วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

โค้งสุดท้ายย้ายพรรค

On September 24, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

สถานการณ์การเมืองเดินมาถึงช่วงโค้งสุดท้ายการย้ายสังกัดพรรคของบรรดาอดีต ส.ส. ที่สร้างเซอร์ไพรส์มากที่สุดตอนนี้คือการตบเท้าออกจากพรรคประชาธิปัตย์ของกลุ่มอดีต ส.ส.ภาคตะวันออกที่ไปกันแทบจะยกทั้งภาค ทำให้น่าสนใจขึ้นไปอีกว่าหลังรู้ผลเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่จะมีการลาออกกันอีกหรือไม่ ขณะที่สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยกลับตรงข้าม เพราะเลือดไหลแรงก่อนหน้านี้เริ่มนิ่งมากขึ้น ที่สำคัญการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ช่วงปลายเดือนตุลาคมไม่มีผลต่อการตัดสินใจอยู่ต่อหรือย้ายออกของอดีต ส.ส. เพราะพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับแผนการเล่นของโค้ชมากกว่าคนเป็นกัปตันทีม

แม้จะยังไม่มีการประชุมเพื่อปรับแก้กติกาของพรรคและเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่ดูเหมือนว่าคลื่นลมจะราบเรียบมากกว่าทุกพรรคสำหรับพรรคภูมิใจไทย

จนถึงตอนนี้มีความชัดเจนแล้วว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะได้เป็นหัวหน้าพรรคต่อไป และจะเป็นเพียงหนึ่งเดียวที่พรรคจะเสนอชื่อไว้ในบัญชีผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคแม้ว่ากฎหมายจะให้เสนอชื่อได้ 3 คนก็ตาม

ขณะที่พรรคภูมิใจไทยแต่งตัวเสร็จก่อนแล้ว แต่พรรคที่คนรอดูว่าหลังแต่งตัวเสร็จจะมีรูปโฉมอย่างไรมากที่สุดในตอนนี้คงหนีไม่พ้นพรรคประชาธิปัตย์

ขณะที่การเดินหมากเพื่อชิงการเป็นผู้นำพรรคยังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ก็มีอดีต ส.ส. บางส่วนที่ไม่ต้องการรอผลการชิงดำเก้าอี้หัวหน้าพรรคลาออกไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น

ที่น่าสนใจที่สุดคือพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีอดีต ส.ส. ออกจากพรรคแน่นอนแล้ว 2 คนคือ นายประมวล เอมเปีย อดีต ส.ส.ชลบุรี ที่ไปร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย และนายธวัชชัย อนามพงษ์ อดีต ส.ส.จันทบุรี ที่ย้ายไปร่วมงานกับกลุ่มสามมิตร

นอกจากนี้ยังมีอดีต ส.ส.ภาคตะวันออกอีก 5 คน ประกอบด้วย นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ อดีต ส.ส.ชลบุรี, พล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ, นายบุญเลิศ ไพรินทร์, นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา และนายวิชัย ล้ำสุทธิ อดีต ส.ส.ระยอง ที่กำลังเจรจากับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร

บทสรุปสุดท้ายจะมีอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ย้ายไปร่วมงานกับพรรคการเมืองอื่นอีกกี่คนน่าจะได้รู้กันในอีกไม่นานนี้ ซึ่งดูตามรูปการณ์แล้วน่าจะเห็นความชัดเจนก่อนการเลือกหัวหน้าพรรค

ที่สำคัญหลังเลือกหัวหน้าพรรคแล้วต้องจับตาดูว่ากลุ่มที่ผิดหวังจากการชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคจะพากันลาออกอีกหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

หากนายอภิสิทธิ์พ่ายแพ้ แน่นอนว่าด้วยชื่อชั้นและภาพลักษณ์อย่างนายอภิสิทธิ์คงไม่สามารถย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้ ทำให้ต้องติดตามดูว่าจะร่วมไม้ร่วมมืออย่างเต็มที่กับกลุ่มผู้นำพรรคใหม่ หรือเข้าเกียร์ว่างเหมือนสมัยที่แพ้การชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคจากกลุ่มนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบไปถึงผลการเลือกตั้งของพรรค

ข้ามฟากไปที่พรรคเพื่อไทย หลังสิ้นเดือนนี้ก็คงพอมองเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าจะมีอดีต ส.ส. ลาออกไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นกี่คน ช่วงแรกการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรมีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยเลือดไหลไม่หยุด แต่ถึงตอนนี้ดูจะเริ่มนิ่งมากขึ้น

สำหรับผู้นำพรรคคนใหม่แม้จะมีข่าวออกมาหลายกระแสว่าเป็นคนนั้นคนนี้ แต่แคนดิเดตจริงๆมีเพียงไม่กี่คน ใครจะได้ขึ้นมาเป็นแม่ทัพขึ้นอยู่กับแผนการเล่นว่าจะเลือกเล่นแบบไหน เมื่อได้แผนแล้วจึงกำหนดตัวผู้นำ ซึ่งจะเห็นหน้าผู้นำพรรคคนใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 28 ตุลาคม

ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายนต่อช่วงสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคมน่าจะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของฝุ่นควันการเมืองที่ตลบอบอวลจากการโยกย้ายพรรคของบรรดาอดีต ส.ส.

จากนั้นจะกลับเข้าสู่ภาวะปรกติ แล้วไปโฟกัสที่เรื่องนโยบายที่จะคิดออกมาแข่งกัน


You must be logged in to post a comment Login