วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

เลือกตั้ง.ยังไม่แน่

On August 23, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข  ประจำวันที่วันที่ 24-31 สิงหาคม 2561)

“กำหนดการต่างๆที่ได้ประกาศไปทั้งหมดก็จะยังเป็นเหมือนเดิม ซึ่งผู้แทนฯก็อาจจะพูดไปตามหลักการของตัวเอง แต่ท้ายที่สุดก็ต้องมาพูดคุยกัน ยืนยันว่ายังเป็นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และยืนยันอีกครั้งว่ามาครั้งนี้ไม่ได้หวังผลทางการเมืองอะไร เพราะผมยังไม่ได้ลงเลือกตั้งอะไร”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม.สัญจร (21 สิงหาคม) ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุปฏิทินการเลือกตั้งเบื้องต้นจะมีขึ้นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ว่า ยังคงยืนยันว่าการเลือกตั้งจะเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ไปก่อนตามที่เคยพูดไว้ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ค่อยว่ากันอีกที ซึ่งเป็นเรื่องของ กกต. ส่วนปัจจัยที่จะทำให้การเลือกตั้งเร็วขึ้นนั้นยังไม่มี

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวว่า เดือนกันยายนนี้จะมีมาตรการต่างๆออกมา โดยจะมีการปลดล็อกในบางเรื่อง รวมถึงเรื่องการทำงานของ กกต. ที่จะสามารถดำเนินการได้ รวมถึงจะมีการหารือกับตัวแทนพรรคการเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งกล่าวว่าประเทศจะต้องก้าวหน้า ขอร้องอย่าทำให้ถอยหลังด้วยการเมืองหรือเรื่องต่างๆ เป็นคนละเรื่องกัน การเมืองก็ต้องไปว่ากันด้วยการเมือง ที่สำคัญคือรัฐบาลข้างหน้าจะทำอย่างไรที่จะสอดคล้องและต่อเนื่องกับสิ่งที่รัฐบาลนี้ได้ทำ เพราะถ้าล้มแล้วทำกันใหม่ ทุกอย่างก็จะเหมือนเดิม ประเทศไทยจะกลับไปสู่ที่เก่า

ถ้าทำไม่ได้ก็ค่อยว่ากันอีกที

การยืนยันเรื่องการเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ดูเหมือนว่าน่าจะเป็นไปตามที่ กกต. วางกรอบไว้ แต่คำพูดที่ว่า “ถ้าทำไม่ได้ก็ค่อยว่ากันอีกที” เท่ากับการเลือกตั้งยังไม่มีความชัดเจนจนกว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ เพราะแม้แต่การปลดล็อกพรรคการเมืองก็จะให้ทำกิจกรรมได้บางเรื่องเท่านั้น

ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่ยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน เสรีภาพสื่อ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิชุมชน ซึ่งมีอย่างน้อย 35 ฉบับ รวมทั้งมาตรา 44 การเลือกตั้งก็ไม่มีอะไรแน่นอน แม้จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็สามารถใช้มาตรา 44 ยกเลิกหรือเลื่อนการเลือกตั้งได้ เหมือนที่อ้างมาตลอดว่าหากยังมีความวุ่นวายก็ยังไม่มีการเลือกตั้ง

โดยก่อนหน้านี้ นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. ก็ยืนยันว่า หากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 13 กันยายน 2561 ก็จะมีผลทันทีวันที่ 14 กันยายน จากนั้นเมื่อพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ส.ว. ออกมา กกต. กับ ครม. จะประสานกันเรื่องวันเวลาในการเลือก ส.ว. ซึ่งจะไม่เหมือน ส.ส. เพราะจะต้องเลือก 3 วันคือ ในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ พร้อมกันทั่วประเทศ โดยอาจประกาศผลการได้มาซึ่ง ส.ว. ในวันที่ 22 มกราคม 2562

ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. คาดว่าจะมีการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 4 มกราคม 2562 ก็จะมีการเลือกตั้งได้ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงการประชุมจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ว่า จะพยายามทำให้เสร็จโดยเร็วที่สุด เพราะใกล้เวลาที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะลงมา โดยที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จะมีผลใช้บังคับทันที ถ้าไม่เตรียมแผนต่างๆให้สะเด็ดน้ำในครั้งนี้ก็อาจไม่ทัน ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมไว้ทุกอย่างแล้ว

ส่วนเรื่องของไพรมารีโหวต คิดว่า กกต. ไม่ควรเป็นผู้ตอบว่าควรทำหรือไม่ทำ เชื่อว่ารัฐบาลและพรรคการเมืองรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว แต่ กกต. เห็นว่าควรเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า แม้ กกต. จะเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งให้มากที่สุด แต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ยังเป็นเพียงตุ๊กตาที่ตั้งไว้เท่านั้น จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการคลายล็อกของ คสช.

“คลายล็อก” ไม่ใช่ “ปลดล็อก”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังประชุมร่วมกับ กกต.ชุดใหม่เป็นการส่วนตัว (20 สิงหาคม) ว่ามี 10 ประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่จะทำใน 90 วันก่อน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้ คาดว่าจะประกาศภายในกลางเดือนกันยายน ส่วนประเด็นที่จะทำให้ได้คือการคลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้โดยไม่ต้องขออนุญาต คสช. โดยทำได้ 2 วิธีคือ ออกคำสั่งแก้ไขคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 หรือออกคำสั่งใหม่แก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะทำให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่เพื่อรับสมาชิกใหม่ และการทำในสิ่งที่คล้ายไพรมารีโหวต เพราะหากทำตามกฎหมายพรรคการเมืองจะยุ่งยาก จึงจะดำเนินการตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแทน ซึ่ง กกต. ระบุว่ามีหลายวิธีที่ดำเนินการได้ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยจะรวบรวมเสนอ คสช. พิจารณาแก้ไขต่อไป

นายวิษณุยังกล่าวว่า การปลดล็อกพรรคการเมืองทั้งหมดจะมีขึ้นหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ ซึ่งอยู่ในช่วง 150 วันที่ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่จะไม่รวมการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง และไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีผู้นำไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะในภายหลังหรือไม่ แต่รัฐธรรมนูญที่ผ่านๆมากรอบเวลาดังกล่าวไม่รวมการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคการเมืองมีเวลาเพียงพอต่อการหาเสียง หากจัดการเลือกตั้งเร็วสุดในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคการเมืองก็มีเวลาหาเสียงไม่ต่างจากในอดีต แต่ถ้าจัดเลือกตั้งช้าสุดในเดือนพฤษภาคมก็มีเวลาหาเสียงมากกว่าทุกครั้ง จนถึงขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยใดที่ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งช้ากว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

เลือกตั้งต้องดูปัจจัยอื่นประกอบ

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กกต. ที่วางกรอบการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ว่า ส่วนตัวคิดว่า กกต. คงพูดตามทฤษฎีของ คสช. และรัฐบาลที่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น กฎหมายที่จะโปรดเกล้าฯลงมาว่าจะมีการใช้ระยะเวลาเท่าไร

พล.ท.สรรเสริญยังกล่าวว่า วันนี้รัฐบาลก็เตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเรื่องนโยบาย เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ทุกอย่างเป็นไปตามแผน ไม่ใช่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นแล้วรัฐบาลจะหยุดการทำงานทุกอย่างแล้วไปเตรียมการเพื่อมอบนโยบายอย่างเดียว รัฐบาลยังทำงานตามแผนนโยบายและเตรียมการส่งมอบให้รัฐบาลชุดต่อไปที่จะก้าวเข้ามาให้สามารถทำงานต่อไปได้

 

ปัญหาอยู่ที่ คสช.เลื่อนจนสังคมไม่มั่นใจ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในรายการต้องถามทางสถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่ (20 สิงหาคม) ถึงสาเหตุที่สังคมยังถามถึงวันเลือกตั้งที่แน่นอนว่า เป็นปัญหาที่ผู้มีอำนาจคือ คสช. และรัฐบาลต้องทบทวนและพิจารณาตัวเอง เนื่องจาก

1.มีการเลื่อนมาหลายครั้ง หากใครไปย้อนดูจะมีคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะเลือกตั้งปี 2560 หรือ 2561 แต่ก็เลื่อนมาเรื่อยๆ คนในสังคมจึงรู้สึกว่าไม่มีอะไรแน่นอน

2.มีเครื่องหมายคำถามว่ามาตรา 44 จะถูกนำออกมาใช้ให้เป็นปัญหาหรือไม่ และมาตรา 44 ที่ใช้ไปแล้วทำให้หลายสิ่งหลายอย่างไม่เดินไปตามความตั้งใจของรัฐธรรมนูญ เช่น พรรคการเมืองไม่สามารถทำตามกฎหมายพรรคการเมืองได้ การทำไพรมารีโหวต รวมถึงการแบ่งเขตเลือกตั้ง การที่ กกต.ชุดใหม่บอกว่าอาจจะเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ความรู้สึกของคนก็ยังรู้สึกไม่มั่นใจว่าจะมีเลือกตั้ง อีกทั้งมีข่าวออกมาทันทีว่าเป็นเพียงตุ๊กตา สามารถขยับได้ ส่วนผู้ที่จะกำหนดวันเลือกตั้งนั้น ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดชัดเจนว่าเป็นหน้าที่ของ กกต. แต่ที่เกิดความไม่แน่นอนเพราะมีมาตรา 44

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สาเหตุที่ยังไม่สามารถจัดเลือกตั้งในส่วนตัวมองว่ามีหลายสาเหตุ รวมถึงการที่ คสช. ซึ่งจะเปลี่ยนสถานะจากการเป็นกรรมการมาเป็นผู้เล่นในเกมเองอาจยังไม่พร้อมก็มีส่วน เพราะคนคาดหมายว่าพรรคการเมืองที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งจะมีหนึ่งพรรคที่อาจเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และมีพรรคการเมืองหลายพรรคตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

“พรรคการเมืองเหล่านี้ยังไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่สมบูรณ์ และยังไม่พร้อมที่จะทำขั้นตอนต่างๆที่บัญญัติในกฎหมาย เช่น การทำไพรมารีโหวต และไม่สะดวกในการดูด”

นายอภิสิทธิ์เห็นว่า รัฐบาลและ คสช. ควรตั้งหลักเพื่อให้ประเทศได้รับความเชื่อมั่น เพราะขณะนี้ทุกคน ทุกฝ่าย จับตาว่าประเทศไทยจะกลับคืนสู่การเลือกตั้ง คืนสู่ระบอบประชาธิปไตย และสามารถเดินไปข้างหน้าโดยสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยและชาวโลก ซึ่งการสร้างความเชื่อมั่นนี้ต้องมีความแน่นอนและน่าเชื่อถือ ดังนั้น คสช. และรัฐบาลต้องเลิกคิดเรื่องปัจจัยทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับตัวเองทั้งหมด แล้วยึดถือหลักประเทศต้องมาก่อน

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวถึงการเลือกตั้งว่า ไม่มีใครตอบได้สักคน ไม่มีพรรคการเมืองไหนคิดว่าจะมีด้วยซ้ำ เราเช็กดูรู้ว่าพรรคการเมืองเขาเตรียมการหรือกำหนดการเลือกตั้งจริงหรือเปล่า คือที่เดินอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เผาหลอกกันทั้งนั้น เพราะในแวดวงการเมืองไม่ได้มีความลับอะไร แต่ละพรรคการเมืองไม่มีใครขยับจริง เช็กกันได้ แม้กระทั่งที่เคลื่อนๆทำให้เกิดภาพที่จะกระทบในวันข้างหน้าทั้งหลายก็เป็นการเผาหลอกทั้งนั้น

อดีต ผบ.ทบ. ยังเหน็บแนม “ปู”

ความไม่แน่นอนเรื่องการเลือกตั้งก็เหมือนท่าทีหรือคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่มองนักการเมืองหรือรัฐบาลในอดีตว่าไม่ดีหรือโกงสารพัด ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์เองก็พูดว่าให้เลิกโทษกันไปมา และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างความปรองดอง แต่คำพูดและท่าทีที่แสดงออกหลายครั้งกลับตรงกันข้าม

อย่างการประชุม ครม.สัญจรล่าสุดที่ จ.ระนอง พล.อ.ประยุทธ์ยังแซวเจ้าหน้าที่หญิงที่ชื่อ “ยิ่งลักษณ์” บอกชื่อดีได้เป็นนายกฯ แต่ต้องเป็นคนดีและอย่าทำผิด จนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ @PouYingluck ว่า “ทราบว่าท่านนายกฯไปพื้นที่ที่จังหวัดระนอง พบคนชื่อยิ่งลักษณ์และบอกว่าให้คนที่ชื่อยิ่งลักษณ์ทำให้ถูกก็แล้วกัน เลยขอถามท่านอดีต ผบ.ทบ. ว่ายังจำชื่อนี้ได้อยู่เหรอคะ”

วันต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ตอบผู้สื่อข่าวถึงข้อความของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ว่า “ผมไม่สนใจ ถ้าสนใจทุกเรื่องก็ตายหมดแหละ วุ่นวายกันไปหมด” แต่ยังไม่วายแขวะถึงอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์โดยพูดหยอกล้อกับเด็กๆในอำเภอปะทิวว่า “กินปูกันหรือไม่ เบื่อปูกันหรือยัง กินกันบ่อยแล้วสิ แสดงว่าเบื่อปูกันแล้วใช่มั้ย” และภายหลังปล่อยปูลงทะเลยังกล่าวว่า “ผมก็เปรียบเหมือนพ่อปู ขอให้เดินตามพ่อปูต่อไป เพราะการเดินตามแม่ปูมันจะเลี้ยวไปเลี้ยวมานะ”

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความเรื่องปูของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า “ปูเพศไหนมันก็เดินเหมือนกันหมด ใจคอจะไม่ยอมฉลาดสักเรื่องเลยหรือ”

เศรษฐกิจดีแบบ คสช.

พฤติกรรมโชว์ความฉลาดของ “ทั่นผู้นำ” คงไม่ต่างกับการโชว์ผลงานรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจผ่านมากว่า 4 ปีเพิ่งจะเริ่มเป็นบวก โดยอ้างว่าเป็นเพราะรัฐบาลทำถูกทางและมีผลงานดีกว่ารัฐบาลอื่น แต่คนกันเองอย่างนายไพศาล พืชมงคล ที่เป็นคนใกล้ชิด “บิ๊กป้อม” กลับโพสต์ผ่านเฟซบุ๊คที่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนกระต่ายขาเดียวว่ามีผลงานมากมายและเศรษฐกิจดีวันดีคืนว่า จะดูแลอาณาประชาราษฎรให้อยู่ดีกินดีนั้นจะคำนึงแต่ตัวเลขอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสามารถเล่นกลสร้างตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจได้โดยที่ประชาชนไม่ได้รับผลอะไรเลย

ผลิตรถยนต์ส่งออกสัก 5 ล้านล้านบาท ก็ได้ตัวเลขเศรษฐกิจเพิ่มแต่ประชาชนและคนไทยไม่ได้อะไรเลย สร้างบ้านเอื้ออาทรสักล้านหลังก็จะได้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ 2-3 ล้านล้านบาท แต่ประชาชนจะต้องเป็นหนี้ 3-4 ล้านล้านบาท สั่งสินค้าทุนเข้ามาจากต่างประเทศแล้วประกอบในประเทศไทย อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจก็โตขึ้นตามมูลค่าการผลิต แต่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย สร้างหนี้สินเอาไปทำโครงการพื้นฐานต่างๆปีละล้านล้านบาท ก็ได้ตัวเลขเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย เพราะประโยชน์จะได้แก่ 5 เสือผู้รับเหมา ส่วนประเทศชาติก็เป็นหนี้สินอีนุงตุงนังต่อไป

นี่คือคำตอบว่าทำไมประชาชนจึงร้องบอกโวยวายว่าลำบากยากแค้น ค้าขายไม่ได้ ไม่มีเงินใช้สอย ในขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจดูเหมือนว่าดี

ขณะที่นายชวน หลีกภัย นายหัวขวัญใจคนใต้ตลอดกาล ปาฐกถาในงานเปิดโรงแรมใหม่ที่นครศรีธรรมราชว่า “ครั้งหนึ่งภาคใต้เคยเป็นภาคที่มีความมั่งคั่งมากที่สุด แต่ในวันนี้กลายเป็นภาคที่ทรุดมากที่สุด” ทั้งเล่าว่าไปเยี่ยมชาวสวนยางที่สตูล “ชาวสวนมาบอกผมว่ายางที่นี่มีราคา 80 บาท ผมเองตกใจว่าที่นี่ขึ้นสูงได้อย่างไร สุดท้ายได้รับคำตอบ 2 กิโลฯ ราคา 80 บาท”

นายชวนยังเหน็บ พล.อ.ประยุทธ์ว่า มีแต่ 2 จังหวัดเล็กๆที่ยังไม่ตายหยังเขียดเหมือนที่อื่นๆคือชุมพรและระนอง (ที่หัวหน้า คสช. ขวัญใจสลิ่มเมืองกรุงและ กปปส.ใต้กำลังเดินสายไปเยี่ยม)

รวยกระจุกกับคนแค่ 1%

นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตกรรมการคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โพสต์เฟซบุ๊คถามว่า …ทำไมขณะที่รัฐบาล ทั้งตัวนายกฯ ทั้งคณะทีมเศรษฐกิจ ต่างตีฆ้องร้องป่าวประกาศผลงานรัฐบาลว่าที่ทุ่มเทมาตลอด 4 ปี สามารถฉุดอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจจากต่ำเตี้ยเรี่ยดินขึ้นมาได้ จนครึ่งปีแรก GDP เติบโตได้ตั้ง 4.8% แล้วทำท่าว่าจะยั่งยืนไปได้ทั้งปี …แต่ในขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชาวรากหญ้า ชาวบ้านร้านตลาด และคนหากินตัวเล็กตัวน้อยจึงยังไม่รู้สึกดีขึ้นด้วยเลย แถมหลายภาคส่วนรู้สึกแย่ลงด้วยซ้ำ

ส่วนพวกชาวหุ้น พวกนายทุนต่างก็ดีใจกันทั่วหน้าที่ครึ่งปีแรกนี้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯมีกำไรรวมกันถึง 5.5 แสนล้านบาท มีอัตราเติบโตถึง 20% เทียบกับกำไรในช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจภาคตลาดหุ้นและภาคบรรษัททั้งหลายก็น่าจะดีอย่างเขาว่าจริงๆ ซึ่งถ้าตามสถิติเดิมกำไรในตลาดหุ้นจะมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของกำไรนิติบุคคลในประเทศไทยทั้งหมด ถ้าเราเชื่อว่ากำไรเฉลี่ยของบริษัทนอกตลาดเป็นไปในทิศทางเดียวกับบริษัทในตลาดก็จะคาดได้เลยว่าปีนี้นิติบุคคลน่าจะมีกำไรรวมกันสุทธิหลังภาษีประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท เท่ากับประมาณ 30% ของรายได้ประชาชาติ (GDP รวมประมาณ 15 ล้านล้านบาท) …ซึ่งตัวเลขที่ว่านี้ก็สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลของกรมสรรพากรที่ปีที่แล้วจัดเก็บได้สูงถึง 626,000 ล้านบาท และเท่าที่ผมทราบอัตราจัดเก็บได้ (Effective rate) ประมาณ 14% (เพราะมี BOI และการลดหย่อนต่างๆมากมาย)

“นั่นก็หมายความว่าปีที่แล้วที่ทั้งประเทศมีรายได้ประชาชาติรวม 15 ล้านล้านบาทนั้น ถ้านับด้านรายได้ (Income Approach) ว่ามันตกอยู่กับใคร ก็สรุปได้ว่าเกือบ 30% ตกเป็นของทุน (Capital) ซึ่งหมายถึงเจ้าของกิจการทั้งไทยทั้งเทศ ซึ่งประมาณว่ามีไม่กี่แสนคน ไม่ถึง 1% ของประชากรเป็นคนได้ไป”

นายบรรยงระบุว่า “ความเหลื่อมล้ำมันทวีขึ้นทุกที และก็สอดคล้องกับทฤษฎีของ Thomas Piketty ในหนังสือ Capital in the Twenty-first Century ที่ว่า ตราบใดที่อัตราผลตอบแทนของทุนยังสูงกว่าอัตราการเติบโต (r>g) ในที่สุดนายทุนจะเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปไว้ในกระเป๋าตนจนหมด และเมื่อนั้นแหละครับ Communist กับ Marxist ก็มีโอกาสจะฟื้นคืนชีพ”

เลือกตั้ง..ยังไม่แน่

การเลือกตั้งจะมีหรือไม่จึงเหมือนอารมณ์ของ “ทั่นผู้นำ” ที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าแต่ละวันจะเป็นอย่างไร เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่แค่คลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมเท่านั้น แต่ต้องปลดล็อกพรรคการเมืองและอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทั้งหมดด้วย เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรี เป็นอิสระ และบริสุทธิ์ยุติธรรม หาก คสช. มีความจริงใจให้ประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย คืนอำนาจให้ประชาชน ไม่ใช่เล่นละครหลอกประชาชนเพื่อ “สืบทอดอำนาจ” ต่อ คสช. ต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ใช่กระโดดลงมาเป็นผู้เล่นเอง ซึ่งมีแต่สร้างความขัดแย้งและแตกแยกให้รุนแรงยิ่งขึ้น

ความไม่พร้อมในการเลือกตั้งจึงไม่ได้อยู่ที่พรรคการเมือง แต่อยู่ที่ คสช. ไม่ยอมยกเลิกประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการทางการเมืองได้ ทั้งที่ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ประกาศและบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนตุลาคมของปี 2560 แต่กระทั่งเดือนสิงหาคม 2561 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองก็ยังไม่สามารถขยับได้เลย เพราะติดขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดให้พรรคการเมืองต้องทำไพรมารีโหวตก่อนการเลือกตั้ง แต่จนถึงขณะนี้ทุกพรรคการเมืองไม่ว่าเก่าหรือใหม่ยังไม่มี “สาขาพรรค” เพราะทุกพรรคถูก “เซตซีโร่” หมด ขณะที่กฎหมายกำหนดว่าแต่ละพรรคต้องไปหาสมาชิกเพื่อจัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนประจำจังหวัดเพื่อทำไพรมารีโหวต แต่ก็ไม่สามารถหาสมาชิกพรรคได้ เพราะติดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560

ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ออกอาการ “อยาก” จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ก็ยิ่งมีคำถามว่าการเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ยุติธรรมได้อย่างไร?

การเลือกตั้งวันนี้จึงยังไม่มีอะไรแน่นอน และยังสะท้อนให้เห็นความรุนแรงทางการเมืองที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ อย่างที่ “ทั่นผู้นำ” บอกว่า “ถ้าทำไม่ได้ก็ค่อยว่ากันอีกที”

วาทกรรมการเลือกตั้งจึงไม่ต่างกับการโชว์ความฉลาดเรื่อง “พ่อปูกับแม่ปู” และเศรษฐกิจโคตรดีแบบ “รวยกระจุก จนกระจาย”

การมี “ทั่นผู้นำ” ที่ยึดอำนาจของประชาชนไป แล้วมาทวงบุญคุณ พูดสัญญากับประชาชนไปเรื่อยเปื่อย อารมณ์หลายขั้วกลับไปกลับมายิ่งกว่าไบโพลาร์นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก

แต่ที่แปลกคือยังมีคนชื่นชมและสนับสนุนให้เป็น “ทั่นผู้นำ” ต่อไปนานๆ…

ช่วยเรียกรถพยาบาลมารับไปหน่อย!!??


You must be logged in to post a comment Login