วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567

การเมืองหลังคิกออฟ

On December 11, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 11 ธ.ค. 61)

คิกออฟเขี่ยลูกเริ่มเล่นอย่างเป็นทางการสำหรับการเมืองไทย จากนี้ไปทุกพรรคทุกค่ายเล่นหนักจัดใหญ่แน่นอน สมรภูมิเดือดที่จะมีการแข่งขันกันรุนแรงคือที่ภาคเหนือกับภาคอีสานที่ม้า 3 ตัวต้องแข่งกันแย่งคะแนนเสียงจากประชาชน ขณะที่ภาคใต้แชมป์เก่ายังลอยลำเป็นต่อคู่แข่งอยู่มาก ภาคเหนือกับอีสานจึงเป็นสนามชี้วัดว่าใครจะกำชัยในศึกครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ระหว่างการแข่งขันจะใส่กันเต็มที่ตามสโลแกนหมดเวลาเกรงใจ แต่หลังประกาศผลทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อ “พล.อ.ประวิตร” แบะท่าพร้อมพูดคุยกับคนที่ประกาศเลิกเกรงใจแล้ว

การประชุมร่วมกันระหว่างพรรคการเมืองกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และแม่น้ำสายอำนาจ 5 สาย นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ผ่านมาเปรียบเหมือนการคิกออฟให้สัญญาณออกสตาร์ตสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

แม้การประชุมครั้งนี้จะดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองข้อ 8 ที่ระบุให้ คสช. ประชุมส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง อันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง พร้อมร่วมกันจัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมืองนำไปสู่การเลือกตั้ง และเพื่อหารือแนวทางการปลดล็อกทางการเมือง โดยให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมรวมทั้งพรรคการเมืองต่างๆได้เสนอความคิดเห็น

รูปแบบการประชุมดูเหมือนว่าเป็นการพูดข้างเดียว และประชุมเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งที่ออกมาก่อนหน้า เพราะทุกอย่างได้ถูกเซตไว้หมดแล้ว ถ้าเป็นภาษาราชการเรียกว่าเป็น “วาระเพื่อทราบ”

ทั้งนี้ แม้พรรคใหญ่ที่มีบทบาทค่อนข้างมากในการเมืองไทยไม่ได้เข้าร่วมประชุม แต่ไม่มีผลอะไร หลังจากนี้อาจมีการวิพากษ์วิจารณ์บ้าง แต่ถือว่าเล่นไปตามบทบาทหน้าที่ คงไม่มีอะไรเกินเลยจนก่อให้เกิดผลกระทบ เพราะทุกฝ่ายอยากให้มีการเลือกตั้งด้วยกันทั้งสิ้น

โดยเฉพาะนักการเมืองที่ถูกยึดสนามไปนานกว่า 4 ปี ต้องกลืนเลือดลงสนามพร้อมแข่งทุกกติกา

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือ การเคลื่อนไหวอย่างเต็มกำลังของบรรดาพรรคการเมืองที่ต้องแข่งกันชิงเสียงประชาชน

การเลือกตั้งครั้งนี้ดูเหมือนว่ามีม้าแค่ 3 ตัวที่แข่งกันเข้าเส้นชัยคือ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และผู้ท้าชิงน้องใหม่แต่หน้าเก่าคือพรรคพลังประชารัฐ

ถ้าว่ากันตามข้อเท็จจริงต้องบอกว่าสูสี ผลแพ้ชนะอาจมีแต้มห่างกันไม่กี่แต้ม ไม่มีพรรคไหนทิ้งหมัดเข้ามุมน็อกคู่แข่งได้คาเวทีเลือกตั้งแน่นอน ซึ่งดูตามรูปเกมแล้วต้องบอกว่าพรรคเพื่อไทยน่าเป็นห่วงมากที่สุด

จะใช้ยุทธการแตกแบงก์พัน แต่พรรคในเครือข่ายเดียวกันไม่ได้ผู้เล่นจากพรรคการเมืองอื่นเข้ามาเสริม มีแต่การย้ายข้ามกันไปมาระหว่างพวกเดียวกันเอง แถมยังเสียผู้เล่นหลักไปให้พรรคคู่แข่งหลายคน ทำให้จำนวน ส.ส. ที่จะได้น่าจะลดลงจากเดิมค่อนข้างมาก

ความหวังเดียวที่ยังเหลือคือต้องลุ้นว่าพรรคในเครือจะเก็บแต้มมาแปรเป็นจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้กี่มากน้อย ถ้าทำไม่ได้ตามเป้าก็เตรียมเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาได้เลย

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เสียผู้เล่นหลักออกไปน้อย แถมฐานคะแนนในภาคใต้ยังแข็งแกร่งเหมือนเดิม แม้พรรครวมพลังประชาชาติไทยของกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ จะมาแชร์แต้มไปบ้างก็คงไม่มาก ขนาดแกนนำพรรคพลังประชารัฐอย่างนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญนี้เขียนมาเพื่อพวกเรายังหาช่องเจาะเข้ายึดพื้นที่ภาคใต้ไม่ได้

สมรภูมิที่ดุเดือดจึงเป็นพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน โดยเฉพาะภาคเหนือกับภาคอีสานนั้นเลือกตั้งครั้งนี้สู้กันมันแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ในสนามเลือกตั้งแม้จะสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ในจำนวนม้า 3 ตัวที่แข่งกัน ดูเหมือนว่าจะมี 2 ตัวที่พร้อมจะเป็นพันธมิตรกันหลังวิ่งผ่านเส้นชัย เมื่อพี่ใหญ่อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศพร้อมพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่ามีการต่อสายทาบทามให้ช่วยหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯต่ออีกสมัย แต่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างออกมาปฏิเสธ

ทั้งนี้ เป็นธรรมชาติของการเมืองการต่อรองที่ยังไม่รู้ว่าแต่ละฝ่ายมี ส.ส. อยู่เท่าไร ถือว่ายังไม่ถึงเวลา ไม่มีใครเขาทำกัน เพราะยังไม่รู้กำลังในการต่อรอง แต่หลังเลือกตั้งท่าทีของแต่ละฝ่ายจะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการต่อรองร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลที่ครั้งนี้เดือดแน่นอน เพราะประเพณีการเมืองที่ให้สิทธิ์พรรคชนะเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลก่อนถูกลบทิ้งไปแล้ว


You must be logged in to post a comment Login