วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

ผิวหนังอักเสบบริเวณเปลือกตา / โดย ศ.พญ.วรัญญา บุญชัย

On August 10, 2018

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : ศ.พญ.วรัญญา  บุญชัย

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 10-17 สิงหาคม 2561)

ผิวหนังอักเสบบริเวณเปลือกตา รอบดวงตา ส่วนมากพบในผู้หญิง ผิวหนังบริเวณเปลือกตาเป็นผิวที่อ่อนบาง จึงเป็นตำแหน่งที่พบผิวหนังอักเสบได้บ่อย สาเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ผิวหนังต่อสารที่สัมผัส มีเพียงร้อยละ 20 ที่มีสาเหตุจากการสัมผัสสารที่มีฤทธิ์ระคายเคือง นอกจากนั้นเกิดจากโรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรครังแค โรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น

สารก่อภูมิแพ้ผิวหนังที่เป็นต้นเหตุของผิวหนังอักเสบบริเวณเปลือกตา ได้แก่

-ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผม หนังศีรษะ เช่น สารในยาย้อมผม น้ำยากัดสีผม (PPD, ammonium persulfate), สาร formaldehyde ในสเปรย์, hair lotion, แชมพู เป็นต้น

-สารช่วยทำละลายในสบู่ (sodium borate, ammonium stearate)

-เครื่องสำอางรอบดวงตา เช่น สารในมาสคาร่า, สารที่ใช้ในกรรมวิธีการผลิตอายแชโดว์, ที่ปัดแก้ม (สาร di-isopropanolamine), สารที่ใช้เป็น antioxidant ในอายแชโดว์ (di-tertiary butyl hydroquinone), สีที่ใส่ในครีมรอบดวงตา (D&C yellow No.11)

-แปรงทาตา

-เครื่องสำอางที่ใช้กับใบหน้า มักจะแพ้สารกันเสียในเครื่องสำอาง (สาร paraben, imidazolidinyl urea, methylisothiazolinone, potassium sorbate เป็นต้น) น้ำหอม, สารลาโนลิน, สารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Phenylmercuric acetate), สาร formaldehyde ในกระดาษหอมเช็ดหน้า

-ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเล็บ เช่น สารในยาทาเล็บ (formaldehyde resin, epoxy resin) เป็นต้น

-ละอองเกสร ละอองฝุ่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ ที่ปลิวมาสัมผัส

-สารระเหย น้ำมันหอมระเหยต่างๆ สเปรย์ที่ใช้ในบ้าน และยาฆ่าแมลง

-โลหะ เช่น นิกเกิล พบในที่ดัดขนตา โลหะโคบอลต์ในน้ำยาล้างคอนแท็คเลนส์ เป็นต้น

-แผ่นยางที่ดัดขนตา

-ยาหยอดตา แพ้สารกันเสีย ได้แก่ benzalkonium chloride, thimerosal

-สารเคมีที่ฟุ้งกระจายจากหัวไม้ขีดไฟ (Phosphorous sesquisulfide)

-สาร lemon พบในเปลือกมะนาว เปลือกส้ม

สารก่อการระคายเคืองหนังตาและเยื่อบุตาอาจเกิดได้จาก

-สารระเหยต่างๆ เช่น alcohol น้ำยาล้างเล็บ เป็นต้น

-เครื่องสำอางรอบดวงตา เช่น ผงอายแชโดว์, ที่เขียนขอบตา, มาสคาร่า, มาสคาร่าแบบต่อขนตา เป็นต้น

-สารก่อการระคายในครีมกันแดด, สารช่วยทำละลายในสบู่, สาร propylene glycol ในสบู่เหลว เป็นต้น

-สารกันเสียในน้ำหอม เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบบริเวณเปลือกตาควรปฏิบัติตนดังนี้

1.เมื่อสงสัยว่าสารใดเป็นต้นเหตุ ควรหยุดใช้ในบริเวณเปลือกตาโดยเด็ดขาด

2.ให้ทดลองใช้สารที่ต้องสงสัยทาบริเวณผิวหนังที่หลังหูหรือท้องแขน 2-3 ครั้ง/วัน ต่อเนื่องนาน 4-5 วัน หากมีผื่นผิวหนังอักเสบหรือเกิดอาการคันแสดงว่าสารนั้นอาจเป็นต้นเหตุได้

3.ควรใส่แว่นเพื่อป้องกันละอองเกสร ละอองฝุ่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ ที่อาจปลิวมาสัมผัสได้ในช่วงระหว่างวัน และใส่แผ่นปิดตาเวลานอน

4.หลีกเลี่ยงการใช้มือลูบหรือจับหน้า

5.มาพบแพทย์เพื่อทำการทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง โดยวิธีปิดสารทดสอบบนผิวหนัง (Patch test) โดยชุดทดสอบมาตรฐาน พร้อมกับนำผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยมาร่วมทดสอบด้วย

6.มาพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง

7.หลังจากรักษาหายเรียบร้อยแล้ว หากจำเป็นต้องใช้เครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตาให้ทดลองนำกลับมาใช้สัปดาห์ละ 1 ชนิด โดยใช้ไม้พันสำลีทาแล้วทิ้งทุกครั้ง


You must be logged in to post a comment Login