วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

โรคซึมเศร้า…ปัญหาที่มีทางออก / โดย อ.พญ.กิติกานต์ ธนะอุดม

On September 28, 2018

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : อ.พญ.กิติกานต์ ธนะอุดม

(โลกวันนี้วันสุข  ประจำวันที่ 28 กันยายน – 5 ตุลาคม 2561)

หลายคนตั้งข้อสงสัยถึงโรคทางจิตเวชโรคหนึ่งซึ่งได้รับการกล่าวถึงมากในปัจจุบัน นั่นคือ โรคซึมเศร้า ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุของโรค ความรุนแรง หรือการช่วยเหลือคนใกล้ตัวที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เราจะป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าได้อย่างไร

ความเศร้าเสียใจเป็นอารมณ์ที่เกิดในคนปรกติได้ หากสามารถจัดการความเศร้า และความเศร้านั้นไม่เกิดนานเกินไป บุคคลนั้นก็สามารถใช้ชีวิตได้ปรกติ ส่วนโรคซึมเศร้าคือโรคที่มีความผิดปรกติทางอารมณ์ คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีอารณ์เศร้าหรือเบื่อหน่ายมากกว่าและนานกว่าปรกติ โดยมักเป็นทุกวันระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อารมณ์ดังกล่าวส่งผลถึงพฤติกรรม เช่น การไม่สนใจทำกิจกรรมต่างๆที่เคยสนใจ การรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารน้อยลง นอนไม่หลับ รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีสมาธิ อีกทั้งมุมมองต่อตนเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่ดี ความมั่นใจน้อยลง มองสิ่งรอบตัวในแง่ลบ และอาการรุนแรงคือ มีความคิดอยากตาย หากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า จิตแพทย์เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัย โดยอาศัยการสัมภาษณ์ ซักประวัติ และประเมินอาการด้วยการตรวจสภาพจิต

สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดจากด้านกายภาพ ด้านชีวภาพ เช่น สารเคมีในสมองไม่สมดุล การเจ็บป่วยด้วยโรคทางกายบางอย่าง การใช้สารเสพติดหรือยาบางประเภทก็ทำให้มีอาการของโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน ด้านจิตใจ เช่น ทักษะการปรับตัวต่อปัญหา การจัดการความเครียด และบุคลิกภาพ นอกจากนี้คือปัจจัยด้านสังคม เช่น มีการสูญเสีย คนใกล้ตัวมีความเครียด หรือมีความเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นต้น

โรคซึมเศร้ารักษาด้วยการรับประทานยารักษาโรคซึมเศร้า หรือยาปรับสารเคมีในสมอง ด้านจิตใจ ควรมีการพูดคุยกับคนใกล้ตัว การมองหาความช่วยเหลือ หรือหนทางในการแก้ปัญหาใหม่ๆ ด้านสังคม เช่น การดึงครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม การหากิจกรรมต่างๆที่ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย หากผู้ป่วยได้รับการรักษามีโอกาสหายจากโรคและใช้ชีวิตได้ตามปรกติ ส่วนการดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าคือ การดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรง การหลีกเลี่ยงสารเสพติด และการฝึกจัดการกับอารมณ์เครียดของตนเอง

คนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัวคือผู้ที่สามารถช่วยผู้ป่วยได้ โดยการสังเกตอาการและการตระหนักถึงโรคนี้ หากสังเกตว่าคนใกล้ตัวมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เศร้า หงุดหงิด ไม่อยากทำอะไรเหมือนที่เคยทำ ไม่ควรคิดว่าคนคนนั้นเรียกร้องความสนใจ ให้สอบถามว่าเขาต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไร หากสงสัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าควรแนะนำให้เข้าสู่การรักษา ที่สำคัญคือ การรับฟังโดยไม่ตัดสิน และไม่ทอดทิ้งหรือเพิกเฉย


You must be logged in to post a comment Login