วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ความวัวความควาย

On September 18, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งและรัฐบาลกำลังเร่งเก็บแต้มสะสม อยู่ๆก็มีเรื่องมาฉุดให้อารมณ์เสีย ทั้งจากกรณีรายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำปี 2561 ที่เผยแพร่รายชื่อ 38 ประเทศน่าละอาย ซึ่งมีชื่อประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น รายงานฉบับนี้กระทบต่อรัฐบาลทหาร คสช. แค่ไหนดูได้จากปฏิกิริยาของผู้เกี่ยวข้องที่ออกมาตอบโต้อย่างดุเดือด ขณะที่ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรกเมื่อ “นคร มาฉิม” กับ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” มาช่วยเพิ่มน้ำหนักรายงานดังกล่าว โดยรายแรกระบุมีความเคลื่อนไหวจะเอาชีวิตหลังพลิกบทบาทมาอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหาร คสช. ขณะที่รายหลังระบุถูกผู้มีอำนาจบีบผ่านองค์กรควบคุมสื่อให้หยุดจัดรายการวิเคราะห์ข่าวทางทีวี เพราะเห็นว่าไม่เป็นกลางและชอบใช้คำพูดเสียดสี

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คลายล็อกให้พรรคการเมืองเริ่มกิจกรรมเพื่อแต่งตัวเตรียมลงสนามเลือกตั้งได้

ในวันที่ 24 กันยายนที่จะถึงนี้จะมีการประชุมพรรคการเมืองอย่างน้อย 2 พรรค เพื่อปรับแก้ระเบียบข้อบังคับต่างๆเพื่อนำไปสู่การเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่คือ พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็จะขยับเรียกประชุมครั้งแรกให้เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมวันที่ 29 กันยายน ทั้งนี้เพราะกังวลว่าหากไม่เร่งดำเนินการเกี่ยวกับการตั้งพรรคการเมืองให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์อาจมีปัญหาในการส่งผู้สมัคร ส.ส.

ดังนั้น ภายในสัปดาห์นี้หรืออย่างช้าต้นสัปดาห์หน้าจะได้รู้เสียทีว่ากลุ่มสามมิตรจะมาร่วมหัวจมท้ายกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ หรือจะไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นที่มีสถานะความเป็นพรรคการเมืองที่สมบูรณ์แล้ว

อีกประเด็นจะได้รับรู้กันเสียทีว่า 2 รัฐมนตรีในรัฐบาลทหาร คสช. ที่มีกระแสข่าวมาตลอดว่าถูกวางให้เป็นคนกรุยทางสืบทอดอำนาจอย่างนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคอย่างที่มีกระแสข่าวมาก่อนหน้านี้หรือไม่

การมาเป็นผู้นำกับแม่บ้านในพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ถือว่ามีความสำคัญ เพราะจะเป็นเครื่องบ่งชี้ทิศทางการเมืองของกลุ่มอำนาจปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

หากมาเป็นผู้นำกับแม่บ้านพรรคการเมืองแล้ว การลาออกหรือไม่ลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะถ้าทิ้งตำแหน่งรัฐมนตรีมาทำงานการเมืองเต็มตัวก็จะเกิดแรงกระเพื่อม ทำให้เกิดการปรับคณะรัฐมนตรีตามมาด้วย

ในขณะที่การเมืองในประเทศกำลังเคลื่อนไหวคึกคัก กลุ่มอำนาจปัจจุบันกำลังเดินหน้าเก็บแต้มสะสมก่อนทำศึกเลือกตั้ง ก็ต้องมาสะดุดกับรายงานประจำปีของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นที่เปิดเผยรายงานประจำปี 2561 ซึ่งเผยแพร่รายชื่อ 38 ประเทศน่าละอาย โดยอ้างว่ามีการปฏิบัติไม่ดีต่อนักสิทธิมนุษยชนหรือผู้ให้ความร่วมมือกับกลุ่มสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีชื่อประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น

รายงานฉบับนี้มีผลกระทบต่อรัฐบาลทหาร คสช. แค่ไหนดูได้จากปฏิกิริยาของคนในรัฐบาลที่ออกมาตอบโต้ยูเอ็นอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็น น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. คนในกระทรวงการต่างประเทศ และอีกหลายๆคน

การออกมาตอบโต้อย่างดุเดือดสะท้อนให้เห็นว่าการที่ชื่อประเทศไทยปรากฏอยู่ในรายงานฉบับดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหาร คสช. เป็นอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่ามีผลกระทบไปถึงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง

นอกจากรายงานของยูเอ็นที่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลทหาร คสช. แล้ว ภาพลักษณ์ด้านลบเรื่องสิทธิมนุษยชนภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร คสช. ยังถูกขยี้จากกรณีนายนคร​ มาฉิม​ อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊คเตือนว่าจะถูกสังหาร​หลังออกมาเคลื่อนไหวในทางที่ไม่เป็นคุณต่อรัฐบาลทหาร คสช. นอกจากนี้ยังมีกรณีนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์​ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าวทางโทรทัศน์ โพสต์ข้อความมีความจำเป็นต้องอำลาจอเพราะถูกกดดันจากหน่วยงานควบคุมสื่อที่อ้างว่ามีคนไม่ปลื้ม เพราะเห็นว่าทำหน้าที่ไม่เป็นกลางและชอบใช้คำเสียดสีผู้มีอำนาจ

เรียกว่าความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก

ขณะที่ยังเมาหมัดกับรายงานประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศน่าละอายในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็เกิดกรณีของนายนครและนายศิโรตม์มาซ้ำเติมฉุดภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหาร คสช. ในช่วงที่ต้องเรียกคะแนนก่อนการเลือกตั้ง


You must be logged in to post a comment Login