วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ยอมเสียหน้า

On August 17, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หลัง กกต.ชุดใหม่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ท่าทีที่เคยแข็งขันในความต้องการแก้ไข พ.ร.ป.กกต. เพื่อปรับแนวทางคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่ของ สนช. ก็เปลี่ยนเป็นพร้อมที่จะถอนร่างแก้ไขออกจากสารบบของรัฐสภา โดยอ้างว่าไม่อยากให้เป็นตัวอย่างว่าการแก้ไขกฎหมายลูกทำได้ง่าย ซึ่งอาจเป็นการชี้โพรงให้กระรอกยื่นแก้ไขกฎหมายลูกฉบับอื่นๆในอนาคต ทั้งนี้ ไม่ว่าจะยกแม่น้ำทั้งห้ามาอธิบายการกลับหลังหันครั้งนี้อย่างไร ประชาชนก็ได้เห็นจุดประสงค์ที่ชัดเจนของการยื่นแก้ไขแล้วว่ามีต้นตอมาจากเรื่องอะไร จากที่เห็นว่าการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ทำโดย กกต.ชุดเก่าไม่เหมาะสม เปลี่ยนมาเป็นความพึงพอใจทันทีหลังจากได้ กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบกลั่นกรองแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก  616 คน ทุกอย่างมันชัดอยู่แล้ว

เรียกว่าไม่ได้เหนือไปกว่าความคาดหมายที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แบะท่าพร้อมถอนร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (พ.ร.ป.กกต.) ในประเด็นเกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง หลังจาก กกต.ชุดใหม่ที่ สนช. เป็นผู้คัดเลือกได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ผนวกกับการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งของ กกต.ชุดเดิมยังมีช่องว่างให้ปรับเปลี่ยนรายชื่อได้

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ หนึ่งใน สนช. ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป.กกต. ให้เหตุผลว่า

“สนช. ที่เข้าร่วมลงชื่อให้แก้ไข พ.ร.ป.กกต. หารืออย่างไม่เป็นทางการ เห็นตรงกันว่าหลังจากที่มีการโปรดเกล้าฯ กกต.ชุดใหม่แล้ว เรื่องการเสนอแก้ไขกฎหมายลูก กกต. น่าจะจบแล้ว ไม่มีการเดินหน้าต่อ หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการจะถอนเรื่องอย่างไร ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการประสานงาน (วิป) สนช. เช่น เมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่วิป สนช. ก็ให้ตีตกไป เหตุผลที่เห็นว่าสมควรถอยไม่ได้เป็นเพราะมีเสียงคัดค้านนับแสนจากเว็บไซต์ของรัฐสภาที่เปิดให้แสดงความคิดเห็นต่อร่างแก้ไข พ.ร.ป.กกต. เพราะคะแนนเหล่านั้นมาจากการจัดตั้ง วัดไม่ได้

ประเมินจากเสียงของเพื่อน สนช. หลายคนที่ไม่เห็นด้วย ตลอดจนผู้ใหญ่และกระแสสังคมบางส่วนที่คัดค้าน ที่เห็นว่ากฎหมายยังไม่ทันได้บังคับใช้เหตุใดจึงรีบแก้ไข และเกรงว่าหากให้แก้ไขกฎหมายลูกกันง่ายๆอาจเป็นช่องทางให้แก้กฎหมายลูกอื่นๆได้ในอนาคต การถอยครั้งนี้ไม่คิดว่าเสียหน้า เพราะเรารับฟังเสียงสังคม ถ้ารู้ว่าเดินหน้าแล้วสังคมไม่ตอบรับก็ไม่ควรทำ หากจะแก้ไขกฎหมายลูก กกต. จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลสมัยหน้า”

จากเหตุผลที่ว่าแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการกลับหลังหันกันเลยทีเดียว เพราะก่อนหน้านี้ทั้งกลุ่ม สนช. ที่ร่วมกันเข้าชื่อและไม่ได้เข้าชื่อต่างแสดงท่าทีแข็งขันว่าจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.ป.กกต. เพราะเห็นว่าระเบียบการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ กกต.ชุดเดิมออกไว้นั้นไม่เหมาะสม แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็น กกต.ชุดใหม่ จากที่ไม่เหมาะสม ยอมรับไม่ได้ ก็เปลี่ยนเป็นยอมรับได้ และถือว่าเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องแก้ไขให้เกิดความยุ่งยาก โยนให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่ในการปรับแก้ระเบียบ ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย

ที่สำคัญการถอยครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับเสียงคัดค้านจากประชาชนนับแสนคนที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์รัฐสภา เพราะ สนช. ส่วนมากปักใจเชื่อว่าไม่ใช่เสียงคัดค้านที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นเสียงจัดตั้งให้มาคัดค้าน ถึงกับมีการเปิดเผยข้อมูลว่าตรวจสอบแล้วพบว่าเสียงคัดค้านส่วนมากมาจากคนกลุ่มก้อนเดียวกัน

เมื่อส่งสัญญาณว่ายอมถอย ก็ต้องตามดูต่อว่าจะถอยอย่างไร ซึ่งแนวทางการยกเลิกร่างแก้ไข พ.ร.ป.กกต. มีอยู่ 3 ทาง ประกอบด้วย

1.สนช. ที่เข้าชื่อเสนอแก้กฎหมายขอถอนร่างกฎหมายเอง

2.นำเรื่องเข้าที่ประชุมวิป สนช. แล้วให้วิป สนช. ลงความเห็นว่าจะเป็นกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดปัญหา สร้างความเข้าใจผิด วิป สนช. ให้คำแนะนำแก่ผู้เสนอกฎหมายเพื่อให้ถอนร่างแก้ไข

3.ทำเป็นข้อสังเกตถึงปัญหาการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง แล้วเสนอเรื่องทิ้งไว้ให้รัฐบาลหน้าเป็นผู้ดำเนินการ

ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีไหนถอนร่างแก้ไข พ.ร.ป.กกต. ออกจากการพิจารณาของ สนช. ประชาชนก็ได้เห็นจุดประสงค์ที่ชัดเจนของการยื่นแก้ไขครั้งนี้แล้วว่ามีต้นตอมาจากเรื่องอะไร

จากที่เห็นว่าการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่เหมาะสมที่ทำโดย กกต.ชุดเก่า แปรเปลี่ยนมาเป็นความพึงพอใจหลังจากได้ กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบกลั่นกรองแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก 616 คน

ทุกอย่างมันชัดอยู่แล้ว


You must be logged in to post a comment Login