วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

ได้ไม่คุ้มเสีย?

On October 17, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การโดดมาลุยสื่อสังคมออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบของ “บิ๊กตู่” แม้จะพยายามเลี่ยงบาลีว่าเป็นการทำเพื่อสื่อสารทางตรงกับประชาชน ไม่ได้ทำเพื่อหาเสียง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหวังผลทางการเมือง ทำให้เกิดผลสะท้อนกลับทางลบตามมาอย่างมากมาย ถือเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย มือใหม่หัดขับแม้จะออกตัวก่อน ต่อให้มีกติกาเอื้อ ต่อให้กรรมการคอยยักคิ้วหลิ่วตา แต่หลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งพวกมวยเก่าเจนเวทีไล่กวดทันแน่นอน สู้ปลดล็อกเต็มรูปแบบ สู้กันอย่างเท่าเทียม แม้จะเป็นรองด้านประสบการณ์ แต่จะได้ภาพความมีน้ำใจนักกีฬา สู้กันอย่างแฟร์ๆ น่าจะให้ผลในมุมที่ต้องการมากกว่า

การเปิดแนวรบด้านสื่อสังคมออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งทวิตเตอร์ส่วนตัวชื่อ twitter.com/prayutofficial ไอจีส่วนตัวชื่อ instagram.com/prayutofficial และเฟซบุ๊คส่วนตัวชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha เพื่อสื่อสารตรงกับประชาชน พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะนโยบายต่างๆที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาในระยะเวลา 4 ปี

แม้จะพยายามเลี่ยงบาลีว่าไม่ได้ทำเพื่อหวังผลทางการเมือง ไม่ได้เป็นการเอาเปรียบคนอื่น พรรคอื่น ด้วยการหาเสียงล่วงหน้า ขณะที่คนอื่นทำไม่ได้เพราะยังติดล็อกคำสั่ง คสช.

แต่ในความเป็นจริงคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการโดดลงมาใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบนั้น จะเรียกว่าหาเสียงหรือไม่ก็เป็นการทำเพื่อหวังผลทางการเมือง เพราะคำว่า “หาเสียง” กับคำว่า “สื่อสาร” มีความหมายไปในทิศทางเดียวกันคือ หลังส่งสารออกไปหวังจะมีผลตอบรับกลับมาในทางที่ดี

หากกางตำราดูจะพบว่าคำว่า “หาเสียง” นั้นหมายถึงการแสวงหาคะแนนนิยมจากประชาชนหรือสมาชิกของชุมชนเพื่อได้คะแนนโหวตในการเลือกตั้ง คำว่าเสียงในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเสียงที่ได้ยินด้วยหู แต่หมายถึงความนิยมหรือคะแนนที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งได้รับจากประชาชนหรือสมาชิกของชุมชนนั้น

ส่วนคำว่า “การสื่อสาร” หมายถึงกระบวนการส่งข่าวสารข้อมูลจากผู้ส่งข่าวสารไปยังผู้รับข่าวสาร มีวัตถุประสงค์เพื่อชักจูงให้ผู้รับข่าวสารมีปฏิกิริยาตอบสนองกลับมา โดยคาดหวังให้เป็นไปตามที่ผู้ส่งข่าวสารต้องการ

แม้จะมีคนออกมาค่อนแคะ วิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบมากมาย แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับ “บิ๊กตู่” ด้วย เพราะการที่นักการเมืองหรือเซเลบทางการเมืองใช้สื่อสังคมออนไลน์สื่อสารกับประชาชนต่างก็มีจุดหมายเดียวกันกับ “บิ๊กตู่” ทั้งสิ้น

การหาเสียงจึงไม่ควรจำกัดความไว้เพียงแค่ต้องมีประโยคว่า โปรดเลือกผม เลือกพรรคผมแล้วจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่ประกาศเป็นนโยบาย หรือการปราศรัยในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเท่านั้น

การแสดงความเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ การเสนอแนะ ล้วนทำไปเพื่อสร้างความนิยมให้ตัวเองทั้งสิ้น

เมื่อมุ่งหวังให้เกิดความนิยมชมชอบย่อมถือว่าเป็นการหาเสียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อ “บิ๊กตู่” โดดมาใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อสื่อสารทางตรงกับประชาชน เสริมกับการใช้สื่อหลักที่ใช้สื่อสารกับประชาชนมายาวนานอย่างวิทยุโทรทัศน์ เพื่อหลีกเลี่ยงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอาเปรียบนักการเมืองอื่น พรรคการเมืองอื่นที่ยังติดล็อกประกาศคำสั่ง คสช. จึงสมควรแก่เวลาที่จะเปิดให้นักการเมือง พรรคการเมืองสื่อสารกับประชาชนได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

ควรเลิกตีตรวนนักการเมือง พรรคการเมือง ไว้กับคำว่า “หาเสียง” ส่วนใครจะล้ำเส้นหรือมีความผิดอย่างไรให้เป็นเรื่องของกฎหมายเป็นเส้นแบ่งความผิดถูก ไม่ใช่เรื่องชอบใจหรือไม่ชอบใจ

การปลดล็อกให้นักการเมือง พรรคการเมืองเคลื่อนไหวได้เต็มรูปแบบอย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ต้องเกิดขึ้นหลังจากกฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนธันวาคม การออกตัวก่อนคนอื่นเพียงระยะเวลาเดือนเศษแลกกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ผลกระทบด้านลบที่สะท้อนกลับมาถือเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย

มือใหม่หัดขับออกตัวก่อน ต่อให้มีกติกาเอื้อ ต่อให้กรรมการคอยยักคิ้วหลิ่วตา แต่พวกมวยเก่าเจนเวทีไล่กวดทันแน่นอน

ออกตัวก่อนใช่ว่าจะได้เปรียบ แถมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ยังส่งผลมุมกลับจากเป้าหมายที่คาดหวัง

ปลดล็อกเต็มรูปแบบ สู้กันอย่างเท่าเทียม แม้จะเป็นรองด้านประสบการณ์ แต่จะได้ภาพความมีน้ำใจนักกีฬา สู้กันอย่างแฟร์ๆ น่าจะให้ผลในมุมที่ต้องการมากกว่า


You must be logged in to post a comment Login