วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

‘บ้านพักตุลาการ-บิ๊กทหาร’ไม่ควรสร้าง

On September 12, 2018

 

คอลัมน์ โลกอสังหาฯ ‘บ้านพักตุลาการ-บิ๊กทหาร’ไม่ควรสร้าง

โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 14-21 กันยายน 2561)

ถ้าเรายึดหลักความพอเพียง ยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศชาติ เราไม่ควรสร้างบ้านพักข้าราชการ โดยเฉพาะในส่วนกลาง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างในราคาแสนแพง

อย่างกรณีหมู่บ้าน “ป่าแหว่ง” สร้างด้วยงบประมาณ 1,000 ล้านบาทสำหรับข้าราชการตุลาการ 200 ราย หรือรายละประมาณ 5 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมค่าที่ดิน ซึ่งอาจมีค่าเท่ากับ 2 เท่าของค่าก่อสร้าง รวมเป็นเงินประมาณ 15 ล้านบาท ลำพังแค่เงินก่อสร้าง 5 ล้านบาท หากนำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล แล้วนำเงินดอกเบี้ยให้ผู้พิพากษาไปเช่าบ้านแทน ซึ่งจะทำให้ได้มีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ตลาดที่อยู่อาศัย ยังคุ้มกว่า เพราะเงินต้นก็ยังอยู่

ป่าแหว่ง

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การสร้างอาคารชุดโดยทุบทิ้งบ้านพักตุลาการศาลธนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครนี่เองที่ซอยกำนันแม้น อยู่ด้านหลังของศาลแขวงธนบุรี กรณีนี้จะรื้อเรือนแถว 100 หน่วย และสร้างห้องชุด 100 หน่วย เป็นเงิน 500 ล้านบาท หรือหน่วยละ 5 ล้านบาท (ยังไม่รวมค่าที่ดิน) การใช้เงินถึง 500 ล้านบาท ในการสร้างอาคารชุดจึงถือว่าไม่คุ้มค่า เป็นความสูญเปล่าประการหนึ่ง อันที่จริงถ้าซ่อมก็จะใช้เงินหลังละแค่ 720,000 บาท รวมเป็นเงินเพียง 72 ล้านบาท สามารถประหยัดเงินได้ถึง 428 ล้านบาท การรื้อทิ้งเท่ากับสร้างความสูญเสียไปประมาณ 110 ล้านบาทเลยทีเดียว (http://bit.ly/2wJt85J)

โสภณ

ในอีกแง่หนึ่ง การสร้างห้องชุดด้วยเงิน 500 ล้านบาท ได้ห้องชุด 100 หน่วยๆละ 5 ล้านบาทนั้น หากนับรวมที่ดินเข้าไปด้วย โดยเบื้องต้นประมาณการว่าที่ดินแปลงนี้มีขนาด 7 ไร่ หรือ 2,800 ตารางวา ราคาตารางวาละ 80,000 บาท หรือเป็นเงินรวม 224 ล้านบาท ก็เท่ากับโครงการสร้างใหม่นี้มีราคา 724 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินหน่วยละ 7.24 ล้านบาท ซึ่งมากเกินไปหรือไม่ ขาดความไม่พอเพียงหรือไม่ และยังจะมีค่าบำรุงรักษาที่อาจเป็นงบหลวงผูกพันอีกมากมายหรือไม่ ในทางตรงกันข้าม ถ้านำเงินจำนวนนี้ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ณ อัตราดอกเบี้ย 3% จะได้เงินดอกเบี้ยปีละ 217,200 บาท หรือเดือนละ 18,100 บาท สามารถนำไปให้ผู้พิพากษาเช่าบ้านอยู่ใกล้ๆ โดยที่เงินต้นทุนก็ยังอยู่ครบไปชั่วกัลปาวสานเลยทีเดียว

การสร้างบ้านพักตุลาการหรือแม้แต่ข้าราชการอื่นๆก็ควรได้รับการทบทวนเช่นกัน โดยเฉพาะระบบราชการส่วนภูมิภาคที่ต้องหมุนเวียนคนออกไปนอกเมือง กลับมีข้าราชการส่วนกลางถึงราว 60% ของข้าราชการทั้งหมด (http://bit.ly/2b3seDL) ทำให้ต้องจัดหาสวัสดิการที่เกินความจำเป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง งบประมาณที่จะนำไปพัฒนาประเทศจึงจำกัด เช่น “ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ โดยมีผู้ต้องขังจำนวน 355,543 คน แต่เรือนจำรองรับได้ 200,000 คน” (https://bit.ly/2PAzDil)

ถ้าห้องขังสำหรับผู้ต้องขังคนหนึ่งใช้เงินสร้างใหม่เป็นเงิน 50,000 บาท (ตัวเลขสมมุติ) เงิน 500 ล้านบาทที่คิดจะสร้างบ้านพักตุลาการจะสามารถสร้างคุกให้ผู้ต้องขังอยู่ได้ถึง 10,000 คนเข้าไปแล้ว การเก็บ “คนที่ไม่ดี” ไว้ในคุก ย่อมดีกว่าปล่อยให้ออกมาง่ายๆ ประเทศไทยของเราควรมีคุกที่มีมาตรฐาน พอเพียง และมีการดูแลให้เป็น “คนดี” ไม่ใช่ปล่อยให้อยู่กันอย่างยัดเยียด กลายเป็นกลุ่มแก๊งรังแก ทำร้ายกันและกัน หาไม่จะทำให้ “คนดีๆ” ที่ติดคุกพลอยเสื่อมเสียหนักมากขึ้น

อีกตัวอย่างหนึ่งเกิดเมื่อปี 2559 มีข่าวว่า “ผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารแฟลตสวัสดิการข้าราชการกองทัพบก สูง 18 ชั้น วงเงินในการก่อสร้าง 2,100 ล้านบาท บริเวณพื้นที่สวัสดิการทหารบกแห่งใหม่ ถนนเทอดดำริ เขตดุสิต สามารถรองรับกำลังพลได้ 494 ครอบครัว” (http://bit.ly/28SLzag) กรณีนี้ถือเป็นการใช้จ่ายเงินที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ในกรณีนี้เท่ากับที่อยู่อาศัยหน่วยหนึ่งมีมูลค่าถึง 4.25 ล้านบาท (2,100 ล้านบาท / 494 ครัวเรือน) หากประมาณการค่าที่ดินเข้าไปด้วย โดยสมมุติให้ใช้ที่ดิน 5 ไร่ๆละ 80 ล้านบาท หรือตารางวาละ 200,000 บาท ก็จะเป็นเงินอีก 400 ล้านบาท รวมมูลค่าโครงการประมาณ 2,500 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินหน่วยละ 5.1 ล้านบาท หากสมมุติว่าหน่วยหนึ่งมีขนาด 100 ตารางเมตร ก็เท่ากับตารางเมตรละ 50,000 บาท หากสามารถนำไปขายให้เป็นเสมือนอาคารชุดก็จะขายได้ ณ ราคาตารางเมตรละ 80,000 บาท การใช้ทรัพยากรมหาศาลเพื่อข้าราชการจำนวน 494 ครัวเรือน ที่แต่ละครัวเรือนมีผู้รับราชการ 1-2 ท่าน จึงอาจไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ  

หากนำทรัพยากรนี้ไปใช้สร้างอาคารชุดเพื่อขายหรือให้เช่าในระยะยาวแก่ประชาชนทั่วไปก็จะได้เงินหน่วยละประมาณ 8 ล้านบาท หากให้เช่าระยะยาว 30 ปี ก็คงจะได้เงินประมาณ 60% ของมูลค่าหรือ 4.8 ล้านบาท หรือรวมเป็นเงินประมาณ 2,371 ล้านบาท ยิ่งหากในย่านใจกลางเมืองที่มีส่วนราชการหลายแห่งที่สามารถย้ายออกนอกเมืองแล้วก็จะทำให้นำที่ดินราชการมาพัฒนาเพื่อการนี้ เช่น สมมุติพัฒนาได้ 50 โครงการในทำนองนี้ ก็จะมีค่ารวมกันถึงประมาณ 118,560 ล้านบาท สามารถนำเงินไปพัฒนาประเทศได้อีกมหาศาล

หากคิดจากราคา 4.25 ล้านบาทต่อหน่วย และ ณ อัตราผลตอบแทนการลงทุนที่ 6% (ตามมาตรฐานของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย http://bit.ly/1Q2Fdcj) ก็เท่ากับพวกข้าราชการระดับสูงคนหนึ่งๆจะได้รับผลตอบแทนสุทธิเดือนละ 21,250 บาท เพิ่มจากเงินเดือนที่พวกเขาได้รับอยู่แล้ว หากสมมุติว่าพวกเขาได้รับเงินเดือนๆละ 100,000 บาท ก็เท่ากับว่าการให้อยู่แฟลตฟรีเป็นการขึ้นเงินเดือนให้พวกเขาอีกคนละ 21% ข้อนี้อาจทำให้เกิดความลักลั่นในด้านสวัสดิการกับหมู่ข้าราชการคนอื่น ๆ

ที่มักกล่าวว่าข้าราชการมีปัญหาการขาดแคลนที่พักอาศัยก็อาจไม่เป็นความจริง เพราะหากสำรวจให้ดีจะพบว่าข้าราชการจำนวนมากก็ซื้อบ้านของตนเองไว้แล้ว อันที่จริงข้าราชการที่มีบ้านเป็นของตนเองก็ไม่ควรอยู่ “บ้านหลวง” เพราะจะได้นำบ้านไปให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัยจริง ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องของการเดินทางนั้นก็คงเป็นปัญหาการเดินทางเฉพาะบุคคล บุตรหลานก็มีที่อยู่อาศัยที่ซื้อไว้ชานเมือง เรียนหนังสืออยู่ชานเมืองอยู่แล้ว ก็คงจำเป็นต้องย้ายมาทั้งครอบครัว ส่วนเรื่องขวัญและกำลังใจนั้น ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเราควรทุ่มเททรัพยากรให้ขวัญและกำลังใจแก่ประชาชนมากกว่า ในยามจำเป็นอาจต้องดุนข้าราชการออกไปบ้างเพื่อให้ประเทศชาติอยู่รอด

หากจำเป็นต้องสร้างจริงควรสร้างให้แก่ข้าราชการชั้นผู้น้อยเป็นสำคัญ รัฐบาลควรนำเงินงบประมาณแผ่นดินมาพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะสร้างที่อยู่อาศัยเช่นนี้ หรืออย่างน้อยก็ควรจัดรถรับส่งพนักงานเท่าที่จำเป็น เป็นต้น กรณีนี้จึงเป็นกรณีศึกษาเพื่อทางราชการจะได้ใช้ประกอบการพิจารณาการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อประโยชน์ของประชาชนเจ้าของประเทศ

ช่วยกันคิดเพื่อใช้ทรัพยากรของชาติให้ได้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ไม่ใช่แก่ข้าราชการ (ระดับสูง)

 


You must be logged in to post a comment Login