วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

ประเทศไทยคงไม่มาถึงจุดนี้..ถ้าไม่มี Super Hero

On September 6, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข  ประจำวันที่ 7-14 กันยายน 2561)

“วันนี้ผมยังไม่มีพรรคอะไรเลย ผมจะหาเสียงไปให้ใคร ที่สำคัญเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและภาคเอกชน จึงอยากฝากไว้และอยากให้ตั้งข้อสังเกตว่า การบริหารประเทศไทยเป็นของนักการเมืองเพียงอย่างเดียวหรือเปล่า เป็นของคนกลุ่มเดียวหรืออย่างไร เพราะข้าราชการอื่นๆ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่เกษียณแล้ว มีขีดความสามารถที่จะเข้าสู่การเมืองได้ตามกฎหมายถ้าใครอยากทำ ถ้าผมจะต้องทำก็ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง แต่จะทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก ขอให้คอยดูกันต่อไป”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม. (4 กันยายน) ถึงอนาคตทางการเมืองของตัวเองเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว และเมื่อมีคำสั่งมาตรา 44 คลายล็อกพรรคการเมือง

ส่วนการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งเพื่อเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์จะต้องได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล โดยสถานการณ์ในช่วงนั้นจะเป็นผลต่อการตัดสินใจของตนว่าจำเป็นต้องอยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อตามรัฐธรรมนูญหรือด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และถ้าจำเป็นแล้วจะเป็นได้อย่างไร ซึ่งจะตัดสินใจอีกครั้งในสถานการณ์ช่วงนั้น วันนี้คงตอบได้เท่านี้ ปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนคือนำประเทศสู่การปฏิรูปและตามยุทธศาสตร์ชาติที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว นี่คือคำตอบของตน ขอร้องอย่าถามบ่อย เพราะวันนี้ยังไปไม่ถึงไหนเลย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องย้อนไปยังคำถามว่าอนาคตทางการเมืองของตนอยู่ตรงไหน จำเป็นหรือไม่ที่ตนจะต้องโปรโมตตัวเอง ทุกวันที่ผ่านมาก็พูดเองอยู่แล้วและเป็นอย่างนี้ทุกรัฐบาล คนเป็นนายกฯก็พูดในขณะที่เป็นหัวหน้าพรรคด้วยซ้ำ ซึ่งทุกพรรคก็ทำเช่นนี้ ยืนยันว่าเราไม่ได้ทำแบบนั้น แต่ต้องการให้ประชาชนรับรู้ว่าเราทำงานอะไรได้บ้าง กี่เรื่อง จะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร วันนี้เราต้องสร้างความร่วมมือและความเข้าใจกับทุกคนให้ได้ ถือเป็นการประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาล ให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ที่ทุกคนควรรู้ ไม่ใช่การหาเสียง

“ลุงป้อม” หนุน “ลุงตู่” สุดตัว

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ยอมตอบเรื่องอนาคตทางการเมือง แต่ไม่ปฏิเสธที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็พูดชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรเป็นนายกฯต่อไปเพื่อทำงานต่อให้จบ ตนไม่ได้แนะนำเรื่องอนาคตทางการเมืองให้ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเป็นผู้นำประเทศก็คิดเองได้

สำหรับอนาคตทางการเมืองของตนเองและจะช่วย พล.อ.ประยุทธ์อย่างไรหรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวเชิงตัดพ้อนักข่าวว่า “ผมไม่พูด ผมไม่รู้ ผมห่วงสื่อมากกว่าว่ายังเล่นงานผมไม่พอ”

“ไพบูลย์” ท้าใครเหมาะกว่า “ตู่”

ขณะที่กระแสสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อก็ยังมีอย่างต่อเนื่องและเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสามมิตร พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือพรรคแนวร่วมต่างๆ ล่าสุด นายไพบูลย์ นิติตะวัน ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป แถลงระหว่างประชุมคณะกรรมการและสมาชิกเครือข่ายประชาชนปฏิรูปจังหวัดนครสวรรค์ว่า พรรคมุ่งทำการเมืองแบบใหม่ ไม่มีการสมคบคิดต่อรองหรือสมรู้ร่วมคิดกับใครในการตั้งรัฐบาลทั้งนั้น แต่จะใช้ ส.ส. ที่ได้มาเลือกผู้ที่ซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถ และยืนยันจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังเลือกตั้งไม่ว่าจะอยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคไหนก็ตาม พร้อมท้าผู้ที่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ให้เสนอชื่อบุคคลที่ดีกว่ามาให้ประชาชนเปรียบเทียบ ไม่ควรโจมตีภาพลักษณ์ที่เป็นทหารอย่างเดียว

นายไพบูลย์ยังประกาศว่าจะทำให้พรรคเป็นเสาหลักทางการเมือง ทำทุกอย่างให้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่วาทกรรมอย่างการเมืองแบบเก่า โดยยกตัวอย่างการปฏิรูปกิจการสงฆ์ที่ไม่มีพรรคไหนกล้าทำเพราะกลัวเสียคะแนน รวมถึงการตั้งสภาประชาชนที่พรรคอื่นไม่ทำ เพราะต้องการกุมสภาผ่านหัวคะแนน จำกัดบทบาทประชาชนไว้ ซึ่งพรรคการเมืองต่างๆชอบใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ แต่พรรคประชาชนปฏิรูปก่อตั้งมาเพื่อเป็นเครื่องมือของประชาชน

ซุปเปอร์ลุงตู่

ที่น่าสนใจคือกระแสสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ผ่านโลกออนไลน์ โดยอ้างว่าเป็นแฟนคลับจัดให้ ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลหรือกองทัพทำ “สงครามข่าวสาร” หรือปฏิบัติการข่าวสาร (IO-Information Operations) ซึ่งมีการจัดตั้งหลายเพจเพื่อนำเสนอผลงานและสร้างภาพลักษณ์ให้รัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีเพจ “ลุงตู่ตูน” ที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน แต่มีผู้เข้าไปกด “ถูกใจ” แค่หลักพัน

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศว่าจะมีการคลายล็อกพรรคการเมือง เพจ “ลุงตู่ตูน” เมื่อวันที่ 2 กันยายนก็สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ “ลุงตู่” โดยยกย่องว่าเป็น “ฮีโร่ผู้ยุติความขัดแย้ง” ทั้งเลียนแบบตัวการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ในอิริยาบถต่างๆประกอบเนื้อหาการนำเสนอการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ตลอดจนประชาสัมพันธ์กิจกรรมและผลงานตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งทุกวันอาทิตย์จะเสนอเนื้อหาเป็นรายตอนชื่อ “ซุปเปอร์ลุงตู่” โดยเมื่อวันที่ 2 กันยายน โพสต์เรื่อง “ฮีโร่ผู้ยุติความขัดแย้ง” เป็นเรื่องเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช. และ กปปส. และบรรยายว่า “ถ้าไม่มีลุงตู่วันนั้น คนไทยคงทะเลาะกัน เข่นฆ่ากันเอง จนประเทศไทยอาจจะเป็นรัฐที่ล้มเหลว ไร้เสถียรภาพ นานาชาติไม่เชื่อ หรือใครจะเถียง!”

โดยก่อนหน้านี้มีเพจ “ขอล้าน Like สนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี” เรียกกระแสความนิยมและสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลมาแล้ว เช่นเดียวกับเพจ “มุมน่ารักของลุงป้อม” ทางสังคมออนไลน์ และโพสต์ข้อความต่างๆตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้กด “ถูกใจ” และติดตามหลักพันเช่นกัน โดยมีการนำเสนอภาพภารกิจ ประวัติ และการรับราชการในอดีต รวมถึงการบรรยายภาพให้เห็นถึงความเป็น “พี่ใหญ่” หรือ “บิ๊กบราเธอร์” ของกลุ่มบูรพาพยัคฆ์กับพี่ชายที่แสนดีและอบอุ่น จนกลายเป็นที่รักของเพื่อนพ้องน้องพี่ในกองทัพ แต่อีกมุมหนึ่งก็ยังมีความเป็นคนธรรมดาที่เป็นผู้นำ ผู้กล้า เมตตาและใจกว้าง ซึ่งทุกลมหายใจของ “บิ๊กป้อม” ทำเพื่อประเทศชาติ รวมถึงเพื่อน พี่น้อง และครอบครัว จนเป็นที่ยอมรับและไว้วางใจของคนในกองทัพ

วิกฤตรอบใหม่

การทำรัฐประหารครั้งนี้ต้องยอมรับว่า คสช. ได้วางแผนดีกว่าการรัฐประหารหลายครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลทหารและ คสช. จึงให้ความสำคัญอย่างมากกับปฏิบัติการ IO พร้อมๆกับใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับฝ่ายที่เห็นต่าง หรือการล้มล้างฝ่ายตรงข้ามให้ “สะเด็ดน้ำ” ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเรียกตัวมาปรับทัศนคติ หรือตั้งข้อหาในความผิดทางการเมืองต่างๆจากการฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 “ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า มีประชาชนที่ถูกเรียกรายงานตัวและปรับทัศนคติ มีผู้ที่ถูกข่มขู่ คุกคาม และติดตาม อย่างน้อย 1,138 คน กิจกรรมสาธารณะถูก คสช. หรือเจ้าหน้าที่ทหารปิดกั้นและแทรกแซงอย่างน้อย 264 กิจกรรม มีกลุ่มองค์กรชาวบ้าน/ชุมชน หรือประชาสังคมที่ถูกปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมแล้วอย่างน้อย 66 กลุ่ม

นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อย่างน้อย 378 คน ถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะอย่างน้อย 214 คน และถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อย่างน้อย 92 คน ทั้งฝ่ายการเมือง นักกิจกรรม นักวิชาการ และสื่อมวลชน ในลักษณะเหวี่ยงแหและเหมาเข่ง เพื่อปิดปากให้ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารและ คสช. แม้แต่ชาวบ้านที่ร้องทุกข์เรื่องที่ทำกิน ปัญหาการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ-เอกชนก็ตกเป็นผู้ต้องหาถึง 334 คน

ขณะที่ 4 ปีที่ผ่านมา มีการใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ไปแล้วไม่น้อยกว่า 189 ฉบับ ล่าสุดนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะรวบรวมประกาศและคำสั่งของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ทั้งหมด เพื่อเตรียมพิจารณายกเลิกหรือออกเป็นกฎหมายถาวร

จึงไม่แปลกที่รัฐบาลทหารและ คสช. จะอ้างว่าการทำให้บ้านเมืองสงบเป็นผลงานที่น่าพอใจและประชาชนก็พอใจ แต่ไม่ใช่ความสงบเพราะการสร้างความปรองดอง ความมั่นคงและเงียบสงบเป็นแค่การสร้างภาพที่สวนทางกับความเป็นจริงเหมือนซุกฝุ่นไว้ใต้พรม ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งจะเกิด “วิกฤตรอบใหม่” และสุดท้ายก็หนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์ “การรัฐประหาร” อีก

จะเป็นผู้ตัดสินหรือผู้เล่น?

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวในการเสวนา “Political Roadmap : The Election Ahead” ในงาน Thailand Focus 2018 : The Future is Now ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (29-30 สิงหาคม) ตอนหนึ่งว่า ผู้นำ คสช. จะต้องมีความชัดเจนว่าจะเป็นผู้ตัดสินหรือจะเป็นผู้เล่น หากต้องการเป็นผู้เล่นก็ต้องแสดงออกถึงสปิริตว่าจะแข่งขันอย่างเสมอภาค อย่างเท่าเทียม sense of urgency เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อนมาแล้ว ยิ่งทหารอยู่ในอำนาจนานเท่าไรก็ยิ่งส่งผลร้ายต่อประเทศเท่านั้น ประเทศนี้มีต้นทุนสูงในการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงภายใต้การดูแลของทหารและภายใต้ระบบเผด็จการที่ประชาคมโลกไม่ยอมรับ ความร่วมมือกับประชาคมโลกของไทยได้จางหายไป การค้าการลงทุนไม่มีมากเท่าที่ควรจะเป็น ที่สำคัญมากกว่านั้นประชาชนคนไทยไม่สามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐ เราอยู่ภายใต้ระบบที่พยายามกำหนดกรอบขอบเขตของประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้าโดยบางกลุ่มบางคนที่ไม่เคยรับฟังความเห็นใครอื่น ไม่เคยฟังเสียงประชาชน

ในทางเป็นจริงแล้วเราได้รับผลเสียไม่เฉพาะในสิ่งที่สูญเสียเท่านั้น แต่ยังสูญเสียโอกาสที่จะก้าวหน้า สูญเสียโอกาสการวางแนวทางที่จะจัดการกับปัญหาของประเทศในอนาคตท่ามกลางโลกที่มีพลวัต เนื่องจากมีแผนปฏิรูปและใช้ยุทธศาสตร์ที่ไม่ยืดหยุ่นที่จัดทำโดยคนบางกลุ่ม และไม่เคยนำมาให้สาธารณชนทดสอบทดลอง ดังนั้น เราจึงสูญเสียในแง่นี้ ยิ่งทหารอยู่ในอำนาจนานมากขึ้น คนไทยยิ่งสูญเสียมากขึ้น sense of urgency จึงออกมาในทางนี้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้ความเห็นในงานเดียวกันว่า ไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามที่กำหนดไว้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 น่าจะหลังครึ่งปีหน้าไปแล้วมากกว่า

ส่วนจะมีการประท้วงอีกหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า “ไม่ใช่ผมคนเดียว แต่ทุกคนกำลังจะบอกว่า เราเริ่มรู้สึกได้ถึงความหงุดหงิดของคน ความอดทนที่น้อยลง ซึ่งอาจจะแปรเปลี่ยนไปสู่ความโกรธ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีเอาเสียเลย” ทั้งย้ำว่าความมีเสถียรภาพที่เห็นในขณะนี้เกิดขึ้นได้จากแนวทางที่ไม่ยั่งยืน เป็นเสถียรภาพกับความมั่นคงที่คนไทยสามารถรับได้ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

พูดคนละภาษากับคนทั่วไป

นายจาตุรนต์ยังกล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจว่า กำลังขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากระดับ 2% กว่า เป็น 3% กว่า และ 4% แต่ปัญหาอยู่ที่การกระจายรายได้ เนื่องจากเศรษฐกิจที่โตจากภาคการส่งออกเป็นหลักและภาคบริการที่มีสัดส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจนั้น การส่งออกที่ขยายตัวสูงขึ้นไม่ได้หมายความว่าจะส่งผลดีมาที่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ลองไปถามคนทั่วไปที่เดินอยู่ข้างทางก็จะได้คำตอบว่าเศรษฐกิจไม่ดีเลย เพราะไม่มีรายได้ที่เพียงพอ ไม่สามารถแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้

รัฐบาลออกทีวีก็บอกอย่างภาคภูมิใจว่าเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องและเติบโตเร็วกว่าปีก่อน แต่เราต้องไปดูข้อมูลการกระจายรายได้ของประเทศด้วย เราต้องหาแนวทางที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศหรือคนทั่วไปได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ขยายตัว แนวคิดนี้รัฐบาลละเลยไม่ใส่ใจ และเอาแต่พูดซ้ำว่าเศรษฐกิจเติบโตดี รัฐบาลกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นการพูดคนละภาษากับคนทั่วไปในทุกพื้นที่ของประเทศ

ไม่มีรัฐประหาร เศรษฐกิจจะโต 4-5% ตั้งแต่ปี 57

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คกรณี พล.อ.ประยุทธ์ปลื้มกับเศรษฐกิจที่ดีขึ้นว่า แม้ตัวเลขจะดีขึ้นจริง แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ได้รู้สึกว่าดีตามตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเลย อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้สำรวจความเป็นจริงจากประชาชนส่วนใหญ่ว่ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือรายได้ไปตกอยู่กับคนบางกลุ่มเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาลตอนนี้ใช่หรือไม่ อีกทั้งหากไม่ได้มีการประท้วงชัตดาวน์กรุงเทพฯ และหากไม่มีการปฏิวัติตามแผนเบื้องหลังที่นายนคร มาฉิม ออกมาแฉนั้น ต้องถามว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 4-5% ตั้งแต่ปี 57 และ 58 เรื่อยมาใช่หรือไม่ ไม่ใช่มาโต 4% กว่าเอาปีที่ 4 หลังการปฏิวัติ ซึ่งนับเป็นการเสียโอกาสของประเทศอย่างมาก ถ้าเปรียบก็เหมือนเด็กที่มาเดินได้ตอนอายุเกิน 4 ขวบ แทนที่จะเดินได้ตั้งแต่ขวบแรก ซึ่งไม่ได้แปลว่าเด็กเก่ง แต่เป็นเด็กพัฒนาช้าด้วยซ้ำไป ไม่อยากให้นำความเสียหายของประเทศมาแสดงว่าเป็นความสำเร็จ เพราะประเทศเสียโอกาสไปมากแล้ว

ทั้งนี้ อยากขอทวงสัญญากับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าคนจนจะหมดไปในปีนี้ แต่ปรากฏว่า 8 เดือนผ่านไปกลับมีคนจนเพิ่มขึ้น ไม่ได้หมดไปอย่างที่บอก และคนรวยกลับรวยมากขึ้นจากการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม โดยคนจนที่เพิ่มขึ้นมาจากชาวสวนยางที่ฝากถามนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ ที่เคยประกาศว่าราคายางพาราจะต้องขึ้นภายใน 3 เดือนหลังรับตำแหน่งและไม่ควรต่ำกว่า 60 บาท แต่นี่ผ่านมากว่า 8 เดือนแล้วราคายางพารากลับดิ่งลง อีกทั้งประชาชนจำนวนมากอยากถามนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ว่าการมีเรือดำน้ำจะช่วยเศรษฐกิจให้ดีได้อย่างไร เพราะไม่มีตำราเศรษฐกิจเล่มไหนเคยเขียนไว้เลย สาเหตุเหล่านี้ทำให้ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลดต่ำลงใช่หรือไม่จนต้องนำดาราออกมาช่วยดึงเรทติ้ง ซึ่งไม่น่าจะช่วยได้

นอกจากนี้ข้อครหาเรื่องทุจริตของรัฐบาลก็มีเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ไปเกี่ยวพันกับกระทรวงมหาดไทย และกองทุนอนุรักษ์พลังงานที่จะมีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ จนนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ต้องออกมาสวนกับนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ออกมารับรองรัฐบาลแบบไม่ลืมหูลืมตา และนายอดุลย์ยังเตือน คสช. ว่าอย่าได้คิดสืบทอดอำนาจ เพราะไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ต้องมีคนเจ็บคนตายเหมือนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 อีก จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้นำข้อมูลทั้งหมดไปแก้ไขและพิจารณาก่อนจะตัดสินใจทางการเมือง

ประเทศไทยคงไม่มาถึงจุดนี้..ถ้าไม่มี Super Hero

การสร้างภาพ “ซุปเปอร์ลุงตู่” ยกย่องเป็น “ฮีโร่ผู้ยุติความขัดแย้ง” และมีผลงานมากมายนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการโฆษณาชวนเชื่อสนับสนุนวาทกรรมต่างๆในแผนการสร้างชาติ แต่หลายฝ่ายกลับมองในทางตรงข้าม เพราะภาพความเป็นจริงที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการเมืองหรือเศรษฐกิจล้วนล้มเหลว

การสร้างความปรองดองก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ทั้งรัฐบาลทหารและ คสช. ถูกมองว่ากลายเป็นฝ่ายสร้างความขัดแย้งเอง ยิ่งประกาศ “คลายล็อก” ไม่ใช่ “ปลดล็อก” ก็ยิ่งสะท้อนสถานการณ์บ้านเมืองที่แท้จริงว่ามีเสถียรภาพจริงหรือไม่ คือ “ความมั่นคงที่ไม่มั่นคง”

การแชร์ข้อความและเปิดเพจเพื่ออวย “ทั่นผู้นำ” กันสุดกู่ทั้ง “ลุงตู่” และ “ลุงป้อม” จึงเป็นแค่การสร้างภาพ เป็นสงคราม IO ใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นหรือความสนใจของสังคมให้เกิดความไขว้เขว แม้ข้อมูลบางส่วนจะเป็นความจริง แต่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด

เหมือนการสร้างภาพ “ซุปเปอร์ฮีโร่ลายพราง” ก็สร้างได้เฉพาะในการ์ตูน!!!


You must be logged in to post a comment Login