วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

กลืนเลือดลงแข่ง

On November 30, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 30 พ.ย.2561)

การแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 เขตทั่วประเทศถูกประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับมีคำถามตามมามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงไปถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ขยายเวลาการแบ่งเขตของ กกต. และคุ้มครองการทำหน้าที่ของ กกต. ให้ถือเป็นที่สุด ไม่มีอำนาจใดมาล้มล้างได้แม้แต่ศาลปกครอง เมื่อเป็นอย่างนี้ทำให้คนที่ได้ประโยชน์จากการแบ่งเขตเลือกตั้งต่างดีใจ ขณะที่คนเสียประโยชน์ถูกเอารัดเอาเปรียบไม่มีทางเลือกอื่นต้องกลืนเลือดยอมลงแข่ง

คลอดออกมาอย่างเป็นทางการเรียบร้อยสำหรับเขตเลือกตั้งทั้ง 350 เขตทั่วประเทศ และแน่นอนว่าตามมาด้วยเสียงยี้ของบรรดาพรรคการเมืองที่เห็นว่าการแบ่งเขตที่ออกมาทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมือง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคไทยรักษาชาติ ตั้งข้อสังเกตว่า ผลการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ออกมามีความน่าอัศจรรย์ในหลายพื้นที่ ไม่ตรงตามรูปแบบที่เปิดรับฟังความเห็นมาก่อนหน้านี้ โดยชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับคำสั่งตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. ที่ขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้งให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคุ้มครองการทำหน้าที่ของ กกต.

“คำสั่ง คสช. เรื่องการแบ่งเขต ต้องการให้คุณให้โทษกับผู้สมัคร โดยเฉพาะผู้ที่ร้องผ่านรัฐบาลและ คสช. ย่อมได้ประโยชน์ ใครเป็นคู่แข่งก็ต้องเสียเปรียบ แต่จะขยับขยายก็ไม่ได้แล้ว การเอาเปรียบกันนี้ เมื่อ กกต. ทำให้ แม้ไม่ชอบธรรมแต่ก็ไม่ผิดกฎหมายใดๆ เพราะคำสั่ง คสช. บอกว่าทำอะไรก็ชอบด้วยกฎหมายไปหมด”

ไม่ต่างจากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ที่โดดลงสนามการเมืองสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ให้เห็นความรีบร้อนของ กกต. เพราะหลังจากหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งขยายเวลาแบ่งเขตไปถึงก่อนวันที่ 11 ธันวาคม กกต. ก็แจ้งว่าให้ผู้ประสงค์จะร้องเรียนเรื่องการแบ่งเขตไม่เป็นธรรมได้ตั้งแต่วันที่ 19-25 พฤศจิกายน หลังปิดรับเรื่องร้องเรียน 2 วัน คือวันที่ 27 พฤศจิกายน กกต. ก็แบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จอย่างรวดเร็ว

นายสมชัยเรียกร้องให้ กกต. ชี้แจงกระบวนการทำงานหลังปิดรับเรื่องร้องเรียนในวันที่ 25 พฤศจิกายน ว่าใช้เวลาใดในการพิจารณาเรื่องร้องเรียน มีกระบวนการพิจารณากลั่นกรองอย่างไรก่อนส่งผลการแบ่งเขตให้คณะรัฐมนตรีในวันที่ 27 พฤศจิกายน

“เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม และเพื่อเป็นการยืนยันว่า กกต. ไม่ได้อยู่ใต้อิทธิพลของรัฐบาลและ คสช. ขอเรียกร้องให้เปิดเผยเฉพาะคำร้องที่ผ่าน ครม. และ คสช. ว่ามีจำนวนกี่เรื่อง ยื่นโดยใคร ยื่นมาเมื่อใด มีสาระอย่างไร เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบกับผลการแบ่งเขตที่ประกาศโดย กกต.”

ข้อเรียกร้องของนายสมชัยถือว่ามีความแหลมคม เพราะหากเปิดเผยออกมาก็สามารถเอาไปเปรียบเทียบกับผลการแบ่งเขตที่ประกาศอย่างเป็นทางการได้ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างจากคำร้องที่มีคนยื่นผ่านรัฐบาลและ คสช. หรือไม่ ถ้าเหมือนก็น่าสนใจว่าใครเป็นคนยื่นเรื่องที่ว่านั้น เป็นคนในพรรคการเมืองที่ประกาศหนุนหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

คำถามที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ การร้องคัดค้านแบ่งเขตเลือกตั้งทำไมไม่ร้องโดยตรงต่อ กกต. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจแบ่งเขตเลือกตั้ง ทำไมต้องร้องผ่านรัฐบาลและ คสช.

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกาศอย่างเป็นทางการจะมีความชอบตามกฎระเบียบหรือไม่ ให้คุณให้โทษกับพรรคการเมืองใดหรือไม่ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว

แม้ตามกลไกจะมีศาลปกครองไว้ถ่วงดุลการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง แต่กรณีนี้ไม่สามารถยื่นฟ้องได้ เมื่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกตามอำนาจพิเศษมาตรา 44 ให้ความคุ้มครองการทำหน้าที่ของ กกต. ดังที่ปรากฏในคำสั่งตอนหนึ่งว่า

“ในกรณีที่มีข้อร้องเรียนของประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆให้ได้ข้อยุติ โดยหากเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือมติใดๆ ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกไว้ ก็ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยชอบด้วยกฎหมาย”

คนได้ประโยชน์จากการแบ่งเขตเลือกตั้งก็ดีใจ ส่วนคนที่เสียประโยชน์ถูกเอารัดเอาเปรียบก็ต้องลงแข่งทั้งที่เสียเปรียบ ไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากต้อง “กลืนเลือด”


You must be logged in to post a comment Login