วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

รู้จักน้อยเกินไป

On October 10, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

เนติบริกรที่ร่วมกันออกแบบกฎหมาย วางกับดักไม่ให้พรรคการเมืองมีขนาดใหญ่โตเกินไป ไม่ให้เข้มแข็งเกินไป หวังทำให้การเมืองเป็นเบี้ยหัวแตกเต็มไปด้วยพรรคเล็กพรรคน้อยเพื่อเปิดโอกาสช่วงชิงอำนาจจัดตั้งรัฐบาล อาจกำลังตีอกชกตัวที่อ่านการเมืองไม่ขาด รู้จักการเมืองน้อยไป เพราะพรรคการเมืองเดินหมากแก้กับดักที่วางไว้ด้วยการแตกสาขา ทั้งสาขาที่อยู่ในเครือข่ายโดยตรงและคนละหุ้นส่วนแต่มีแนวทางเดียวกัน จาก 1 พรรคแตกตัวเป็น 3-4 พรรค เพื่อแบ่งโควตา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้จำนวน ส.ส. หลังการเลือกตั้งเมื่อนำมารวมกันแล้วตัวเลขอาจไม่ต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ดีไม่ดีอาจมียอดรวมมากกว่าเดิม

เชื่อว่าตอนนี้เหล่าเนติบริกรคงเกาหัวกันแกรกๆ

ก็กฎหมายที่จะใช้เป็นเครื่องมือตอนพรรคการเมืองไม่ให้เข้มแข็ง ไม่ให้ใหญ่โตจนเกินไป เพราะเกรงว่าพรรคการเมืองบางพรรคจะโตไม่หยุดจนคุมไม่ได้ ดันมีช่องโหว่ให้นักการเมืองที่เขี้ยวลากดินกว่าบรรดาเนติบริกรสามารถเล็ดรอดเพื่อรักษาขนาดของกลุ่มเอาไว้

ที่บอกว่ารักษาขนาดของกลุ่ม ไม่ใช่รักษาขนาดของพรรค ก็เนื่องจากกฎหมายใหม่การรักษาขนาดของพรรคนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องยาก แต่การรักษาขนาดของกลุ่มก้อนที่มีความคิดอ่านไปทางเดียวกันนั้นมีช่องให้สามารถทำได้ แถมอาจขยายแนวร่วมได้มากขึ้นอีกด้วย

วิธีรักษาขนาดของกลุ่มหรือขยายแนวร่วมให้มีวงกว้างมากขึ้นที่ใช้กันอยู่ตอนนี้คือ การแตกสาขาพรรคให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยเพื่อเก็บแต้มจากการลงคะแนนของประชาชนมาแบ่งโควตา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

เป็นที่ทราบกันว่าระบบคิดคำนวณโควตา ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบใหม่นั้นเอื้อต่อพรรคการเมืองที่แพ้ในการเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขตให้มีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากกว่าพรรคที่ชนะเลือกตั้ง ส.ส.เขต

เหมือนเช่นกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ตั้งความหวังไว้ว่าจะได้เก้าอี้ ส.ส. ในสภาประมาณ 50 ที่นั่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ได้ตั้งความหวังไว้กับ ส.ส.เขต เพราะไม่มีผู้สมัครระดับแม่เหล็กที่จะไปแข่งกับพรรคใหญ่ได้

“พรรคการเมืองจะแตกยอดจดทะเบียนออกไปอีกกี่พรรคก็เรื่องของเขา เพราะเมื่อแยกออกไปแล้วก็ถือว่าเป็นคนละพรรคกัน ไม่ใช่หัวหน้าพรรคคนเดียวกัน คนละนโยบาย ถือเป็นคนละนิติบุคคล ส่วนเป้าหมายจะเหมือนกับพรรคที่แตกยอดออกมาหรือไม่นั้นไม่ทราบ เพราะเรื่องนี้ไม่มีอะไรผิดกฎหมายและไม่เกี่ยวกับว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ส่งเสริมให้พรรคการเมืองแข็งแกร่ง

ใครจะมีทุน มีสติปัญญา จะไปคิดตั้งพรรคเพิ่มก็ไม่แปลกอะไร มันมีมาทุกยุคทุกสมัย เพราะต้องการเก็บคะแนนให้ได้มากที่สุด เมื่อเขามองว่าเป็นช่องทางที่สามารถทำได้ก็เรื่องของเขา ส่วนคำถามที่ว่าการออกแบบกฎหมายเช่นนี้ตอบโจทย์การปฏิรูปพรรคการเมืองหรือไม่นั้นก็ไม่ทราบ ตอบไม่ถูก เชื่อว่าประชาชนจะพิจารณาแล้วตัดสินใจได้ เมื่อเขาทำได้โดยไม่ผิดก็ไม่เป็นไร”

ฟังจากน้ำเสียงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หนึ่งในมือกฎหมายของรัฐบาลทหาร คสช. พอมองเห็นว่าออกอาการอ่อนใจที่พรรคการเมืองสามารถดิ้นหลุดกับดักทางกฎหมายที่เขียนไว้หวังตอนพรรคการเมืองใหญ่ไม่ให้เติบโตแข็งแกร่งจนเกินไป

ทั้งนี้ หากมองตามเงื่อนไขกฎหมาย การขยายสาขาพรรคทั้งสาขาที่อยู่ในเครือข่ายโดยตรงและสาขาที่คนละหุ้นส่วนแต่มีแนวทางเดียวกันสามารถทำได้

จาก 1 พรรค แตกตัวเป็น 3 พรรค 4 พรรค 5 พรรค ทำให้จำนวน ส.ส.หลังการเลือกตั้งเมื่อนำมารวมกันแล้วตัวเลขอาจไม่ต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ดีไม่ดีอาจมียอดรวมมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ

เนติบริกรที่เขียนกฎหมายอาจเป็นผู้รู้ เป็นกูรูด้านนิติศาสตร์ แต่รู้จักนักการเมืองน้อยเกินไป กับดักที่วางไว้จึงมีช่องโหว่ อาจทำให้ผลที่ออกมาไม่เป็นอย่างที่คิด


You must be logged in to post a comment Login