วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

อภินิหารภาคพิเศษ

On August 10, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

เกิดเป็นคนไทยช่างโชคดี อะไรที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น โดยเฉพาะอภินิหารทางกฎหมายที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนว่าน่าจะจบตอนไปแล้ว ใครจะคิดว่าจะได้ดูภาคพิเศษจากการยื่นแก้ไขกฎหมาย กกต. ซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึงการคัดเลือก ส.ว. ที่จะไม่สามารถทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. 15 วันตามกฎหมายกำหนด ถ้าการเลือกตั้งยังยึดตามโรดแม็พเดิมในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า คำถามคือจะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไรเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องจัดเลือกตั้งภายใน 150 วันหลังกฎหมายลูกฉบับสุดท้ายบังคับใช้ แต่การคัดเลือก ส.ว. ก็ทำให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง 15 วันไม่ได้ สุดท้ายจะต้องยื่นตีความเพื่อทอดเวลาออกไปอีกหรือไม่ หรือจะแสดงอภินิหารซ้อนอภินิหารด้วยการใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 แก้ปมที่ผูกกันขึ้นมาเอง

การเมืองวันนี้แม้บรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลายจะยืนยันกี่พันครั้งว่าจะมีการเลือกตั้งตามโรดแม็พแน่นอนต้นปีหน้า แต่ดูเหมือนว่าไม่มีใครเชื่อในน้ำคำของผู้มีอำนาจ 100% ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นต้นปีหน้าจริง

แม้ทุกอย่างจะเดินตามกระบวนการและขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดจนครบถ้วนหมดแล้ว เหลือแค่รอเวลาการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเริ่มนับวันถอยหลังสู่เลือกตั้ง แต่ก็ยังมีคนไม่มั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง

ยิ่งมีการเคลื่อนไหวของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวนหนึ่งเข้าชื่อกันร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในประเด็นแก้ไขการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ยิ่งทำให้ถูกมองว่าเป็นการทำเพื่อให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปอีก

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ให้เหตุผลที่น่าสนใจสรุปความได้ว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกกันเองของบรรดาผู้สมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั่วประเทศเพื่อคัดให้เหลือ 200 คน ก่อนที่จะส่งชื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลือกเหลือ 50 คน เพื่อเอาไปรวมกับผู้ที่ผ่านกระบวนการสรรหาจาก คสช. อีก 200 คน ให้ครบ 250 คนตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดว่ากระบวนการคัดเลือก ส.ว. ต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 15 วัน หาก สนช. ทำการแก้ไขกฎหมาย กกต. ซึ่งมีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 180 วัน กว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้และต้องให้เวลา กกต. คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งใช้เวลาอีกประมาณ 100 วัน กว่าจะได้ ส.ว. ครบตามจำนวนต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 9 เดือน ซึ่งแน่นอนว่าทำให้การเลือกตั้ง ส.ส. ต้องถูกเลื่อนจากเดิมอย่างน้อย 9 เดือน

ขณะที่มือกฎหมายของรัฐบาลอย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงในประเด็นนี้เอาไว้สรุปความสั้นๆได้ว่า

การยื่นแก้ไขกฎหมาย กกต. ของ สนช. หากจะมีผลกระทบก็กระทบต่อการคัดเลือก ส.ว. เพียงอย่างเดียว ไม่กระทบต่อการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งต้องเป็นไปตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดคือ ภายใน 150 วันหลังจากที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ ไม่มีกฎหมายใดมาโต้แย้งตรงนี้ได้

เมื่อพิจารณาจากเหตุผลของทั้ง 2 คน จะเห็นว่ามีประเด็นเงื่อนเวลาตามข้อกฎหมายที่ขัดแย้งกันอยู่คือ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องจัดเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน 150 วันหลังกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ ขณะที่กฎหมายอีกฉบับระบุว่าต้องคัดเลือก ส.ว. ให้ได้ครบตามจำนวน 250 คนก่อนเลือกตั้ง ส.ส. 15 วัน

คำถามคือหากยังคัดเลือก ส.ว. ได้ไม่ครบตามจำนวนจะทำให้การเลือกตั้ง ส.ส. ต้องเลื่อนออกไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ ส.ว. เต็มจำนวนก่อนหรือไม่ หรือต้องยึดตามรัฐธรรมนูญที่ให้จัดเลือกตั้ง ส.ส. ภายในกรอบเวลา 150 วันหลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายมีผลบังคับใช้ ซึ่งก็คือกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ถ้าคัดเลือก ส.ว. ไม่เสร็จทันกรอบเวลา คือก่อนเลือกตั้ง ส.ส. 15 วัน ให้ถือเป็นความผิดของผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการคัดเลือก ส.ว. ที่ไม่ทำตามกฎหมายกำหนด

แต่เมื่อมีการยื่นแก้กฎหมาย กกต. และคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาการคัดเลือก ส.ว. ให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง ส.ส. ที่ต้องจัดตามกรอบเวลา 150 วันก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

เชื่อว่าทุกคนอ่านกฎหมายแล้วเข้าใจตรงกัน แต่ยื่นแก้กฎหมาย กกต. เพื่อให้มันวุ่นวาย ให้ดูอีนุงตุงนังไว้ก่อน เพื่อลากไปจบกันที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งกว่าจะได้ข้อสรุปก็ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก

จะจงใจให้เกิดผลอะไรหรือไม่ไม่รู้ แต่เมื่อดูตามเส้นทางของเรื่องแล้วมันก็จะวุ่นวายอย่างนี้


You must be logged in to post a comment Login