วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

วัดที่งานแรก?

On August 20, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

กกต.ชุดใหม่ภายใต้การนำของ “นายอิทธิพร บุญประคอง” เข้ารับไม้ต่อจาก กกต.ชุดเก่าอย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมประกาศเสียงดังฟังชัดว่าจะทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา เป็นกลาง ไม่ยอมให้อำนาจใดเข้าครอบงำ ส่วนจะทำได้จริงอย่างที่พูดหรือไม่ เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ โดยงานแรกที่ กกต.ชุดใหม่ต้องตัดสินใจคือ แนวทางจัดทำไพรมารีโหวตที่รัฐบาลทหาร คสช. จะชงให้เลือก 2 แนวทาง ต้องดูว่า กกต. จะเลือกแนวทางไหนระหว่างแนวทางที่อาจทำให้พรรคการเมืองใหม่ไม่คล่องตัวกับแนวทางที่เปิดทางสะดวกให้พรรคการเมืองใหม่เลือกผู้สมัคร ส.ส. ได้ง่ายกว่า

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อเมื่อรัฐบาลประกาศจัดงานเลี้ยงขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจช่วยชีวิตทีมหมูป่าออกจากวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ใช้ชื่องานว่า “รวมใจเป็นหนึ่งเดียว-UNITED AS ONE” โดยคาดว่าจะมีคนเข้าร่วมงานมากถึง 61,000 คน ซึ่งงานจะจัดขึ้นในวันที่ 6 กันยายนที่จะถึงนี้

จัดงานเลี้ยงขอบคุณแม้จะเป็นเรื่องที่ดูมากเกินพอดีแต่ก็ยังมีเหตุผลที่พอเข้าใจได้ แต่คำถามคือทำไมยอดคนร่วมงานมากมายถึง 61,000 คน ตามที่ผู้เป็นแม่งานอย่างนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คาดการณ์ไว้

ตัดฉากมาที่เรื่องการเมือง หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ก็เข้ารับไม้ต่อจาก กกต.ชุดเก่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า พร้อมทำงานร่วมกับ กกต. อีก 4 คน อย่างเป็นเอกภาพ ซื่อสัตย์ สุจริต มีความเป็นกลาง ตรงไปตรงมา

“ส่วนตัวคิดว่าทุกคนมีความมุ่งมั่นทำหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง เพราะเป็นหน้าที่โดยตรง ซึ่งใน พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุชัดว่าต้องเป็นกลาง มีความกล้าหาญตัดสินใจ ไม่ถูกครอบงำจากอำนาจใดๆ ถือเป็นคาถาหรือบทบัญญัติที่ กกต. ทุกคนรวมทั้งผมต้องยึดมั่นอย่างจริงจัง เพราะจะเป็นคาถาชี้นำไปสู่การทำงานที่ถูกต้อง แม้ไม่ง่ายในการปฏิบัติแต่ก็จะไม่เกิดปัญหาหากเรายึดมั่นในคาถานี้”

“ทำตามกฎหมาย เป็นกลาง ไม่ถูกอำนาจใดครอบงำ” รอดูว่าจะทำได้อย่างที่พูดหรือไม่

หลังมี กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำงานแทน กกต.ชุดเก่าก็ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะเดินหน้าไปได้สะดวกขึ้น ปัญหาเรื่องการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองน่าจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์หน้าหรืออย่างช้าก่อนสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ เมื่อตัวแทนฝ่ายรัฐบาลอย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีกำหนดจะเข้าหารือกับ กกต.ชุดใหม่เพื่อฟันธงว่าจะเลือกแนวทางใดระหว่างการทำจัดทำไพรมารีโหวตระดับภาคกับใช้วิธีการอื่นๆรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกพรรคการเมืองในการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ร่างไว้ตั้งแต่ต้น โดยนายวิษณุมีกำหนดเข้าหารือกับ กกต.ชุดใหม่ช่วงต้นสัปดาห์นี้

ส่วนเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งน่าจะมีความชัดเจนไปพร้อมกับวิธีทำไพรมารีโหวต เพราะพรรคการเมืองจะได้เตรียมความพร้อมได้ถูกจุด แต่เข้าใจว่าต้องรอไปอีกระยะ อย่างน้อยก็ต้องรอจนกว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

เท่ากับว่าพรรคการเมืองจะมีเวลาทำไพรมารีโหวตไม่ถึง 90 วัน เพราะต้องรอให้การแบ่งเขตเลือกตั้งชัดเจนก่อนจึงจะทำไพรมารีโหวตได้

เมื่อเวลากระชั้นชิดแบบนี้เชื่อว่าแนวทางการทำไพรมารีโหวตน่าจะเป็นเพียงแค่การเปิดรับฟังความเห็นสมาชิกพรรคในการคัดเลือกตัวผู้สมัคร คงไม่ถึงกับให้คนที่อยากลงสมัครเลือกตั้งเสนอตัว หาเสียง แล้วให้สมาชิกลงคะแนนเลือกเป็นตัวแทนสมัคร ส.ส.

ที่เป็นอย่างนี้เพราะหากให้ทำเต็มรูปแบบ แม้จะเป็นแค่การทำไพรมารีโหวตรายภาคก็จะเป็นปัญหาต่อพรรคการเมืองใหม่ที่ขั้นตอนทางธุรการในการจัดตั้งพรรคยังไม่สมบูรณ์ 100%

ถึงประธาน กกต.คนใหม่จะประกาศเสียงดังฟังชัดว่าจะทำงานอย่างเป็นเอกภาพ ซื่อสัตย์ สุจริต มีความเป็นกลาง ตรงไปตรงมา ไม่ยอมให้อำนาจใดเข้าครอบงำ แต่เดาทางได้ไม่ยาก


You must be logged in to post a comment Login