วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

พลัง(ประชา)รัฐประหาร

On October 4, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข  ประจำวันที่ 5-12 ตุลาคม 2561)

การเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นไปอย่างคึกคัก ท่ามกลางบรรยากาศแสงสีเสียงและนักการเมืองหลายพรรค หลายกลุ่ม หลายก๊วน เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ พร้อมเปิดตัว 25 กรรมการบริหารพรรคชุดแรก และมีมติพรรคให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค และ 3 รัฐมนตรีที่ร่วมในกรรมการบริหารพรรคคือ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองหัวหน้าพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษกพรรค

กรรมการบริหารหลายคน ควบตำแหน่งในรัฐบาล คสช.

กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ 25 คน ประกอบด้วย 1.นายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค 2.นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค 3.นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ เหรัญญิก 4.นายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนสมาชิกพรรค 5.นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค 6.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค 7.นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค

ส่วนที่เหลือเป็นกรรมการบริหารพรรค ประกอบด้วย 8.นายอิทธิพล คุณปลื้ม 9.นายกรัณย์ สุทธารมณ์ 10.นายชวน ชูจันทร์ 11.นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ 12.นายณพพงศ์ ธีระวร 13.นางนฤมล สอาดโฉม 14.นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ 15.นางวลัยพร รัตนเศรษฐ 16.นายวิเชฐ ตันติวานิช 17.นายชาญวิทย์ วิภูศิริ 18.นายสันติ กีระนันทน์ 19.นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล 20.นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ 21.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 22.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 23.น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ 24.นายสรวุฒิ เนื่องจำนง และ 25.นายอนุชา นาคาศัย

มีหลายคนในจำนวน 25 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐที่ล้วนได้ดิบได้ดีในช่วงที่รัฐบาล คสช. บริหารประเทศ เช่น นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นกรรมการบริหารพรรค นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตแกนนำ กปปส. เป็นรองหัวหน้าพรรค นายอิทธิพล คุณปลื้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นกรรมการบริหารพรรค

นอกจากนี้ยังมีนายพรชัย ตระกูลวรานนท์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเหรัญญิก นายวิเชียร ชวลิต อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นนายทะเบียนสมาชิกพรรค

ตอแหลการเมือง

การเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการตอกย้ำการโกหกตอแหลทางการเมืองที่ไม่ได้แตกต่างจากการเมืองน้ำเน่าในอดีต โดยเฉพาะการดึงแกนนำ กปปส. และสองพี่น้องตระกูล “คุณปลื้ม” ที่อ้างว่ามาร่วมรัฐบาลเพื่อช่วยทำงานของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับการเมือง และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ยังใช้อำนาจมาตรา 44 ให้นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล ที่แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการเมือง ไปนั่งเป็นนายกเมืองพัทยาอีก รวมถึงการใช้อำนาจมาตรา 44 แต่งตั้งอดีตแกนนำ กปปส. ไปเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเพื่อปูทางการเมืองและสืบทอดอำนาจ “ระบอบ คสช.” หลังการเลือกตั้ง

โดยเฉพาะการตั้งพรรคพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์นั้น นายวัชระ เพชรทอง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนแรกๆที่ออกมาให้ข่าวเรื่องการเตรียมการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยระบุว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นหัวหน้าพรรค และนายอุตตมเป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งนายสมคิดไม่ออกมาชี้แจงที่ถูกพาดพิง ต่อมามีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ปรากฏเป็นข่าวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเตรียมขอจดทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ โดยนายชวน ชูจันทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรตลาดน้ำคลองลัดมะยม ซึ่งเป็น “กลุ่มเพื่อนสมคิด” เป็นผู้ยื่นขอจดแจ้งตั้งพรรคพลังประชารัฐ โดยยืนยันว่าไม่ใช่พรรคนอมินีของ คสช. และไม่เกี่ยวกับ “กลุ่มสามมิตร” ที่สร้างปรากฏการณ์ “ดูดแหลก”

แม้การเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐจะไม่มีชื่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แต่มีชื่อนายพงศ์กวินลูกชายคนโตของนายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเป็นพี่ชายนายสุริยะ

“วีระ” ตั้งข้อถาม 4 (พลังประชา) รัฐมนตรี

นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คถึงกรณีที่ 4 รัฐมนตรีที่ขณะนี้ร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เข้าไปรับตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐว่า

“วันที่ 26 ก.ย. 61 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายประชานิยมว่ารัฐบาลเตรียมตั้งสภาตำบล 700 แห่ง และจะแจกเงินให้ตำบลละ 5 แสนบาท การประกาศว่ารัฐบาลจะให้เงินแก่สภาตำบลๆละ 5 แสนบาท นโยบายนี้ถือว่าเข้าข่ายเป็นการหาเสียงของรัฐบาลได้หรือไม่?

ต่อมาวันที่ 29 ก.ย. 61 มีการประชุมจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ โดยมี 4 รัฐมนตรีร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าร่วมประชุมคือ

นายอุตตม สาวนายน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล (ซึ่งเป็นประธานโครงการแจกเงินตำบลละ 5 แสนบาท) ได้รับตำแหน่งเป็นโฆษกของพรรคพลังประชารัฐด้วย

การสวมหมวก 2 ใบ ของนายอุตตม สาวนายน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ซึ่งทำหน้าที่สำคัญ เป็นทั้งรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลที่คุมนโยบายประชานิยม และเป็นโฆษกของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ชัดเจนแล้วว่าตั้งขึ้นมาเพื่อการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ดังนั้น การกระทำใดๆของนายอุตตม นายสนธิรัตน์ นายสุวิทย์ และนายกอบศักดิ์ 4 รัฐมนตรีของรัฐบาลในขณะนี้ จะถูกเหมารวมว่าเป็นการกระทำของหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และโฆษกพรรคพลังประชารัฐด้วย

การใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายประชานิยม จะถูกเข้าใจว่าเป็นการหาเสียงของรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐใช่หรือไม่? ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ พรรคการเมืองทั่วไปยังไม่ถูกปลดล็อกทางการเมือง การหาเสียงผ่านสื่อโซเชียลก็ยังทำไม่ได้เลย

รัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งหัวหน้า คสช. ซึ่งประกาศชัดเจนว่าสนใจการเมือง และหวังอย่างยิ่งว่าจะกลับมานั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าเข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบกันทางการเมืองใช่หรือไม่?

ท่านยอมรับได้หรือไม่?

หากท่านไม่ยอมรับ ท่านจะทำอย่างไร?”

ชี้ 3 (พลังประชา) รัฐมนตรีอยู่ยาว

เพจ iLaw โพสต์ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐว่า นอกจาก 4 รัฐมนตรีที่นั่งควบตำแหน่งในรัฐบาล คสช. แล้ว ยังพบว่ารัฐมนตรี 3 คนใน 4 คนของพรรคพลังประชารัฐจะต้องไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศอีกด้วยคือ นายอุตตม นายสุวิทย์ และนายกอบศักดิ์ ซึ่งทั้ง 3 คนได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ทำให้จะนั่งควบตำแหน่งยาวไปถึงปี 2565 หลังเลือกตั้ง ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐจะชนะเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม พวกเขาจึงยังจะมีบทบาทอยู่ต่อไป

เมินสปิริตทางการเมือง

นายอุตตมกล่าวหลังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคว่า การตัดสินใจมาทำงานการเมืองครั้งนี้ “ไม่ง่าย” แต่เป็นการตัดสินใจด้วยความภาคภูมิใจที่สุด เพราะทำงานและโตมาจากแวดวงวิชาการ นักธุรกิจ ไม่ใช่นักการเมืองมืออาชีพ และอีกหลายคนในพรรคก็ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ ได้ปรึกษากันว่าจะสร้างการเมืองใหม่ให้ประเทศ จึง “จำเป็นต้องรวบรวมคนดี คนเก่ง” มาร่วมทำงานกันอย่างจริงจัง ทำให้เป็นพรรคถาวร ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ

นายอุตตมยืนยันว่าจะยังไม่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็พร้อมที่จะสวมหมวกใบเดียว พร้อมยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ใช่เส้นทางสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ได้อวยพรให้โชคดีในการทำพรรคการเมือง

นายสมคิดกล่าวถึงแรงกดดัน 4 รัฐมนตรีที่ร่วมพรรคพลังประชารัฐให้ลาออกว่า ขอให้รอถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วจะมีการลาออก แต่ในระหว่างที่ทำงานตอนนี้สื่อมวลชนตรวจสอบได้อยู่แล้วและมีกฎหมายกำกับอยู่ ถ้าจะให้ลาออกตอนนี้อาจมีผลกับหลายโครงการที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ ซึ่งมีความสำคัญกับประเทศในอนาคต ทั้งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่นายอุตตมดูแลมาตั้งแต่ต้น และอีกไม่นานจะปักหลักปักฐานได้แล้ว เขาจะไปละทิ้งได้อย่างไร ขณะที่นายสุวิทย์ดูแลงานหลายเรื่อง ก็เริ่มตื่นตัวขึ้น ส่วนนายกอบศักดิ์จบการศึกษาปริญญาเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ถือเป็นมิติใหม่ของการเมืองไทยที่มีคนอายุน้อยและมีคุณภาพเข้ามาทำงานจริงจัง ไม่ใช่เข้ามาแล้วไปเฮฮากัน

นายอุตตมกล่าวกับผู้สื่อข่าวสั้นๆว่า “ผมจะไม่พูดเรื่องการเมืองในเวลาราชการ”

“ประยุทธ์” ยันรัฐบาลมีธรรมาภิบาล

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึง 4 รัฐมนตรีที่ร่วมทำงานการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐต้องลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคล พูดมาหลายครั้งแล้ว และย้ำเตือนในที่ประชุม ครม. ด้วย รวมถึงช่วงที่เขามาขออนุญาตก็บอกไปว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน อย่าทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเสียหาย เพราะในการบริหารราชการแผ่นดินรัฐมนตรีทั้ง 4 คนไม่ใช่ผู้ตัดสินหลักใน ครม. การจะออกมติอะไรจะต้องเป็นมติของ ครม. ทั้งคณะ จึงไม่ได้ไปเอื้อประโยชน์อะไรกับใครทั้งสิ้น ไม่ได้เอื้อประโยชน์อย่างเช่นที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการเอื้อประโยชน์อยู่แล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามที่ว่ามีกระแสกดดันให้ 4 รัฐมนตรีลาออกว่า กฎหมายเขาว่าอย่างไร ก่อนหน้านั้นเขาทำอย่างไรกันอยู่ มีกรณีแบบนี้หรือไม่ เมื่อถามย้ำว่ามีการอ้างว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเผด็จการ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ผมเป็นรัฐบาลที่ผมต้องบอกว่ามีธรรมาภิบาล สมัยที่คุณเป็น คุณมีธรรมาภิบาลหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน”

หลบเลี่ยงเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐกำลังหลบเลี่ยงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ คสช. รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ วางรากฐานและกติกาเพื่อที่จะเปิดให้พรรคการเมืองกลับมาแข่งขัน ไม่ได้หวังว่าจะเป็นผู้เล่นเอง

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวว่า วันนี้คนที่กำลังเข้าไปบริหารพรรคการเมืองซึ่งมีส่วนได้เสียโดยตรงในการเลือกตั้งต้องแสดงให้เห็นว่าตัวเองยังเชื่อในหลักธรรมาภิบาลและเคารพเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมากกว่าที่จะมาบอกว่ากฎหมายไม่ได้เขียนห้ามไว้ ตอบยากว่าถ้าคนเหล่านี้ประสงค์ที่จะมามีส่วนได้เสียลงแข่งขันทางการเมืองแล้ว เหตุใดไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงไม่สวมหมวกใบเดียว คนเหล่านี้รวมถึงคนอื่นๆกล้าปฏิเสธกันหรือไม่ว่าไม่มีการใช้สถานะของท่านในการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง กล้าปฏิเสธหรือไม่ว่าปรากฏการณ์ของการดูด คนในรัฐบาลไม่ได้เกี่ยวข้องเลย

นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เตือน คสช. และรัฐบาลทหารว่า อยู่ในฐานะได้เปรียบเหนือพรรคและกลุ่มการเมืองอื่นมานานแล้ว ถึงตอนนี้สมควรจะเข้าต่อสู้แข่งขันกันอย่างแฟร์ๆ ไม่ควรจะชิงความได้เปรียบมากยิ่งไปกว่านี้

มี “มารยาทการเมือง” ควรลาออก

นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า เข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งและยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ แม้กฎหมายไม่ได้ห้ามว่าจะต้องลาออก แต่เป็นมารยาททางการเมือง ควรลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อตัดสินใจลงการเมืองแล้ว แม้แต่การลงพื้นที่ ครม.สัญจรก็จะต้องไปพบกับข้าราชการท้องถิ่น ประชาชน ก็เหมือนการหาเสียงกลายๆ อาจถูกมองว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่หาเสียงเลือกตั้ง เพราะพรรคการเมืองอื่นไม่มีโอกาสได้ไปหาเสียง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการปลดล็อก แต่หากปลดล็อกก็จะเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ทำให้ดูสง่างาม และยังจะเป็นความบริสุทธิ์ยุติธรรมด้วย

ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ อดีตเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า กฎหมายยังให้รัฐมนตรีที่มาดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองยังเป็นรัฐมนตรีได้อยู่ แต่โดยมารยาททางการเมืองควรหรือไม่ควรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรือมีความเหมาะสมหรือไม่ต้องดูกันอีกที เพราะเท่าที่รู้กันพรรคดังกล่าวสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปคงต้องจับตามองว่าการปฏิบัติหน้าที่ 4 รัฐมนตรีจะมีนโยบายหรือมีการกระทำอะไรที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองที่ตัวเองดำรงตำแหน่งอยู่หรือไม่ ถ้ามีการกระทำดังกล่าวจริงจะเป็นเรื่องที่ไม่ชอบ จะเป็นจุดอ่อนให้พรรคการเมืองอื่นโจมตี โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์อ้างว่าสนใจงานการเมืองและมองกันว่าอาจมาเป็นนายกฯโดยการเสนอชื่อตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จะเป็นจุดอ่อนให้เกิดการโจมตี

ช่วงหาเสียงเลือกตั้งจุดที่จะถูกโจมตีมากที่สุดคือจุดนี้ เพราะพรรคต่างๆจะมองว่าเป็นการเอาเปรียบ ไม่ชอบ ออกกฎกติกามาเพื่อประโยชน์ของตัวเอง และตัวเองจะได้เข้ามาสวมตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง ส่วน 4 รัฐมนตรีที่ระบุว่าจะลาออกเมื่อถึงเวลานั้น ต้องมองว่าเรื่องนี้เป็นมารยาททางการเมือง ถ้าไม่อยากให้ถูกโจมตีหรือไม่มีอะไรแอบแฝงอยู่ก็ควรลาออกไป เพราะไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งเป็นเป้าให้ถูกโจมตี ดังนั้น ลาออกไปจะดีกว่า

พลัง(ประชา)รัฐประหาร?

กระแสที่กดดันให้ 4 รัฐมนตรีลาออกเหมือน “พูดหูซ้ายทะลุหูขวา” และมองว่าเป็นเรื่องจิ๊บๆ เพราะนายสมคิดการันตีว่า 4 รัฐมนตรีเป็นคนดีและกำลังทำงานสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศ หาก “ลาออก” อาจทำให้โครงการใหญ่ชะงักงัน ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็อ้างว่าเป็นรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล

ส่วน “เนติบริกร” เจ้าของวาทกรรม “อภินิหารทางกฎหมาย” ก็ตะแบงว่าไม่มีกฎหมายบังคับและไม่ใช่รัฐบาลรักษาการอย่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 4 รัฐมนตรีจึงไม่ต้องลาออก เหมือน “ทั่นผู้นำ” ที่ประกาศสนใจงานการเมืองและมีลิ่วล้อมากมายประกาศสนับสนุนให้ “สืบทอดอำนาจ” ต่อ โดย “ทั่นผู้นำ” ประกาศว่า “ไม่ออก” เพราะยังต้องทำงานสานต่อ

เรื่องมารยาททางการเมืองหรือจริยธรรมทางการเมืองไม่มีความหมายกับรัฐบาลเผด็จการ เหมือนการใช้อำนาจ “มาตรา 44” ที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ทั้งที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้แล้ว

จากโครงการประชารัฐ (ประชานิยมแปลงกาย) มาสู่พลังประชารัฐ (แปลงกายอีกที) จึงเป็นเรื่องเดียวกันแบบไม่ต้องตีความอะไรให้วุ่นวาย และไม่ต้องเหนียมอายกันอีกต่อไป

พลัง(ประชา)รัฐประหาร หรือพลังประชารัฐ(ประหาร) อยากจะเรียกอะไรก็เชิญเรียก  .. ถ้าขี้อายคงทำไม่ได้ขนาดนี้

ใครมี “ปี๊บ” ขอบริจาคหน่อย!!??


You must be logged in to post a comment Login