วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

มีแต่พังกับแพ้

On November 14, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

กระแสข่าวการเลื่อนเลือกตั้งจากที่พูดกันไว้เดิมคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ล้วนไม่เป็นผลดีต่อ คสช. ถ้าเลื่อนก็ไม่พ้นเสียงก่นด่าว่าไม่อยากลงจากอำนาจ และจะกระทบไปถึงคะแนนเสียงของพรรคการเมืองที่ประกาศหนุนหัวหน้า คสช. กลับมาเป็นนายกฯ ยิ่งหากไปไกลถึงขนาดใช้อำนาจพิเศษขยายกรอบเวลาเลือกตั้งให้มากกว่า 150 วัน หายนะมาเยือนแน่นอน ทั้งนี้ แม้จัดเลือกตั้งตามเดิมในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หลายฝ่ายยังเห็นตรงกันว่าโอกาสที่พรรคการเมืองที่สนับสนุนหัวหน้า คสช. จะคว้าชัยเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แม้องคาพยพต่างๆจะเอื้อในการแข่งขันก็ตาม

เงียบไปพักใหญ่กระแสข่าวเลื่อนเลือกตั้งกลับมาเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม หากจะให้ความเป็นธรรมก็ต้องยอมรับว่าไม่มีใครในรัฐบาลทหาร คสช. พูดอย่างเต็มปากเต็มคำสักครั้งว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า

เพียงแต่กางปฏิทินการเมืองกัน และดูตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดว่าควรเป็นวันอาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ซึ่งระยะเวลาจัดเลือกตั้งได้เร็วที่สุดคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์

แต่อย่างที่ทราบกันว่าตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดจะจัดเลือกตั้งเมื่อไรก็ได้ภายใน 150 วันหลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ฉบับสุดท้ายมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งก็คือ พ.ร.ป.เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคมที่จะถึงนี้

ดังนั้น เมื่อนับนิ้ว 150 วัน การเลือกตั้งสามารถจัดได้ช้าสุดคือวันที่ 9 พฤษภาคมปีหน้า

แล้วที่พูดกันว่าจะเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์มาจากไหน

ก็มาจากที่หลายฝ่ายยอมรับร่วมกันว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์น่าจะเป็นวันที่เหมาะสมที่สุดในการจัดเลือกตั้ง ทุกคนจึงยึดเอาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นหมุดหมายว่าเป็นวันเลือกตั้ง

เมื่อสังคมมีความเข้าใจร่วมกันอย่างนั้น แล้วอยู่ๆมีคนออกมาพูดว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ไม่ใช่วันเลือกตั้งเพราะ กกต. หรือพรรคการเมืองอาจไม่มีความพร้อมเนื่องจากมีเวลากระชั้นชิดเกินไป จึงทำให้ถูกวิจารณ์อย่างหนัก

ในส่วนของ กกต. หากจะอ้างว่าไม่มีความพร้อมจัดเลือกตั้งคงเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะ กกต. เป็นองค์กรที่ทำงานต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้จะมีรัฐประหารแต่ คสช. ไม่ได้ยุบ กกต.

แม้จะมีการเปลี่ยนตัว กกต.ชุดใหม่ก็ไม่อาจใช้เป็นข้ออ้างเลื่อนเลือกตั้งได้ เพราะที่ผ่านมา กกต.ชุดเดิมก็เตรียมความพร้อมมาตลอด เจ้าหน้าที่ก็ทำงานกันมาอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนแค่คนคุมงานเท่านั้น

เปรียบเหมือนการสร้างบ้านที่คนงานเทเสาก่อกำแพงมุงหลังคาแล้ว แต่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนวิศวกรคุมงานเพราะชุดเดิมหมดวาระ งานก็ต้องต่อเนื่องตามแบบที่เขียนเอาไว้ ไม่ใช่ต้องรื้อของเก่าทิ้งแล้วเริ่มต้นใหม่

ส่วนข้ออ้างที่ว่าพรรคการเมืองไม่มีความพร้อมที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น หากเป็นจริงก็ต้องโทษ 2 ฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งคือ คสช. ที่ไม่ยอมปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆตามที่กฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่กำหนดได้อย่างอิสระ ไม่ปลดล็อกให้จัดประชุมเตรียมความพร้อมเพราะมัวแต่กลัวว่าจะกระทบความมั่นคงของตัวเอง

อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องโทษพรรคการเมืองที่เกียร์ว่าง ไม่ยอมเตรียมแผนงานเอาไว้ล่วงหน้า ทั้งที่ทราบมาก่อนแล้วว่ากรอบเวลาการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไร

อย่างไรก็ตาม คสช. คงต้องรับผิดชอบมากหน่อยฐานที่ไม่ยอมปลดล็อก

ทั้งนี้ ไม่ว่าการเลือกตั้งจะอยู่ที่หมุดหมายเดิมคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์หรือเลื่อนออกไป คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้น คสช. และจะกระทบไปถึงพรรคการเมืองที่ประกาศหนุนหัวหน้า คสช. กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย

ถ้าเลื่อนเลือกตั้งออกไป แม้จะเลื่อนไปเพียงไม่นานก็จะถูกกล่าวหาโจมตีถึงการอิดออดไม่อยากลงจากอำนาจ ร้ายไปกว่านั้นหากใช้อำนาจมาตรา 44 ลบเส้นตายเลือกตั้งที่ต้องจัดภายในวันที่ 9 พฤษภาคมปีหน้าทิ้ง หายนะมาเยือนแน่นอน

อย่างไรก็ตาม แม้จัดเลือกตั้งตามหมุดหมายเดิมในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หลายฝ่ายก็ยังเห็นตรงกันว่าโอกาสที่พรรคการเมืองที่สนับสนุนหัวหน้า คสช. จะเข้าเส้นชัยเป็นไปได้น้อยมาก แม้องคาพยพต่างๆจะเอื้อในการแข่งขันก็ตาม

เลื่อนก็พัง เลือกตั้งก็แพ้

จำไม่ได้ว่าใครเป็นคนกล่าวไว้ แต่คงเป็นจริงตามนั้น


You must be logged in to post a comment Login