วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

มูลมหาประชาชน

On November 15, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 16-23 พฤศจิกายน 2561)

อนาคตประเทศไทยยังไม่มีอะไรแน่นอน ยังคงเอกลักษณ์เป็น “ประเทศกูมี” ต่อไป เพราะแม้แต่การเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 หลายฝ่ายก็ยังไม่มั่นใจ 100% ทุกครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางไปพบผู้นำต่างประเทศ จึงถูกตั้งคำถามเรื่องการเลือกตั้ง เพราะคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ก่อนหน้านี้หลายครั้งไม่เป็นไปตามที่พูด

.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการเลื่อนเลือกตั้งหากพรรคการเมืองยังไม่มีความพร้อม (12 พฤศจิกายน) ว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. จะพิจารณา ซึ่งขณะนี้ กกต. ทั้ง 5 คนยังไม่ได้มีการประชุมพิจารณากำหนดวันเลือกตั้ง ถ้าใกล้วันจะประชุมพิจารณาก็คงมีการหารือกับ คสช. แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบเวลาตามที่กฎหมายกำหนดคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์-9 พฤษภาคม 2562 โดยยืนยันว่าสำนักงาน กกต. มีความพร้อมที่จะจัดเลือกตั้งได้เร็วที่สุดตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เพราะบุคลากรของสำนักงาน กกต. แต่ละจังหวัดมีความพร้อมทั้งเรื่องคน บัตรเลือกตั้ง และการรณรงค์เลือกตั้ง

ส่วนที่มองว่าอาจมีปัญหาทางเทคนิคในการรับจดจัดตั้งพรรคการเมืองที่เหลืออยู่ประมาณ 12 พรรค ก็พยายามเร่งเท่าที่จะทำได้ เพราะบางพรรคเพิ่งยื่นเอกสารเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจะเร่งรับจดจัดตั้งให้ทันวันที่ 26 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนจะครบกรอบเวลา 90 วันที่ผู้จะสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคการเมืองต่างๆต้องเป็นสมาชิกพรรคหากจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์

หากมีหลายพรรคยังไม่พร้อมเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยนำไปสู่การเลื่อนเลือกตั้งหรือไม่นั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า เป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่สามารถให้คำตอบได้

“ไพบูลย์” เด้งรับเลื่อนเลือกตั้งอ้างพรรคการเมืองไม่พร้อม

นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป กล่าวถึงกรณี พ.ต.อ.จรุงวิทย์ระบุว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ไม่ใช่วันหย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่เป็นเพียงเดดไลน์ให้ กกต. เตรียมความพร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งว่า ไม่คิดว่าเป็นปัญหา ที่ผ่านมาก็ทราบข่าวอย่างต่อเนื่องว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์จะไม่มีการเลือกตั้ง เพราะความไม่พร้อมของพรรคการเมือง โดยในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ กกต. จะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองเข้าประชุม จะมีประเด็นความไม่พร้อมของพรรคการเมืองด้วย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ครม. (13 พฤศจิกายน) ว่า รัฐบาลไม่เคยพูดเป็นอย่างอื่นนอกจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ มีแต่ฝ่ายอื่นที่พูด ส่วนการแบ่งเขตของ กกต. จะไม่มีผลกระทบอะไรกับการเลือกตั้ง สามารถแบ่งได้เรื่อยๆจนกว่าจะถึงวันที่ 11 ธันวาคมที่กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมดจะมีผลซึ่งทันแน่ ขณะนี้ไม่มีเหตุอะไรที่ต้องเลื่อนออกไป แต่เหตุมาจากหลายฝ่าย ซีกรัฐบาลยังไม่เคยพูด ซึ่ง กกต. จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง และ กกต. ไม่มีโอกาสที่จะไม่พร้อม หากจะมีก็เป็นฝ่ายอื่น แต่เดี๋ยวจะหาว่าตนชี้โพรงให้กระรอกอีก เพราะฉะนั้นอย่าพูดดีกว่า หากมีความจำเป็นที่ต้องพูดเป็นอย่างอื่นก็จะพูดเป็นทางการ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า ไม่พบปัจจัยให้การเลือกตั้งต้องเลื่อน ทั้งยังยืนยันว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

นับถอยหลัง คสช.

ก่อนหน้านี้ (8 พฤศจิกายน) นายวิษณุได้ชี้แจงการเตรียมการของคณะรัฐมนตรีในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งมีกำหนดการดังนี้

วันที่ 11 ธันวาคม 2561 พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เริ่มบังคับใช้ โดยต้องจัดการเลือกตั้งให้เสร็จใน 150 วัน หรือวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 วันที่ 16-27 ธันวาคม 2561 กกต. จะประกาศใช้ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. และปลดล็อกคำสั่ง คสช. หลังจากนั้นภายใน 5 วันนับจากประกาศใช้ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. กกต. จะออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร และจำนวน ส.ส. ในแต่ละเขต โดยไม่เกิน 25 วันนับจากประกาศใช้ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. กกต. จะเปิดรับสมัคร ส.ส. โดยให้เวลา 5 วัน และพรรคการเมืองต้องแจ้งชื่อนายกฯให้ กกต. ประกาศ

วันที่ 2 มกราคม 2562 กกต. ส่งรายชื่อผู้เข้ารอบ ส.ว. 200 คน ให้ คสช. คัดเลือกเหลือ 50 คน บวกสำรอง 50 คน วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หยุดพิจารณากฎหมาย

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศรวม 500 คน แยกเป็น ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ภายใน 60 วันนับจากเลือกตั้ง กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้ง คือประมาณวันที่ 24 เมษายน 2562

วันที่ 27 เมษายน 2562 คสช. ประกาศรายชื่อ ส.ว. 250 คน และนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย โดยก่อนหน้าการเปิดประชุมรัฐสภา 1 วัน สนช. สิ้นสุดการทำหน้าที่ และภายในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 เปิดประชุมรัฐสภาเพื่อ 1.เลือกประธานสภาและประธานวุฒิสภา 2.เลือกนายกรัฐมนตรี 3.โปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 4.ตั้ง ครม. และ ครม.ใหม่ปฏิญาณ ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดตั้ง ครม. ได้ในเดือนมิถุนายน 2562

จากวิบัติ “ลุงกำนัน” ถึงความฝัน “ลุงตู่”

หากเป็นไปตามที่นายวิษณุชี้แจงและไม่มีอะไรสะดุดจนเกิดวิกฤตการเมืองใดๆ รัฐบาลทหารและ คสช. ก็จะสิ้นสุดการอยู่ในอำนาจที่อยู่มานานถึง 5 ปีเต็ม นานกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะโดดมาเล่นการเมืองและเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ “ระบอบ คสช.” ก็ยัง “สืบทอดอำนาจ” ต่อไปภายใต้ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” และ ส.ว.ลากตั้งอีก 250 คน

ดังนั้น ช่วงสำคัญทางการเมืองที่ทุกอย่างจะเริ่มชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น “พรรคนอมินี” หรือ “อีแอบ” จะต้องโผล่หน้าโชว์ตัว เพราะหลัง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เริ่มบังคับใช้วันที่ 11 ธันวาคม กกต. จะต้องจัดการเลือกตั้งให้เสร็จใน 150 วัน และ คสช. จะประกาศ “ปลดล็อกพรรคการเมือง” โดยทุกฝ่ายจะพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะประกาศอนาคตทางการเมืองอย่างไร เพราะหลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. ไม่เกิน 25 วัน พรรคการเมืองต้องแจ้งรายชื่อนายกรัฐมนตรีให้ กกต. ประกาศ

เมื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง หาก พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเล่นการเมืองเต็มตัวก็จะรู้ชัดเจนว่าคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์จะยังเป็นไปตามที่โพลต่างๆสำรวจหรือไม่ โดยเฉพาะผลงานและนโยบายของรัฐบาลที่ชู “ยุทธศาสตร์ชาติ” ที่จะทำให้ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนนั้น ประชาชนชื่นชอบจริงหรือไม่

อย่างปรากฏการณ์ต่อว่าและขับไล่ รวมถึงการคืนนกหวีด “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ที่ “ตระบัดสัตย์” เป็นแกนนำตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ระหว่าง “เดินคารวะแผ่นดิน” แม้นายสุเทพจะยืนยันว่าแค่มาช่วยทำพรรค จะไม่รับตำแหน่งใดๆ เพื่อการจัดตั้งพรรครัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งนายสุเทพประกาศมาตลอดว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

อดีต กปปส. สารภาพหลงผิด ตั้งเพจนกหวีดหัก-ตระบัดสัตย์

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อนายปนิธิ แสนปราชญ์ อดีต กปปส. โพสต์ข้อความถึงนายสุเทพว่า เป็นหนึ่งในหลายแสนคนที่กล้าพูดความจริง ที่ออกมาร่วมสู้กับ กปปส. ก็มาในฐานะประชาชนธรรมดาที่ทำธุรกิจคนหนึ่งที่มีใจรักชาติ ไม่เคยคิดเล่นการเมืองหรือสังกัดพรรคการเมืองใดๆมาก่อนเลย ขอทวงบุญคุณทั้งต้นและดอกเบี้ยที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ ร่วมชุมนุมอย่างไม่เคยปริปากบ่น ทิ้งบ้าน ทิ้งลูกทิ้งเมีย ทิ้งบ้านเกิด ทิ้งคนที่รัก ทิ้งความสุขส่วนตัว มาร่วมเข้าสู้เป็นเวลาหลายๆเดือน หมดกำลังทรัพย์ส่วนตัวมิใช่น้อย..ฝันเห็นประเทศมีความเจริญด้วยคนรุ่นใหม่ที่รักชาติรักแผ่นดินร่วมกันพัฒนาชาติให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ นี่คือความหวังสูงสุดในการเข้าร่วมต่อสู้..โดยคิดว่าการต่อสู้ครั้งนี้ทำเพื่อชาติจริงๆ ใครจะคิดล่ะว่าสิ่งที่เราประชาชนทำลงไปมันคือการถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือ

นายปนิธิยังกล่าวถึงผู้มีอำนาจที่เสพติดอำนาจและปกป้องพวกพ้อง ขณะที่เศรษฐกิจประชาชนหาเช้ากินค่ำตายสนิท ทั้งให้นายสุเทพเลิกพูดเสียทีว่าผู้คนที่คัดค้านไม่ใช่ กปปส. เพราะคน กปปส. ไม่มีทางเกลียดตนขนาดนี้ “ผมนี่แหละอดีต กปปส. วันนี้ขอทวงบุญคุณทั้งต้นและดอกเบี้ยกับนายสุเทพและพวก”

นายปนิธิยังโพสต์ขอโทษแม่และลูกที่ทำให้ครอบครัวเดือดร้อนและไม่สบายใจ แต่ตัดสินใจแล้วที่จะสู้ร่วมกับเพื่อนอุดมการณ์เดียวกันเพื่อรักษาแผ่นดินนี้ “วันนี้ป๊าตัดสินใจแล้วที่จะไถ่บาปที่เคยหลงช่วยคนผิดที่เสียสัจจะ จะขอสู้กับรัฐบาลเผด็จการที่รังแกประชาชนคนเสียภาษีอย่างเราด้วยสติปัญญาและสองมือเปล่าบนความถูกต้องชอบธรรม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับป๊าต่อจากนี้ ขอให้ลูกๆรู้ว่าป๊ารักและภาคภูมิใจในตัวลูกๆทุกคน ถ้าป๊าไม่อยู่ก็ฝากลูกๆช่วยกันดูแลหัวใจแม่แทนป๊าด้วย นับจากวันนี้ครอบครัวเราคงไม่มีความสงบสุขเหมือนเดิมอีกแล้ว”

นอกจากนี้นายปนิธิยังให้สัมภาษณ์นายจอม เพชรประดับ ผ่านรายการ Thais Voice ว่า ได้จัดตั้งกลุ่มเพจเรียกว่า “กลุ่มนกหวีดหัก-ตระบัดสัตย์” โดยเตรียมจะรวมตัวกันไปถอนคำสาบานที่เคยสาบานกับนายสุเทพต่อหน้าพระแก้วมรกตที่วัดพระแก้ว เพราะขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเป้าหมายของการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. ที่ผ่านมาคือการสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่หลังจากนายปนิธิได้โพสต์ข้อความถึงนายสุเทพปรากฏว่ามีทหารมาที่บ้าน จึงได้แชร์วิดีโอถ่ายทอดสดทหาร 3 นาย โดยโพสต์ว่า “อยู่บ้านดีๆมีพี่ทหารมาเยี่ยม คนไทยเราไม่สามารถแสดงความคิดเห็นอะไรได้อีกเลยเหรอ..อำนาจที่แท้จริงไม่ใช่ของใคร แต่เป็นของประชาชนชาวไทยที่จ่ายเงินเดือนและค่าสวัสดิการให้พวกคุณ..มีจิตสำนึกที่ดีบ้างนะครับ”

เจ้าหน้าที่ทหารกล่าวกับนายปนิธิว่าไม่มีอะไรและไม่ได้จับ เพียงต้องการมาคุยกับเจ้าของบ้านเฉยๆ ซึ่งนายปนิธิยืนยันว่าไม่ได้กลัวทหาร เพราะเมื่อกล้าทำก็กล้ารับ

จุดตายเครือข่ายเผด็จการ

นายไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำกลุ่ม กปปส. โพสต์เฟซบุ๊ค (11 พฤศจิกายน) “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง…? วาทกรรมลวงโลก” ว่า เลือกตั้งก่อนปฏิรูปคือจุดสลบ จุดตายของ คสช. และพรรคการเมืองเครือข่ายเผด็จการ แกนนำการชุมนุมเคยประกาศก้องบนเวที “ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” พร้อมชักชวนผู้ชุมนุมเรือนล้านกู่ร้องตาม

“ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งๆๆ” ดังกระหึ่มกึกก้องไปทั่ว จนกลายเป็นฉันทามติ มติมหาชนของมวลมหาประชาชนที่ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์หลายล้านคน ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าปฏิเสธระบบการเมืองที่ล้มเหลว ต้องการให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง เพื่อต้องการได้การเมืองที่ดี นักการเมืองที่ดี พรรคการเมืองที่ดี และได้ระบบการเมืองที่ดี

ความจริงวันนี้ไม่มีการปฏิรูปการเมืองใดๆทั้งสิ้น เผด็จการยังเดินงานการเมืองแบบ “น้ำเน่า” ไล่ดูดนักการเมืองสีเทาสีดำไปทั่ว มวลมหาประชาชนรู้สึกเหมือนถูกทรยศหักหลัง แกนนำมวลมหาประชาชนได้แต่แบะๆๆไม่พูดเรื่องนี้ ทำเป็นหลงลืม

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง เรื่องนี้จะยิ่งถูกโหมกระพือให้กลายเป็นกระแสที่พุ่งเป้าไปที่ คสช. และพรรคการเมืองเครือข่ายเผด็จการ ยิ่งแสดงท่าที “ไม่ให้ค่า” “ไม่ให้ราคา” ผู้คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับมวลมหาประชาชนที่แสดงความไม่เห็นด้วย ยิ่งเป็นการทำลายความรู้สึกผูกพัน ความศรัทธาของมวลมหาประชาชนต่อแกนนำการชุมนุม ไม่เกิดผลดีใดๆทั้งสิ้น โอกาสได้คะแนนเสียงยิ่งน้อยลงไปเรื่อยๆ ความพ่ายแพ้จึงรออยู่เบื้องหน้า

รัฐประหารแล้วประเทศเป็นอย่างไร

นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊คแฟนเพจว่าการเมืองมีเพียง 2 ทิศทางเท่านั้นคือฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการ โดยระบุว่า “พานทองแท้เชียร์ทุกพรรค รักทุกคนที่อยู่ฝั่งประชาธิปไตย” ครับ พรรคฝั่งประชาธิปไตยผมหมายรวมถึงทุกพรรคที่ชัดเจนในนโยบายว่าพรรคของตนจะไม่สนับสนุนเผด็จการในการสืบทอดอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นพรรคที่แตกออกมาจากพรรคเก่า หรือจะเป็นพรรคที่เพิ่งเข้ามาในสนามการเมืองใหม่ก็ตาม สรุปง่ายๆคือ “ไม่ว่าคุณคือพรรคไหน ถ้าคุณไม่เอาเผด็จการ เราคือเพื่อนกัน”

หมดเวลาที่พรรคการเมืองจะตั้งหน้าตั้งตาทะเลาะกันแล้ว ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ถูกเขียนขึ้นเพื่อให้พรรคการเมืองแข็งแรง การรวมพรรคให้ใหญ่จึงเป็นจุดแข็งทางการเมือง พรรคการเมืองย่อยๆจึงไปรวมกันเป็นพรรคใหญ่ แยกเป็น 2 ขั้วชัดเจน ซึ่งถ้าแต่ละฝ่ายมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะกัน ก็น่าจะไปได้ดี ไม่มีปัญหาอะไร

ปรากฏว่าการทำงานในสภากลับไม่เป็นเช่นนั้น ฝ่ายหนึ่งเสนออะไรอีกฝ่ายค้านเรียบ ค้านตะบี้ตะบัน นโยบายดีไม่ดีอย่างไรกรูค้านเรียบ ค้านไม่ชนะในสภาก็ดึงกองเชียร์ออกมาร่วมค้านกลางถนนด้วย จนทหารถือโอกาสอ้างความขัดแย้งทางการเมืองออกมากระทำรัฐประหาร และสถาปนาตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้

รัฐประหารแล้วประเทศชาติโดยรวมเป็นอย่างไร ก็อย่างที่เราสัมผัสได้ในทุกวันนี้ นอกจากการบริหารและปกครองประเทศแบบทหารๆที่เราต้องทนกันมา 4-5 ปีแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังแอบแฝงไว้ด้วยกระบวนการในการคิดคะแนนเลือกตั้งที่พิสดารพันลึกไว้อีกด้วย

จากที่พรรคการเมืองยิ่งมีขนาดใหญ่ยิ่งควรจะมีเสถียรภาพมากขึ้นกลับตรงกันข้าม เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ถูกออกแบบไว้ให้พรรคขนาดใหญ่ที่มี ส.ส.เขตชนะเลือกตั้งจำนวนเยอะๆจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อยลง ส่วนพรรคการเมืองที่ส่ง ส.ส. ลงเยอะๆแต่แพ้ซ้ำซาก มีเขตที่แพ้มากกว่าเขตชนะ ยิ่งแพ้มากเขตยิ่งได้โบนัสเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งเมื่อเรามาคำนวณดูแล้ว พรรคที่ชนะเขตมากๆอาจไม่มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลยแม้แต่คนเดียว แต่พรรคที่แพ้เลือกตั้งหลายๆเขตจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เป็นกอบเป็นกำ ยิ่งแพ้มากเขตยิ่งได้ปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้นเป็นเงาตามตัว อ้าว..ไหงงั้นล่ะ!!

ในเมื่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอยากให้พรรคใหญ่มีขนาดเล็กลง ในวันนี้เราจึงได้เห็นการตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆขึ้นมาเต็มไปหมด ไอ้ที่ว่าแตกแบงก์ร้อยแบงก์พันอะไรนั่น ไม่เห็นมีใครไม่แตกเลยสักคน แตกออกจากพรรคเดิมบ้าง แตกออกมาจากทำเนียบบ้าง จากค่ายทหารบ้าง วุ่นกันไปหมด ก็เล่นเขียนมาแบบนี้

เชียร์ทุกพรรคที่ไม่เอาเผด็จการ

นายพานทองแท้ยังให้ความเห็นว่า คนของรัฐบาลเผด็จการที่ชอบด่าว่านักการเมืองเลวก็ส่งนอมินีมาตั้งพรรค แตกตัวออกมาจะได้เป็นนักการเมืองเสียเอง คนที่เคยสัญญาทั้งผ้าเหลืองว่าจะไม่ยุ่งการเมืองแหล่ว ผมพอแหล่ว ไม่เอาไรแหล่ว ก็แตกหน่อจากพรรคเก่าแก่ออกมาเป็นพรรคใหม่

นักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรงไม่เคยคิดจะเป็นนักการเมืองก็ตั้งพรรคการเมืองเอง ลูกหลานนักการเมืองและอดีต ส.ส. ที่คำนวณแล้วว่าอยู่ในพรรคใหญ่ก็ไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์ ต่างก็ชวนพรรคพวกที่สนิทสนมกันแยกย้ายกันไปตั้งพรรคใหม่ โดยไม่ต้องง้อพรรคใหญ่ให้ยุ่งยาก ได้เป็น ส.ส. ง่ายกว่าเยอะ ตั้งพรรคขึ้นมามีคนเลือก 7 หมื่นคนก็ได้เป็น ส.ส. แล้ว 1 คน ช่วยกันหามาสัก 7 แสนคนก็ได้ ส.ส. แล้ว 10 คน เป็นพรรคไซซ์มินิพอดีๆ ไม่เสียเปรียบใคร

รูปแบบของการต่อสู้ทางการเมืองแบบใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วจากผลพวงของรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นด้วยฝีมือคนที่ คสช. เลือกเข้ามาเอง อยากให้พรรคการเมืองมีขนาดเล็กก็ได้พรรคเล็กสมใจ จึงได้ที่มาของสโลแกนพานทองแท้ที่ว่า “เชียร์ทุกพรรค รักทุกคน”

เลือกตั้งครั้งหน้า ดูจุดยืนของแต่ละพรรค ชอบพรรคไหนเลือกพรรคนั้น ไม่ต้องคิดมาก 1.อยากให้ทหารกลับกรมกองก็เลือกพรรคที่ชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย 2.อยากให้ลุงทหารบริหารประเทศต่อไปก็เลือกพรรคที่สนับสนุนเผด็จการ

การเมืองก็จะเป็นไปในทิศทางที่ท่านต้องการ 1 หรือ 2 เท่านั้น!! ไม่ต้องคิดมากครับ…

สามก๊กการเมืองไทย

นายไพศาล พืชมงคล คนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร โพสต์เฟซบุ๊ค Paisal Puechmongkol (5 พฤศจิกายน) “สามก๊กการเมืองไทย” ว่า ภาพสามก๊กการเมืองไทยชัดขึ้นอีกขั้นหนึ่งคือ

1.ก๊กสนับสนุนลุงตู่ ตอนนี้ก็คงมีพรรคพลังประชารัฐ พรรคของคุณลุงสุเทพ และพรรคของคุณน้าไพบูลย์

2.ก๊กสนับสนุนลุงแม้ว ซึ่งมีพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อธรรม พรรคไทยรักษาชาติ และอีกหลายพรรค ซึ่งคงจะจัดพื้นที่ตามคณะกรรมการภาคของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง

3.ก๊กที่ไม่ค่อยชัดเจนว่าจะหนุนใครแต่พร้อมที่จะจัดตั้งรัฐบาลเองเหมือนกัน ก็มีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา

ก๊กไหนขาขึ้น ก๊กไหนขาลง ก็ดูกันเอาเอง

ดูแลตัวเองไม่ได้ไม่เป็น “มงคล”

ประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากนอกจากข่าวที่อาจเลื่อนการเลือกตั้งคือ การทำหน้าที่ของ กกต. ว่าจะทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ ซึ่งหลายฝ่ายเรียกร้องให้เชิญผู้แทนจากสหประชาชาติหรือสหภาพยุโรปมาสังเกตการณ์ แต่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่เห็นด้วยที่จะให้ต่างชาติเข้ามา เพราะการที่ผู้สังเกตการณ์จะเข้ามาคือประเทศที่มีปัญหา ต้องถามสื่อว่าอยากเห็นประเทศเราเป็นประเทศที่มีปัญหาในสายตานานาชาติหรือไม่ ข้อเท็จจริงเราไม่ได้มีปัญหาเรื่องการจัดการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาหลายประเทศมาดูงานจากเรา โดยเฉพาะการทำประชามติ ซึ่งได้รับคำชื่นชมและได้รับการยอมรับ แต่ถ้าจะให้คนมาสังเกตการณ์แสดงว่าเรามีปัญหาในสายตาเขาหรือสายตาเราเองที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ตนเคยใช้คำว่า “มงคล” ไม่ได้หมายความถึงเรื่องไสยศาสตร์ เป็นเพียงการเริ่มต้นที่ดีที่เราทำกันเองได้ เพราะการสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่ดีที่สุดคือคนไทยด้วยกันเอง รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งอยู่แล้ว

นายดอนยืนยันว่า ประชาชนแต่ละประเทศมีความสำคัญและจำเป็นมากกว่า สามารถสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้ดีกว่าคนต่างชาติ แม้รัฐบาลปัจจุบันมาจากรัฐประหารแต่ก็แตกต่างจากรัฐประหารทั่วโลก เพราะไม่มีการห้าม ลิดรอนสิทธิความเป็นอยู่ และไม่ได้ทำอะไรเกินเลยจนกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่

นานาชาติสังเกตการณ์ หวั่นมีโกงเลือกตั้ง

การแสดงความเห็นของนายดอนที่ว่ารัฐประหารไทยไม่เหมือนประเทศอื่นๆนั้น ก่อนหน้านี้นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย ได้โต้แย้งว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในไทยกำลังอยู่ในสภาวะไม่ปรกติภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ยังคงมีการปิดกั้นเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ความไม่ปรกติเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งต้องให้นานาชาติมาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งของไทย

ขณะที่เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน กระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรปมีหนังสือตอกย้ำถึงความต้องการให้ไทยฟื้นฟูกระบวนการประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วน ลงนามท้ายจดหมายโดยนายเดวิด ดาลี หัวหน้ากองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมเอเชียแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป ถึงนางจรรยา ยิ้มประเสริฐ กลุ่มแอคชั่นเพื่อประชาธิปไตย (Action for People’s Democracy, Thailand) ว่า สภายังเน้นย้ำว่าจะยังคงความสัมพันธ์กับประเทศไทยภายใต้การทบทวนการยกเลิกข้อจำกัดด้านเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ รวมทั้งเสรีภาพในการชุมนุม การยกเลิกข้อจำกัดด้านกิจกรรมของพรรคการเมืองและองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงเคารพและให้การสนับสนุนกิจกรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้งย้ำว่าการเลือกตั้งต้องน่าเชื่อถือ โปร่งใส และครอบคลุม เพื่อเป็นการฟื้นคืนสู่ธรรมาภิบาลอย่างประชาธิปไตย

แนะ คสช. เลิกโฆษณารวมการเฉพาะกิจ

ขณะที่เครือข่ายเฟจัดเสวนาสาธารณะ “การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม สถานการณ์ในสังคมไทย” (4 พฤศจิกายน) โดยนายโคทม อารียา อดีต กกต. และที่ปรึกษามูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า กกต. ควรมีบทบาทในการจับตาคนมีอำนาจรัฐไม่ให้เอาเปรียบ คนมีอำนาจเงินไม่ว่าใครอย่าหาเสียงกันฟุ่มเพือยหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย กกต. จะพึ่งอำนาจรัฐและหวังให้ผู้สมัคร ส.ส. มีจรรยาบรรณคงยาก แต่ต้องพึ่งประชาชนที่อยากเห็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมให้มาช่วยกับ กกต. ด้วย ซึ่งมาตรา 35 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ให้ภาคประชาสังคมและมหาวิทยาลัยมาช่วย กกต. ต้องทำให้ประชาชนตื่นตัว

นายโคทมยังกล่าวว่า วันที่ 9 ธันวาคมที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ กกต. ต้องไปขอร้อง คสช. ให้ยกเลิกโฆษณารวมการเฉพาะกิจ ยกเวลาเหล่านั้นให้ กกต. แทนได้หรือไม่ เพื่อให้ กกต. พูดคุยกับประชาชนและพรรคการเมือง เพื่อให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม ส่วนเงื่อนไขการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ที่บอกให้ กกต. หารือกับฝ่ายการเมืองและตัวแทนสื่อทุกช่องทางก็มีความละเอียดอ่อนมาก เพราะมีโทษ แต่ประชาชนไม่รู้ว่าการกระทำใดเข้าข่ายหาเสียงหรือไม่ จึงอยากให้เริ่มประชาสัมพันธ์ตั้งแต่เนิ่นๆ

กกต. ต้องเป็นกลาง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากเห็น กกต. ให้ใบเหลืองให้มากที่สุด โดยเฉพาะการใช้เงินซื้อเสียง อย่าปล่อยให้พูดกันทั้งบ้านทั้งเมืองโดยไม่เห็นให้ใบเหลืองใครเลย อย่าไปให้ใบเหลืองใบแดงกันเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว โดยเฉพาะเวลาที่คะแนนชนะกันหวุดหวิด คสช. มี 124 เสียง ขาดอีก 2 เสียง แล้วมาให้ใบแดงกัน กกต. ต้องเป็นกลาง อย่ายุ่งกับการตั้งรัฐบาล

ขณะที่นายวิษณุให้สัมภาษณ์ (11 พฤศจิกายน) ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ตอบรับให้พรรคการเมืองใดเสนอชื่อชิงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ต้องวางตัวเป็นกลางและไม่ให้คุณให้โทษต่อพรรคการเมือง ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้บัญญัติห้ามไว้ แต่พูดเชิญชวนให้มาใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นผู้สมัครของพรรค ยังถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงยังเดินสายในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ เพราะเป็นรัฐบาลอำนาจเต็มที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่

มูลมหาประชาชน

ปฏิกิริยาต่อต้านนายสุเทพจนถึงการตั้ง “กลุ่มนกหวีดหัก-ตระบัดสัตย์” นอกจากสะท้อนถึงกระแสการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการแล้ว ยังอาจมีผลต่อการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์กับอนาคตทางการเมือง เพราะกระแสต่อต้านรัฐประหารและทหารนับวันจะยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกว่า 4 ปีที่ผ่านมานอกจากความเงียบสงบภายใต้กระบอกปืนแล้ว รัฐบาลทหารแทบไม่ได้แก้ปัญหาอย่างที่ประกาศเลย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งและปัญหาเศรษฐกิจ นอกจากเกษตรกรที่มีปัญหาด้านราคาพืชผลการเกษตรแล้ว ประชาชนจำนวนมากก็เดือดร้อนเรื่องการทำมาหากิน

ขณะที่ความมั่งคั่งกลับอยู่กับกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มที่ใกล้ชิดกับกลุ่มผู้มีอำนาจ คำว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลทหารมาโดยตลอด จึงไม่แปลกที่เครดิตสวิส โกลบอล เวลธ์ รีพอร์ต 2016 ระบุว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยคนรวย 1% ครองความมั่งคั่งในประเทศสูงถึง 58% ของคนทั้งประเทศ หรือฐานะของคนรวยกับคนจนห่างกันถึง 22 เท่า

กระแสต่อต้านรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจ “ระบอบ คสช.” มีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่แต่ละพรรคนำมาเป็นจุดสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงจะเป็นการพิสูจน์ว่าเสียงสรรเสริญเยินยอ “ทั่นผู้นำ” ว่าเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ทั้งสารพัดโพล หมอดูและหมอเดา ต่างก็ทำนายเยี่ยง “ผู้มีบารมี” มาเกิดนั้น จะเป็นจริงตามคำทำนายหรือไม่ อีกทั้งปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามองก็คือ การเลือกตั้งจะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมจริงหรือไม่

เพราะโอกาส “ทั่นผู้นำ” จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ แม้จะมีเสียง ส.ว.ลากตั้งถึง 250 คน เนื่องจากกว่า 4 ปีประชาชนไม่ได้โง่ และรู้ดีว่าผลงานของรัฐบาลทหารเป็นอย่างไร เหมือนปฏิกิริยา “กลุ่มนกหวีดหัก-ตระบัดสัตย์” ซึ่งสะท้อนโดยตรงถึง “ลุงกำนัน” พรรครวมพลังประชาชาติไทย และดังก้องไปถึงพรรคพลังประชารัฐและพรรคที่สนับสนุน “ทั่นผู้นำ” ว่า หากยังพยายามกวาดต้อนและบังคับผู้คนให้อยู่แต่ใน “กะลา” โดยหวังว่าจะปกครองโดยง่ายเพราะมีอำนาจนั้น ระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ได้แล้วว่า “กะลา” ไม่สามารถครอบความคิดเห็นของประชาชนได้อีกต่อไป มีเพียงแต่พวกไดโนเสาร์เต่าล้านปีเท่านั้นที่ยังมีความสุขอยู่ในกะลา

ขนาด “มวลมหาประชาชน” ที่เคยหลงผิดเดินตามก้น “ลุงกำนัน” เมื่อถูกทำให้มีค่าเป็นเพียง “มูลมหาประชาชน” ยังต้องตั้งสติออกมาตั้งหลัก สงวนท่าที แต่มีหลายคนที่ทนไม่ไหว แสดงความชัดเจนว่าไม่สามารถหลงผิดได้อีกต่อไป

วันนี้ประเทศไทยมีทั้งนักการเมืองที่มาจากประชาชน นักการเมืองที่อาศัยประชาชนเป็นเครื่องมือ และนักการเมืองในเครื่องแบบข้าราชการที่มาจากการรัฐประหาร

นักการเมืองที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ที่ประชาชนเป็นคนเลือกมา หรือมีสิทธิที่จะไม่เลือกก็ได้ อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบได้ ด่าได้ ตำหนิได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ แตกต่างจากนักการเมืองที่มาในคราบของ “คนดี” มาโดยการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากประชาชน แย่กว่านั้นคือตำหนิไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เพราะมีทั้งอำนาจและอาวุธคอยกดหัว

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าแม้ว่าจะเป็นกติกาที่ไม่มีความยุติธรรม เอาเปรียบอย่างถึงที่สุดจากผู้กุมอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ แต่ก็เป็นหนทางเดียวที่จะพิสูจน์ว่าประชาชนนั้นต้องการระบอบการปกครองใดระหว่าง “ประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการ”

สุดท้ายต้องพิสูจน์กันที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คนว่าจะเป็นคนของระบอบใดมากกว่ากัน เพราะมันคือฉันทามติของประชาชนไทย

อะไรที่ผิดไปจากฉันทามติของประชาชนย่อมไม่ใช่!

อำนาจพิสดารจึงต้องพึงระวัง หากตั้งเป้าว่า “อยู่ต่อแน่” เพราะมีอภินิหาร 250 เสียงจาก “ส.ว.ลากตั้ง” ดื้อดึงดัน ..นั่นอาจเป็นหายนะครั้งยิ่งใหญ่ และอาจเกิดกลียุคอีกครั้ง

วันนั้นอาจได้เห็น “มวลมหาประชาชน” ของจริง ไม่ใช่แค่ “มูลมหาประชาชน”!!??


You must be logged in to post a comment Login