสระตรวจสารต้องห้าม และศาลอนุญาโตตุลาการทางการกีฬา ได้ นอกจากนี้ เคร็ก รีดี้ประธานองค์กรต่อต้านสารต้องห้ามโลก (WADA) ยังได้มาอัพเดทเรื่องสารต้องห้ามต่าง ๆ ให้ที่ประชุมฟังด้วย
ขณะที่ การบริหารด้วยธรรมาภิบาล สหพันธ์สมาคมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน (ASOIF) และ สหพันธ์สมาคมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว (AIOWF) ได้รายงานเรื่องการปกครองโดยใช้ธรรมาภิบาลต่อที่ประชุม และสหพันธ์สมาคมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ให้สหพันธ์กีฬานานาชาติ ทำการประเมินตนเองด้านความเป็นอิสระขององค์กร ที่ถามครอบคลุมเกณฑ์การบริหาร 50 เกณฑ์ ส่วนสมัชชาสหพันธ์กีฬานานาชาติ (GAISF) ก็ทำโครงการการปกครองโดยธรรมาภิบาลสำหรับองค์กรกีฬาที่ยังไม่ได้รับการรับรองให้เป็นโอลิมปิกสปอร์ต ทางด้านไอโอซีได้ผนวกการปกครองโดยใช้ธรรมาภิบาลเข้าไปในแผนยุทธศาสตร์ Agenda 2020 และเริ่มนำนโยบายไปใช้ในองค์กรแล้ว และไอโอซีจะสนับสนุนคณะกรรมการโอลิมปิกแต่ละชาติ (NOC) ให้ทำตามในเรื่องนี้ด้วย

ในด้านการจัดการแข่งขันกีฬา ที่ประชุมได้หารือเรื่องการจัดการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ และปฏิทินการแข่งขันของแต่ละสหพันธ์กีฬานานาชาติ โดยมุ่งเน้นว่าตารางการแข่งขันต้องไม่กระทบต่อสุขภาพของนักกีฬา และนักกีฬาทุกคนควรได้รับสิทธิในการเข้าร่วมการแข่งขันโดยไม่โดนดูถูกเหยียดหยามในตัวตนที่เขาเป็นไม่ว่าจะเรื่องเชื้อชาติ ประเทศที่อยู่อาศัย ความเชื่อ หรือเพศสภาพ เป็นต้น
ปิดท้ายที่กระบวนการโอลิมปิกและอีสปอร์ต โดยระหว่างกีฬามาตรฐาน และอีสปอร์ตนั้น ตอนนี้กำลังแข่งขันกันอยู่ว่าในเวลาว่างเยาวชนจะเลือกทำสิ่งใด ดั้งนั้นเราจึงไม่ควรละเลยการเติบโตของอีสปอร์ตในกลุ่มเยาวชน จริงที่ว่าบางเกมมีการขยับตัวเหมือนเล่นกีฬา แต่ไม่ใช่ทุกเกมที่เป็นแบบนั้น ดั้งนั้นการให้คำจำกัดความของอีสปอร์ต/อีเกมส์(esports/egames) ยังต้องพูดคุยและทำการศึกษากันอีกมาก ที่ประชุมตกลงกันว่ากระบวนการโอลิมปิก ควรจะมีปฏิสัมพันธ์กับวงการนี้เพื่อดูทิศทางในอนาคตว่าจะสามารถร่วมมือกันได้อย่างไร แต่ในขณะนี้การหารือว่า อีสปอร์ต/อีเกมส์ ควรบรรจุในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกหรือไม่ยังเร็วเกินไปเพราะยังมีความไม่แน่นอนในอีกหลายเรื่องที่ยังต้องพูดคุยและศึกษาเพื่อหาคำตอบต่อไป


You must be logged in to post a comment Login