วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

“ซวย”

On September 13, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข  ประจำวันที่ 14-21 กันยายน 2561)

“ผมไม่ได้โง่ เพียงแต่เขียนเร็ว มือตวัด ‘สร้าง’ เป็น ‘สร่าง’ แค่นั้น บอก ‘โง่เป็นควาย ไอ้ห่า’ ขอโทษ มันน่าโมโหจริงๆ”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่างปาฐกถาพิเศษ “หนึ่งองศาขยับ ปรับเปลี่ยนประเทศไทย : กำลังคนคุณภาพกับการปฏิรูปประเทศเชิงบูรณาการ” ที่ทำเนียบรัฐบาล (11 กันยายน) กรณีสื่อนำภาพบอร์ดที่เขียนด้วยลายมือก่อนการประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม “ร่วมใจสร้างไทยไปด้วยกัน” โดยยืนยันไม่ได้เขียนคำว่า “สร้างผิด แต่สื่อนำไปเผยแพร่ทำให้คนมารุมด่า

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึง “บัตรทอง” หรือ “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค” ว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้ยกเลิก แต่ไม่ได้ทำตามเดิมทั้งหมด พยายามทำให้ดีขึ้น แต่กลับมีการสื่อสารผิดบ้างถูกบ้าง ส่วนบัตรผู้มีรายได้น้อยที่ทำเพิ่มไปเรื่อยๆก็ไม่ใช่ประชานิยมและต้องไม่มีปัญหา

“วันนี้คนมักจะเป็นโรคความดันสูง เบาหวาน มะเร็ง สมองเสื่อม แต่ทุกคนบอกสบาย ช่างมัน ไม่ต้องออกกำลังกาย เดี๋ยวไปรักษาฟรี พอไม่ได้คุณภาพด่าคนรักษา ซึ่งเราต้องเข้าใจบริบททั้งหมดด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น เรื่องการรักษาพยาบาลรัฐบาลนี้ทำเพิ่มเติม ไม่ได้ทำตามเดิมทั้งหมด งบประมาณก็ปรับขึ้น อยากให้ช่วยกันอธิบายตรงนี้ด้วยว่าในวันนี้เราทำให้ดีขึ้นแค่ไหน เราไม่ได้เลิก แต่ปัญหาก็มีบ้าง ซึ่งของเดิมมีปัญหาทั้งเรื่องงบประมาณและคุณภาพเยอะ ถ้าเข้าใจบริบทเหล่านี้ก็คุยต่อได้ อย่ารู้เพียงหลักการวิชาการอย่างเดียว”

“ซวย” เพราะเป็นคนจน?

แม้รัฐบาลนี้ไม่คิดจะเลิกนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องก็พยายามเข้ามาแก้ไขหรือแทรกแซงทั้งด้านหลักการและงบประมาณ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีก็เคยพูดทำนองว่า “บัตรทอง” เป็นภาระของรัฐบาล

ปี 2558 พล.อ.ประยุทธ์พูดว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมเรื่องบัตรทองว่า “190 ประเทศยังไม่ทำ แล้วทำไมประเทศไทยจึงต้องทำ” จึงทำให้คนกังวลว่ารัฐบาลนี้จะล้มบัตรทอง ทั้งที่ไม่มีใครอยากป่วย ไม่มีใครอยากไปหาหมอ ไม่มีใครอยากไปโรงพยาบาล แม้แต่คนมีฐานะและทำประกันชีวิตก็ไม่อยากจะเจ็บป่วย เรื่องบัตรทองหรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะยากดีมีจน ไม่ใช่เป็น “คนจน” แล้วจะต้องอยู่อย่างทาส หรือซวยเพราะเป็นคนจน

“ซวย” เพราะใส่เสื้อผิด

ภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์จากรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจนั้น แม้แต่การแสดงความเห็นต่างกับผู้มีอำนาจก็อาจถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติหรือถูกจับกุมคุมขังในข้อหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง สิทธิมนุษยชน หรือสิทธิในการทำมาหากิน แม้แต่ผู้หญิงชาวบ้านที่ใส่เสื้อที่มีสัญลักษณ์คล้ายกลุ่มที่ต่อต้านรัฐไทย ซึ่งว่ากันตามจริงแทบไม่มีใครรู้เลยว่าสัญลักษณ์ธงนี้เป็นธงอะไร และเชื่อว่าถ้ามีขายกันอยู่ทั่วไปก็อาจจะมีคนซื้อมาใส่ด้วยความไม่รู้ว่า “ผิดกฎหมาย” ก็ได้ สุดท้ายผู้สวมใส่ก็ถูกนำตัวไปคุมขังในค่ายทหาร และอาจถูกตั้งข้อหาร้ายแรงถึงขั้นเป็นกบฏได้

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันที่จะใช้กฎหมายเด็ดขาดดำเนินคดีกลุ่มคนแบ่งแยกประเทศไทยที่ใช้สัญลักษณ์สหพันธรัฐ และมองว่าทุกอย่างมีเบื้องหลัง อาจเกี่ยวข้องกับคนอยู่ต่างประเทศด้วยหรือไม่

“ผมขอถามกลับว่า คำว่าสหพันธรัฐไทยถูกกฎหมายหรือไม่ ประเทศไทยจะเป็นสหพันธรัฐได้หรือไม่ ความหมายของสหพันธรัฐคืออะไร เป็นการล้มระบบการปกครองหรือไม่ เข้าข้อหากบฏหรือไม่… ขอร้องว่าอย่าทำ และใครอย่าไปร่วมมือ เราเป็นประเทศประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นอาณาจักรหนึ่งเดียวแบ่งแยกมิได้ คำว่าสหพันธรัฐเป็นการแบ่งแยกเป็นรัฐต่างๆให้มีอิสระ อะไรที่ขัดกับรัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้ทั้งสิ้น ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้กฎหมายรุนแรง

คนกลุ่มนี้มีความเชื่อมโยงกับคนที่อยู่ต่างประเทศหรือเปล่า ทุกอย่างมีเบื้องหลังทั้งหมด อย่ามาบอกว่ารัฐบาลรังแกคน มันไม่ใช่ ต้องเอากฎหมายมาดูว่าผิดกฎหมายข้อไหน มีการเชื่อมโยงกับใครบ้าง วันนี้ก็มีการออกหมายจับไปแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน มีการขายเสื้อ ขายอะไรต่างๆ สัญลักษณ์ของประเทศไทยคือธงไตรรงค์เท่านั้น ที่ผ่านมาก็มีคดีเหล่านี้อยู่ไม่ใช่หรือ

“ซวย” เพราะแชร์

เรื่องดังอีกเรื่องก็คือ ข่าวกรณีนักท่องเที่ยวสาวชาวอังกฤษที่อ้างว่าถูกข่มขืนแล้วชิงทรัพย์บนเกาะเต่า กลายเป็นเรื่องบานปลายและกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากที่เคยเกิดคดีฆ่าข่มขืนนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่าในอดีต ซึ่งคดีนั้นก็ยังเป็นจุดที่ค้างคาใจผู้คนทั่วโลก ล่าสุดเกิดข่าวใหม่อีกครั้งเมื่อนักท่องเที่ยวสาวชาวอังกฤษคนใหม่ออกมาร้องเรียนผ่านสื่อในประเทศอังกฤษว่า ตนเองถูกข่มขืนและเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับแจ้งความ โดยแจ้งว่าผู้เสียหายต้องไปแจ้งความในสถานที่เกิดเหตุ เกิดเรื่องขึ้นที่เกาะเต่า ไม่สามารถมาแจ้งที่เกาะพะงันได้ แม้ว่าเรื่องนี้ยังไม่มีการสอบสวนในเชิงลึกเลยว่าแหม่มสาวถูกข่มขืนและถูกชิงทรัพย์จริงหรือไม่ มีเพียงแต่การไปสัมภาษณ์คนในพื้นที่ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม ให้ข้อมูลว่าไม่มีเรื่องของการมอมยาหรือข่มขืน อาจเป็นเรื่องที่แหม่มสาวไปมีเพศสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวด้วยกันเองหรือไม่

คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยก็ขอให้ศาลออกหมายจับ นายประมุข อนันตศิลป์ แอดมินเพจ CSI LA และผู้แชร์ข้อมูลรวม 13 คนแล้ว ฐานกระทำผิดนำข่าวแหม่มอังกฤษถูกข่มขืนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ฯลฯ

“บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ผู้รับผิดชอบคดีนี้ระบุว่า การตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบว่ามีการข่มขืนตามที่อ้าง แม้ว่าทางตำรวจอังกฤษจะรับแจ้งความนักท่องเที่ยวสาวชาวอังกฤษ รวมถึงมีการสอบปากคำและตรวจดีเอ็นเอเสื้อผู้เสียหายแล้ว ซึ่งผลการตรวจจะมีการส่งมาตามช่องทางการทูตให้กับตำรวจไทยประมาณ 1 เดือน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเจ้าหน้าที่ไทยก็ตั้งข้อกังขาว่า ทำไมผู้เสียหายจึงไม่แจ้งความกับกงสุลใหญ่สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยหากไม่ไว้วางใจตำรวจไทย

ในขณะที่ฝ่ายที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนก็ตั้งข้อสงสัยในทางตรงกันข้ามว่า เป็นการรวบรัดคดีสรุปว่าไม่มีมูลอย่างรวดเร็วเกินไปหรือไม่จนเป็นเหตุให้ออกหมายจับผู้ที่แชร์ว่าเป็นการแชร์ข้อความเท็จ ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่รู้ว่าคดีนี้เป็นจริงหรือเท็จ อีกทั้งมีเจตนาที่จะเผยแพร่เพื่อให้เกิดความเสียหายจริงหรือไม่

แชร์โพสต์ “เจตนาสุจริต”

นายวิญญัติ ชาติมนตรี ผู้ทำหน้าที่ทนายความให้กับผู้ต้องหาแชร์และโพสต์กรณีเกาะเต่า กล่าวว่า ในชั้นสอบปากคำรับสารภาพไป 3 คน ปฏิเสธ 9 คน ตอนนี้เตรียมการที่จะให้การเพิ่มเติมสำหรับผู้ต้องหาที่ปฏิเสธหรือรับสารภาพทั้งหมด 12 คน โดยกำลังประมวลข้อเท็จจริงของแต่ละคนว่าเป็นมาอย่างไร ทำไมถูกจับ ขณะที่แชร์มีเจตนาอะไร จากนั้นจะทำคำให้การ โดยวันที่ 18 ตุลาคมนี้ พนักงานสอบสวนนัดฟังคำสั่งหรือความเห็นว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง หลังจากนั้นจะส่งอัยการ ซึ่งการมีโอกาสที่จะไม่ฟ้องคือพนักงานสอบสวนต้องได้ข้อเท็จจริงพอสมควรที่จะเห็นว่าผู้ต้องหาไม่มีเจตนาหรือความตั้งใจในการทำผิด นอกจากนี้ยังมีเรื่องข้อกฎหมาย เช่น ขณะโพสต์รู้ไหมว่าเท็จ หรือความเท็จคืออะไร หรือจะก่อให้เกิดความเสียหายแบบที่ข้อกล่าวหาอ้างจริงหรือไม่

นายวิญญัติแสดงความเห็นว่า ข้อกล่าวหานั้นเป็นการกล่าวหาร่วมกันกระทำความผิด ซึ่งคนที่รับสารภาพคิดว่าเป็นผลเสียมากกว่าผลดี คือการกระทำความผิดนั้นไม่ได้มีลักษณะเป็นการร่วมกระทำผิด ความเป็นจริงคือต่างคนต่างทำ ต่างคนไม่เคยรู้จักกัน แชร์คนละที่

ประเด็นต่อมาเมื่อรับสารภาพแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดความยุ่งยากใดๆ เพราะยังต้องไปพบพนักงานสอบสวนอยู่ เพียงแต่หากอยู่ในชั้นศาล คนที่รับสารภาพซึ่งชัดเจนว่ามีความผิด ศาลก็อาจจะลงโทษกึ่งหนึ่งเนื่องจากรับสารภาพ แต่คนที่ปฏิเสธก็ยังมีโอกาสสู้คดีได้อย่างเต็มที่ว่าไม่ได้เป็นตัวกลางร่วม และไม่ได้กระทำความผิด เพราะโพสต์โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นความเท็จ ทั้งหมดนี้จึงเห็นว่าการรับสารภาพไม่ได้ดีกว่าการปฏิเสธเลยในแง่ของรูปคดี

นายวิญญัติตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคดีนี้ว่า ประเด็นแรก หมายจับระบุข้อหาผิดจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ขาดคำว่า “เจตนาทุจริต-หลอกลวง” โดยชี้ว่าตั้งแต่การออกหมายจับมีการระบุข้อหาผิดไปจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 วรรค 1 ซึ่งต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญคือมีเจตนาทุจริตหรือโดยหลอกลวง แต่หมายจับนั้นตัด 2 คำนี้ออก แสดงว่าตัดคำเหล่านี้ออกเพื่อให้เห็นพฤติการณ์ว่ากระทำผิดจริงใช่หรือไม่? ถ้าเป็นแบบนั้นก็เข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการแชร์โพสต์ดังกล่าวผู้แชร์ก็ไม่ได้มีเจตนาหลอกลวง

ประเด็นต่อมา การออกหมายจับแทนหมายเรียกนัยสำคัญคือหยุดการแชร์โพสต์หรือไม่ ซึ่งนายวิญญัติมองว่าเป็นการกระทำที่เกินเหตุของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ยังไม่จำเป็นต้องออกหมายจับ สามารถออกหมายเรียกก็ได้ กรณีอื่นๆก็ออกหมายเรียกก่อนทั้งนั้น เพราะการออกหมายเรียกเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสอบถามโดยยังไม่ต้องกล่าวหา ส่วนการออกหมายจับคือการเชื่อเต็มๆว่าเขาเป็นผู้ต้องหาแล้ว

รับสารภาพเพราะไม่อยากสู้คดี

นายวิญญัติกล่าวว่า การที่จะกล่าวหาใครแล้วออกหมายจับ แม้กฎหมายระบุว่าออกหมายจับคนที่น่าเชื่อว่ากระทำความผิดหรือมีมูลเหตุ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงที่จะบอกว่าเป็นความเท็จหรือยัง? การที่บอกว่าอะไรคือความเท็จต้องรู้ว่าอะไรคือความจริงก่อน และตอนนี้ผู้เสียหายก็ยังไม่ได้ถูกสอบสวน ดังนั้น ทั้งหมดจึงยังอยู่ในกระบวนการระหว่างความสงสัยและความคลุมเครือ ข้อเท็จจริงที่เป็นความจริงยังไม่ปรากฏ สาระสำคัญของกฎหมายคือ ขณะที่คุณแชร์หรือนำเข้าคุณจะต้องรู้ว่าอันนั้นคือความเท็จ

ผู้สื่อข่าวจาก “ประชาไท” ได้สัมภาษณ์ 1 ใน 12 ของผู้แชร์ข้อมูลแล้วถูกจับที่ “รับสารภาพ” กล่าวว่า เจ้าหน้าที่และพ่อบอกให้รับสารภาพ เพราะจะยุ่งยากน้อยกว่า ก็เลยรับโดยไม่ได้ขัดขืน เพราะตนก็มีธุรกิจ ไม่อยากให้กระทบกับธุรกิจที่ทำ และไม่อยากสู้คดี

“จริงๆไม่ได้รู้สึกว่าเราผิด และมันยังอยู่ในขั้นตอนสอบสวนอยู่เลย แล้วมาจับแบบนี้มันไม่น่าใช่ เราไม่ได้เจตนาตามที่เขากล่าวหา เราคิดว่าเป็นข่าวจริงก็เลยแชร์ เรารู้สึกน้อยใจแทนนักท่องเที่ยว ทำไมถึงเกิดแบบนี้อีกแล้ว ทำไมเจ้าหน้าที่ทำกับเขาแบบนี้ เราก็เป็นคนไทยที่ห่วงประเทศไทย ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้นักท่องเที่ยวเขาก็จะไม่มาเที่ยวประเทศไทยอีก ไม่ได้มีเจตนาจะทำลายชื่อเสียงของประเทศไทย ทำลายระบบการท่องเที่ยวของประเทศไทย ทำลายระบอบความมั่นคงของประเทศไทย ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปใครจะกล้าแชร์”

ใครซวยและใครเละเป็นโจ๊ก?

การกล่าวหาเพจ CSI LA ซึ่งมียอดผู้กดถูกใจเพจกว่า 800,000 ราย และโด่งดังจากกรณี “นาฬิกาหรู” ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำให้มีหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเกี่ยวข้องกับกรณี “นาฬิกาหรู” หรือไม่? และมีเบื้องหน้าเบื้องหลังทางการเมืองหรือไม่? ซึ่งแอดมินเพจ CSI LA ได้โพสต์แถลงว่า ผิดหรือที่ยื่นมือช่วยเหลือเเม่ของเด็กชาวอังกฤษที่มาขอร้องให้ช่วย เพราะเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งเรื่องถูกข่มขืนเป็นเรื่องใหญ่ และการช่วยเหลือก็ไม่ควรเเบ่งเชื้อชาติ

ที่สำคัญนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษและครอบครัวยังให้สัมภาษณ์ทั้งสื่อไทยและสื่ออังกฤษว่าถูกข่มขืนจริงและตำรวจไทยไม่ยอมรับแจ้งความ อ้างอยู่คนละพื้นที่ คือเหตุเกิดที่เกาะเต่า แต่ผู้เสียหายไปแจ้งความที่เกาะพะงัน เพราะหลังเกิดเหตุวันรุ่งขึ้นต้องเดินทางจากเกาะเต่าไปเกาะพะงัน

ยิ่งต่อมามีข่าวหลายกระแสที่สวนทางกับการให้สัมภาษณ์ของตำรวจไทยรวมถึงจุดที่เกิดเหตุ เพจ CSI LA จึงโพสต์ถามว่า “งานนี้ใครมโนกันเเน่? ใครกันแน่ที่ทำให้ชื่อเสียงประเทศชาติเสียหาย? งานนี้เละเป็นโจ๊ก”

ขณะที่ 4 องค์กรสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์ให้ทบทวนและยุติการดำเนินคดีแอดมินเพจ CSI LA และผู้แชร์ข้อมูลทั้งหมด เพราะการฟ้องคดีเหมือนเป็นการปิดปากประชาชนที่แสดงความคิดเห็น และยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย ทั้งยังขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญของไทยอีกด้วย

นายจอน อึ๊งภากรณ์ นักสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ (9 กันยายน) เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ถูกนำมาใช้ในกรณีต่างๆว่า เรื่องที่กระทบกระเทือนมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือกรณีเพจ CSI LA ที่เปิดเผยคดีเกาะเต่า จนคนที่แชร์ถูกหมายจับด้วยถึง 12 คน ทั้งที่ยังไม่ได้สรุปข้อเท็จจริงว่าข่าวนี้เป็นจริงหรือไม่จริงอย่างใด จนถูกครหาว่าเป็นการปิดปากหรือชำระแค้นเพจ CSI LA ที่เคยเปิดเผยเรื่องนาฬิกา 25 เรือนด้วยหรือไม่

แม้ล่าสุด พล.อ.ประวิตรจะบอกว่านาฬิกาทั้ง 25 เรือนไม่ใช่ของตน และได้คืนหมดแล้ว ซึ่งก็คงคาดเดาได้ว่าสุดท้ายกรณีนี้จะลงเอยอย่างไร เพราะ ป.ป.ช. ก็ไม่สามารถตรวจสอบยี่ห้อ รุ่น และหมายเลขประจำตัวเรือนนาฬิกาได้

“ซวย” ตัดปะโกหกหวย 90 ล้าน แต่อาจซวยหนักถ้าโดน พ.ร.บ.คอมพ์

การใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เพื่อเอาผิดและเป็นข่าวดังขณะนี้ยังมีกรณี “พีท” นายธนวรรธน์ คำแหงพล พ่อค้าล็อตเตอรี่วัย 35 ปี ซึ่งออกมาเปิดเผยว่าได้ให้โชคลูกค้าคนหนึ่งจนถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 มูลค่า 90 ล้านบาท โดยตนเองได้เก็บล็อตเตอรี่ไว้ให้ ไม่คิดจะโกงหรือฮุบเอาไว้เอง จนสังคมพากันชื่นชมสรรเสริญยกย่องว่าเป็นคนดี ซื่อสัตย์ เป็นบุคคลต้นแบบ ทั้งพีทได้ให้สัมภาษณ์และออกรายการจนโด่งดังชั่วข้ามคืน ทำให้ลูกค้าแห่มาซื้อยกแผง แต่โลกออนไลน์และชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมกลับตั้งข้อสังเกตสลากที่พีทนำมาแสดงว่าอาจจะเป็นการปลอมแปลงตัวเลข

ช่วงแรกพีทได้ออกมายืนยันว่าเป็นสลากของจริง แต่เมื่อถูกตรวจสอบและตั้งคำถามมากมาย สุดท้ายก็ยอมรับว่ารูปที่ถือล็อตเตอรี่เลขชุด 15 ใบ หมายเลข 734510 งวดประจำวันที่ 1 กันยายน 2561 ที่อ้างว่าถูก 90 ล้านบาทนั้น เป็นล็อตเตอรี่ที่ขายไม่หมดซึ่งใกล้เคียงรางวัลที่ 1 มาก จึงถ่ายรูปเล่นที่ปั๊มน้ำมัน โดยนำมาตัดต่อเลขตัวหน้าเป็นเลข 7 แล้วส่งกันในกลุ่มไลน์ของตน แต่ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่

แม้จะไลน์ในกลุ่มซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนโพสต์คนแรกหรือพีทโพสต์เองก็ทำให้พีทซวยหนัก เพราะศาลอนุมัติหมายจับพีทในความผิดฐานทุจริตหรือหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี ซึ่งนายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นทางกฎหมายว่า อาจเป็นความผิดในหลายฐานความผิด ได้แก่ ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท และความผิดฐานอ้างเอกสารสิทธิที่ตนเองทำปลอมขึ้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท

นายพีทซึ่งขณะนี้เป็นผู้ต้องหาได้ยอมรับสารภาพเพียงแค่ข้อหาดัดแปลงล็อตเตอรี่และขายหวยเกินราคาเท่านั้น สำหรับข้อหาหลอกลวงประชาชนและกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้น นายพีทให้การปฏิเสธ

กรณี “พีท 90 ล้าน” จะกระตุกต่อมจริยธรรมคนไทยที่มีแต่คนดีๆไม่ชอบคนโกหก แต่ก็มีคำถามว่า การกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มีโทษร้ายแรงกว่าด้วยนั้น อาจเป็นการใช้กฎหมายรุนแรงพร่ำเพรื่อเกินไปหรือไม่? เพราะการใช้กฎหมายที่ไม่เหมาะสมอาจเป็นดาบสองคมที่สร้างหรือทำลายก็ได้

โดยเฉพาะกรณีที่พูดถึงเรื่องศีลธรรมจริยธรรม แน่นอนว่าการโกหกของพีทเป็นเรื่องที่สังคมไทยรับไม่ได้ ยิ่งถูกรับเชิญไปออกทีวีแล้วยังยืนยันในการโกหกของตัวเองยิ่งทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง เพราะยิ่งโกหกก็ต้องโกหกไปเรื่อยจนหาทางลงแทบไม่ได้

หรือบางทีถ้าพูดเรื่องการโกหกและผิดศีลธรรม ไม่แน่ว่าบางคนที่ออกรายการทุกช่องพูดอยู่ข้างเดียว ตรวจสอบก็ไม่ได้ อาจน่ากลัวกว่าพีทก็ได้ แต่สังคมไทยก็รับได้ และลอยนวลอยู่เป็นปรกติ

ประเด็นก็คือ เจ้าหน้าที่เองต้องระมัดระวังว่าเป็นการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อย่างพร่ำเพรื่อหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ใช้กับผู้เห็นต่างทางการเมืองหรือเห็นต่างกับผู้มีอำนาจ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นกฎหมาย “ปิดปาก” หรือกลั่นแกล้งกันได้ ถ้าถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์และใช้อย่างไม่เป็นธรรม

ระดับซินแสยัง “ซวย”เพราะคำว่า “รวย”

แม้แต่ “ซินแสเป็นหนึ่ง วงษ์ภูดร” ซินแสชื่อดังที่เอาป้ายที่เขียนว่า “รวย” ไปโปรโมท โดยถ่ายภาพคู่กับ “พีท หวย 90 ล้าน” และบอกว่าพื้นที่ตรงนี้ฮวงจุ้ยดี ซึ่งก็เป็นข่าวดังสมใจและมีการแชร์กันไปทั่ว แต่ก็มีคำถามว่าแล้วแบบนี้ “ซินแสเป็นหนึ่ง” จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่

“ซินแสเป็นหนึ่ง” ออกมาแถลงว่า ไม่คิดว่าพีทจะกุเรื่อง ส่วนที่มอบป้าย “รวย” ก็ทำด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่ได้เกาะกระแส และไม่คิดว่าตัวเองเสียหน้า ส่วนพีทก็ถือว่าได้รับผลกรรมไปแล้ว

แต่ดูเหมือนกรรมของ “ซินแสเป็นหนึ่ง” เองกลับไม่จบไปด้วย เพราะต่อมาเพจ CSI LA ได้โพสต์ภาพและข้อความ (11 กันยายน) ตั้งข้อสงสัยและเรียกร้องให้กรมสรรพากรตรวจสอบนาฬิกาของ “ซินแสเป็นหนึ่ง” ที่ใส่ 2 เรือน ว่าเอาเงินมาจากไหนเเละแจ้งรายได้เท่าไร โดยเรือนแรกยี่ห้อ ULYSSE NARDIN รุ่น Safari Minute Repeater รหัสรุ่น 729-61 ทำจากแพลทินัม ราคา 405,000 ดอลลาร์ หรือ 13 ล้านบาท ยังไม่รวมเพชรต่างหูที่คาดว่าขนาดอย่างน้อย 3 กะรัต เเละแหวนเพชรขนาดอย่างน้อย 12 กะรัต ราคาน่าจะไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ส่วนเรือนที่ 2 ยี่ห้อ Patek Philippe รุ่น Grand Complications Perpetual Calendar Chronograph รหัสรุ่น 5270G-001 ราคาตลาดประมาณ 4.9 ล้านบาท

กฎหมายปิดปากประชาชน?

แม้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จะใช้กล่าวหากับหลายกรณี แต่ก็มีคำถามถึงคุณและโทษที่แท้จริงของการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้หลายกลุ่มได้ออกมาต่อต้าน เพราะเห็นว่ามีประเด็นที่ขัดกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย และความสมดุลระหว่างสิทธิในความเป็นส่วนตัวกับสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีควรจะอยู่ที่ตรงไหน

ที่สำคัญมีการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ภายใต้รัฐบาลทหารเพื่อ “ปิดปาก” ประชาชนหรือไม่ โดยเฉพาะผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยมาตรา 14 (1) ระบุว่า “ผู้ใด (1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” การเขียนกฎหมายเช่นนี้เป็นการเปิดให้ต้องตีความอยู่มาก ทำให้ลักษณะของความผิดที่ฟ้องร้องเป็นคดีความกันด้วยมาตรา 14 (1) มีความหลากหลายดังต่อไปนี้ 1.ความผิดต่อระบบ เช่น การปลอมแปลงไฟล์เพื่อแฝงตัวเข้ามาทำลายระบบคอมพิวเตอร์ 2.การหลอกลวง ฉ้อโกง เช่น การปลอมหน้าเว็บไซต์ว่าเป็นเว็บไซต์ของสถาบันการเงิน และ 3.การหมิ่นประมาท

ที่น่าสนใจคือ มาตรา 14 (2) ซึ่งเว็บไซต์ iLaw ได้รวบรวมคดีจนถึงวันที่ 7 กันยายน 2561 ไว้ดังนี้

1.นายสมศักดิ์ ภักดีเดช บรรณาธิการเว็บไซต์ไทยอีนิวส์ โพสต์บทความของใจลส์ อึ๊งภากรณ์ บนเว็บไซต์ไทยอีนิวส์ ศาลทหารกรุงเทพ (25 พฤษภาคม 2557) พิพากษาจำคุก 9 ปี รับสารภาพ ลดโทษเหลือ 4 ปี 6 เดือน

2.ธานัท หรือทอม ดันดี ปราศรัยหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ศาลทหารกรุงเทพ (12 มิถุนายน 2557) พิพากษาจำคุก 5 ปี รับสารภาพ ลดโทษให้คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน

3.“อัครเดช” โพสต์เฟซบุ๊คหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ศาลอาญา (18 มิถุนายน 2557) พิพากษาจำคุก 5 ปี รับสารภาพ ลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน

4.“ชญาภา” โพสต์เฟซบุ๊คข่าวลือปฏิวัติซ้อน ศาลทหารกรุงเทพ (19 มิถุนายน 2558) พิพากษาจำคุก 14 ปี 60 เดือน รับสารภาพ ลดเหลือ 7 ปี 30 เดือน

5.“รินดา” โพสต์ข่าวลือประยุทธ์โอนเงินหมื่นล้าน ศาลทหารกรุงเทพ (6 กรกฎาคม 2558) สั่งไม่ฟ้อง

6.“แจ่ม” โพสต์เรื่องอุทยานราชภักดิ์ ศาลทหารกรุงเทพ (27 พฤศจิกายน 2558) สั่งไม่ฟ้อง

7.“สมลักษณ์” โพสต์วิจารณ์เหมืองทองคำ จ.พิจิตร ศาลจังหวัดพิจิตร (22 กรกฎาคม 2559) โทษจำคุก 1 ปี ปรับ 80,000 บาท รอลงอาญาโทษจำคุก 2 ปี

8-15.แอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์ โพสต์ภาพเสียดสี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ศาลทหารกรุงเทพ (27 เมษายน 2559) อยู่ระหว่างศาลชั้นต้น

16-17. “หฤษฎ์และณัฏฐิกา” แชตเฟซบุ๊คเรื่องความมั่นคง ศาลทหารกรุงเทพ (11 พฤษภาคม 2559) อยู่ระหว่างศาลชั้นต้น

18.พิชัย นริพทะพันธุ์ โพสต์เฟซบุ๊ควิจารณ์ยุทธศาสตร์ชาติ (4 สิงหาคม 2560) อยู่ระหว่างชั้นสอบสวน

19.ประวิตร โรจนพฤกษ์ โพสต์วิจารณ์เรื่องคดีรับจำนำข้าว (18 สิงหาคม 2560) อยู่ระหว่างชั้นสอบสวน

20.ร.ท.สุณิสา ทิวากรดำรง (หมวดเจี๊ยบ) โพสต์เฟซบุ๊ควิจารณ์ คสช. (6 ธันวาคม 2560) อยู่ระหว่างชั้นสอบสวน

21.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แชร์ภาพประกอบข้อความเกี่ยวกับกระเป๋าของภรรยาหัวหน้า คสช. (31 มกราคม 2561) อยู่ระหว่างชั้นสอบสวน

22.อานนท์ นำภา โพสต์บทกวีถึงมหาตุลาการ (9 มีนาคม 2561) อยู่ระหว่างชั้นสอบสวน

23.เพจ City Life Chiang Mai โพสต์ภาพอดีตกษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่มีหน้ากากสวมปิดพระพักตร์ (30 มีนาคม 2561) อยู่ระหว่างชั้นสอบสวน

24.เพจ KonthaiUK โพสต์วิจารณ์การจัดซื้อดาวเทียม (13 มิถุนายน 2561) อยู่ระหว่างชั้นสอบสวน

25.วัฒนา เมืองสุข โพสต์วิจารณ์รัฐบาลที่ดำเนินคดีกับเจ้าของเพจ “KonthaiUk” (4 กรกฎาคม 2561) อยู่ระหว่างชั้นสอบสวน

26.พิชัย นริพทะพันธุ์ โพสต์เรื่องห้ามจำหน่ายนิตยสารไทม์ในไทย และการดูด ส.ส.พรรคเพื่อไทย (3 สิงหาคม 2561) อยู่ระหว่างชั้นสอบสวน

27-29.ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพวกรวม 3 คน เฟซบุ๊คไลฟ์เรื่องการดูด ส.ส. (23 สิงหาคม 2561) อยู่ระหว่างชั้นสอบสวน

30.“ไทกร” โพสต์ว่าพระสงฆ์กว่า 300,000 รูป คว่ำบาตรหัวหน้า คสช. (28 สิงหาคม 2561) อยู่ระหว่างชั้นสอบสวน

31.พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส โพสต์วิดีโอมีบทสัมภาษณ์วิจารณ์ คสช. ทำนองว่าประชามติก็โกง รัฐธรรมนูญก็โกง (กันยายน 2561) อยู่ระหว่างชั้นสอบสวน

32-44.ประมุข อนันตศิลป์ แอดมินเพจ CSI LA กับผู้แชร์เพจ CSI LA 12 คน โพสต์เรื่องเหตุการณ์ข่มขืนผู้หญิงชาวอังกฤษที่เกาะเต่า (3 กันยายน 2561) อยู่ระหว่างชั้นสอบสวน

“ซวย” ถ้วนหน้า

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จะเป็นคุณหรือโทษ จะมีจุดประสงค์เพื่อปิดปากประชาชนและกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆหรือไม่นั้น ประเด็นสำคัญคือผู้ใช้อำนาจมีความบริสุทธิ์และยุติธรรมหรือไม่ ซึ่งในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด โซเชียลมีเดียถือว่ามีความสำคัญอย่างมากกับการใช้ชีวิตของคนทั้งโลก แม้ว่า “อาชญากรรมคอมพิวเตอร์” และ “ความมั่นคงทางไซเบอร์” จะเป็นเรื่องสำคัญและต้องมีการดูแลเพื่อรับมือปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้น แต่ก็ต้องไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน

ความสมดุลระหว่างสิทธิในความเป็นส่วนตัวกับสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีจึงเป็นสิ่งสำคัญในโลกประชาธิปไตยที่ก้าวไปพร้อมๆกับโลกดิจิตอล ไม่ใช่โลกเผด็จการที่ยังติดยึดอยู่กับโลกยุคไดโนเสาร์เต่าล้านปี

โลกออนไลน์มีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จึงเหมือน “ดาบสองคม” ที่มีทั้งคุณและโทษ แต่ไม่ใช่มีไว้เพื่อผู้มีอำนาจใช้ควบคุม ปิดกั้น หรือปิดปากประชาชน

สุดท้ายแม้แต่ “คนดี” ไม่ว่าระดับไหนก็อาจเผลอ “ซวย” งานเข้าตัวเองกันได้ถ้วนหน้าโดยไม่รู้ตัว!!??


You must be logged in to post a comment Login