วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

สสส. คว้ารางวัลเลิศรัฐ โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ

On September 14, 2018

เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่อิมแพคเมืองทองธานี ในงานสัมมนาวิชาการและมอบรางวัลเลิศรัฐ (GOOD GOVERNANCE FOR BETTER LIFE) ประจำปี พ.ศ. 2561 “ภาครัฐ เพื่อประชาชน” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดย นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย นายจันทร์ โต๊ะสิงห์ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จ.ศรีสะเกษ นายบำรุง เป็นสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานตอนล่าง และนายวิษณุ ศรีทะวงษ์ ผู้จัดการแผนนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ระดับชมเชย จากโครงการพัฒนาเครือข่ายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงงดเหล้าเข้าพรรษา พื้นที่ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ

นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวว่า  สสส. และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ริเริ่มโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาตั้งแต่ ปี 2546 โดยการดำเนินงานถือว่าประสบความสำเร็จ ประชาชนเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2551 รัฐบาลประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ส่งผลให้มีหน่วยงาน องค์กร และประชาชนเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาเพิ่มมากขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นให้งดเหล้าต่อตลอดชีวิต จากผลการประเมินโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ในปี 2560 โดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) พบว่า มีผู้งดเหล้าเข้าพรรษาทั้งสิ้นร้อยละ 67.5 คิดเป็น 14.2 ล้านคน งดเหล้าครบพรรษาหรือตลอด 3 เดือน ร้อยละ 37.9 ผู้ที่งดหรือลดการดื่มลง ร้อยละ 29.6 ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 11,243 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มผู้ดื่ม ร้อยละ 85.2 ยอมรับว่า เมื่อเห็นสื่อรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาของ สสส. ทำให้เกิดความตระหนักในพิษภัย และพยายามลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“ในปี 2561 นี้ สสส.ขยายผลการปฏิบัติการในระดับพื้นที่กว่า 155 อำเภอ ใน 74 จังหวัด โดยนำพื้นที่ต้นแบบ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ มาดำเนินการ เพื่อหวังให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเกิดความตระหนักในการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อผู้ดื่ม และมีผลกระทบทางสังคม เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาพื้นที่ปฏิบัติการตัวอย่าง อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ       จ.ศรีสะเกษ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 มีกระบวนการทำงานเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย 1.ก่อนเข้าพรรษา เน้นการเตรียมความพร้อมชุมชนส่งเสริมคนลด ละ เลิกดื่มสุรา 2.ระหว่างพรรษา เน้นกิจกรรม ช่วย ชม เชียร์ให้ผู้ปฏิญาณตนงดเหล้าครบพรรษา และบำบัดและฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติดสุราให้พ้นจากอาการถอนพิษสุรา และ 3.หลังออกพรรษา มีกิจกรรมเชิดชูคนหัวใจหิน (งดเหล้าครบพรรษา) ในวันออกพรรษา เพื่อยกย่องให้กำลังใจคนที่งดเหล้าครบพรรษา เชิญชวนคนลด ละ เลิกดื่มต่อหรือชวนงดตลอดชีวิต

ด้าน นายจันทร์ กล่าวว่า ผลจากการขับเคลื่อนงานบุญประเพณีปลอดเหล้าในพื้นที่ 5 ตำบล – ใน อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ มา 10 ปี สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่า 100 ล้านบาท เฉพาะในพื้นที่ ต.เสียว ไม่มีการดื่มและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดตลอด 3 เดือนของช่วงเทศกาลเข้าพรรษา โดยมีนักดื่มสมัครใจเลิกเหล้าครบพรรษา 528 คน และเกิดงานบุญประเพณีปลอดเหล้าต้นแบบ 13 งานในอำเภอ ปัจจุบันได้รับการ ยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้งานบุญประเพณีปลอดเหล้า มีการจัดทำคู่มือคนพันธุ์เสียวปลอดเหล้าเข้ากระดูกดำ และชุมชนคนสู้เหล้าตำบลเสียว ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากกลไกลการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานต่างๆ โดยมีอำเภอเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญ

2


You must be logged in to post a comment Login