วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

เสมอภาคเรื่องเดียว

On July 20, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรที่ทำได้ค่อนข้างอิสระ โดยอ้างความเป็นกลุ่มการเมืองไม่ใช่พรรคการเมืองจึงไม่ขัดคำสั่ง คสช. การจัดกำลังเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกการเดินทางและรักษาความปลอดภัยแกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทยระหว่างลงพื้นที่ภาคอีสาน ย่อมสะท้อนภาพความไม่เสมอภาคทางการเมืองอย่างชัดเจน หากจะมองหาความเท่าเทียมทางการเมืองในตอนนี้ดูเหมือนว่าจะมีแค่เรื่องเดียวที่เท่าเทียมอย่างเด่นชัดคือการทำ “ไพรมารีโหวต” ที่ทั้งพรรคใหม่และพรรคเก่าจะทำในรูปแบบเดียวกัน และเริ่มออกสตาร์ตพร้อมกันหลังไขกุญแจปลดล็อกทางการเมือง

กลุ่มสามมิตรคุยกับแกนนำเครือข่ายชาวนาเพื่อพูดถึงแนวทางแก้ปัญหาราคาข้าว เป็นแค่การพูดคุย ยังไม่ได้ทำอะไร และกลุ่มสามมิตรไม่ใช่พรรคการเมือง

เป็นความเห็นของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ชัดเจนว่าเปิดไฟเขียวกันเต็มที่โดยใช้ช่องว่างทางกฎหมาย กรณีที่ยังไม่ได้เคลื่อนไหวในนามพรรคการเมือง จึงไม่เข้าข่ายฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ขณะที่การลงพื้นที่ภาคอีสานของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ที่เคลื่อนไหวในนามพรรครวมพลังประชาชาติไทย ก็ได้รับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางและจัดเจ้าหน้าที่ตามรักษาความปลอดภัย ซึ่งคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรถูกนำมาแชร์กันว่อนสังคมออนไลน์โดยไม่มีใครออกมาปฏิเสธว่าเป็นคำสั่งปลอม

ภาพการเมืองจึงชัดเจนอย่างที่เห็น

ที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งคือ การทำไพรมารีโหวตที่พรรคการเมืองเห็นว่าไม่มีความพร้อม เนื่องจาก คสช. ยังไม่ปลดล็อกให้ทำกิจกรรมทางการเมือง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึง 5 แนวทางที่จะใช้แก้ปัญหาไพรมารีโหวต โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาทั้ง 5 แนวทางแล้วเสนอความเห็นมาให้ คสช. ตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางใด

แนวทางแรกคือยกเลิกการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกแล้วกลับไปใช้ในการเลือกตั้งถัดไป ซึ่งแนวทางนี้น่าจะปิดประตูไปได้ เพราะหากยกเลิกจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ทำให้เหลือ 4 แนวทางที่พอจะเป็นไปได้คือ ทำไพรมารีโหวตแบบเขต ทำไพรมารีโหวตแบบจังหวัด ทำไพรมารีโหวตรายภาคตามข้อเสนอพรรคการเมือง และไม่ทำไพรมารีโหวตเต็มรูปแบบในการเลือกตั้งครั้งแรก แต่ใช้วิธีให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมตัดสินใจกำหนดตัวบุคคลที่จะลงเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ จะสรุปทางเลือกก่อนการประชุมร่วมระหว่างพรรคการเมืองกับ คสช. รอบ 2 ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน ซึ่งความน่าจะเป็นของทางออกเรื่องนี้คงอยู่ที่การทำไพรมารีโหวตรายภาคหรือใช้วิธีให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมคัดเลือกผู้สมัครแทนการทำไพรมารีโหวตเต็มรูปแบบสำหรับการเลือกตั้งครั้งแรก

ส่วนจะเลือกแนวทางใดนั้น คสช. จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกโดยไม่ต้องรับฟังความเห็นจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมืองในเรื่องนี้อีก เพราะถือว่าที่ผ่านมารับฟังมาเพียงพอแล้ว

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนรูปแบบการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกไม่น่าจะอยู่ที่ความไม่พร้อมของพรรคการเมืองเก่าเพียงอย่างเดียว แต่ความไม่พร้อมของพรรคการเมืองใหม่ถือว่ามีความสำคัญมากกว่า

อย่างที่ทราบกันว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรที่กำลังรวบรวมไพร่พลอยู่นั้นทำในนามกลุ่มการเมืองเพื่อเลี่ยงข้อกฎหมาย ไม่ได้ทำในนามพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวระยะหลังไม่เอ่ยถึงชื่อพรรคพลังประชารัฐแต่อย่างใด

ที่สำคัญพรรคพลังประชารัฐยังไม่ถือเป็นพรรคการเมืองโดยสมบูรณ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเพียงแต่การได้รับอนุมัติจับจองจัดตั้งพรรคการเมืองในชื่อพลังประชารัฐเท่านั้น ความเป็นพรรคการเมืองจะสมบูรณ์ตามกฎหมายเมื่อประชุมใหญ่เลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค แจ้งต่อ กกต. และได้รับการอนุมัติแล้วเท่านั้น

“ไพรมารีโหวต” จึงเป็นเพียงเรื่องเดียวที่พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในตอนนี้


You must be logged in to post a comment Login