วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

เขาดีไซน์มาเพื่อพวกเรา

On November 22, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 23-30 พฤศจิกายน 2561)

เป็นข่าวไปทั่วโลกอีกครั้ง ทั้งที่ “ทั่นผู้นำ” เพิ่งแบกหน้าไปยืนยันกับผู้นำโลกว่าเลือกตั้งต้นปี 2562 แน่นอน แม้จะไม่พูดชัดเจนว่าเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ให้อำนาจแก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการกำหนดเขตเลือกตั้งแบบใหม่โดยที่ไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และให้ถือเป็นที่สุด ได้ประกาศตูมออกมา

แม้ผู้มีอำนาจจะออกมายืนยันว่าไม่กระทบกับโรดแม็พ แต่หลายฝ่ายก็ไม่เชื่อ และมองว่าโอกาสที่จะเลื่อนการเลือกตั้งมีสูง หากการแบ่งเขตเลือกตั้งยังไม่ทำให้ฝ่ายสนับสนุน “การสืบทอดอำนาจ” มั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลทหารและ “ทั่นผู้นำ” จึงต้องอยู่ต่อไปให้นานที่สุด เพราะตราบใดที่ยังมีมาตรา 44 และยังไม่มีการตั้งรัฐบาลใหม่ อะไรก็เกิดขึ้นได้ การใช้อำนาจและกลไกต่างๆของรัฐ รวมถึงรัฐธรรมนูญที่ล้วนเอื้อต่อ “การสืบทอดอำนาจ”

ประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 กำหนดว่าเมื่อ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ กกต. ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งและประกาศให้แล้วเสร็จก่อน พ.ร.ป. ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัครครั้งแรก แต่คำสั่งฉบับใหม่ที่ระบุว่า “ให้อำนาจแก่ กกต. ในการกำหนดเขตเลือกตั้งแบบใหม่ที่ไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และให้ถือเป็นที่สุด” ถือเป็นการมอบอำนาจแก่ กกต. อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ยังเปิดทางให้พรรคการเมือง “สามารถดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง (ตามข้อ 4 พ.ร.ป.พรรคการเมือง)…ได้จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง” ซึ่งทำให้มีข้อกังขาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นประโยชน์มากกับพรรคที่เตรียมเสนอชื่อ “ทั่นผู้นำ” เป็นนายกรัฐมนตรี

ไม่แบ่งเขตตามคำขอของผู้มีอำนาจ

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ยืนยันว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งไม่มีอะไรเคลื่อนไปจากที่กฎหมายกำหนด โดยในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 ระบุให้ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลใช้บังคับในวันที่ 11 ธันวาคม เช่นเดียวกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 ล่าสุด แต่ยอมรับว่าการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งอาจจะคลาดเคลื่อนไปจากปฏิทินของ กกต. ที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง สาเหตุมาจากเรื่องของสุขภาพที่ตนต้องไปผ่าตัดตา เพราะ กกต.ได้พิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้งรอบแรกเสร็จตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน และอยู่ระหว่างทบทวนความถูกต้องก่อนนำไปประกาศ จึงทำให้การประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาไม่เกินวันที่ 10 พฤศจิกายนเคลื่อนออกไป ทั้งที่ตั้งใจยึดถือปฏิบัติตามระเบียบให้ได้มากที่สุดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ระเบียบของ กกต. ก็เปิดช่องให้ขยายเวลาได้ ส่วนการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ว่าจะยึดแนวทางใดต้องหารือที่ประชุม กกต. เพื่อให้ได้มติร่วมกันก่อนจึงจะให้รายละเอียดได้

นายอิทธิพรยืนยันว่า จะไม่แบ่งเขตตามคำร้องขอของผู้มีอำนาจ เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 บอกว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทั้งให้ความมั่นใจว่าจะแบ่งเขตเลือกตั้งให้ทันก่อนกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้

คุ้มครอง กกต. ไม่ต้องรับผิด

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เหตุผลที่ออกคำสั่งดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการเลื่อนการเลือกตั้ง แต่มีการร้องเรียนมานานแล้ว และเป็นคำสั่งลักษณะเชิงบริหารเพื่อคุ้มครอง กกต. ไม่ให้มีความผิด เพราะก่อนหน้านี้ กกต.ได้ออกประกาศเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่กำหนด แต่ไม่สามารถดำเนินการแบ่งเขตได้เสร็จสิ้นเรียบร้อย รวมถึงภายใน กกต. มีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ โดยบางส่วนคิดว่าต้องเร่งดำเนินการ ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น จึงต้องทำให้ครบเรียบร้อยโดยไม่กระทบโรดแม็พ เพราะของเดิมการแบ่งเขตเลือกตั้งจะทำให้เสร็จเมื่อไรก็ได้ภายในวันที่ 11 ธันวาคม เมื่ออยากให้กระบวนการต่างๆรวดเร็ว แต่ติดที่การแบ่งเขตเลือกตั้งล่าช้า เหลือเวลาทำไพรมารีโหวตไม่ถึง 30 วัน จึงยืดให้ทำไพรมารีโหวตได้เรื่อยๆจนกว่าจะมี พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะเป็นช่วงปลายเดือนธันวาคม เมื่อประกาศ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งก็จะเริ่มหาเสียงได้ และต้องปลดล็อกคำสั่งและประกาศของ คสช.

นายวิษณุยังยืนยันว่าไม่ได้แทรกแซง กกต. และไม่ได้บอกให้แบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไร อำนาจยังเป็นของ กกต. และขณะนี้ยังไม่มีอะไรแสดงว่าการเลือกตั้งจะเลื่อนไป แม้จะมีคนจ้องเล่นงาน กกต. การออกคำสั่งจะทำให้การเลือกตั้งไม่มีปัญหา หรือ กกต. ถูกเล่นงานใหญ่ก็ไม่มีปัญหา เช่น เลือกตั้งเป็นโมฆะเหมือนคราวที่แล้ว

ปรากฏการณ์ “มีเยอะแต่เสียของ”

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ให้ กกต. พิจารณาเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ (20 พฤศจิกายน) ว่า อาจเป็นหมากที่ก้าวพลาด เดินหมากผิดตาเดียวอาจแพ้ทั้งกระดาน แม้ผู้เดินหมากจะคิดว่าเป็นหมากที่แยบยล โดยให้อำนาจ กกต. ในการแบ่งเขตได้ตามใจชอบหรือตามคำขอมาได้จนถึงก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มีผลใช้บังคับ แต่กลับเป็นหมากที่ก่อให้เกิดผลเสียตามมาหลายประการหากหมากดังกล่าวถูกเสนอโดย กกต. เอง

“เพราะเกรงว่าจะทำสิ่งที่ผิดจากระเบียบและล่าช้ากว่าตารางเวลาที่ตนเองวางไว้ เลยยืมมือ คสช. มาออกคำสั่งเพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำงานแบบไม่ต้องเสี่ยงติดคุก กกต. เองเดินหมากผิดแล้ว เพราะเครดิตความเชื่อถือต่างๆของ กกต. พังทลายลง ระเบียบและกำหนดเวลาที่ร่างมากับมือยังทำให้ทันกำหนดไม่ได้ กลายเป็นข้อเคลือบแคลงของสังคมว่าทำทันแล้วแต่ไม่กล้าประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากมีคำร้องประเภทคุณขอมา หรือมีความขัดแย้งเห็นต่างภายในตามคำให้สัมภาษณ์ของรองนายกฯวิษณุเลยทำให้ประกาศไม่ได้ ยิ่งอ้างเรื่องสุขภาพ สังคมยิ่งไม่ยอมรับ เพราะเรื่องสุขภาพเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งที่เขียนไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 201 (5) ที่กำหนดว่า ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต้องมีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นายสมชัยยังระบุว่า หากหมากดังกล่าวถูกวางโดย คสช. หรือฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ เพื่อมุ่งหวังจะแบ่งเขตเลือกตั้งให้ลงตัว ให้ผู้สมัครทั้งประเภทดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ ดาวเทียมทั้งหลาย มีที่ลงไม่ทับซ้อนกัน หมากดังกล่าวเป็นการเดินที่ผิดจังหวะแล้ว เพราะการแบ่งเขตจะล่าไปจนถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2561 (8-10 ธันวาคมเป็นวันหยุดราชการ) ซึ่งซ้อนอยู่หลังวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 อันเป็นวันสุดท้ายที่ผู้สมัครต้องสังกัดเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้งตามมาตรา 97 ของรัฐธรรมนูญ หากเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

“ดังนั้น การไหลแห่ของนักการเมืองที่แทงหวยพรรครัฐบาลเพื่อไปเป็นสมาชิกจึงไม่อาจถอนคืนได้หลังจากประกาศเขตที่ชัดเจนในต้นเดือนธันวาคม ปรากฏการณ์ “มีเยอะแต่เสียของ” เนื่องจากทับซ้อนพื้นที่จะตามมา การถอนตัวเพื่อไปลงยังพรรคแนวร่วมหรือพรรคสายกลางก็เลยกำหนด นักการเมืองจำนวนหนึ่งที่ไหลบ่าเข้าไปจะไม่มีเขตลง อาจได้บรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อ ซึ่งน่าจะมีที่เพียงพอ แต่คะแนนจากเขตที่ได้จะส่งผลถึงลำดับใดคงต้องดูจากผลเลือกตั้ง

หมากนี้จึงเทียบไม่ได้กับหมาก “แยกกันเดิน ร่วมกันตี” ของอีกฝ่าย การออกคำสั่งที่พร่ำเพรื่อยิ่งสะสมความรู้สึกของประชาชนว่าผู้มีอำนาจปรารถนาจะยื้อยุดอำนาจของตนให้ยาวนาน นับแต่การร่างรัฐธรรมนูญที่ “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” การล้างกรรมการการเลือกตั้ง “ที่สั่งไม่ได้” การไม่ยอมลาออกของ 4 รัฐมนตรีที่ลงมาตั้งพรรคหนุนรัฐบาลจนกว่าจะถึง “เวลาที่เหมาะสม” จนถึงการไม่ประกาศเขตเลือกตั้งจนกว่า กกต. จะทบทวนและพิจารณาคำร้องจากฝ่ายต่างๆ เป็นการสะสมแต้มลบให้กับฝ่ายตนเองทั้งสิ้น เดินหมากผิดตาเดียวอาจพ่ายแพ้ทั้งกระดาน จริงหรือไม่คงต้องติดตาม”

คำสั่งอัปยศ (อีกแล้ว)

นายจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Chaturon Chaisang (17 พฤศจิกายน) ว่า “คำสั่ง คสช. ที่ 16/61 อัปยศ (อีกแล้ว)” โดยระบุว่า คำสั่ง คสช. ที่ 16/61 นี้ย่อมมีผลกระทบต่อการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของเจตนาแท้จริงของการออกคำสั่ง และยังทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบต่อผู้สมัครและพรรคการเมือง เพราะเปิดช่องให้เกิดการให้คุณให้โทษต่อผู้สมัครตามอำเภอใจในการแบ่งเขตเลือกตั้ง ใครอยากให้แบ่งเขตอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือพรรคของตนก็อาจไปร้องผ่านรัฐบาลหรือ คสช. และการแบ่งเขตต่อไปนี้ก็จะทำโดยไม่ต้องมีหลักเกณฑ์ ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบใดทั้งสิ้น ใครโต้แย้งฟ้องร้องไม่ได้ เพราะชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ จึงน่าติดตามว่าเอื้อพรรคใดเป็นพิเศษหรือไม่

การออกคำสั่งนี้ไม่ได้เกิดจากการเสนอของ กกต. กกต. ดำเนินตามกฎหมายและระเบียบจนเสร็จแล้ว และกำลังจะประกาศอยู่แล้ว กลับมามีคำสั่งตัดหน้า จึงเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของ กกต. อย่างชัดเจน ตอกย้ำว่าเป็นการวางระบบการเลือกตั้งที่ กกต. ไม่เป็นอิสระ คสช. และรัฐบาลสามารถแทรกแซงเมื่อไรก็ได้

น่าเป็นห่วงว่ายังจะมีการออกคำสั่งแทรกแซงการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องไปอีกหรือไม่ ในเรื่องใดบ้าง การออกคำสั่งนี้มีผลทำให้ระบบการเลือกตั้งไม่ “เสรีและเป็นธรรม” และขาดความน่าเชื่อถือทั้งในประเทศและสังคมโลก

ฝ่ายประชาธิปไตยต้องให้ได้ 251 เสียง

นายจาตุรนต์ยังกล่าวในวันสมัครเป็นสมาชิก ทษช. ว่า สถานการณ์ขณะนี้ประเทศอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อ คือฝ่ายเผด็จการต้องการสืบทอดอำนาจ โจทย์ของเราคือจะหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจได้อย่างไร หากหยุดยั้งไม่ได้ประเทศไทยอาจตกอยู่ภายใต้ คสช. อีก 10-20 ปี อย่างที่ทราบกัน มีการวางกติกาลดทอนอำนาจประชาชน จนมีนักการเมืองบางคนถึงกับประกาศว่ารัฐธรรมนูญนี้ถูกออกแบบมาเพื่อพวกเขา รวมทั้งพรรคการเมืองใหญ่ถูกสกัดไม่ให้มีเสียงข้างมาก การออกรัฐธรรมนูญเช่นนี้เหมือนกับเจาะจงให้มีผลต่อพรรคการเมืองใหญ่ เป็นประตูกล เป็นกับดักเล่นงานพรรคการเมืองใหญ่ ทำให้เกิดผลเสียต่อฝ่ายประชาธิปไตย

เมื่อเรารู้เท่าทันในรัฐธรรมนูญและหมากกล เราเชื่อว่าสามารถทำให้พรรคการเมืองพ้นและฝ่าจากกับดักนี้ไปได้ ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มโอกาสฝ่ายประชาธิปไตย ลดโอกาสที่เขาจะสืบทอดอำนาจ นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจึงต้องหลีกเลี่ยงกับดักที่ออกแบบไว้ โดยพรรคฝ่ายประชาธิปไตยต้องให้ได้ 251 เสียง อย่างน้อยก็หยุดยั้งรัฐบาลที่เป็นการสืบทอดอำนาจ

บันไดเข้าสู่อำนาจ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าเป็นบันไดอีกขั้นหนึ่ง หรือเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการเข้าสู่อำนาจอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง เพราะจริงๆเขตเลือกตั้งก็แบ่งเรียบร้อยแล้ว รอเพียง กกต. ลงนาม จึงอยากเตือนว่าการทำอะไรที่ฝืนหลักความจริง ฝืนความรู้สึกของประชาชน และฝืนกฎหมาย คือการมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะเป็นการกระทำที่ทำในช่วงที่ประเทศได้ประกาศไปทั่วโลกว่าเรากำลังจะคืนประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศ ดังนั้น วิธีการนี้ก็คือวิธีการสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีอำนาจเองว่าตัวเองจะสามารถกลับสู่อำนาจได้อีกครั้ง

สิ่งที่น่าห่วงตอนนี้คือ ทำอย่างไรจะสามารถทำให้การเลือกตั้งเกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมจริงๆ ไม่ใช่การเลือกตั้งที่ใช้อำนาจรัฐมากที่สุด หรือใช้เงินซื้อเสียงมากที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่องค์กรกลางอย่าง กกต. จะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง และจะต้องพิสูจน์ให้ประชาชนทั่วไปมีความมั่นใจในผลของการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลแน่นอนต่อเศรษฐกิจของประเทศ หากผลการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ปล่อยให้มีการซื้อสิทธิขายเสียงและใช้อำนาจรัฐมากๆ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในอนาคต เพราะนานาชาติหรือสังคมโลกจะไม่ยอมรับประเทศไทยและไม่กล้าเข้ามาลงทุน

นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “จริงๆแล้วถ้าทุกอย่างทำตามโรดแม็พเดิมตามที่ประกาศออกมา ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องแบ่งเขตเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเรื่องนี้อาจจะมีคนสั่งการได้ ส่วนตัวมองว่าการเลื่อนเวลาครั้งนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อพรรคพลังประชารัฐที่ขณะนี้มีข่าวว่าไม่ลงรอยกับกลุ่มสามมิตรในเรื่องการแบ่งผู้สมัครลงเขตต่างๆไม่ได้หรือทับซ้อนกัน”

ผิดหลักนิติธรรม หลักยุติธรรมแต่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ผู้มีอำนาจประกาศใช้มาตรา 44 ในขณะนี้ ประเด็นอยู่ที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดไว้ว่าการใช้มาตรา 44 ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งหมด สรุปแม้จะใช้ไม่ชอบ ผิดหลักนิติธรรม ผิดหลักยุติธรรมอะไรก็ตาม ให้ถือว่าใช้ได้หมด

ดังนั้น เพื่อนำมาใช้ตอบโจทย์อันนี้เท่านั้นเอง คือไม่ว่าฉันจะทำผิดอะไรก็ตาม แต่กฎหมายที่มารับรองฉันฉบับนี้คือให้ถูก ประเด็นแบบนี้ถามว่าผู้คนเขารับได้ไหม มันฝืนจิตใจเขานะ ซึ่งความจริงไม่ว่าใครก็ตามต้องยึดความที่ถูกในความเป็นจริงและถูกกฎหมายในความเป็นสากล ไม่ใช่ถูกเพราะผู้มีอำนาจบอกว่าสิ่งที่ทำผิดนี้ให้บอกว่าถูก เท่านั้น

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เลวที่สุด

นายปราโมทย์ นาครทรรพ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2517 และอดีตที่ปรึกษากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คว่า ปรมาจารย์วิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ที่เคยสั่งสอนคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2560 อาทิ ศ.ประเสริฐ แย้มกลิ่นฟุ้ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เป็นต้น ต่างสรุปเป็นเสียงเดียวกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้เลวที่สุดตั้งแต่เมืองไทยเคยมีมา”

ผมในฐานะที่เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2517 และตุลาการรัฐธรรมนูญ 2518 มีความเห็นเช่นเดียวกัน ตัวอย่างที่เห็นได้เด่นชัดอย่างหนึ่งได้แก่บทบัญญัติว่าด้วยองค์ประกอบ ที่มา และการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งสับสนวุ่นวายและขัดหลักการประชาธิปไตย นอกจากนี้กระบวนการสมัคร คัดสรร และแต่งตั้ง ยังเปิดโอกาสให้มีการแบ่งสายวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นจริงอยู่ในขณะนี้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์เพื่อพวกเรา

รัฐธรรมนูญปี 2560 เลวที่สุดที่เคยมีมา ไม่ว่าจะเพื่อ “สืบทอดอำนาจ” หรือทำลายระบบพรรคการเมืองก็ตาม ล้วนสะท้อนจากสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ “ดูดแหลก” ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ล่าสุดกลุ่มสามมิตรได้สมัครเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร กล่าวว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา เราจะต้องใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆเหล่านี้ เป้าหมายทุกคะแนนมีความสำคัญ ฉะนั้นตัวบุคคลในแต่ละเขตแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนให้ได้ เพราะทุกคะแนนมีความสำคัญมาก”

วาทกรรม “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ยิ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การ “สืบทอดอำนาจ” และการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีการใช้อำนาจพิเศษต่างๆ รวมถึงการใช้มาตรา 44 แทรกแซง กกต. ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง แม้นายสมศักดิ์จะออกมาชี้แจงภายหลังว่า ที่พูดว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” หมายถึงพรรคการเมืองขนาดกลางและพรรคการเมืองขนาดเล็ก รวมถึงพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่ไม่มีฐานเสียงมาก่อน เป็นการพูดเพื่อปลุกใจผู้สมัครหน้าใหม่ๆให้ลงพื้นที่ใกล้ชิดประชาชน เพราะการเลือกตั้งในครั้งนี้รัฐธรรมนูญเขียนให้ทุกคะแนนเสียงมีค่า แม้จะไม่ได้เป็น ส.ส. ในระบบเขต แต่ทุกคะแนนเมื่อสะสมทุกจังหวัดก็อาจทำให้ได้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จึงไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์และไม่คิดจะไปตอบโต้ให้เป็นประเด็นยืดยาว

พลังประชารัฐจะกวาด ส.ส. 350 คน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร คุยโวว่า พปชร. วันนี้ยิ่งใหญ่มากกว่าสมัยเปิดพรรคไทยรักไทยที่ขณะนั้นคิดว่ายิ่งใหญ่แล้ว ผู้สมัคร ส.ส.เขต 350 คน และบัญชีรายชื่อรวม 500 คน คุณภาพคับแก้วทั้งนั้น ตลอด 7-8 เดือนที่ผ่านมาถูกผู้สื่อข่าวถามหรือกระแหนะกระแหนว่าเมื่อไรจะนำกลุ่มสามมิตรเข้า พปชร. ต่อจากนี้ไปจะไม่มีกลุ่มสามมิตร มีแต่ พปชร. ซึ่งเป็นพรรคของประชาชน ต้องชนะเลือกตั้งให้ได้อย่างน้อย 150 คน ซึ่งจากประสบการณ์ทางการเมืองและทำโพลกับอดีต ส.ส. มั่นใจว่า 150 เสียงได้แน่นอน

นายสุริยะกล่าวถึงเบื้องหลังกลุ่มสามมิตรว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือสมัยอยู่พรรคไทยรักไทยด้วยกันบอกว่าถ้าไม่มีพรรคทางเลือกใหม่ให้ประชาชน เมื่อเลือกตั้งเสร็จ 2 ขั้วเดิมก็จะมาและคงจะเกิดวิกฤตทางการเมืองอีก ทหารก็จะเข้ามาอีก ถ้าไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นก็ต้องมีพรรคทางเลือกใหม่ โดยขอให้ตนช่วยประสานกลุ่มต่างๆมาร่วมอุดมการณ์ ยิ่งมั่นใจที่ได้พบดาวรุ่งไทยปรากฏใหม่คือ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ถ้าได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสิ่งสำคัญที่สุดคือจะทำอย่างไรให้ พปชร. อยู่ในหัวใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งจะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค

แต่ประเด็นที่ฮือฮากว่าคือนายสนธิรัตน์ประกาศว่า “พปชร. จะกวาด ส.ส. 350 คน” และบอกว่า “ถ้าเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีพรรคพลังประชารัฐ ประเทศนี้จะไร้ทางออกโดยสิ้นเชิง” แต่หลังจากพูดเพียง 1 วัน นายสนธิรัตน์ได้ออกมาแก้เกี้ยวว่า ที่พูดว่าจะได้ ส.ส. 350 คน เป็นการพูดในเชิงหยอกล้อและให้กำลังใจ

20 ปี “กับดัก” รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ

ขณะที่เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงาน “พรรคทักษิณ : ย้อนเกมต่อสู้ในรอบ 20 ปี หนี “กับดัก” รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ” หลังจากวาทกรรม “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” จากปากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่นำนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น 60 ชีวิต สมัครเป็นสมาชิก พปชร. ซึ่งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ย้ายไปสังกัด ทษช. เหน็บว่า “กติกานี้ไม่ได้ออกแบบมาไว้เพื่อพวกเรา พวกเราจึงต้องออกแบบการต่อสู้ของเราเองเพื่อเอาชนะการสืบทอดอำนาจเผด็จการโดยสันติ”

บีบีซีไทยย้อนการต่อสู้ในรอบ 20 ปีของ “พรรคทักษิณ” เพื่อแก้โจทย์และหนีกับดักในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ตั้งแต่ยุค “สร้างการเมืองใหม่” ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 สู่ยุค “ชนะเลือกตั้ง แต่ปกครองไม่ได้” ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และยุค “ล็อกชื่อนายกฯหน้าเดิม” ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกจับตามองว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ภายใต้การกำกับของ คสช. ที่คิดไปไกลถึงขั้น “วางรัฐบาลของตัวเอง” โดยให้อำนาจ ส.ว.ลากตั้ง 250 คน ร่วมกับ ส.ส. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี จะสามารถล้ม “พรรคทักษิณ” ที่ใช้ยุทธศาสตร์ “แยกกันเดิน ร่วมกันตี” ได้หรือไม่ โดยให้อดีต ส.ส.เกรดเอในภาคเหนือและภาคอีสานสังกัดพรรคเพื่อไทย ส่วนอดีตผู้สมัครเกรดบีไปเก็บคะแนนที่เคยเป็น “เสียงตกน้ำ” ในภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ให้พรรคพันธมิตรใกล้ชิดอย่างพรรคไทยรักษาชาติ

ยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์ย่อย” ของ “พรรคทักษิณ” จะทำให้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ ก็ถือว่าเป็นการออกแบบวิธีเล่นการเมืองที่แม้แต่ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ยังยอมรับว่า “คิดไม่ถึง” ซึ่งนายวิษณุก็ยอมรับว่า การแตกพรรคไม่มีกฎหมายไหนระบุว่าผิด แต่ถ้าให้ใครมาครอบงำถือว่ามีความผิด

ย้อนนึกถึงคำพูด “เขาอยากอยู่ยาว”

วาทกรรม “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” สอดคล้องกับวาทกรรม “จะกวาด ส.ส. 350 คน” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมตัวและความมั่นใจในการ “สืบทอดอำนาจ” โดยการเลือกตั้งครั้งนี้จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน เพราะอำนาจรัฐและกลุ่มทุนใหญ่สนับสนุนไม่อั้น แล้วยังมีรัฐธรรมนูญที่ออกแบบให้อยู่ยาว ตอกย้ำคำพูดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 ที่ถูกคว่ำกลางสภาลากตั้งที่บอกว่า “เขาอยากอยู่ยาว”

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวหลังการประชุม ครม. (20 พฤศจิกายน) ว่า การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ให้อำนาจ กกต. ขยายการแบ่งเขตเลือกตั้ง ไม่ได้ไปก้าวล่วงหรือแทรกแซงและจะไม่มีผลกระทบกับโรดแม็พทั้งสิ้น แต่ถ้าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของส่วนรวมที่ต้องไปว่ากันมา รวมถึงฝ่ายการเมือง

ส่วนที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐระบุว่าจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่เห็นมีใครมาเสนอตนสักที การเสนอชื่อก็ต้องมาพบปะเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่ไปพูดกันในสื่อในอะไรต่างๆ ตนจะมีอะไรก็อยู่ในใจก็คือในใจ จะใช้คำว่านอกใจก็ไม่ได้ แต่ถ้าข้างนอกก็อีกเรื่องหนึ่ง เอาไว้ตนจะพูดอีกที ยังมีเวลาอยู่

เขาดีไซน์มาเพื่อพวกเรา

นักการเมืองมีหลายประเภท มีทั้งที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างชัดเจน และก็มีนักการเมืองประเภทที่ไม่เคยมีอุดมการณ์ใดๆที่พร้อมจะผสมพันธุ์กับทุกฟากฝ่ายเพียงเพื่อได้ตำแหน่งและอำนาจ นักการเมืองประเภทนี้ย่อมถูกอกถูกใจกับรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ไม่สามารถเก็บอาการได้ จนหลุดปากว่า “…เขาดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเขาแล้ว ยังเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อให้ประชาชนคนไทยจำต้องอยู่ในกะลาอีกต่อไปอย่างน้อย 20 ปี

สิ่งที่เห็นเด่นชัดหลังจากการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างน้อย 2 ครั้งในช่วง 12 ปี โดยเฉพาะ 5 ปีล่าสุดจนถึงวันนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คณะรัฐประหารไม่ได้ใช้อำนาจในการปฏิรูปในสาระสำคัญตามที่กล่าวอ้างในการรัฐประหารเลย นอกจากทำให้คนไทยต้องตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ และจมปลักอยู่ในกะลาต่อไป เพื่อง่ายต่อการปกครองเท่านั้น

ความฝันเล็กๆขั้นแรกของประชาชนที่ฝันว่าเสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรข้างมากจำนวน 251 เสียง จาก 500 เสียงในสภา ที่จะมาจากการเลือกตั้งครั้งหน้านั้น แม้ยากแต่อาจจะเป็นจริงได้

ในขณะที่ความเป็นจริงแล้ว ถ้าประชาชนจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายสำคัญอะไรด้วยการคุมอำนาจทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติได้นั้น จำเป็นจะต้องได้เสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งให้มากถึง 376 เสียง จึงจะถือว่าชนะถล่มทลาย และแผ่นดินสะเทือน จนระบอบเผด็จการแทบไม่มีที่ยืน แต่ดูเหมือนว่า 376 เสียงนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายในกติกาที่ถูกดีไซน์มาแล้วเพื่อฝ่ายหนึ่ง

ถึงกระนั้นหากว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยรวมกันสามารถสร้างฝันแรกให้สำเร็จ คือทำได้เกินเพียงแค่ 251 เสียง (ทั้งที่เป็นเสียงส่วนมากแต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้) จะหมายความว่าการตั้งรัฐบาลจากฟากฝ่ายเผด็จการเสียงส่วนน้อยร่วมกับสมาชิกวุฒิสภา 250 คนดีวิเศษที่มาจากการลากตั้ง จะกลายเป็นรัฐบาลที่ไร้ศักดิ์ศรี ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ รวมถึงจะไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างเป็นสุขเช่นกัน

ตัวเลข 251 ในฝันขั้นแรก และตัวเลขถล่มทลาย 376 เสียงของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง จึงเป็นอาวุธที่ร้ายแรงจนระบอบเผด็จการมิอาจนิ่งนอนใจได้

กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 อยู่หรือไม่ ระหว่างนี้เราคงได้เห็น “อภินิหารทางกฎหมาย” ออกอิทธิฤทธิ์มาเรื่อยๆ

“ลายพราง” ที่เห็นจึงมิได้มีแค่สีเขียวหรือสีกากี แต่บัดนี้ได้ถูกดีไซน์ “ลายพราง” ให้มีสารพัดสี จากปฏิบัติการยึดอำนาจโดยกองทัพที่นานาชาติไม่ยอมรับ บัดนี้ได้พรางลายเป็น “ลายพราง” อยู่ในสภาพพรรคการเมืองเรียบร้อยแล้ว

เขาดีไซน์มาเพื่อพวกเขาจริงๆ!!??

 


You must be logged in to post a comment Login