วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

‘โรคซึมเศร้า’ ภัยเงียบที่ต้องใส่ใจ / โดย ผศ.พญ.กมลเนตร วรรณเสวก

On November 16, 2018

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : ผศ.พญ.กมลเนตร วรรณเสวก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 16-23 พฤศจิกายน 2561)

มีหลายคนตั้งข้อสงสัยถึงอาการของโรคซึมเศร้าว่ามีความน่ากลัวจริงหรือ จะสังเกตได้อย่างไร และหากเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดแล้วจะรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างไร

โรคซึมเศร้า คือโรคที่มีความผิดปรกติทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีอารมณ์ที่เศร้ามากกว่าปรกติ เป็นนานกว่าปรกติ เป็นทุกวันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรืออาจเบื่อหน่ายไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยชอบทำ และจะมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น รับประทานอาหารอาหารได้น้อยลง มีปัญหาการนอนหลับ รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าง่าย ความจำไม่ค่อยดี หรือสมาธิไม่ดีเท่าเดิม อาจรู้สึกว่าตนเองแย่หรือไม่ดี ไม่มีคุณค่า มีความมั่นใจน้อยลง บางคนหากเป็นมากอาจมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรืออาจไม่ต้องการมีชีวิตอยู่

ปัจจัยหลักของการเกิดโรคซึมเศร้ามี 3 ด้าน ปัจจัยแรกคือด้านร่างกายหรือชีวภาพ หมายถึง มีสารเคมีในสมองไม่สมดุล ทำให้เมื่อเกิดอารมณ์เศร้าก็จะเศร้ามากจนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ อาจทำให้รู้สึกแย่จนอยากตายได้ ปัจจัยถัดมาคือด้านจิตใจ เช่น ประสบกับปัญหาความเครียดที่รุนแรงหรือยาวนานจนไม่สามารถปรับตัวได้ หรือมีทักษะในการปรับตัวแก้ไขปัญหาที่น้อย หรือเคยใช้วิธีที่ไม่เหมาะสมมาก่อน เมื่อเกิดปัญหาจึงรับมือได้ยาก และปัจจัยสุดท้ายคือปัจจัยด้านสังคม เช่น เพิ่งประสบการสูญเสียคนสำคัญหรือคนใกล้ชิด หรือต้องอยู่ร่วมกับผู้ที่ทำให้เกิดความเครียดตลอดเวลา และไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากันได้

เมื่อสังเกตพบว่าอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองหรือคนใกล้ชิดเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เศร้าซึม หงุดหงิดง่าย ไม่อยากทำอะไรเหมือนที่เคยทำ ให้สงสัยว่าอาจเป็นอาการของโรค ควรไปปรึกษาแพทย์หรือจิตแพทย์ โดยแพทย์หรือจิตแพทย์จะถามอาการที่เกิดขึ้นเพื่อวินิจฉัยโรคซึมเศร้า และแยกจากโรคอื่นๆที่มีอาการคล้ายกัน และหาสาเหตุของอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้น โดยอาจตรวจร่างกายหรือเจาะเลือดเพื่อตรวจเช็กฮอร์โมน หรือส่งตรวจอื่นๆหากมีข้อสงสัยว่ามีความผิดปรกติทางร่างกายที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า

สำหรับการรักษาโรคซึมเศร้าจะมีการรักษาใน 3 ปัจจัยหลัก โดยการรักษาทางชีวภาพ แพทย์หรือจิตแพทย์จะให้รับประทานยารักษาโรคซึมเศร้า เพื่อปรับให้สารเคมีในสมองกลับสู่ภาวะสมดุล และลดอาการของโรคซึมเศร้า เช่น ช่วยให้กลับมารับประทานอาหารได้ปรกติ นอนหลับ สมาธิความจำกลับมาดีเหมือนเดิม ส่วนการรักษาทางจิตใจ ในกรณีประสบปัญหาชีวิตร่วมด้วย แพทย์หรือจิตแพทย์อาจให้คำปรึกษาเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว หรือพูดคุยทำจิตบำบัด เพื่อให้ปรับตัวกับปัญหาชีวิตที่เรื้อรังได้ดีขึ้น ส่วนการรักษาด้านสังคม แพทย์หรือจิตแพทย์จะสอบถามถึงมุมมองของคนใกล้ชิดที่มีต่อผู้เป็นโรคซึมเศร้า และแนะนำการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น คอยสนับสนุนหรือดูแลให้รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงวิธีให้กำลังใจและคอยรับฟังความทุกข์ในจิตใจของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าให้เข้าใจโดยไม่รีบตัดสินหรือรีบให้คำแนะนำ รวมถึงไม่เพิ่มความเครียดหรือความกดดันให้ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าเกิดความเครียดหรือทุกข์ใจมากกว่าเดิม สำหรับบางครอบครัวที่มีปัญหาซับซ้อน ส่งผลกระทบกับสมาชิกหลายคนในบ้านจนไม่สามารถพูดคุยกันให้เข้าใจได้ แพทย์หรือจิตแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยและครอบครัวรับการทำครอบครัวบำบัด เพื่อปรับความเข้าใจกัน และปฏิบัติตัวต่อกันได้เหมาะสมยิ่งขึ้น

ปัจจุบันการรักษาโรคซึมเศร้ามียาดีๆที่ใช้รักษาได้หลากหลายจนผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าสามารถหายเป็นปรกติได้ โดยมีความรักความเข้าใจของคนใกล้ชิดเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมให้ผู้ป่วยหายได้เร็วขึ้น หากรักษาครบทั้ง 3 ด้านสามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ปรกติดังเดิม หรือมีสมดุลใหม่ของชีวิต และสิ่งสำคัญคือหากผู้ป่วยเอ่ยถึงความคิดฆ่าตัวตายหรือต้องการทำร้ายตัวเอง ควรใส่ใจว่าเป็นเรื่องสำคัญ เกิดจากอาการของโรค ไม่ใช่การเรียกร้องความสนใจ คนใกล้ชิดต้องไม่ท้าทายหรือประชดประชันหรือทำเป็นไม่ใส่ใจ เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยตัดสินใจทำสิ่งที่เราไม่คาดคิดและไม่อยากให้เกิดขึ้นได้ แต่ควรรับฟังให้เข้าใจถึงความทุกข์ใจของเขาและรีบพาไปปรึกษาแพทย์


You must be logged in to post a comment Login