วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ได้เวลา “ซานต้า เขียว” (ไม่ต้องยึดมารยาทเป๊ะ!)

On November 29, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก

ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน- 7 ธันวาคม 2561)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอบผู้สื่อข่าวถึงอนาคตทางการเมือง ซึ่งวันที่ 26 พฤศจิกายนเป็นวันสุดท้ายการย้ายพรรคการเมืองว่า ได้ถามฝ่ายกฎหมายและนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแล้ว ยืนยันว่า “ไม่จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดทั้งนั้น” และวันนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดมาทาบทาม ถ้าใครมาทาบทามก็จะตัดสินใจ ถ้าไม่มีใครทาบทามก็ไม่เอา หากกำหนดให้ทาบทามเมื่อไรหรือให้เสนอชื่อนายกฯเมื่อไรก็เมื่อนั้น แต่จะรับหรือเปล่ายังไม่รู้เหมือนกัน เพราะต้องดูใจตัวเองก่อนว่าสิ่งที่เสนอตรงกับใจ ตรงกับความคิดหรือไม่

ส่วนกรณีนักการเมืองแห่เข้าพรรคพลังประชารัฐจำนวนมากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า รัฐบาลก่อนหน้าก็มี การย้ายพรรคเป็นเรื่องความสมัครใจ ตนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือสั่งให้ย้าย ที่ย้ายมาเพราะเห็นว่านโยบายทางการเมืองตรงกัน อยากแก้ไขปัญหาความบกพร่องในอดีต หากจะไปร่วมกับพรรคใดพรรคหนึ่งต้องเรียนรู้ว่าระบบการเลือกตั้งเป็นอย่างไร ประชาชนจะเลือกจากส่วนใด นโยบาย หลักการ และเหตุผล หากพรรคใดนำยุทธศาสตร์ชาติไปเป็นหลักในการทำงานก็เชื่อว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จ แต่ถ้าทำเป็นอย่างอื่นก็จนใจ ตนไม่เกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้น ถ้าอนาคตแก้ปัญหาไม่ได้ ปฏิรูปไม่ได้ ก็มาโทษตนว่าเสียของ โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง

พรรคสามัคคีธรรมภาค 2

การรอพรรคการเมืองที่สนับสนุนส่ง “เทียบเชิญ” เพื่อกลับไปเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “ความสง่างามทางการเมือง” ดังกระหึ่มอีกครั้ง และมองว่าการตั้ง “พรรคพลังประชารัฐ” ไม่ต่างกับการตั้ง “พรรคสามัคคีธรรม” หลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทำรัฐประหารปี 2534 จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เพราะ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งใน รสช. “ตระบัดสัตย์” เคยประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลับรับตำแหน่งหลังพรรคสามัคคีธรรมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยอ้างว่าจำเป็นต้อง “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง แต่การจ่อ “สืบทอดอำนาจ” หลังการรัฐประหารก็ไม่ควรทำ เพราะไม่สามารถหลีกเลี่ยงคำครหาได้ว่าที่ทำรัฐประหารมาก็เพื่อตนเองและพวกพ้อง ยิ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อ้างว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯต่อจะได้ทำงานให้เสร็จ ซึ่ง 4 ปีทำได้มากแล้ว ก็ยิ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นเสียงจากพรรคพวกเดียวกันที่ก่อการรัฐประหารมาทั้งสิ้น

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “รัฐบาลไม่เคยไปยุ่งกับการตั้งพรรคการเมืองเลย ผมไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยว การตั้งพรรคพลังประชารัฐเป็นเรื่องของรัฐมนตรีที่เข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าเพื่อปูทางให้นั้น จะปูทางได้อย่างไร พรรคพลังประชารัฐไม่มีทหารเข้าไปเกี่ยวข้อง ที่ประกาศจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯไม่รู้ เป็นเรื่องของพรรค ต้องไปถามคนเสนอ” แต่ใครที่ติดตามการเมืองมาโดยตลอดก็คาดเดาได้ชัดเจนว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นความตั้งใจ และได้ดำเนินไว้แล้วอย่างมีแผนที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปเท่านั้น

“วิษณุ” ชี้ไม่ต้องยึดมารยาทเป๊ะ!

นายวิษณุ เครืองาม “เนติบริกร” ช่วยย้ำการต่อท่ออำนาจ โดยยืนยัน (27 พฤศจิกายน) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด เพราะพรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีพรรคละไม่เกิน 3 คน และไม่ได้ระบุว่าบุคคลนั้นๆต้องเป็นสมาชิกพรรค แต่ถ้าเป็นสมาชิกพรรคอยู่แล้วจะลงสมัครด้วยเลยตั้งแต่แรกก็ได้

โดยก่อนหน้านี้นายวิษณุกล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ระบุการอนุมัติงบประมาณบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและเกษตรกรของ ครม. อาจเอื้อให้กับพรรคพลังประชารัฐที่มี 4 รัฐมนตรีเป็นแกนนำพรรคว่า ไม่น่าเป็นการเอื้อประโยชน์ เพราะกระทรวงการคลังเป็นผู้เสนอเรื่องนี้ ไม่ได้เอื้ออะไรให้แก่ใคร โครงการดังกล่าวคิดกันมานานแล้ว โดยตนเคยบอก ครม. ว่าหากจะมีอะไรเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนให้รีบนำเสนอก่อนมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้งกำหนดให้มีการเลือกตั้ง จึงไม่ได้ไปเอื้อให้พรรคใดพรรคหนึ่ง หรือต่อให้มี พ.ร.ฎ.กำหนดให้เลือกตั้งมาแล้ว การจะออกนโยบายอะไรรัฐบาลก็ยังสามารถทำได้ เพราะรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม

ส่วนข้อถามว่า “แม้รัฐธรรมนูญให้อำนาจรัฐบาลไว้ ตามมารยาทสมควรทำหรือไม่” นายวิษณุกล่าวว่า “ก็ต้องพิจารณากันตามมารยาท อย่าลืมว่ารัฐบาลนี้จะอยู่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่มาทำหน้าที่ หากคิดว่ารัฐบาลจะทำอะไรได้หรือไม่ได้โดยยึดมารยาทเป๊ะทั้งหมด ก็ต้องคิดต่อไปว่าถ้าเลือกตั้งเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ เกิดเหตุขึ้นมา เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว จะให้รัฐบาลชุดปัจจุบันทำอย่างไร ปัญหาเกิดขึ้นได้ ในรัฐธรรมนูญจึงผ่อนคลายไว้”

พรรคทหารโชว์พลังดูด

พรรคพลังประชารัฐที่ใช้ชื่อเหมือนโครงการ “ประชารัฐ” ของรัฐบาล และมีแกนนำพรรคมาจากคณะรัฐมนตรีปัจจุบันโดยไม่ต้องสนใจมารยาททางการเมืองว่าต้องลาออกเพื่อป้องกันข้อครหาว่ามีผลประโยชน์และอำนาจทับซ้อนหรือไม่ จึงออกหาเสียงโดยชูนโยบายเพื่อสืบทอดการทำงานของรัฐบาล คสช. หรือชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออย่างไม่ต้องเกรงทั้งกฎหมายหรือมารยาท

แม้ฝ่ายการเมือง นักวิชาการ และประชาชนจำนวนมาก มองว่ากว่า 4 ปีที่ผ่านมาการทำรัฐประหารไม่ได้แก้ปัญหาบ้านเมืองใดๆเลย โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ขณะที่ความร่ำรวยกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มซึ่งใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ และหลายฝ่ายยังเชื่อว่ากลุ่มทุนที่ “รวยอู้ฟู่” มาตลอด 4 ปีจะเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญให้กับพรรคการเมืองที่สนับสนุน “ระบอบ คสช.” ให้ “สืบทอดอำนาจ” ต่อ โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐที่ถูกเปรียบเหมือน “พรรค คสช.” หรือ “พรรคทหาร”

จึงมีคำถามว่าที่มาของเงินที่ใช้ดำเนินการทางการเมืองที่ต้องใช้มหาศาลนั้น มาจากไหนและได้มาอย่างไร แม้จะมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบ แต่ กกต. ก็ถูกตั้งคำถามเช่นกันว่าในสถานการณ์ที่รัฐบาล คสช. มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กกต. จะสามารถทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้โปร่งใสและบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่

การประชุม ครม.สัญจรและการใช้งบประมาณจำนวนมากหว่านลงในพื้นที่ตามโครงการต่างๆ ท่ามกลางปรากฏการณ์ “ดูดแหลก” ของกลุ่มสามมิตรและพรรคพลังประชารัฐ  ซึ่งเห็นชัดเจนถึง “พลังดูด” หลัง “ปิดคอก” การย้ายพรรควันสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ปรากฏว่ามีอดีต ส.ส. และนักการเมืองย้ายเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐจำนวนมาก โดยพรรคประชาธิปัตย์มีตัวเลขเบื้องต้นระบุว่ามีประมาณ 20 คนที่ย้ายไปซบพรรคพลังประชารัฐ และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่แม้ส่วนใหญ่ถ่ายเลือดไปพรรคไทยรักษาชาติ แต่ก็มีจำนวนมากเช่นกันที่ย้ายไปเข้าพรรคพลังประชารัฐ

สำหรับคำถามว่าทำไมอดีต ส.ส. และนักการเมืองพรรคต่างๆจึงย้ายเข้าพรรคพลังประชารัฐ นักการเมืองหลายคนยอมรับว่าไม่ใช่แค่การให้เงินทุนก้อนใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีการใช้เรื่องคดีความมาบีบอีกด้วย ซึ่งตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 นักการเมืองและประชาชนที่เห็นต่างจำนวนมากถูกไล่ล่าและตั้งข้อหาต่างๆ แม้แต่นิสิตนักศึกษาที่ออกมาแสดงความเห็นอย่างสงบก็ถูกจับกุมและดำเนินคดี บางคนก็ถูกจำคุก เช่น “ไผ่ ดาวดิน” หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กับเพื่อนนักศึกษา ที่จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และชุมนุมในวันครบรอบ 1 ปีของการรัฐประหาร

“สมชัย” เตือน “ติดคุก-ยุบพรรค”

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ซึ่งสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ค (27 พฤศจิกายน) เตือนผู้ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคว่า มีสื่อมวลชนสอบถามมายังผม (ราวกับเป็นคนร่าง กม.) ว่าลุงคนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดๆ หากพรรคการเมืองเห็นว่าเหมาะสมจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่

ผมตอบไปทันทีว่าได้ (อ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 และ 89) เพราะกฎหมายกำหนดเพียงเงื่อนไขดังนี้ 1.พรรคเสนอชื่อนายกรัฐมตรีได้ 1-3 ชื่อ หรือไม่เสนอเลยก็ได้ 2.การเสนอต้องเสนอก่อนวันปิดรับสมัคร (ยังมีเวลาให้ลุงตัดสินใจอีกเยอะ) 3.หากลุงจะรับ รับได้เพียงพรรคเดียว โดยต้องมีหนังสือยินยอม 4.ลุงต้องพลิกกฎหมายไปมาหลายมาตราหน่อยว่ามีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามต่างๆที่เขากำหนดไว้

ดังนั้น แปลว่าที่เขาตื่นเต้นกันว่าวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ต้องรีบสมัครเป็นสมาชิกพรรคกันนั้น ลุงสบายใจได้ นอนเกาพุงอยู่บ้านไปก่อน ส่วนพรรคการเมืองใดที่อยากได้คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคมาเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีอาจต้องพึงสังวรไว้สัก 2 อย่างคือ อย่างแรก จะโดนปรามาสไปตลอดการหาเสียงว่าพรรคนี้ขาดแล้วซึ่งสมาชิกที่มีความสามารถ ต้องไปประเคนตำแหน่งให้คนนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคตัวเอง

อีกอย่างคือ อีตาลุงคนนอกนั้นห้ามปริปากใดๆตลอดฤดูกาลหาเสียง เพราะมาตรา 29 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองเขียนไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความเป็นอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม”

ในขณะเดียวกันมาตรา 28 ก็กำหนดข้อห้ามไว้อย่างน่าฟังว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นที่มิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม”

มาตรา 29 ติดคุก มาตรา 28 ยุบพรรคครับ ยอมเสียเงิน 50 บาท สมัครสมาชิกดีกว่าครับลุง สมัครได้เรื่อยๆถึงก่อนวันปิดรับสมัคร ส.ส.

ชม “โอ๊ค” ไม่เป็นอีแอบการเมือง

นอกจากนี้นายสมชัยยังโพสต์เฟซบุ๊ค (26 พฤศจิกายน) กรณีนายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร สมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยท่ามกลางกระแสพรรคจะถูกยุบว่า

“สมชัยถึงพานทองแท้ ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว เคยตอบโต้กันบ้างผ่านสื่อ เขาหยิกมา ผมหยิกกลับ เขาด่ามา ผมก็ด่าไป ตามสไตล์เจ็บๆคันๆ เดิมเวลาเขาโพสต์เฟซบุ๊คผมยังนึกเหมือนหลายคนว่าเขาอาจจะไม่ได้โพสต์เอง น่าจะเป็นประสาคนมีเงินจ้างคนทำได้

วันนี้เขาโพสต์ถึงการคลี่คลายของชีวิตที่ต้องเดินหน้าเข้าสู่การเมือง เพราะไม่เล่นการเมือง การเมืองก็เล่นงานเขาและครอบครัวจนย่ำแย่ การเดินหน้าของเขาจึงเป็นเรื่องการแก้ไขความไม่เป็นธรรมที่ได้รับและเห็นถึงเจตนาในการเปลี่ยนแปลง คนมีเงินมาลงการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลก ดีเสียอีกที่เปิดหน้าเล่น ดีกว่าอีกมากที่แอบหนุนหลัง สนับสนุนทุกฝ่ายที่คาดว่าจะมีอำนาจเพื่อปกป้องธุรกิจของตัวเอง การเล่นการเมืองแบบเปิดหน้าจึงหมายถึงความกล้าหาญ กล้าแสดงตัว และพร้อมที่จะถูกวิจารณ์ตรวจสอบ ขอสนับสนุนและให้กำลังใจ ขอให้การทำงานการเมืองประสบความสำเร็จครับ

ไม่มี ม.44 จะทุลักทุเลขนาดไหน

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่จะเข้าไปนั่งในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองว่า เป็นช่องทางที่ตัวนายกรัฐมนตรีต้องการจะดำเนินการเช่นนี้ ซึ่งได้เขียนรัฐธรรมนูญไว้แล้วว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือเป็นคนนอกก็ได้นั่นเอง

“เมื่อเข้ามาแล้ว เมื่อลุยโคลนก็ต้องเปื้อนโคลน หมายความว่ารวมเอานักการเมืองสารพัดแบบเข้าไปอยู่ด้วยกัน เพียงแต่หวังว่าจะให้เป็นพรรคเพื่อสนับสนุนตนเองเป็นนายกฯ ตนเองก็จะต้องรับผิดชอบทางการเมือง จากนี้ไปพอปลดล็อก พอไม่มีมาตรา 44 เราก็จะได้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์จะทุลักทุเลขนาดไหน จะสึกหรอขนาดไหนอย่างรวดเร็ว เพราะว่าสิ่งที่ทำอยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่โฆษณามาตลอด 4-5 ปี เป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับที่พูดตลอด”

นายจาตุรนต์เชื่อว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นประชาชนจะให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมากกว่าตัวบุคคล เพราะการเมืองไทยได้พัฒนามาไกล คนได้รู้จักพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง โดยเฉพาะกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเข้าไปอยู่ในพรรคการเมืองที่สร้างขึ้นมาในลักษณะเช่นนี้ ประชาชนจะเห็นชัดว่าเมื่อเลือกพรรคการเมืองแบบนี้ประเทศก็จะเป็นอย่างที่เกิดขึ้นตลอด 4-5 ปี เชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะถึงประชาชนจะแบ่งการตัดสินใจเป็น 2 ทางคือ ฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์และฝ่ายที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

ย้ายขั้วอย่าอ้างสู้เพื่อประชาธิปไตย

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. และสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวถึงแกนนำคนเสื้อแดงไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐว่า ถ้าตัดสินใจไปอยู่กับพรรคที่มีแนวทางสืบทอดอำนาจเผด็จการขอให้ไปดี ไม่มีการด่าทอหรือโกรธเคือง แต่อยากให้นึกถึงหัวใจที่ต่อสู้มาด้วยกัน ให้เคารพความรู้สึกที่ร่วมเป็นร่วมตายกันมา และอย่าใช้สถานะแกนนำ นปช. หรืออย่าเอ่ยอ้างการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในวันที่ไปยืนเคียงข้างเผด็จการ ขอให้เชื่อมั่นว่าพลังผู้รักประชาธิปไตยยังมีอยู่ จะพ่ายแพ้หรือชนะการเลือกตั้งไม่ทราบ แต่ยืนยันได้ว่าจะซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยจนลมหายใจสุดท้าย เพื่อปฏิเสธการสืบทอดอำนาจเผด็จการ

“มาร์ค” ถามปฏิรูปตรงไหน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสาเหตุที่อดีต ส.ส. จำนวนมากย้ายพรรคว่า ในมุมมองนักการเมืองต้องปลอดภัยไว้ก่อน ที่อดีต ส.ส. หลายพรรค โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยย้ายไปสมัครพรรคพลังประชารัฐจำนวนมาก มองจากที่มีคนของพรรคประชาธิปัตย์ย้ายออกไป เพราะได้รับข้อเสนอแทบทุกเรื่อง อาทิ 1.เรื่องเงิน 2.โครงการของรัฐเข้าพื้นที่ 3.นำเขตเลือกตั้งมาต่อรอง 4.นำคดีความมาต่อรอง

สิ่งที่ตนยอมรับได้ยากก็คือ ใครบอกจะมาปฏิรูปการเมือง จะมาทำการเมืองให้ดีขึ้น สุดท้ายพฤติกรรมที่ทำอยู่ขณะนี้ไม่ได้ดีกว่าเดิม ซ้ำร้ายหลายกรณีแย่ยิ่งกว่าเดิมเสียอีก อยากถามพรรคพลังประชารัฐว่าคุณรับทุกคนเลยหรือไม่ นักการเมืองที่เคยกล่าวหาว่าทำให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ศาลตัดสินว่ามีความผิดแล้ว แต่วันนี้อยากได้กำลังของเขาทางการเมืองก็รับเขาแล้ว ยังมองไม่ค่อยออกว่ามันแตกต่างกันอย่างไรระหว่างพรรคเก่ากับพรรคใหม่ที่ย้ายเข้าไป หากนำคนที่ย้ายพรรคมาถ่ายรูปหมู่เทียบกับรูปหมู่เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว เปลี่ยนแค่หัวข้างบน จะเชื่อหรือไม่ว่าการเมืองเปลี่ยนแปลง เชื่อหรือไม่ว่าคือการต่อสู้กับสิ่งที่บอกสังคมว่าน่าจะถูกขจัดออกไป

นิด้าโพล “เจ๊หน่อย” แซง “ลุงตู่”

ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนของนิด้าโพลเรื่อง “ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้ง (ครั้งที่ 5)” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,260 หน่วยตัวอย่าง ปรากฏว่าคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีลดลงอย่างต่อเนื่อง

จากการสำรวจล่าสุดปรากฏว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย) ได้มากที่สุด ร้อยละ 25.16 รองลงมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) ร้อยละ 24.05 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) ร้อยละ 14.52 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) ร้อยละ 11.67 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย) ร้อยละ 6.90

ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้เข้ามาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไปมากที่สุดนั้น ร้อยละ 61.67 ต้องการพรรคการเมืองพรรคใหม่ๆ เพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง มีคนใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ เข้ามาบริหารและพัฒนาประเทศ และร้อยละ 38.33 เลือกพรรคการเมืองพรรคเก่า เพราะมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ชอบการบริหารงานแบบเก่าๆ บริหารงานดีอยู่แล้ว การทำงานมีระบบ เคยเห็นผลงานมาแล้ว มั่นใจในผลงาน รู้จักและคุ้นเคยกับประชาชนเป็นอย่างดี มีความเข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าพรรคการเมืองพรรคใหม่

รังสิตโพล “ประยุทธ์” นำโด่ง

ขณะที่ผลการสำรวจครั้งที่ 4 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 ของวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต สำรวจความเห็นประชาชนอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่า 1.พล.อ.ประยุทธ์ 27.06% 2.คุณหญิงสุดารัตน์ 18.16% 3.นายอภิสิทธิ์ 15.55% 4.นายธนาธร 9.68% และ 5.นายอนุทิน ชาญวีรกูล 2.26%

ทั้งระบุว่าจากผลการสำรวจ 4 ครั้ง แสดงให้เห็นว่า “พรรคทักษิณ” (ไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย) มาถึงจุดที่กำลังตกต่ำเสื่อมโทรมลงเป็นลำดับ ส่วนพรรคพลังประชารัฐกำลังมีอำนาจทางการเมืองและมีนโยบายด้านมหภาคและจุลภาคต่างๆเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายบัตรคนจน ซึ่งมีขอบเขตการให้ประโยชน์แก่คนจนอย่างกว้างขวาง โดยรวมเอานโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคผนวกรวมเข้ากับนโยบายอื่นๆ เช่น เบี้ยคนชรา ค่าโดยสารสำหรับผู้ป่วย ฯลฯ และพบว่าเป็นนโยบายที่เอาชนะใจกลุ่มคนจนจำนวน 11 ล้านคนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ตู่” เมินนิด้าโพลตาม “เจ๊หน่อย”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงนิด้าโพลที่คะแนนตามหลังคุณหญิงสุดารัตน์ว่า วันนี้มีโพลจำนวนมาก วิธีการทำโพลทุกสำนักมีจุดมุ่งหมายด้วยกันทั้งสิ้นว่าอยากให้คำตอบออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายและการตั้งคำถาม สิ่งที่ได้มานั้นจะใช่หรือไม่ยังไม่รู้ เพราะไม่อาจหยั่งรู้จิตใจของประชาชนทุกคนได้ แต่ผลโพลไม่ใช่ความเห็นของคนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ การสำรวจความเห็นของคน 1,000-2,000 คนไม่ได้อะไร วันข้างหน้าผลโพลผิดทุกครั้งไป ต้องไปดูเป้าหมายว่าทำโพลเพื่ออะไร จากใคร จากไหน บางครั้งก็มีอะไรอยู่เบื้องหลัง จึงไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะเชื่อมั่นในประชาชน วันนี้ประชาชนเรียนรู้มาก อย่าใช้วิธีการเหมือนเดิมจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่เข้าใจ

ขณะที่ พล.อ.ประวิตรปฏิเสธว่าหน่วยงานความมั่นคงไม่เคยสำรวจความคิดเห็นประชาชนแบบนิด้าโพลว่า ไม่รู้จะทำไปทำไม เพราะไม่ได้เล่นการเมือง ไม่รู้จะวัดกระแสทำไม หากจะทำก็ควรวัดกระแสว่าจะมีเรื่องความขัดแย้งเกิดขึ้นอีกหรือไม่จะดีกว่า จะไปวัดเรื่องการเมืองทำไม และ คสช. ไปเกี่ยวอะไร

การเมืองหลังปลดล็อก

ท่ามกลางกระแสการเลือกตั้งและกระแสประชาธิปไตยที่กำลังมาแรง ประเด็นที่ต้องจับตาคือการปลดล็อกพรรคการเมือง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. จะประชุมร่วมกับพรรคการเมืองวันที่ 7 ธันวาคม เพื่อรับฟังความคิดเห็นให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมหลังจากประกาศ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ส.ส. โดยวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ประชุม คสช. ได้ประเมินสถานการณ์และยืนยันว่าการเลือกตั้งยังเป็นไปตามกำหนดการเดิมคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งมีรายงานข่าวว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ และปลดล็อกพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมได้ และคาดว่าจะมีการประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 ธันวาคม และวันที่ 28 ธันวาคม กกต. จะประกาศวันเลือกตั้ง พร้อมประกาศเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 14-18 มกราคม และเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

แต่ก็ยังมีคำถามว่า คสช. จะปลดล็อกอย่างไร ซึ่งมีกระแสข่าวว่า คสช. จะแค่ “คลายล็อก” ไม่ใช่การ “ปลดล็อก 100%” ยังมีเงื่อนไขในการหาเสียงของพรรคการเมืองโดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งการเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะพิสดารกว่าทุกครั้ง เพราะการประกาศผลการเลือกตั้งอาจนานถึง 2 เดือนหลังเลือกตั้ง ยิ่งทำให้มีคำถามเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรม และอาจมี “อภินิหารทางกฎหมาย” ได้ หากคะแนนพรรคฝ่ายสนับสนุน “ระบอบ คสช.” ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

“เก้าอี้นายกฯ” คุยกันมาก่อนแล้ว?

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์และนายภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ยืนหยัดในอุดมการณ์ประชาธิปไตย โดยเคารพในข้อจำกัดและการเลือกเส้นทางชีวิตทางการเมืองของอดีต ส.ส. ที่ย้ายพรรค ทำให้การเลือกตั้งยิ่งน่าสนใจ เพราะฝ่ายสนับสนุน “ระบอบ คสช.” ก็ประกาศสนับสนุน “ผู้นำตู่” หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ขนาด “ป้อม” ยืมนาฬิกาเพื่อน ยังยอมรับเต็มปากเต็มคำว่าอยากให้ “ตู่”  เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเพื่อจะได้ทำงานที่ทำมา 4 ปีให้เสร็จ

ประเด็นสำคัญคือ “ตู่” จะกลับมามีอำนาจในรูปแบบใด จะยอมรับเป็นหนึ่งในบัญชีพรรคการเมืองที่สนับสนุนหรือเข้ามาในฐานะ “นายกฯคนนอก” ก็ย่อมต้องมีคำถามถึง “ความสง่างาม” ทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกจับตามองว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญให้ “ตู่” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่ แม้นายอภิสิทธิ์จะประกาศจุดยืนว่าไม่เอารัฐบาลสืบทอดอำนาจ แต่อดีตที่เคยได้เป็นนายกรัฐมนตรีจากการจัดตั้งในค่ายทหารก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเลือกทางเดินใดกันแน่  ซึ่ง น.ส.วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหารชื่อดังที่ล้วงลึกข่าวสายทหารมากกว่าใครๆ ยังได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “หาเรื่องฯ” กับพิธีกรเจาะข่าวตื้นสุดกวน นายจอห์น วิญญู โดย น.ส.วาสนาได้พูดฟันธงอย่างสบายๆว่า พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับรัฐบาลประยุทธ์อย่างแน่นอน โดยวิเคราะห์ว่า “เรื่องแบบนี้เขาต้องคุยกันมาก่อนแล้ว”

ได้เวลา “ซานต้า เขียว”ไม่ต้องยึดมารยาทเป๊ะ!

เส้นทางการเมืองและการกลับคืนสู่อำนาจของ “ตู่” วันนี้ ค่อยๆฉายภาพชัดว่า ต้องการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากการเลือกตั้งเพียง 126 เสียงเท่านั้น เพื่อบวกกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากการลากตั้งอีก 250 เสียงที่ตั้งรอไว้อยู่ก่อนแล้ว แถมยังมีอายุยืนยาวควบไปถึงรัฐบาลสมัยที่สองเลยด้วยซ้ำ

ในขณะเดียวกันก็ยังตั้งเป้าไว้ให้พรรคที่สนับสนุนตนเองอย่างแน่นอนแล้วอย่าง “พลังประชารัฐ” ว่าจะต้องได้คะแนนเสียงสูงที่สุด เพื่อสร้างความชอบธรรมว่าจะขอเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่พรรคเดิมและพรรคเก่าแก่อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์น่าจะได้คะแนนเสียงจากกติกาการเลือกตั้งใหม่ด้วยจำนวน ส.ส. ที่ลดลง รวมถึงการแตกตัวของพรรคเพื่อไทยไปเป็นพรรคพี่พรรคน้องต่างๆ ย่อมทำให้แต่ละพรรคในชื่อใหม่มีคะแนนเสียงลดลง ถึงแม้ว่าจะรวมกันแล้วมากขึ้น แต่ก็อาจถูกอ้างว่าไม่มีความชอบธรรมและไม่เป็นไปตามประเพณีทางการเมืองที่ว่าควรจะต้องให้ “พรรคที่มีคะแนนเสียงสูงที่สุด” จัดตั้งรัฐบาลก่อน

ถ้าเป็นเช่นนั้นชื่อของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐอาจเป็นพรรคแกนนำที่ได้ ส.ส. มากที่สุดเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ก็ได้ มหกรรมการ “เคาะกะลา” ก็จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จึงไม่มีความจำเป็นต้องมาพูดเรื่อง “ไม่ต้องยึดมารยาทเป๊ะ” เพราะในความจริงแล้วกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา “ประเทศไทย” ไม่ได้มีแล้วกับคำว่า “มารยาททางการเมือง”

“ซานตาคลอส” ชุดแดงตัวจริงจะมาแจกของขวัญให้กับเด็กๆในวันคริสต์มาสอีฟ แต่สำหรับ “ซานตาเขียว” ถือกระบองยักษ์ เขาออกปฏิบัติการทั้งแจกทั้งดูดกันทุกคืนทุกวันมานานแล้ว!!??


You must be logged in to post a comment Login